นักการเงินที่ คมกริบ ชัดเจน และมีคุณค่า เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ" บริษัท เอกวิทย์ จำกัด

เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ 
นักการเงินที่ คมกริบ ชัดเจน และมีคุณค่า 
 

คุณค่าของชีวิตคืออะไร? 

หลายคนอาจไม่เคยคิด อาจจะเป็นเพราะไม่ยอมคิด หรือไม่ใส่ใจที่จะคิด 
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีความสงสัย แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ซักที 
ถึงแม้คำตอบที่ได้จะมีมากมายหลายมุมมอง แต่สิ่งที่สำคุญที่สุดของคำตอบนั้น ไม่ได้อยู่ที่ความหมาย 
หากแต่อยู่ที่การใช้ชีวิตอย่างไรให้มีคุณค่ามากกว่า 
วันนี้เรามีนัดกับคนคนหนึ่งที่มุ่งมั่นจะทำชีวิตของผู้คนในสังคมให้มีคุณค่า 
มุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข 
และมุ่งมั่นที่จะใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมมากที่สุด 



สุภาพบุรุษที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าเป็นชายไทย รูปร่างสันทัด อารมณ์ดี และเสียงดัง 
แต่สิ่งแรกที่เราสัมผัสได้เมื่อได้สนทนากับคุณเรืองวิทย์คือความมุ่งมั่นที่เจือไปด้วยรอยยิ้มที่จริงใจ 

"ผมเรียนหนังสือที่สาธิตจุฬา ไปต่อที่เตรียมอุดม 
จากนั้นก็เอนท์ติดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ" 
คุณเรืองวิทย์เล่าให้เราฟังถึงชีวิตวัยเยาว์ 

"ผมเรียนที่วิศวะ จุฬาฯได้หนึ่งเทอม แล้วก็ข้ามน้ำข้ามทะเล 
ไปเรียนในสาขาวิศวะที่ Tuff University ประเทศสหรัฐอเมริกา ครับ" 
"จากนั้นก็ย้ายจากเมืองบอสตันมาเรียนที่นิวยอร์ค 
ในสาขา MBA ที่ Columbia University ครับ 
 

 
"แล้วทำไมถึงเปลี่ยนสาขาจากวิศวะมาเป็นบริหารธุกิจได้ล่ะคะ" เราถาม 
"จริงๆ แล้วมันมีที่มานะครับ" คุณเรื่องวิทย์เล่าให้เราฟัง 
"ผมชอบวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ตอนเอนทรานต์เลือกวิศวะ กับสถาปัตย์ 
แต่ที่ไม่เลือกเรียนหมอเลยเพราะว่าเห็นเลือดแล้วจะเป็นลม" 
คุณเรืองวิทย์พูดแบบยิ้มๆ 
"ตอนเรียนวิศวะ สาขาอีเลคโทรนิคปีที่สี่ มีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นตามเทคโนโลยีไม่ทัน 
แถมตอนนั้นยังมองภาพไม่ออกว่าในชีวิตประจำวัน เราจะใช้สิ่งที่เราเรียนมาได้แค่ไหน 
ถ้าเรียนต่อโท ทางด้านวิศวะให้ลึกลงไปอีก เราก็บอกกับตัวเองว่า ไม่อยากที่จะเรียนอะไรลึกๆ แล้ว" 
"บังเอิญตอนนั้นมีโอกาสเข้าร่วมโครงการ SIP ของธนาคารกรุงเทพ 
เป็นรุ่นที่สอง แต่เป็นนักเรียนต่างชาติรุ่นแรก 
พอได้มีโอกาสเข้าไปดูก็ชอบ รู้สึกสนุกกับมัน ได้เปิดโลกทัศน์เศรษฐกิจและการเงินเป็นอย่างดี 
พอผมจบปริญญาตรี สาขาวิศวะ เลยเบนเข็มไปเรียน MBA 
เพราะรู้ตัวเองแล้วว่า ขืนต่อปริญญาโท วิศวะนี่ไม่รอดแน่ๆ เพราะคงเรียนไม่ไหว 
ซึ่งตัวเองคิดถูก เพราะได้มองภาพกว้าง และสามารถเอามาใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน" 
โครงการธนาคารคู่บ้านคู่เมือง (Student Internship Program - SIP)
เป็นโครงการของธนาคารกรุงเทพ ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา ผู้ต้องการเตรียมความพร้อมทางอาชีพ 
ได้มีประสบการณ์จริงด้วยตนเอง โดยที่ไม่อาจจะสัมผัสได้ในห้องเรียน 
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมกับธนาคาร จะได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและร่วมบริหารโครงการ 
ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาทักษะต่างๆ ในสถานการณ์จริงที่หลากหลาย 
 


นอกจากนั้นคุณเรืองวิทย์ยังเล่าต่อไปว่า 
"จะมีคิดผิดอยู่บ้าง คือ ผมนี่ไปเรียนต่อปริญญาโทเลย 
โดยที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานก่อน 
แต่อันนึง คือ ไม่อยากเรียนจบแล้วกลับมาทำงานเมืองไทย 
แล้วค่อยไปเรียนต่ออีกที" 
คุณเรืองวิทย์เล่าต่ออย่างออกรสว่า 
"จริงๆ แล้ว คือ ผมขี้เกียจวิ่งไปวิ่งมา ว่างั้นเถอะครับ 
อีกอย่างคือมหาวิทยาลัยที่เรียน เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา 
แล้วก็ไม่อยากเสียโอกาส เพราะว่าเขาตอบรับเราเข้าเรียนแล้ว 
ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ที่โคลัมเบีย ในสาขาบริหารธุรกิจ เลย 
ซึ่งถ้าผมแนะนำใครตอนนี้ ก็จะบอกอยู่เสมอว่า ถ้าคุณจะไปเรียนต่อ MBA คุณต้องทำงานมาก่อนนะ 
เพราะมันจะมีองค์ความรู้มหาศาลที่รอให้คุณไปตักตวงอยู่" 
"อย่างผมพอกลับมาทำงาน เราก็จะเริ่มจำได้ 
ว่าสิ่งที่เขาพูดๆ กัน ที่เขาเรียนๆ กันน่ะ คือ อันนี้ 
เพราะตอนนที่เรียนนี่ ผมรู้แต่ concept 
แต่ไม่สามารถไปแสดงความคิดเห็นอะไรได้เลย 
เพราะว่า เราไม่รู้ว่าในชีวิตจริงเขาทำงานกันยังไง 
แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้ แบบที่ขอใช้คำว่าไม่ได้ดีเด่นอะไร" 
คุณเรืองวิทย์กล่าวในที่สุด 
 

 
หลังจากที่กลับมาเมืองไทย คุณเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ เริ่มทำงานที่ธนาคารซิตี้แบงก์ 
ด้วยการเป็น Management Trainee อยู่ 1 ปี 
แล้วจึงถูกจับลงในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ หลังจากนั้นก็มาดูโปรดักส์คัสโตเดียน (custodian) 
ธุรกิจคัสโตเดียน (custodian) เป็นธุรกิจรับฝากทรัพย์สิน 
ซึ่งประกอบไปด้วยทรัพย์สิน ที่เป็นเงินสด หลักทรัพย์ทั้งตราสารทุน และตราสารหนี้ 
รวมทั้งทรัพย์สินประเภทอื่นๆ เช่น สัญญา โฉนด ทะเบียนทรัพย์สิน 
นอกจากนี้ คัสโตเดียน ยังมีหน้าที่ในการติดตามสิทธิประโยชน์ในหลักทรัพย์
เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล สิทธิอื่นๆ 
ธุรกิจคัสโตเดียนเริ่มเกิดขึ้นเกือบ 30 ปีที่แล้ว 
โดยส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ จะเป็นผู้ให้บริการนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
รายได้จากธุรกิจคัสโตเดียน ถือเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของธนาคารพาณิชย์ 
มีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 30- 40% เพราะนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดไทยมาก
 

คุณเรืองวิทย์ได้ทำงานอยู่ในสายงานนี้ตลอด โดยเริ่มจาก Product Manager จนเป็น Business Manager 
รวมเวลาทั้งหมดที่คุณเรืองวิทย์ร่วมงานกับซิตี้ แบงก์ คือ เก้าปี
จากนั้นคุณเรืองวิทย์ก็หันเหตัวเองจากสายการธนาคารสู่ตลาดทุน

"ตอนนั้นมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยร่วมงานกันที่ ซิตี้ แบงก์ มาชวนน่ะครับ" คุณเรืองวิทย์เล่าให้เราฟัง

"ผมออกจากซิตี้แบงก์ เพื่อมาทำเรื่องกองทุนรวมใน AJF ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกันระหว่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กับ เจพี มอร์แกน 
ในระหว่างที่จัดตั้งบริษัท ผมก็นั่งอยู่ในแบงก์กรุงศรีฯ ระยะหนึ่งก่อน ด้วยตำแหน่ง SVP Mutual Business Development Office จากนั้นเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ผมจึงย้ายมา แล้วจึงมาเป็น MD ใน AJF อย่างเต็มตัวครับ"
"แล้วจากการที่ได้ร่วมทำงานกับองค์กรใหญ่สองแห่ง ที่มีวัฒนธรรมในการทำงานที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 
คุณเรืองวิทย์รู้สึกอย่างไรบ้างคะ" เราเป็นฝ่ายถามกลับไป
"ต่างครับ ต่างกันมาก" คุณเรืองวิทย์อธิบายให้เราฟังว่า
"ตอนที่อยู่ ซิตี้แบงก์ สิ่งที่ได้รับ คือ เขาจ้างเรามาให้ตัดสินใจ การตัดสินใจในแต่ละครั้ง อาจจะมีผิดพลาดไปบ้าง แต่เราก็ได้เรียนรู้ในข้อผิดพลาดนั้น"
"เรามี Authority ในการตัดสินใจหลายๆอย่าง" คุณเรืองวิทย์บอกว่า
"ที่ผมคิดว่าในช่วงอายุนั้น ถือว่าเป็นการท้าทาย และเป็นสิ่งที่หนักมาสำหรับคนอายุประมาณนั้น 
อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ถ้าไปอยู่ในสถาบันการเงินอื่น คงไม่มีสิทธิ์ทำแบบนั้นแน่ๆ" 
"มีอยู่ครั้งหนึ่งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องไปออกเช็คที่ต่างประเทศ 
แล้วต้องมีการการจ่ายเช็คมูลค่าหกพันล้านบาท 
เช็คใบเดียวนะครับ มูลค่าหกพันล้านบาท" 
คุณเรืองวิทย์กล่าวย้ำ 
 

"แล้วจะต้องมีการออกเช็ค เพื่อที่จะนำไปให้ที่ธนาคาร ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นกสิกรฯ นะครับ 
ผมบอกลูกน้องว่า คุณเซ็นต์นะ แล้วถ่ายเอกสารเก็บไว้ด้วยนะ 
ว่าครั้งหนึ่งในชีวิต คุณได้สั่งจ่ายเช็คด้วยลายเซ็นต์ของตัวเองในมูลค่าที่สูงขนาดนั้น" 
"ที่ซิตี้แบงก์ ผมมีโอกาสได้ลองทำแล้วเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา 
ซึ่งรวมไปถึงการควบคุมอารมณ์ด้วย ทำให้เรากล้าตัดสินใจมากขึ้น" 
"แล้วตอนที่อยู่กรุงศรีหล่ะคะ" เราถามคุณเรืองวิทย์ 

คุณเรืองวิทย์ยิ้มน้อยๆ ก่อนจะบอกกับเราว่า 
"จริงๆ แล้ว มันก็มีดีกันคนละแบบนะครับ ถึงแม้ว่าระบบต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ตาม 
ที่นี่เป็น Joint Venture ซึ่งผมเองอยู่ฝ่ายไทย จึงต้องมีการปรับตัวกันพอสมควร 
ที่เห็นได้ชัด คือ เรื่อง Authority หรืออำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ จะเป็นไปตามสายงาน 
จากล่างสู่บน ซึ่งมีขั้นตอนเยอะมาก 
ยกตัวอย่าง เช่นมีพนักงานเดินเอกสารภายในแบงก์เป็นจำนวนมาก 
ทำหน้าที่นำเอกสารไปให้ผู้รับผิดชอบลงนามกันตามแผนกต่างๆ 
ซึ่งกว่าจะมาถึงผม บางทีเซ็นต์เอกสารกันมาเป็นหางว่าว" 
"แรกๆ ผมก็งงเล็กน้อย สงสัยว่าทำไมไม่ใช้อีเมลล์หล่ะ 
แต่พอตอนหลังก็ปรับตัวได้ครับ" คุณเรืองวิทย์บอกเราอย่างนั้น 
 

แต่จะว่าไปแล้ว คุณเรืองวิทย์เองไม่รู้สึกแปลกวงการแต่อย่างใด เพราะธุรกิจคัสโตเดียนแบงก์ ที่เคยทำนั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับ บลจ.อยู่มากเหมือนกัน

"ผมมองว่าการมาดูกองทุนเป็นสิ่งใหม่สำหรับตัวเองนะครับ 
เพราะต้องดูแลลูกค้าที่เป็นรายย่อย เนื่องจากในสมัยที่ผมอยู่ซิตี้แบงก์นั้น ลูกค้าของผม คือ สถาบัน 100% 
เรารู้แล้วว่าวิธีการทำนั้น ควรทำอย่างไร โอกาสที่จะเรียนรู้ทางด้านนั้นก็มีอีกนะครับ 
แต่ว่าผมอยากรู้ทางด้านนี้มากขึ้น พอเราได้คุยกับลูกค้ารายย่อย เราคิดว่าเรามีความรู้อยู่บ้าง 
เรื่องคัสโตเดียนนี่ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง และผมเองก็ร่วมพัฒนาในตลาดกองทุนรวมนี่มาเหมือนกัน 
เคยนั่งเป็นอนุกรรมการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. 
สร้างกฎกองทุนเปิด ร่วมกับบริษัทจัดการกองทุนรวม หรือ บลจ. ต่างๆ ด้วยครับ" 
"แล้วการทำงานของคุณเรืองวิทย์ ที่ AJF เป็นอย่างไรบ้างคะ" เราถามคุณเรืองวิทย์ 

"ผมเน้นเรื่องการทำให้คนมีประสิทธิภาพสูงที่สุดน่ะครับ 
นั่นคือ มีข้อมูลให้มากที่สุด จะบริหารการลงทุนในหลายๆ ประเทศได้นั้น เราต้องมีข้อมูล feed เข้ามาจากหลายๆ ประเทศ ซึ่งอันนี้ คือ แผนงานของกลุ่ม JF
คือ ทุกวันจันทร์ ทุกคนมานั่งเสนอแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอด อันนี้ไม่ต้องซื้อหา แต่เป็นวิธีการทำงานอยู่แล้ว"
และแล้วชีวิตของคุณเรืองวิทย์ก็มาถึงกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง 
เพราะหลังจากที่เขาตัดสินใจ "ลาออก" จากการเป็นผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยาเจเอฟ จำกัด 
ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บลจ.อยุธยา เขาก็ได้ก้าวเข้าสู่ถนนธุรกิจประกันภัยอย่างเต็มตัว
ในตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการ" บริษัท เอกวิทย์ จำกัด 
ซึ่งเป็นบริษัทโบรกเกอร์ขายประกัน ที่บิดาและมารดาของเขาเป็นผู้ก่อตั้งมากับมือ
คุณเรืองวิทย์บอกกับเราว่า
"เมื่อ 31 ปีก่อน บริษัท เอกวิทย์ ถือว่าเป็นบริษัทโบรกเกอร์ขายประกันที่มีความยิ่งใหญ่มาก 
แต่เมื่อคุณพ่อ (นายอภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์) เสียชีวิตลง คุณแม่ (ม.ร.ว.รัศมี นันทาภิวัฒน์) ก็ต้องเข้ามาบริหารงานแทน 
แต่หลังจากคุณแม่ของผมท่านเสียชีวิตลง ผมจึงต้องเข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัวแทนครับ"
"มันเป็นสิ่งที่ต้องพึงกระทำ เพราะว่าวันที่คุณแม่ป่วย ผมพูดกับคุณแม่ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงบริษัทเอกวิทย์นะ เพราะผมจะลงมาทำเอง"

คุณเรืองวิทย์เล่าให้เราฟังว่า
"เป้าหมายของผมคือ จะต้องทำให้บริษัทเอกวิทย์ กลับมาเป็นบริษัทที่มีผลกำไรและเติบโตได้อีกครั้งหนึ่ง 
หลังจาก 7-8 ปี ที่ผ่านมา เราเงียบมาโดยตลอด 
ผมยอมรับว่าการบริหารธุรกิจประกันภัย" กับ ธุรกิจ บลจ. นั้น  มันต่างกันโดยสิ้นเชิง 
ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินก็ตาม เพราะทุกอย่างจะต้องนับ 1 ใหม่ 
แต่ผมก็พร้อมที่จะเรียนรู้ และจะนำประสบการณ์ที่ทำงานในแวดวงตลาดเงิน - ตลาดทุน 
มาประยุกติ์ใช้ในธุรกิจประกันเช่นเดียวกันครับ"
จากการประสบการณ์การทำงานมาจาก "ธนาคารซิตี้แบงก์" มา 8 ปี ผสมกับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ.เอเจ เอฟ มาอีก 9 ปี 
คุณเรืองวิทย์ก็ได้ต่อยอดจากการทำงานที่ผ่านมาเป็นนักวางแผนทางการเงิน

"ผมถือว่าเป็นการต่อยอดนะครับ จากที่เรียกว่าเป็นนายหน้าประกันก็ทำให้ครบวงจรมากขึ้น 
เราคิดว่าเรามีประสบการณ์ทั้งด้านตลาดเงิน ตลาดทุน ขายประกันเราก็มี เราคิดว่าเราน่าจะทำได้" 
คุณเรืองวิทย์บอกเราว่า

"พูดง่ายๆ ผมเป็นหมอการเงินน่ะครับ"
"แล้วมันเป็นอย่างไรหรือคะหมอการเงิน" เราถามคุณเรืองวิทย์
"ถ้าจะอธิบายง่ายๆ นะครับ ใครรู้ตัวว่าไม่สบายก็ไปหาหมอ หมอก็จัดยาไปตามอาการใช่ไหม
หมอการเงินก็เหมือนกันครับ เรามีหน้าที่รักษาและวางแผนการใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด"
คุณเรืองวิทย์อธิบายต่อไปว่า
"ปัญหามีสองประเภท คื อคนที่มีเงินมาก กับคนที่มีเงินไม่พอใช้
คนที่ไม่พอใช้ก็ต้องมีหนี้ อันนั้นเขาจะรู้ตัว เราเลยสามารถวางแผนทางการเงินได้ 
ส่วนอีกพวกคือมีเงินมาก อยู่ได้สบายๆ ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก 
ปัญหาที่มีของคนมีเงิน คือ ปัญหาระยะยาว 
ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนั้นเนี่ย คือ มันช่วยอะไรไม่ทัน 
เช่น คนหนึ่งอายุแค่สามสิบ มีเวลาอีกสามสิบปีก็จะเกษียณ 
ถามว่ามีการงานมั่นคงไหม ตอบว่ามั่นคง 
แล้วคิดไหมว่าอีกสามสิบปีจะทำอย่างไร 
คุณจะใช้ชีวิตอย่างไร นีคือปัญหาของคนส่วนใหญ่ของคนในประเทศนี้ 
เพราะว่าคนไทยไม่เคยคิดอะไรยาวๆ 
เช่น เราติดตามดัชนีตลาดหุ้นทุกวัน อัพเดทข่าวสารอยู่ตลอดเวลา 
แต่พอถามว่าอีกสิบปีข้างหน้าคุณจะทำอะไร ……..กลับตอบไม่ได้" 
"แค่บอกว่าอยากสบาย แต่มันเป็นนามธรรมมาก 
นี่แหละที่เป็นหน้าที่ของหมอการเงิน ที่บอกว่าคุณเริ่มคิดได้แล้วนะ 
ถ้าคุณไม่วางเป้าหมายในชีวิตว่าคุณจะทำอะไร ในอนาคตคุณจะทำอะไรให้กับตัวเองไม่ทัน 
ซึ่งสำหรับคนที่มีพอประมาณ หรือว่ารวยเนี่ย จะคุยยาก 
แต่คนที่เรียกว่าชักหน้าไม่ถึงหลังเนี่ย จะคุยด้วยกันง่าย 

เช่น มีเงินเดือนหมื่นห้า 
แต่หน้าตามัวหมอง ถามไปถามมา บอกว่าเงินไม่พอ 
สุบบุหรี่หรือเปล่า สูบทุกวัน 
ซื้อบุหรี่ยังไง 
สองวันซอง 
เดือนนึงก็สิบห้าซอง บุหรี่ซองเท่าไหร่ 
แปดสิบบาท สรุปว่าเดือนหนึ่งเสียเงินพันสองร้อยบาท 
แสดงว่าเงินของคุณเกือบสิบเปอร์เซนต์หายไปกับเรื่องนี้ 
เนี่ยคือหน้าที่ของหมอการเงิน" 
"ตอนนี้ยังมีลูกค้าไม่มากนะครับ" คุณเรืองวิทย์อมยิ้ม 

"แต่ว่าผมจัดรายการวิทยุด้วยไงครับ 
ทางคลื่น 101 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.15 ถึง 11.45 น.
ชื่อว่ารายการปฎิบัติการพลิกชีวิต ผมจะโทรเข้ามาในรายการ เพื่อให้คำปรึกษาครับ 
เลยได้ช่วยเหลือในมุมกว้างได้มากกว่า เหมือนกับการชี้ให้เห็นประเด็น 
คุณควรเริ่มทำอะไรได้แล้วนะ 
เหมือนกับสุขภาพ ที่คุณบอกว่าผมมีสุขภาพดี แต่ตราบใดที่คุณยังไม่ได้ไปหาหมอ 
คุณจะรู้ไหมว่า สุขภาพคุณดีจริงๆ 
ดังนั้น คุณควรจะเช็คสุขภาพทางการเงินของคุณด้วยนะ 
ผมเองไม่มีนโนบายที่จะไปเวิร์กกับกลุ่มที่เรียกว่าเศรษฐี 
ผมอยากทำงานกับกลุ่มคนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่า 
แต่ทีนี้ การที่จะทำกับคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นรายๆ ไป มันก็ไม่ไหว 
แทนที่จะดูหนึ่งต่อหนึ่ง ผมก็ดูหนึ่งต่อสิบ" 
เรากล่าวแยปไปทีเล่นทีจริงว่า"ความคิดที่ดีอย่างนี้ คุณเรืองวิทย์ไม่คิดจะทำงานทางด้านการเมืองบ้างเหรอคะ" 
มาถึงตรงนี้คุณเรืองวิทย์หัวเราะออกมาเสียงดัง แล้วบอกกับเราว่า 
"จริงๆ ก็มีคนมาชวนอยู่เรื่อยๆ นะครับ 
แต่ผมคิดว่าผมไม่เหมาะกับการเมืองนะครับ 
เพราะว่าผมพูดตรง ถ้าเป็นอะไรที่ไม่ดี แต่บางทีเราไปพูดไมได้ ไปตักเตือนไม่ได้ 
โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพรรคเดียวกันนี่แหละ สำคัญที่สุด 
ถ้าบางสิ่งที่เขาทำแล้ว เราไม่เห็นด้วย เราไม่ทำ แล้วจะทำอย่างไร" 
"แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการเมืองนั้น ตอนนี้มีคนสนใจมากขึ้น 
มีความรู้มากขึ้น แต่ก่อนผมไม่สนใจ แต่พอตอนหลังผมเริ่มสนใจมากขึ้น 
ซึ่งในความหมายของการเป็นผู้เล่น เราเองก็สามารถเล่นได้หลายตำแหน่ง 
ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น สส.หรือรัฐมนตรี เราอาจเป็นฝ่ายสนับสนุนก็ได้นะครับ" 
คุณเรืองวิทย์บอกกับเราอย่างนั้น 

"ดูคุณเรืองวิทย์ทำงานหนักพอสมควร แล้วอย่างนี้แบ่งเวลาให้ครอบครัวอย่างไรค่ะ" เราถามด้วยความเป็นห่วง 

คุณเรืองวิทย์ยิ้มแบบคุณพ่อใจดี แล้วเล่าให้เราฟังถึงครอบครัวอย่างมีความสุขว่า 

"ผมแต่งงานแล้วครับ มีลูกสองคน 
คนโตสิบสองขวบครึ่ง อีกคนสิบเอ็ดขวบ 
เรียนอยู่โรงเรียนบางกอกพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนอินเตอร์ 
ผมกับภรรยาอยากให้ลูกเรียนในสถาบันที่ดี 
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่อยากให้ลูกเดินทางไกล 
โรงเรียนนี้ก็ดีนะครับ อยู่ใกล้บ้านด้วย 
ผมเองก็ไปส่งลูกที่โรงเรียนทุกเช้าด้วยครับ" 
"ทำไมถึงให้ลูกทั้งสองเรียนโรงเรียนอินเตอร์คะ" เราถาม 

"จริงๆ แล้ว จะเป็นโรงเรียนต่างชาติ หรือโรงเรียนไทย ตอนนั้นยังไม่คิดนะครับ 
แค่ไม่อยากให้ลูกเหนื่อย 
……..แต่มาตอนนี้ บอกได้เลยว่า คิดไม่ผิด 
ถึงอาจจะมีข้อด้อยไปบ้างเรื่องของบุคคลิกที่เป็นฝรั่งมากกว่าไทย 
แต่สิ่งหนึ่งที่คิดกับภรรยาว่า โลกเรามันเล็กลงทุกวัน 
อยากให้ลูกไม่มีกรอบ อยากให้ลูกสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ 
การที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของอินเตอร์ ทำให้ลูกผมปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น 
อย่างน้อยปัญหาเรื่องภาษาก็จะหายไป 
แต่ข้อด้อยที่เจอคือ จะไม่มีเพื่อนร่วมรุ่น 
ซึ่งต่างกันกลับโรงเรียนไทย เพราะถึงแม้ว่าเราเรียนที่ไทย เรียนกี่ปีก็ตาม ก็ยังมีรุ่นนะครับ" 
คุณเรืองวิทย์บอกเรา 

"แล้วเวลาว่างหล่ะคะ คุณเรืองวิทย์ทำอะไรบ้าง" เราถาม 

"เวลาว่างของผมคืออ่านหนังสือ ดูหนัง ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว 
ลูกสาวคนโต กับภรรยา ขี่ม้า เลยไปด้วย แต่ผมก็ตามไปดู ไปออกกำลังกาย 
อยู่ใกล้ๆ กันตลอด มีไปเที่ยวต่างจังหวัดกันบ้าง" 
คุณเรืองวิทย์กล่าวด้วยตาเป็นประกาย 

นอกจากนั้น คุณเรืองวิทย์ยังมีสนามเด็กเล่นในร่มแสนสนุกอยู่ในซอยสุขุมวิท 26 อีกด้วย ชื่อว่า ฟันเนเรี่ยม 
 

"ฟันเนเรี่ยม แปลว่าอะไรคะ" 
"fun-arium ก็ชื่อตามตัวครับ คือสถานที่มีความสนุกสนาน คือสถานที่ที่สามารถให้ความสนุกสนานแก่ทั้งครอบครัวได้ 
โดยเฉพาะเด็กๆ ประเทศไทยไม่ค่อยมีสถานที่ที่ให้เด็กได้มีความสนุกสนานอย่างปลอดภัย 
ผมก็เลยไปดูตัวอย่างจากต่างประเทศ ได้มีโอกาสศึกษา 
และคิดว่าเมืองไทยทำไมไม่มีสถานที่อย่างนี้บ้าง จึงได้สร้างอันนี้ขึ้นมา" 
"ฟังดูน่าสนุกนะคะ แล้วมันแตกต่างกับที่อื่นยังไงคะ" เราถามต่อ 

"ก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมากนะครับ เราเป็นสนามเด็กเล่นในร่มแห่งแรกในประเทศไทย 
คำว่า สนามเด็กเล่น ในความหมายของผม แปลว่า สถานที่ที่ให้เด็กได้มีการเล่นอย่างไร้ขีดจำกัด 
นั่นคือไม่มีกฎ กติกา ยกตัวอย่างเช่น ให้เด็กเล่นฟุตบอล มีกฎ กติกา มารยาท 
แต่สนามเด็กเล่นไม่มี จะวิ่งทางไหน จะปีนยังไงก็ได้ 
แต่เนื่องจากเราอยู่ภายในร่ม เพราะฉะนั้น เราก็สร้างสถานที่ให้เหมาะสมสำหรับในร่ม 
นอกจากนั้น เราก็มีกิจกรรมสำหรับเด็ก หรือวิธีการเล่นที่เหมาะสมสำหรับในร่มอีกด้วยครับ" 

เราเหลือบตามองไปที่นาฬิกา มองเห็นเข็มสั้นหมุนเกินหนึ่งรอบมาเกินครึ่ง 
คุณเรืองวิทย์ทำให้เวลาแห่งจินตนาการและความรู้ของเราผ่านไปอย่างเร็วมาก 
คำถามสุดท้ายก่อนจากกันวันนั้น เราถามคุณเรืองวิทย์ว่า 
"คิดว่าตัวเองเป็นคนอย่างไรคะ" 
คุณเรืองวิทย์นิ่งไปสามวินาที 
แล้วตอบกับเราด้วยท่าทีจริงจังและจริงใจว่า 
   

"ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งครับ 
ทำงานด้วยความถูกต้องและโปร่งใส 
ทุกสิ่งอย่างที่ผมทำ สามารถตอบได้ มีที่มา-ที่ไป ชัดเจน 
และที่สำคัญ คือ อยากให้คนไทยทุกคน มีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นครับ" 

คุณค่าและความมุ่งหมายของชีวิตของคุณเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ 
นั้นมาจากพื้นฐานการอบรมสั่งสอนที่มาจากครอบครัวที่อบอุ่น 
การใช้ชีวิตที่มีคุณค่า ที่คิดดี พูดดี และทำดี ย่อมทำให้จิตมีสมาธิ 
และพร้อมที่จะทำประโยชน์ให้ตนเอง สังคม และประเทศชาติ 
ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้ตนเองมีทรัพย์ไว้ใช้จ่าย 
เพื่อยังชีพของตน และครอบครัวให้อยู่อย่างสุขสบาย รู้จักเก็บออม ใช้จ่ายโดยไม่มีหนี้สิน 
และมีทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพที่สุจริตต่อไป 
และนี่คือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่สังคมไทยต้องการ 
"คุณเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์" 

LastUpdate 10/03/2557 16:50:00 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 12:15 am