สมการชีวิตสมดุล ของ นายแพทย์บุรณัชย์ สมุทรักษ์
สมการชีวิตสมดุล
ของ นายแพทย์บุรณัชย์ สมุทรักษ์
 
มนุษย์เรามีสมองกันอยู่ 2 ซีก คือซีกซ้ายและซีกขวา 
แต่สิ่งที่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ เราถนัดในการใช้สมองทั้งสองซีกไม่เท่ากัน 
จะเห็นว่าบางคนใช้สมองซีกซ้ายได้ดี ในขณะที่บางคนถนัดในการใช้สมองซีกขวา 
เมื่อโตขึ้น ความแตกต่างนี้ก็ยิ่งชัดเจน 
 

คนที่ถนัดใช้สมองซีกซ้าย เป็นมนุษย์พันธ์ดิจิตอล คือ ไม่ 0 ก็ 1, ไม่ซ้ายก็ขวา เช่น พวกวิศวกร, นักวิทยาศาสตร์, นักคณิตศาสตร์, นักวิเคราะห์ เป็นต้น

ส่วนคนที่ถนัดใช้สมองซีกขวา เป็นมนุษย์พันธ์อนาล็อก คือ คิดแบบต่อเนื่อง, มีจินตนาการ เช่น นักออกแบบ, นักดนตรี, ดีไซเนอร์, นักโฆษณา เป็นต้น

จากเหตุผลทางกายภาพข้อนี้เอง ทำให้เราหาคนที่สามารถสร้างสมการชีวิตสมดุลย์
จากสมองทั้งสองซีกได้น้อยมากในปัจจุบัน

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย......
ณ เช้าวันที่หนึ่ง วันที่กรุงเทพฯฉ่ำนองไปด้วยฝน
วันนี้เรามีนัดกับ สมาชิกสภาผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์
ผู้ซึ่งใช้งานของสมองทั้งสองส่วนได้ดีเท่าๆกันอย่างน่าประทับใจ
นายแพทย์บุรณัชย์ สมุทรักษ์ หรือ คุณหมอท๊อป เดินเข้ามาสวัสดีทักทายเราอย่างเป็นกันเอง
ชายหนุ่มรูปร่างสันทัดผู้นี้บางครั้งดูไม่เหมือนนายแพทย์เอาเสียเลย

"เพื่อนๆผมหลายคนก็บอกอย่างนั้นเหมือนกันครับ
 เขาบอกว่าผมเหมือนบทเพลงหนึ่งอัลบั้ม
 ที่มีทั้งหนัก เบา ช้า แล้วก็เร็ว" 
 
 
คุณหมอท็อปพูดยิ้มๆ

"ผมเนี่ยอาจจะดูไม่เหมือนคนที่เป็นหมอเท่าไหร่นะครับ
โลกนี้มีหมออยุ่สองประเภท 
ประเภทแรกคือ หมอที่รักษาความสะอาดทุกขั้นตอน 
อีกประเภทคือเห็นของตก ก็ก้มลงหยิบมาปัดๆแล้วเอาเข้าปากเลย
ซึ่งผมเป็นประเภทอย่างหลังน่ะครับ"

คุณหมอท็อปปล่อยมุกแบบหน้าตายกับเรา

"ชีวิตวัยเด็กของผม ผมเรียนห้าโรงเรียน
ตามคุณพ่อที่เป็นทูตทหารประจำประเทศอังกฤษไปตั้งแต่อายุเจ็ดเดือน"

คุณหมอท็อปเป็นบุตรชายของ พล.อ.เมธี สมุทรักษ์ 
อดีตประธานคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 
และผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร 
กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทิพย์วัลย์ สมุทรักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา 
และอดีตคณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต 

"ตอนอายุประมาณหก เจ็ดขวบ ผมกลับมาเมืองไทย
แล้วเข้าเรียนที่โรงเรียนเซ็นคาเบรียล เรียนที่นั้นได้สี่ปี
แล้วชีพจรก็ลงเท้าอีกครั้ง  คราวนี้ตามคุณพ่อไปประจำที่ประเทศญี่ปุ่น
อยู่ที่นั่นก็เรียนโรงเรียนนานาชาติสามปี
แล้วก็กลับมาเมืองไทย เรียนที่โรงเรียนร่วมฤดีได้หกเดือน
แล้วก็มาจบมัธยมที่สาธิตฯปทุมวัน
จากนั้นก็สอบศึกษาต่อได้ที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
 
 
หลังจากที่คุณหมอท็อปสำเร็จปริญญาตรี แพทศาสตร์บัณฑิต
ด้วยคะแนนยอดเยี่ยมเป็นอันดับที่1 ในสาขาศัลยกรรมทรวงอกแล้ว 
คุณหมอท็อปก็ได้ไปศึกษาในสาขาสาธารณสุขศาสตร์ 
และสาขานโยบายและบริหารที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
และจากการที่ได้รับการศึกษาในหลายประเทศซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน 
ได้เข้าเรียนห้าระบบในสามประเทศ
ทำให้ตัวของคุณหมอเองเป็นคนที่ได้รับการหล่อหลอมมาอย่างดี 

"ผมเองมองว่าในแต่ละโรงเรียนมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน
บางที่ยังมีความอนุรักษ์หรือเป็นจารีตอยู่ 
ถ้าเราสามารถดึงเอาส่วนดีจากความแตกต่างเหล่านั้นมาเป็นตัวช่วย
ในการพัฒนาตัวเองแล้ว ผมเชื่อว่าเราจะเติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมเลยทีเดียวครับ"

"คุณหมอเริ่มสนใจทางการเมืองเมื่อไหร่ค่ะ"
 
"จริงๆตั้งแต่เด็กๆแล้วนะครับ ตอนเรียนก็เป็นตัวแทน เป็นหัวหน้าห้องบ้าง
ตอนอยู่ที่จุฬาก็เป็นผู้แทนคณะ เป็นรองประธานสภานิสิตฯ
ตอนที่เรียนแพทย์ คุณชวน หลีกภัย ท่านเป็นอาจารย์สอนกฎหมายพื้นฐาน
ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสนใจอย่างเป็นทางการก็ว่าได้"

คุณหมอท็อปเล่าให้เราฟัง

"ในช่วงที่ไปเรียนต่อที่อเมริกานั้นผมมีโอกาสพบกับ
คุณหญิง สุพัตรา มาศดิตถ์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ท่านเป็นคนแนะนำให้ผมได้พบกับคุณชวน และคุณอภิสิทธิ์
พอผมเรียนจบกลับมาไทย ก็ไปสมัครสมาชิกทิ้งไว้ก่อน
พอหลังจากที่ทำงานใช้ทุนเสร็จ จำได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังเลือกตั้งพอดี
ผมก็ได้เข้าไปเรียนท่านว่า พร้อมแล้วที่จะทำงานภาคประชาชน"

"ตอนนั้นผมถูกคัดเลือกให้ลง ส.ส.ในเขตของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์
ซึ่งคุณอภิสิทธิ์บอกกับผมว่าต้องเจองานใหญ่นะ 
ผมบอกว่าไม่มีปัญหา ไม่เป็นไรถ้าจะสอบตก เพราะตั้งใจจะทำงานจริงๆ"

"แล้วคุณหมอทำอะไรต่อคะ" เราถาม
 
"จากนั้นผมก็ได้เข้าไปเป็นเลขานุการของคุณชวนครับ
แทนคนเก่าที่ลาออกไปสมัคร ส.ส.
จำได้ว่าคุณชวนถามผมว่า ผมพร้อมหรือไม่
ผมเจอท่านตอนสองทุ่ม ผมกลับไปบ้านคุยกับภรรยา
แปดโมงเช้าวันรุ่งขึ้นผมก็ไปลาออกที่จุฬาฯ
พอแปดโมงครึ่งผมก็ไปนั่งรอท่านที่พรรคแล้ว
พอคุณชวนมาถึงก็ถามผมว่าอ้าว มาแล้วเหรอ" 
 
 
คุณหมอท็อปเล่าให้เราฟังว่า

"คุณอภิสิทธ์ก็บอกกับผมว่าว่าดีแล้วที่ได้ไปช่วยท่าน
เพราะว่าตอนนั้นมีการแข่งขันกันสูงมาก
จนกระทั่งมีเหตุการณ์ไฟดับที่จังหวัดปทุมธานี 
ทำให้เราไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล
ตอนเช้าคุณชวนก็มาบอกผมว่าให้อยู่ต่อนะ"

นายแพทย์บุรณัชย์ สมุทรักษ์ จึงทำหน้าที่เลขาฯผู้นำฝ่ายค้าน 
และเป็นรองโฆษกพรรคด้วยในตอนนั้น
จากนั้นก็ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้านสาธารณสุข ของพรรคประชาธิปัตย์ 
และได้จัดทำ ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

"ผมเป็นคนเสนอร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ครับ
ประเด็นหลักของหลักประกันสุขภาพนั้น คือ เราต้องมองสองขาเสมอ
คือแหล่งเงิน กับการใช้
ในส่วนของแหล่งเงินนั้นเ ราเป็นผู้ริเริ่มตั้ง กองทุน สสส. หรือ กองทุนส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็นประเทศแรกๆของโลกที่เอาภาษีสรรพสามิต หรือภาษีเหล้าและบุหรี่มาสนับสนุน
เอามาตั้งเป็นกองทุน ใช้ในการรณรงค์เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี
ลดการดื่มเหล้า ลดการสูบบุหรี่ ลดการเกิดอุบัติเหตุ 
รณรงค์เรื่องการออกกำลังกาย การสร้างสุขภาวะ
อันนี้ทำสมัยคุณชวนเป็นนายกฯ
ผมมีส่วนในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้น"

"ส่วนการใช้เงินนั้นมันจะไม่เกิดผลเลย
ถ้ารัฐบาลมองว่าตัวเองเป็นผู้อุปถัมภ์ ส่วนประชาชนเป็นผู้ได้รับการสงเคราะห์
ไม่มีความรุ้สึกเป็นเจ้าของ
ระบบนี้จึงเป็นระบบที่มีแต่คนที่เลือกจะไม่ใช้
นี่คือปัญหาของนโยบายสามสิบบาท ที่คนชั้นกลาง คนที่มีฐานะให้การปฎิเสธ
ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น"

คุณหมอท็อปพูดต่อไปว่า

"ไม่เพียงเท่านั้นครับ แพทย์ก็จะไหลออกไปสุ่ภาคเอกชนมากขึ้นด้วย
ช่วงนั้นประสบปัญหามาก เพราะแพทย์ลาออกมาก
เนื่องจากรัฐฯไปประโคมข่าวเกินจริง 
แต่ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้อย่างที่พูดไว้
จนในที่สุดมันกลายเป็นระบบอนาถา"

"ซึ่งถ้าเทียบกันกับระบบประกันสังคม 
ที่นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ช่วยกันจ่าย
อันนั้นทำให้เขามีความรุ้สึกเป็นเจ้าของ
ทำให้สามารถออกแบบระบบที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง
พอมีความรู้สึกเป็นเจ้าของขึ้นมาแล้ว  ผู้ใช้บริการก็ยินดีที่จะเข้าร่วม 
ซึ่งเป็นรูปแบบและแนวคิดที่แตกต่างกันกับนโยบายสามสิบบาทครับ"

"แล้วเสียดายไหมคะที่ร่างของคุณหมอตกไป"

"แน่นอนครับ ตอนที่เราผลักดันเรื่องระบบประกันสุขภาพนั้น
มาถึงตอนนี้ก็เสียดายอยู่เหมือนกันที่มาหยุดอยู่แค่นี้ 
เพราะว่าเรามาถึงจุดที่รักษาฟรีสร้างความเท่าเทียมกันทั้งสามฝ่าย
 คือระบบราชการ  ระบบประกันสังคม และผู้เอาประกัน"

นอกจากนั้นคุณหมอท็อปยังเล่าให้เราฟังอีกว่า

"ตอนนี้กลับกลายเป็นเก็บสามสิบบาท ซึ่งมันถอยหลังไปอีก
คือใช้การตลาดมานำหน้าจนไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ที่จะเลือกใช้ระบบประกันสุขภาพเป็นระบบประกันอันแรก
ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นปุ๊บเนี่ย ภาคเอกชนก็จะยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการ
ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลงและหมดไปในที่สุด"
 


"จริงๆแล้วการบริการพื้นฐานแบบนี้ไม่ควรที่จะต่างกัน
สมมุติว่าเกิดอุบัติเหตุ ที่หน้าโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
รถฉุกเฉินควรพาเขาเข้าโรงพยาบาลแห่งนั้นโดยทันที
โดยที่ไม่ต้องคำนึงว่าโรงพยาบาลนั้นๆ อยู่ในระบบประกันสุขภาพหรือไม่"

"เราพยายามผลักดันเรื่องความมั่นคงในชีวิต
ว่าทุกคนตั้งแต่เกิด จนเสียชีวิต จะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันทุกคน
ความสามารถของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันอยู่แล้ว
สังคมที่ให้โอกาสผู้ที่มีความสามารถ ให้โอกาสกับผู้ที่มีชีวิตมั่นคงได้นั้น 
เราเรียกว่าสังคมอุดมคติ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่เปิดกว้าง
ให้คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจนนั้น สามารถไต่เต้าบนพื้นฐานความสามารถของตัวเอง ไปสู่ชีวิตที่มั่นคงได้นั้น ผมถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลควรทำ"

"บางคนอาจจะผ่านวิกฤตของชีวิตที่ตัวเองไม่ได้ทำเอง
เช่นอุบัติเหตุต่างๆ นั้น ผมคิดว่าเราควรมีหลักประกันในชีวิตให้กับพวกเขาเหล่านั้นด้วยการดูแลในทุกช่วงของชีวิต"

"การเก็บภาษีต้องเก็บให้เต็มที่ 
เราทำภาษีทรัพย์สิน ผ่านทุกวาระเข้าไปจ่ออยู่แล้ว 
แต่ว่าก็หยุดอยู่แค่นั้น ถ้าเราเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่ ผลกระทบก็ตกกับประชาชน"

คุณหมอท็อปบอกกับเราด้วยท่าทีที่วิตกกังวลไม่น้อย

สำหรับชีวิตครอบครัวของคุณหมอนั้น 
คุณหมอท็อปถือว่าเป็นแฟมิลี่แมนตัวจริงเสียงจริงคนหนึ่ง
คุณหมอเล่าให้เราฟังว่า

"ผมเจอกับภรรยาสมัยเรียนที่จุฬาฯครับ เธอเป็นเชียร์ลีดเดอร์
แต่จริงๆ เจอกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เห็นๆกันตอนเรียนพิเศษ
เพราะว่าเพื่อนของเพื่อนอยู่กลุ่มเดียวกันน่ะครับ"

เป็นอย่างที่หลายคนบอกว่าเรานั้นเกิดมาเพื่อใครคนหนึ่ง
และในที่สุดทั้งคู่ก็จะหากันจนเจอเอง
เพราะว่าคุณหมอกับภรรยามาแต่งงาน
ก็เมื่อทั้งคุ่มาพบกันอีกครั้งเมื่อเวลาสิบปีผ่านไป

"แล้วเราก็แต่งงานกันครับ
  ผมมีลูกชายสามคน
  คนโตเพิ่งไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา
  ส่วนอีกสองคนยังเรียนอยุ่ที่นี่ ที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา"

"ภาระในการดูแลลูกเป็นของภรรยา ซึ่งให้กำลังใจเราเต็มที่
ผมเองไม่เคยเห็นใครที่มีชีวิตการงานดี แต่ชีวิตครอบครัวไม่ดี 
ผมว่าสองสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน คู่กัน ส่งเสริมกัน 
ผมเองนั้นโชคดีมากที่ภรรยาเข้าใจในการทำงานของผม"

คุณหมอท็อปยังบอกกับเราอีกว่า
"ปกติทุกเรื่องในครอบครัวเราจะโหวตกัน
 บางเรื่องผมก็เป็นคนตัดสินใจ
ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือเวลาลูกไม่สบาย 
ภรรยาผมจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะพาลูกไปหาหมอที่ไหน
….ไม่ยอมให้ผมรักษาเด็ดขาด" 
คุณหมอท็อปบอกเราด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

 

"เวลาว่างของคุณหมอทำอะไรบ้างคะ" เราถาม
"ผมเล่นดนตรีครับ เล่นการกุศลกับกลุ่ม YPO  (Young Presidents Organization) บ้างเป็นครั้งคราว"
"ผมเล่นคีย์บอร์ด ฟังเพลงทุกแนว
 เชื่อไหมครับว่าผมคุยเรื่องดนตรีกับคุณอภิสิทธิ์ได้เป็นวันวันเลย"
 "คุณอภิสิทธิ์มีความรู้เรื่องดนตรีมาก" คุณหมอท็อปบอก

"ก่อนหน้าที่จะมี iPod มีเครื่องเล่นMP3 ของCreative Lab ชื่อSound Blaster
ผมกล้าพูดได้เลยว่ามีผมกับคุณอภิสิทธิ์สองคนที่มีเจ้าเครื่องนี้เป็นคนแรกๆของประเทศ เพราะว่าตอนนั้นนายกรัฐมนตรีของสิงค์โปร์ มอบให้คุณชวน หลีกภัย
ท่านเลยมอบให้ผมกับคุณอภิสิทธิ์ ว่าลองเอาไปดูซิว่าทำอะไรได้บ้าง
ผมก็เลยถือโอกาสขอแชร์  5,500 เพลงในเครื่องของคุณอภิสิทธิ์มาด้วยเลย" 

คุณหมอท็อปเล่าให้เราฟังต่อไปว่า

"ผมชอบเพลงของอังกฤษมากกว่าอเมริกาครับ
ส่วนเพลงไทยนั้น ผมมองว่าตอนนี้โตอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว 
แต่ละวงมีสำเนียงเป็นของตัวเอง ซึ่งผมถือว่ามีเสน่ห์มาก"

คุณหมอท็อปพูดให้เราฟังอย่างออกรส
"ผมชอบกรูฟ ไรเดอร์  แทตทูคัลเลอร์ครับ 
 ถึงแม้ผมจะเล่นคีย์บอร์ด แต่เวลาว่างก็มักจะหยิบเฟนเดอร์คู่กายออกมาแกะเพลงที่มีริฟท์เท่ๆ"  

 "วงโมเดิร์นด็อกนี่ผมก็ชอบมากนะครับ 
   เขาเป็นวงดนตรีเพียงไม่กี่วงที่สามารถแสดงสดได้ดีกว่าแผ่น"

"หรืออย่างบอดี้สแลมนี่ผมชอบฟังเสียงกลองของเขาครับ
 จังหวะกลองที่คร่อม แต่ลงตัวทำให้ดนตรีของบอดี้สแลมมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน
 เป็นซาวด์ที่เจ๋งมาก"

 คุณหมอท็อปพูดกับเราอย่างคอเพลงพันธุ์แท้

บทเพลงแห่งชีวิตบรรเลงมาถึงแทรคสุดท้าย
ก่อนจากกันคุณหมอท็อปได้ฝากกับเราไว้ว่า

"สังคมตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง  
ถ้าคนรุ่นใหม่คิดว่าตัวเองไม่ต้องมีส่วนร่วมก็ได้
หรือไม่ได้มีความตื่นตัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง
สังคมเราก็จะเกิดสูญญากาศ
ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์
หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต
ประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยนั้น เริ่มตัวจากคนรุ่นใหม่ทุกครั้ง
เกิดจากความตื่นตัว หรือไหวตัวก่อนแทบทั้งสิ้น
คนรุ่นใหม่จะเป็นคนกลุ่มแรกที่จะออกมายืนคัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสมอ
หากเราเพิกเฉย และปล่อยวางก็อาจจะสูญเสียโอกาสที่ดีในการพัฒนาประเทศครับ"

 

ศิลปะและวิทยาศาสตร์ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน
นี่เป็นความเชื่อลึกๆ ของพวกเราอันหนึ่ง ที่เป็นกำแพงศรัทธา 
ที่นับวันก็ยิ่งก่อตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ 
ทุกครั้งที่เราได้มีโอกาสอ่านความคิด สังเกตการทำงาน 
หรือพบปะพูดคุยกับศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ที่นับถือ
เพราะรู้สึกว่าพวกเขาต่างได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเดียวกัน 
คือความงดงามในธรรมชาติ
ต่างกันเพียงแค่  ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความงามด้วยอารมณ์ความรู้สึก 
แล้วถ่ายทอดออกมาเป็น “งานศิลปะ” ตามอารมณ์นั้น 
ในขณะที่อีกฝ่ายรับรู้ความงามด้วยการใช้เหตุผลวิเคราะห์ความเป็นไป 
แล้วถ่ายทอดออกมาเป็น “ความรู้” หรือทฤษฎี ตามกระบวนการใช้เหตุผล

นายแพทย์บุรณัชย์ สมุทรักษ์ เป็นคนเพียงไม่กี่คน
ที่สามารถนำพาเอาจินตนาการอันเพริดแพร้วมารวมกับองค์ความรู้ที่มีอย่างลงตัว
ทำให้เราสามารถสัมผัสได้เลยว่า นี่แหละคือคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพของสังคม
คนรุ่นใหม่ที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ก้าวไกลและมีคุณภาพ
และนี่คือความหมายของคำว่า "ลงตัวอย่างมีคุณภาพโดยแท้จริง"

LastUpdate 16/07/2555 00:15:13 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:22 pm