เจ้าแม่พีอาร์ แห่ง KTC
กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง
เจ้าแม่พีอาร์ แห่ง KTC
 

ไม่ใช่แค่หน้าตาดี และแต่งตัวสวย เพียงเท่านี้ คุณก็จะเป็นพีอาร์ที่ดีได้ เพราะพีอาร์ที่ดียังต้องมีคุณสมบัติอื่นอีกหลายอย่าง แต่ถ้าคุณอยากเป็นพีอาร์ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต นอกจากต้องมีคุณสมบัติของพีอาร์ที่ดีให้ครบถ้วนแล้ว คุณอาจต้องมีอีกหนึ่งสิ่ง นั่นคือ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ความสุข” เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานและในทุกอณูของชีวิต เหมือนกับพีอาร์สาวแกร่ง “กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายสื่อสารองค์กรและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC 
 
เช่นเดียวกับการเป็นพีอาร์ การได้รับเลือกให้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว สมัยที่ “กัณฑรัตน์” หรือ “พี่ต้อย” เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็หาใช่จะอาศัยแค่เพียงหน้าตาหรือภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น
 
ใบหน้างามๆ และรอยยิ้มหวานๆ เป็นเพียงประตูสู่โอกาส แต่ไหวพริบในการตอบคำถาม ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี และความอดทนต่อแรงกดดัน เหล่านี้ต่างหากที่ทำให้พี่ต้อยได้รับเลือกให้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในปี 2527 โดยปีนั้นเป็นปีแรกที่มีการนำตัวแทนจากคณะต่างๆ มาเก็บตัวทำกิจกรรม เพื่อเฟ้นหาผู้อัญเชิญพระเกี้ยวที่มีทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติพร้อมที่สุด 
 
พี่ต้อยจบปริญญาตรีพร้อมด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 แต่ถึงอย่างนั้น เธอว่านี่คือหนึ่งในไม่กี่สิ่งในชีวิตที่เธอเสียใจมากที่สุด เพราะขาดอีกเพียงไม่กี่คะแนน เธอก็จะคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครอบครองแทนได้แล้ว  
 
“มันเป็นความเสียใจมาก ถ้าเราตั้งใจแต่เทอมแรก ก็คงไม่ได้เกรดเฉลี่ยเพียง 2.6 พอคิดได้ หลังจากนั้น แม้จะมีบางเทอมทำได้ A หมด แต่ตอนจบ รวมแล้วก็ได้แค่ 3.5 ขณะที่เกียรตินิยมอันดับ 1 ตั้งไว้ที่ 3.6 ครั้งนี้ เราก็เลยคิดตลอดว่า ต่อจากนี้ไป ทุกจังหวะของการใช้ชีวิต เราต้องมีสติ เพราะบางครั้งเราพลาดอะไรไป แล้วเราอาจเสียใจทั้งชีวิต” 
 
 
นี่อาจเป็นเรื่องเล็กสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับคนที่เวลาทำอะไรแล้วตั้งใจเต็มที่และทุ่ม “เกินร้อย” ทุกครั้งอย่างพี่ต้อย นี่คือบทเรียนสำคัญเตือนไม่ให้เธอ “เผลอไผล” ไปกับชีวิตแม้ในช่วงเวลาสั้นๆ มาจนวันนี้  
 
ในวัยเด็ก พี่ต้อยฝันอยากทำงานด้านการทูตหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เธอจึงเลือกเรียนต่อด้านนี้ที่ Easter Michigan University ด้วยความคิดว่า ไปเรียนก่อนแล้วค่อยโอนหน่วยกิตเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ภายหลัง 
 
ขณะรอวีซ่า เจ้าหน้าที่สถานทูตแนะว่า ผลการเรียนเช่นเธอ ควรเข้ามหาวิทยาลัยท็อปเท็นอย่าง Columbia University เพราะที่นั่นมักมีผู้นำระหว่างประเทศมาเป็น Guest Speaker อยู่เสมอ เมื่อใคร่ครวญแล้ว เธอเปลี่ยนมาเรียนด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Economic Development) ในแถบเอเชียแปซิฟิก ณ School of International and Public Affairs at Columbia University 
 
“เกือบตายเพราะเราจบอักษรฯ มา ไม่มีพื้นเกี่ยวกับเลข แต่ต้องเรียนสถิติ เรียนเศรษฐศาสตร์ เรียนทุกอย่างที่ไม่เคยเรียน แล้วที่นี่เรียนค่อนข้างหนักมาก เพราะเป็นหัวกะทิจากทั่วโลกมาอยู่รวมกัน ฉะนั้นต้องแข่งกันมาก อยู่ 2 ปี นอนคืนละ 4 ชม. เวลาที่เหลืออ่านหนังสือกับทำรายงานตลอด ก็ค่อนข้างเหนื่อยและหนักมาก เพราะต้องตั้งใจมากกว่าคนอื่น” 
 
พี่ต้อยย้ำว่า ประสบการณ์สมัยเรียนที่ว่าหนักและเหนื่อยนั้น ยังไม่อาจเทียบได้กับประสบการณ์ช่วงการเริ่มต้นทำงานเป็นพีอาร์ในช่วง 2-3 ปีแรก เธอบอกว่า ทั้ง 2 ครั้ง เธอผ่านมาได้ เพราะความทุ่มเทและตั้งใจที่มากกว่าคนอื่น
 
พี่ต้อยถือเป็นพนักงานรุ่นบุกเบิกของ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (ในขณะนั้น) เพราะขณะที่บริษัทก่อตั้งขึ้นราวเดือนธันวาคม 2539 เธอได้เข้าทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2540 ด้วยการติดต่อของคุณนิวัตต์ จิตตาลาน ซึ่งเป็นสามีของเพื่อนสนิท ชักชวนเข้ามาร่วมกันก่อร่างองค์กรใหม่ที่มีบุคลิก “นอกกรอบ”  
 
พี่ต้อยเริ่มต้นทำงานในเคทีซี ด้วยตำแหน่ง Business Support Manager ซึ่งมีหน้าที่หลักเพียงอย่างเดียวคือ การช่วยงานคุณนิวัตต์ทุกอย่าง ซึ่งขณะนั้นคุณนิวัตต์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ
 
ปี 2545 เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในเคทีซีและชีวิตพี่ต้อย เมื่อนโยบายจากบริษัทแม่ (ธนาคารกรุงไทย) ต้องการแปรสภาพ “เคทีซี” เป็นบริษัทมหาชนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุณนิวัตต์จึงเสนอตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้กับพี่ต้อย โดยงานประชาสัมพันธ์ถือเป็น “สิ่งใหม่” ทั้งต่อองค์กรเคทีซีและต่อชีวิตของเธอ
 
ช่วงเวลานั้นเป็นยุคที่เคทีซีลุกขึ้นมาเปลี่ยน “ลุค” ของบริษัทครั้งใหญ่ ทั้งโลโก้ ชื่อบริษัท ออฟฟิศ บุคลากร และวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ที่มีสีสันและความทันสมัยมากจนหลุดจากภาพสถาบันการเงินแบบเดิมๆ ในยุคนั้น หลายฝ่ายจึงยกให้เคทีซีเป็นองค์กร “คิดนอกกรอบ”
 
ทั้งที่ไม่มีความรู้ด้าน “พีอาร์” มาก่อนและไม่รู้จักนักข่าวแม้แต่คนเดียว แต่พี่ต้อยก็ยอมรับงานใหม่ครั้งนี้อย่างไม่ลังเล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิสัยชอบท้าทายตัวเอง อีกส่วนมาจากความมั่นใจอันเกิดจากความไว้วางใจของเจ้านายที่เชื่อว่า เธอทำได้
 
“คุณนิวัตต์โตมาจากสาย HR และเราทำงานกับคุณนิวัตต์มา เรารู้ว่าคุณสมบัติข้อหนึ่งของคุณนิวัตต์ คือ มองขาดในเรื่องการใช้คน การที่คุณนิวัตต์ให้โอกาสเรา แสดงว่าท่านต้องมองแล้วว่าเรามีศักยภาพพอจะทำได้ ก็เลยรับเอาไว้ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “พีอาร์” คืออะไร”
 
เพราะรู้ว่ามีเวลาเพียง 8 เดือนระหว่างที่บริษัทกำลังเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เธอจึงต้องเรียนรู้ให้เร็วที่สุด โดยนอกจากแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนที่ทำงานด้านนี้ และหาหนังสือมาอ่าน เธอยังไปลงเรียนหลักสูตรต่างๆ เกี่ยวกับงานพีอาร์ เพื่อทำความเข้าใจงานพีอาร์และพยายามศึกษาหาวิธีการในแบบของตัวเอง และเพื่อให้ “วิ่ง” ทันกับฝ่ายพีอาร์ของบริษัทคู่แข่ง เธอจึงจำเป็นต้องขยันกว่าและต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น 
“ด้วยความที่เราไม่คยเรียนด้านนี้มา ฉะนั้นเวลาที่เราทำอะไร ก็ทำจากใจ ทำจากความรู้สึก เหมือนต่อยมวยวัด ตอนนั้นอะไรหลายๆ อย่าง สื่อก็เลยอาจจะมองเราแปลกๆ แต่ส่วนตัวคิดว่า งานพีอาร์คืองาน Creative บวกกับ Common Sense ที่ต้องคิดว่า เราจะต้องทำให้ข่าวของเราน่าสนใจ โดยต้องไม่บิดเบือนความจริง” 
 
 
ผ่านประสบการณ์ในงานพีอาร์มา 10 ปี พี่ต้อยสรุปว่า แม้โดยส่วนมากงานพีอาร์จะไม่ใช่หน่วยงานที่สร้างรายได้ให้บริษัท แต่เป็นงานที่มีความสำคัญต่อความเป็นไปขององค์กร เพราะถือเป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Position) และต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูง หาใช่งานบริการอย่างที่หลายคนมักเข้าใจผิด
 
นอกจากนี้ พีอาร์ยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษในการเรียนรู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของทุกองคาพยพในองค์กร รวมถึงเรียนรู้ไปจนถึงธุรกิจของพาร์ทเนอร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stake holder) ขององค์กร และยังเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่จะได้รับรู้ข่าวดีและข่าวไม่ดีขององค์กรก่อนใคร 
“งานพีอาร์ค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ และแต่ละวันมีงานเข้ามา 10-20 งานต่อวัน ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่า Priority ของงานคืออะไร เพราะสำหรับงานพีอาร์ “จังหวะเวลา” มันต้องใช่ จะออกข่าวก่อนก็ไม่ได้ ให้ข่าวทีหลังก็ไม่ดี อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ”
 
สำหรับพี่ต้อย งานพีอาร์ถือเป็นงานที่ต้องใช้ทุกส่วนของชีวิต ทั้งความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะ สายสัมพันธ์ แรงกายและแรงใจ ฯลฯ หาใช่เพียงแค่การแต่งตัวสวยๆ ออกงานสังคม และพูดคุยกับผู้คนทั่วงาน อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ 
 
ช่วง 2-3 ปีแรกของการทำงานพีอาร์ พี่ต้อยยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ “Suffer” ที่สุดในชีวิต หนักกว่าสมัยเรียนปริญญาโทหลายเท่า เพราะไม่เพียงต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนภายนอกได้เห็น เธอยังต้องทำให้คนในองค์กรเชื่อมั่นในตัวเธอ ทั้งที่เวลานั้น ความรู้ทางพีอาร์ เธอยังไม่มี แต่กลับต้องเข้ามาทำงานในยุคที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท  
 
“ช่วงนั้นทั้งเหนื่อยและเครียด เพราะเราเป็นคนทำอะไรแล้วตั้งใจ ก็เลยพยายามผลักดันตัวเอง ช่วงนั้นรู้เลยว่าสุขภาพไม่ดี แต่ว่ามันก็เห็นผลในเวลาต่อมา ซึ่งเราก็ยอมแลก เพราะในชีวิต มันคงไม่มีอะไร ที่ได้มาฟรีๆ”  
 
จากไม่มีนักข่าวในมือแม้แต่คนเดียว มาถึงวันนี้พี่ต้อยมีนักข่าวในมือร่วม 2,000 คน นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อของเซเลบริตี้และบุคคลระดับวีไอพีในสังคมอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเธอบอกว่า สิ่งเหล่านี้ต้องใช้วิธีการทำงานแบบ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ต้องอาศัยความเข้าใจในความต้องการของสื่อมวลชน และต้องใช้เวลาในการสั่งสมเรื่อยมา 
 
จากที่บริษัทเคยเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีใครคุ้นเคยและให้ความสำคัญ จนมาวันนี้ ความเคลื่อนไหวของเคทีซีกลายเป็นที่จับตาและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมอย่างสม่ำเสมอ หรือแม้กระทั่ง สมญานาม “เจ้าแม่พีอาร์” ที่พี่ต้อยได้มา ความสำเร็จตรงนี้ เธอบอกว่าบุคคลเบื้องหลังความสำเร็จคนแรกที่ต้องกล่าวขอบคุณ คือ ทีมงาน 
 
จากจุดเริ่มต้นมีเพียงเลขานุการของคุณนิวัตต์เป็นผู้ช่วย วันนี้ ทีมพีอาร์ของพี่ต้อยมีด้วยกัน 8 คน เมื่อเทียบกับขนาดองค์กร หรือเทียบกับบริษัทคู่แข่ง อาจจะดูไม่เยอะ แต่เมื่อวัดกันที่ประสิทธิภาพการทำงาน ต้องถือว่าพีอาร์ทีมเล็กๆ นี้มีความสร้างสรรค์และคุณภาพไม่น้อยหน้าทีมใหญ่  
“โชคดีที่น้องในทีมทุกคนตั้งใจทำงาน แล้วน้องทุกคนรักงานตัวเอง สนุกกับงาน อยากทำงานให้ดีที่สุด และขยันทำงาน ถ้างานน้อยลงก็จะมานั่งคุกเข่าพับเพียบข้างๆ โต๊ะ ถามว่าทำอะไรผิดหรือเปล่าทำไมถึงได้งานน้อยลง และที่สำคัญคือ ทีมสปิริต (Team Spirit) เพราะเราจะบอกน้องเสมอว่าที่นี่ไม่มี One Man Show ถึงในทีมจะแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน คือเป็นเหมือนเอเจนซี่ยูนิตเล็กๆ ในตัวเอง แต่เมื่อไรที่คนนึงไม่อยู่ คนอื่นต้องสามารถทำงานแทนได้ทันที” 
 
 
ในมุมมองของพี่ต้อย บุคลิกของคนที่จะทำงานพีอาร์ โดยเฉพาะพีอาร์ที่เคทีซี คุณสมบัติสำคัญคือ ความขยัน เนื่องจากงานพีอาร์ต้องทำงานแข่งกับเวลา และเคทีซีไม่ได้มีงบพีอาร์เยอะเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ข้อต่อมาคือ ทัศนคติที่ดีต่องาน เพราะงานพีอาร์ถือเป็นงานหนัก ท้าทาย และมีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา ส่วนข้อสุดท้ายคือ คนที่จะทำงานพีอาร์ต้องทำงานด้วยความจริงใจ เป็นธรรมชาติ แต่ก็ต้องไม่มี “ego” จนเกินไป  
 
สำหรับพี่ต้อย เธอรู้สึกสนุกที่จะได้ตื่นขึ้นทำงานในทุกๆ เช้า เพราะงานพีอาร์ไม่เคยซ้ำกันในแต่ละวัน ซึ่งถือเป็นมนต์เสน่ห์ที่ทำให้เธอยังคงหลงใหลอยู่ในอาชีพนี้จนวันนี้ นอกจากนี้ งานพีอาร์ยังทำให้เธอได้ทำในกิจกรรมที่โปรดปรานอีกอย่าง นั่นคือ การทำสิ่งที่ดีๆ เพื่อสังคมผ่านโครงการ CSR ของบริษัท ซึ่งเปิดโอกาสให้เธอได้ทำสิ่งที่มีค่าต่อสังคมอย่างมีศักยภาพด้วยขนาดโครงการที่ใหญ่เกินกว่าที่เธอจะทำได้เพียงลำพัง  
 
ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 10 ในการทำงานพีอาร์ของพี่ต้อย แต่นับเป็นปีที่ 16 ในการทำงานที่เคทีซี เธอยอมรับว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้เธอเต็มใจทำงานอยู่ที่องค์กรแห่งนี้ คือเจ้านายที่มีชื่อว่า “นิวัตต์ จิตตาลาน” แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีบริษัทติดต่อขอให้เธอไปทำงานด้วย โดยยื่นข้อเสนอเป็นเงินเดือนที่มากขนาดที่ว่า จากวันนั้นมาจนวันนี้ เป็นเวลา 8 ปี เงินเดือน ณ ปัจจุบันของเธอยังไม่มากเท่าข้อเสนอครั้งนั้น  
 
“ของบางอย่างในชีวิต เงินก็ซื้อไม่ได้ การที่พี่ได้ทำงานอยู่กับคุณนิวัตต์ พี่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะคุณนิวัตต์เก่งรอบด้าน และเป็นคนทำอะไรเร็ว กลายเป็นว่าคุณนิวัตต์เป็นคนสอนให้พี่คิดไปข้างหน้า คิดเร็ว ทำเร็ว พูดเร็ว ตัดสินใจเร็ว และสอนเรา ในการทำงาน เราต้องมี “กึ๋น” และ “กล้า” ที่จะยืนยันในจุดยืนของเรา”
 
สำหรับเจ้านายคนปัจจุบัน แม้จะได้ร่วมงานกันเพียงไม่ถึงปี แต่พี่ต้อยก็รับรู้ได้ว่า “คุณระเฑียร ศรีมงคล” เป็นเจ้านายที่น่าทำงานด้วยอีกท่านหนึ่ง เพราะเป็นผู้นำที่เปิดรับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ลองทำงานตามความคิดและความมั่นใจของตัวเองเสมอ แม้บางครั้งอาจจะไม่เห็นด้วย 
 
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลที่ทำให้พี่ต้อยทำงานที่เคทีซีได้นาน นั่นคือ ทีมงานที่ร่วมเหนื่อยไปพร้อมกับเธอเสมอมา โดยสิ่งหนึ่งที่เธอให้สัญญากับทีมงานเสมอคือ “ถ้าเราโต เราโตด้วยกัน ถ้าเราตาย เราตายด้วยกัน ถ้าน้องเหนื่อย พี่ก็เหนื่อยด้วย"  และเหตุผลสุดท้ายคือ คือความสุขที่ได้เฝ้าดูและได้มีส่วนร่วมสร้างความเจริญให้กับบริษัท จากบริษัทอันดับรั้งท้ายที่ไม่มีใครสนใจ จนมาถึงวันที่บริษัทเติบโตและเป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำของตลาด 
 
 หลายคนนึกว่า ในช่วงรุ่งเรืองของบริษัท งานพีอาร์คงมีความสำคัญมาก เพราะต้องมีข่าวสารความเคลื่อนไหวมากมายที่ต้องสื่อออกไป แต่ความเป็นจริง พี่ต้อยบอกว่า ในยุคที่องค์กรขัดสน บริษัทต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย งานพีอาร์ยิ่งทวีความสำคัญยิ่งกว่า เช่นเดียวกับสถานการณ์ของเคทีซีในวันนี้ ที่เพิ่งประกาศตัวเลขขาดทุนของผลประกอบการปี 2554 หลังจากที่ บริษัทเคยมีแต่ข่าวกำไรมาตลอดในช่วงทำงานพีอาร์ของเธอ
 
“งานพีอาร์จึงกลายเป็นงานที่สำคัญมาก เพราะเราไม่อาจนำเงินไปทำโฆษณาหรือมีอีเวนต์ที่มีสีสันได้เหมือนเดิม ในฐานะที่เราเป็น free advertising ทุกฝ่ายก็เลยขอความร่วมมือพีอาร์เข้ามา” 
 
พี่ต้อยทิ้งท้ายว่า ภารกิจสำคัญเร่งด่วนสำหรับทีมพีอาร์ของเธอในห้วงเวลานี้คือ การเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กร รักษาความเป็น “ผู้นำ” ตลาดให้ได้ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ การร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในการผลักดันองค์กรให้กลับมาเป็น “ผู้นำ” ได้อย่างยั่งยืน
 
เพราะทำงานในสถาบันการเงิน บวกกับแนวคิดในการดำเนินชีวิตที่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท พี่ต้อยจึงวางแผนการลงทุนสำหรับอนาคตตัวเองอย่างรัดกุม นั่นคือ การมีเงินเก็บที่มากพอ ขนาดว่าถ้าวันนี้ เธอซื้ออสังหาริมทรัพย์ วันรุ่งขึ้น ถ้าเธออยากปลดหนี้ก้อนนี้ ต้องสามารถทำได้เลย ถ้าไม่เช่นนั้นก็ยังไม่ซื้อ และที่สำคัญคือ ต้องมีเงินเก็บมากพอที่จะทำให้เธอไม่เป็นภาระของคนอื่น ในยามที่เธอต้องอยู่คนเดียวเมื่ออายุมากขึ้น
 
แม้พี่ต้อยจะเคยหย่าร้าง แต่เธอยืนยันว่า ในมุมมองของเธอ ความรักยังเป็นสิ่งสวยงาม และอดีตสามีของเธอเป็นผู้ชายที่ดี เขาสอนให้เธอได้เรียนรู้และได้เห็นโลกกว้างและความสวยงามในชีวิตมากมาย แต่เหตุที่ต้องหย่าร้างเป็นเพราะ ณ เวลานั้น ความคิดของเธอโตไม่ทันกับความคิดของเขา จึงมักไม่เข้าใจในหลายสิ่งที่เขาทำ 
 
ส่วนเหตุผลที่วันนี้ พี่ต้อยยังครองตัวโสด เธอยอมรับว่า เป็นเพราะเกรงว่าจะหาคนที่ดีเท่าอดีตสามีไม่ได้ จึงเลือกที่จะมีความสุขอยู่กับตัวเอง กับแม่ กับเพื่อน กับงาน และเธอมองว่า ความรักในโลกนี้มีอยู่ตั้งหลายแบบ ความรักในแบบของชู้สาวอาจไม่ใช่ความสุขแต่เพียงอย่างเดียวของชีวิตเสมอไป
 
ปัจจุบัน พี่ต้อยอายุ 45 ปี เธอบอกว่า พออายุมากขึ้น เธอกลับยิ่งมีความสุขมากขึ้น เหมือนกับว่าประสบการณ์ที่ตกผลึกทำให้เธอเข้าใจแล้วว่าชีวิตต้องการอะไร มีความสุขกับอะไร และค้นพบว่าจริงๆ แล้ว ความสุขไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คนเรามีความสุขได้ ถ้าหัวใจเราใหญ่พอ และเรามีความนิ่ง
 
“สมัยเด็กๆ เราอาจจะสับสนว่าจริงๆ แล้วชีวิตต้องการอะไร เวลาที่โดนคนนั้นคนนี้ต่อว่า เราก็ไม่นิ่ง แต่พอโตจะรู้ว่าสุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวเราเอง เราอยู่ได้และมีความสุขด้วยตัวเอง เพียงแค่เราไม่ต้องหวังสูงว่าเราต้องมีความสุขทุกอย่าง ต้องสำเร็จทุกด้าน ต้องสวยไม่มีวันแก่ ต้องมีเงินเยอะมาก มองว่า ทุกอย่างในชีวิตผ่านมาก็ผ่านไป”   
 
แม้ว่าด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนทุ่มเท และทำอะไรทุกครั้งบนบรรทัดฐาน “ทำให้ดีที่สุด” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียใจเมื่อก้าวออกมาจากจุดนั้นแล้ว แต่ขณะเดียวกัน เธอก็รักษาสมดุลให้ตัวเองด้วยการเป็นคนไม่ตั้งความคาดหวังสูง และไม่เคยเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น รวมทั้งยังเป็นคนที่สามารถหัวเราะได้กับทุกเรื่อง รวมทั้งข้อผิดพลาดของตัวเอง 
 
 
นอกจากงานอันเป็นที่รัก การท่องเที่ยวเป็นอีกอย่างในชีวิตที่พี่ต้อยมักจะมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำ เธอรักการเดินทางท่องเที่ยวมาก จนดูเหมือนปฏิทินวันหยุดในแต่ละเดือนของเธอจะถูกจองเต็มแล้วด้วยแผนการท่องเที่ยว หลายคนเดินทางเพื่อพักผ่อน หาแรงบันดาลใจ หรือเปิดโลกกว้าง แต่สำหรับเธอ หลายๆ ครั้ง การท่องเที่ยวยังเป็นการท้าทายตัวเอง หลายๆ ทริปของเธอจึงมักมีเรื่องให้ อึ้ง! ทึ่ง! และเสียว! 
 
เช่น การปีนหน้าผาเนปาลที่สูงกว่า 30,000 ฟุต เหนือก้อนเมฆ เพื่อเอาชนะความกลัวที่สูงของตัวเอง หรือการไปพายเรือล่องแม่น้ำที่เชี่ยวกรากในต่างประเทศนาน 2 วัน 2 คืน หรือการขี่ล่อเดินเลาะหน้าผาที่แกรนด์ แคนยอน เพื่อท้าทายความกล้าในตัวเอง และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงไทยก็ทำได้ 
 
“เป็นคนชอบความเสี่ยง ชอบท้าทาย อะไรที่คนคิดว่าเราทำไม่ได้ก็อยากทำ จริงๆ ก็อยากไปเที่ยวอีกเยอะ อยากไปเห็นโลกกว้าง ไม่เคยคิดว่าจะทำงานประจำจนเกษียณ เพราะเราอยากมีเวลาไปเจอโลก เราอยากเดินทางไปอีกหลายที่ คิดว่าคนเราเกิดมาทั้งที ต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม เกิดพรุ่งนี้ตายไป เราควรได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และได้ลองทำในสิ่งไม่กล้า” 
 
ในภาพบั้นปลายชีวิตของพี่ต้อย การเดินทางคือสิ่งหนึ่งในนั้น นอกจากนี้ยังมีการอ่านหนังสือ การทำบุญ การได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และการได้มีความสุนทรีย์ในการใช้ชีวิต รวมถึงการมีรีสอร์ทเล็กๆ ที่เชียงใหม่เป็นของตัวเอง
 
“การได้เกิดมาเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ทั้งความสุข ความทุกข์ การรอคอย ความสำเร็จ ฯลฯ ทุกอย่างที่มีเข้ามาคือประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้เราเป็นเรา แล้ววันนี้เราจะทำให้ชีวิตที่เกิดมามีคุณค่าได้อย่างไรบ้างไหม โดยเฉพาะกับคนรอบตัว สิ่งนี้เรียกว่าความกตัญญู ซึ่งพี่ว่าสำคัญมากในชีวิตคนเรา”
 
พี่ต้อยกล่าวทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า “วันนี้คุณได้ทำดีต่อครอบครัว เจ้านาย และลูกน้อง ของคุณแล้วหรือยัง?” พร้อมย้ำว่า ต้องไม่ลืมว่า คนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ทำให้คุณมีวันนี้ และมาไกลได้ถึงจุดนี้ ...และนี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลในส่วนลึกที่ทำให้พีอาร์สาวแห่งเคทีซีคนนี้ ทุ่มเทเต็มที่กับเคทีซีตลอดเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา เพราะที่นี่ให้กำเนิดชีวิตในวงการพีอาร์ และเป็น “โรงเรียนพีอาร์” ให้กับเธอ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ส.ค. 2555 เวลา : 12:55:56
กลับหน้าข่าวเด่น
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 9:46 pm