จิรายุ ตุลยานนท์ หนุ่มหัวใจสีเขียว เจ้าของ โรงแรมบางกอกทรีเฮาส์






  

อนาคตที่ก้าวไกล ภายใต้แนวความคิดที่มั่นคง

ว่ากันว่าเมื่อเราพูดถึงคำว่า"อนาคต"มนุษย์จะถูกแบ่งให้เหลือเพียงสองพวกใหญ่ๆคือ

คนที่นั่งมองให้อนาคตผ่านเฉยๆ โดยที่ไม่รู้สึกรู้สาหรือทำอะไรกับมันเลย

กับอีกพวกที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าหากัน เพื่อเตรียมพร้อมไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต 

 

เพียงแค่นั่งเรือจากท่าน้ำบางนาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 

แล้วเดินลัดเลาะตามเส้นทางปูนเล็กๆที่ร่มรื่นไปเพียงไม่กี่อึดใจ

เราก็เจอสวรรค์เล็กๆที่ซ่อนตัวอย่างเงียบๆอยู่ในเงาไม้

"บางกอกทรีเฮ้าส์" เป็นโรงแรมที่ถูกออกแบบภายใต้คอนเซปต์กรีน โฮเตล 

 

แต่ว่าเจ้าของเองก็ไม่ได้จบสถาปัตยกรรม หรือการโรงแรมมาก่อน

แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติจึงถูกถ่ายทอดมาในรูปแบบเฉพาะตัวโดดเด่นเกินใครก้าวทัน

และที่สำคัญคือเป็นการนำเอาอดีตมาสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้อย่าหน้าทึ่งเป็นที่สุด

 

"จริงแล้วผมไม่ได้เรียนจบทางด้านการโรงแรมมาเลยนะครับ

คุณโจ้ จิรายุ ตุลยานนท์ Chief Greening Officer  แห่งบางกอกทรีเฮ้าส์บอกกับเราแบบยิ้มๆ

 

"ตอนมัธยมนี่ผมเรียนที่โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติครับ

คุณพ่อของผมเป็นทูตฯพาณิชย์ ท่านต้องย้ายไปประจำการในหลายๆประเทศ เลยให้ผมเรียนนานาชาติ

เพราะว่าเวลาย้ายประเทศต่างๆมันจะได้ต่อเนื่องกัน

เนื่องจากหลักสูตรมันจะเหมือนกันทุกประเทศ ซึ่งเป็นผลดีกับผมมากกว่า"

 

"ตอนนั้นมีโรงเรียนนานาชาติเกิดขึ้นมาใหม่เยอะมาก แต่ทำไมคุณโจ้ถึงเลือกเรียนที่ร่วมฤดีคะ" เราถาม

 

"ที่เรียนร่วมฤดีนี่เพราะว่าเป็นโรงเรียนนานาชาติที่มีความเป็นไทยมากที่สุดแล้วนะครับ

ตัวเองนั้นมีทฤษฏีส่วนตัวว่าถ้าได้ภาษาหลายภาษาเนี่ยจะมีข้อได้เปรียบตอนเอ็นทรานต์

อย่างภาษาฝรั่งเศสนี่ก็ปาเข้าไป 200 คะแนนจาก 500 คะแนนแล้ว

ผมเลยได้คะแนนเยอะจากสองภาษา คืออังกฤษและฝรั่งเศส

พอจบมัธยมผมก็สอบติดคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่จุฬาฯครับ

ผมว่าระบบการศึกษาบ้านเรามันไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อเด็กไทยเท่าไหร่

ตอนเรียนปริญญาตรีส่วนใหญ่เรายังไม่รู้ว่าอยากทำอะไรกัน

เพราะว่าระบบมันบีบบังคับเราตั้งแต่มัธยมปลายว่าจะไปในสายไหนดี วิทย์ หรือศิลป์

แต่ในขณะที่ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเนี่ย 

เราสามารถเรียนวิชาพื้นฐานไปก่อนได้ตอนปี1ปี2

แล้วค่อยไปเลือกเรียนสาขาวิชาที่เราชอบในตอนปี3

ทำให้เด็กค้นพบตัวเอง"

 

"แล้วตอนนั้นคุณโจ้ค้นหาตัวเองเจอแล้วหรือยังคะ" เราถาม

 

"ผมเนี่ยเจอตั้งแต่เรียนแล้วหล่ะครับ

 ผมค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับงานราชการเอาซะเลย

 จึงได้บอกกับคุณพ่อคุณพ่อ คุณแม่ว่า ผมจะทำในสิ่งที่ท่านอยากให้ผมทำ

เรียนปริญญาตรีให้จบแล้วไปต่อปริญญาโท แต่จากนั้นแล้วผมอยากทำในสิ่งที่ต้องการ

พอผมจบกลับมา คุณแม่กำลังจะเกษียณจากการทำงานธนาคารพอดี 

ผมอยากให้ท่านมีอะไรทำ เพราะว่าถ้าปล่อยให้อยู่เฉยๆนี่จะเฉาเร็ว

เลยชวนคุณแม่มาทำอะไรกันเองดีไหม

เรามีที่เล็กๆอยู่แถวถนน พระสุเมรุ เลยทำโรงแรมเล็กๆสิบห้อง เจ็ดปีมาแล้ว

เราเป็นรายแรกๆที่ทำโรงแรมในราคาที่ค่อนข้างสูง

เราคิดว่า Backpack มาร์จินต่ำ ในขณะที่ Turn over สูง

เลยกำหนดให้ตัวเองเป็นตลาดบน ราคาประมาณ100เหรียญอัพ

ทำให้ดีดีไปเลย สำหรับคนที่มีกำลังจ่าย 

สามารถอยู่โรงแรมสี่ห้าดาวได้ แต่ไม่อยากอยู่แบบนั้น

อยากอยู่โรงแรมที่มีคาแรกเตอร์ชัดเจน ตั้งในแหล่งวัฒนธรรมที่สามารถสัมผัสได้

โรงแรมของเราเป็นห้องแถวเก่าๆที่ปล่อยให้เช่า แล้วมารีโนเวทซะใหม่

ซึ่งเป็นที่แรกๆในกรุงเทพฯที่ทำแบบนี้นะครับในช่วงนั้น" คุณโจ้เล่าให้เราฟัง

"ผมจบปริญาตรีผมก็ได้ทุนฟูลไบร์ทไปเรียนต่อปริญาโทที่มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกิ้นครับ"

 

มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ Johns Hopkins University หรือ JHU ที่คุณโจ้ไปเรียน 

ตั้งอยู่ที่เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์

เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่ใช้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบมหาวิทยาลัยในเยอรมนี 

และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่จัดการเรียนการสอน

โดยใช้การสัมมนาแทนการสอนโดยการบรรยายเพียงอย่างเดียว 

รวมทั้งเป็นมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งแรกที่จัดให้มีวิชาเอก (major) แทนหลักสูตรศิลปศาสตร์ทั่วไป 

 

ดังนั้นจอนส์ฮอปกินส์จึงเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยวิจัยขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา 

และเป็นมหาวิทยาลัยที่ครองอันดับ 1 ในด้านการใช้งบประมาณการวิจัยและพัฒนา

ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ วิศวกรรมศาสตร์เป็นเวลา 30 ปีต่อเนื่องกัน 

ทำให้จอนส์ฮอปกินส์เป็นสถาบันที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย

 

คุณโจ้บอกกับเราว่าจอห์นฮอปกินส์นั้น นอกจากจะมีชื่อเสียงในด้านการแพทย์ การพยาบาล และสาธารณสุขแล้ว

จอนส์ฮอปกินส์ยังมีสถาบันชั้นนำระดับโลกในสาขาด้านการระหว่างประเทศ 

คือThe Paul H. Nitze School of Advance International Studiesหรือ SAIS อีกด้วย

 

"ผมเรียนสาขา SE Asia Studies ที่ SAIS ครับ พอจบมาก็ได้ทำงานเลย

ปกติตัวเองเป็นคนที่สนใจทางการเมืองอยู่แล้วเพราะว่าเรียนรัฐศาสตร์ 

แต่เราคงไม่เหมาะ และไม่พร้อมที่จะลงเข้าสู่สนามการเมืองด้วยตัวเอง

วิธีที่ดีที่สุดก็คือทำงานอยู่เบื้องหลังใครซักคนที่เรานับถือ เพื่อศึกษาการทำงานของเค้า

 

คุณโจ้เล่าให้เราฟังต่อไปว่า

 

"ปีแรกที่ผมกลับมานี่ผมอยู่องค์กรชื่อว่าสภาธุรกิจไทย-สหรัฐฯครับ

เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้กับบริษัทไทยที่ทำธุรกิจในอเมริกา

หน้าที่หลักตอนนั้นของเราคือดูแลเรื่อง FTA ไทยกับสหรัฐ"

 

"งานเป็นยังไงบ้างคะ" เราถาม

"โอ้ย สนุกมากครับ" คุณโจ้รีบตอบเราทันที

"เพราะมูลค่าการค้าขายของไทยกับสหรัฐเป็นตัวเลขที่สูง และมีผลประโยชน์มาก

สมาชิกของเราจึงมีตั้งแต่กลุ่มบริษัทซีพี ธนาคารกรุงเทพ เรื่อยลงมาถึงบริษัทขนาดกลาง

เราจึงมีประเด็นในการทำงานเยอะแยะมากมาย

ผมเป็นรองผู้อำนวยการ มีหน้าที่ต่อรองผลประโยชน์ให้กับทางฝั่งไทยให้มากที่สุด

ได้จ้างTDRIให้ทำวิจัยเรื่องงผลประโยฯ์ที่ไทยจะได้หรือเสีย 

ทำข้อเสนอให้รัฐบาลว่าควรทำ ไม่ควรทำอย่างไร"

 

"ผมทำอยู่หลายปีจนรู้สึกว่าอิ่มตัวแล้วก็เลยลาออกครับ" คุณโจ้บอกเรา

 

 "ตอนนั้นอายุเท่าไหร่คะ" เราถามคุณโจ้

 

"28 ครับ ผมเข้าไปบอกอาจารย์ท่านนึงที่จุฬาฯชื่ออาจารย์เจฟรี่ ว่าผมลาออกแล้วนะ มีอะไรให้ผมทำก็ยินดี

อาจารย์ก็บอกว่าพรุ่งนี้ผมจะไปทานข้าวกับ คุณกรณ์ จาติกวนิช

คุณไปกับผมด้วยซิ เผื่อว่าแกจะมีอะไรให้ผมทำ

ทีนี้พอก่อนหน้าที่จะไปคืนนั้นผมก็เลยมานั่งคิดดูว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

คิดถึงเรื่องการทำโพลล์ เพราะว่านักนักการเมืองทุกคนอยากมีโพลล์

จะได้วางแผนได้ถูกว่าในพื้นที่ว่าเราจะทำยังไงดี  

เค้าชอบเรา ไม่ชอบเราเพราะด้วยเหตุอะไร

ผมบอกคุณกรณ์ที่โต๊ะกินข้าวในวันนั้นว่า คุณกรณ์ผมไม่เอาตังค์นะ

อยากทำเพราะอยากทำ อยากทำเพราะว่าศรัทธาในตัวคุณกรณ์

หลังจากสามเดือน อนาคตเป็นยังไงเดี๋ยวค่อยว่ากัน

คุณกรณ์บอกว่า โอเค ผมไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว เพราะคุณไม่เอาตังค์ผม"

 

คุณโจ้บอกกับเราว่ารู้จักน้องคนนึงเป็นประธานชมรมคริสเตียน ที่จุฬาฯ

เลยเอาเด็กในชมรมนั้นมาเป็นอาสาสมัครลงพื้นที่  เคาะประตูบ้าน

 

"ผมคิดว่าน้องๆเค้าเหมาะสมมากในการทำโพล 

เนื่องจากว่าปกติเค้าต้องลงพื้นที่เพื่อไปเผยแผ่ศาสนาอยู่แล้วครับ

ยิ้มแย้มแจ่มใส บุคลิกดี เลยสามารถทำงานได้ดีคุณโจ้กล่าวเสริม

 

"แล้วตอนนั้นขอบเขตงานเกี่ยวกับการทำโพลของคุณโจ้นี่ทำอย่างไรบ้างคะ" เราถาม

 

"เราทำงานกันเป็นทีมครับ" คุณโจ้เล่าให้เราฟัง

"คุณกรณ์จะเป็นคนชี้ประเด็น เพราะว่ามีทีมงาน สก. สข.ในพื้นที่คอยป้อนข้อมูลอยู่แล้ว

 เรามีสามพื้นที่ จึงมีสามยุทธศาสตร์ 

นอกจากคนที่ชอบเรากับคู่แข่งแล้ว  ยังมีคนที่ยังไม่ตัดสินใจ

ซึ่งต้องใช้เวลาในการป้อนข้อมูลน่ะครับ

ตอนนั้นแข่งกับ คุณบรูค ดนุพร สนุกมาก เพราะว่ากลุ่มเป้าหมายคนละทาร์เกตเลย 

แต่ว่าเรามีโพลล์อยู่จึงรู้ว่าควรจะไปทางไหน อย่างไร 

ซึ่งถ้าจำกันได้ตอนนั้นมีกล่องนึงที่มีปัญหา

แต่ว่าเรามีโพลล์อยู่แล้วไงครับ 

ประมาณว่าถ้าในกล่องนั้นเป็นของไทยรักไทยทั้งหมด เราก็ยังชนะ " คุณโจ้เล่าให้เราฟังอย่างออกรส

 

"หลังจากครั้งนั้น พอการเลือกตั้งจบลงคุณกรณ์ก็คุยกับทีมงานว่าคุณจะทำอะไรให้ผมได้บ้าง 

ผมถนัดเรื่องภาษา สามารถสื่อสารกับสื่อต่างประเทศได้

ก็เลยอาสาไปทำงานตรงนั้นให้ 

ผมบอกว่าผมเห็นความตั้งใจจริงของคุณกรณ์ 

คุณกรณ์เป็นผู้ใหญ่ที่ผมนับถือ ดังนั้นถึงแม้ว่าจะจ้างผมแค่5,000 บาท ผมก็จะทำ

คุณกรณ์หัวเราะแล้วบอกว่างั้นมาทำกับผม แต่ผมให้คุณมากกว่า 5,000 บาท แน่นอน"

 

"แล้วคุณโจ้เข้าทำงานในตำแหน่งอะไรคะ" เราถาม

 

"ผมเป็นผู้ช่วยสส.ครับเป็นตำแหน่งที่ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร

 หน้าที่และบทบาทแล้วแต่ได้รับการมอบหมาย

 คุณกรณ์ทำงานเหมือนภาคเอกชน มีหลักการ มีระบบ 

 ผมจึงดูเรื่องสื่อ โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ

เพราะผมคิดว่าสื่อไทยเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นสิ่งจำเป็นมาก 

แต่สื่อนอกจะดูเรื่องประเด็นเป็นหลัก

ตอนหลังผมถึงมาดูทางด้านโซเชียลมีเดียด้วยครับ"

 

ในระหว่างที่ทำงานการเมืองคุณโจ้ก็ไม่เคยที่จะหยุดทำตามความความฝันของตัวเอง

ความฝันที่มีจุดเริ่มต้นมาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่านสมัยเรียน

"วอลเดน" ของเฮนรี่ เดวิด ธอโร เป็นนักคิดนักเขียนและนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชาวอเมริกัน

คุณโจ้เล่าให้เราฟังว่า

" ผมเคยเรียนเรื่องนี้มานานแล้ว แต่กลับมาอ่านอีกครั้งเมื่อ7-8ปีที่แล้ว

เฮนรี่ เดวิด ธอโร พูดถึงการพึ่งพาตัวเอง ไม่เบียดเบียนทั้งธรรมชาติและสัตว์ 

ทำชีวิตให้สมดุลย์ มันคือปรัชญาในการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ"

 

วอลเดน เป็นชื่อของบึงแห่งหนึ่ง ในเมืองคองคอร์ด รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ธอโรเคยเข้าไปใช้ชีวิตในกระท่อมไม้ซุงบริเวณริมบึงแห่งนี้ในปีค..1845 เพื่อค้นหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต

เค้าใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ลดความฟุ่มเฟือย ประทังชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองและธรรมชาติเป็นหลัก 

 

คุณโจ้บอกกับเราถึงแรงบันดาลที่เกิดขึ้นจากหนังสือเล่มนี้ว่า

 

"มีประโยคนึงในหนังสือที่ทำให้ผมอยากทำโรงแรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมครับ เค้าเขียนไว้ว่า

 

ฉันไปสู่ไพรพฤกษ์เพราะปรารถนาที่จะอยู่อย่างสุขุม 

ที่จะเผชิญแต่ข้อเท็จจริงอันเป็นแก่นสารของชีวิตเท่านั้น 

และดูซิว่าสามารถจะเรียนรู้ในสิ่งที่มันสอนให้ได้หรือไม่ 

เพื่อที่ว่า เวลาจะตาย ฉันจะได้ไม่พบว่าตัวเองยังไม่ได้มีชีวิตอยู่เลย..."

 

"ต่อมาผมได้มีโอกาสอ่านนิตยสาร New York Time

เค้าบอกว่าพื้นที่ส่วนคุ้งกระเพาะหมู ของจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีเขียวที่น่าสนใจที่สุดในเอเซีย

ทำให้เราสนใจ แล้วก็คิดได้ว่า ทำไมต้องรอให้ฝรั่งมาบอกด้วย 

ไปลุยหาเองเลยดีกว่าตอนแรกผมขับรถมา เพราะไม่รู้ว่ามาทางเรือได้ 

เปิด google map แล้วก็ถามชาวบ้านว่ามาทางเรือได้ไหม

แล้วเริ่มทำแผนผังเอง 

ผมขี่จักรยานที่นี่สองปีเต็มๆ เขียนจดหมายหยอดตู้ว่าสนใจที่ตรงนี้มาก 

หยอดไปทุกบ้านที่ผ่าน จนมาได้เจอที่นี่ครับ

จากนั้นก็ใช้เวลาอีกสองปี เข้าหาชุมชน 

ทำประชาพิจารณ์เองเลย เข้าไป Knock Door 

เข้าไปแนะนำตัวกับชาวบ้าน ซึ่งจริงๆแล้วเค้าก็เห็นผมมาสองปีเต็มๆอยู่แล้ว

เพราะว่าเราพยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตั้งแต่ต้น

พอเราได้ที่ที่จะทำโรงแรมแน่นอนแล้วจึงได้เข้าไปคุยกับคนในพื้นที่ว่าจะทำอะไรยังไงบ้าง

ซึ่งก็ได้รับตอบรับเป็นอย่างดีครับ"

 

"ผมตั้งใจว่าจะให้ที่นี่เป็นกรีน โฮเตล โดยแก่น โดยจิตสำนึก 

เราคิดตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง การบริหาร และการทำงาน

ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ตอนออกแบบได้คุยกับสถาปนิก

ว่าอยากใช้วัสดุธรรมชาติมากที่สุดเช่น ไม้ หรือไม้ไผ่

อยากให้ที่นี่กลมกลืนกับธรรมชาติ 

กลมกลืนหมายความว่าเหมือนกับสภาพแวดล้อม ไม่ขัดหู ขัดตา 

เราจึงได้ทำช่องลมระหว่างชั้นสองกับดาดฟ้า เพื่อแดดไม่ส่องตรงๆลงมาที่หลังคา 

ไม่ร้อน และระบายลมอีกด้วย"

 

"สถาปัตย์ที่ดีที่สุดดูที่ความน้อย ไม่ใช่ความเยอะ

บางกอกทรี เฮ้าส์ เลยออกแบบให้เรียบง่ายและกลมกลืนใช่ไหมคะ" เราถามคุณโจ้

 

"ใช่ครับ ถูกต้องเลยหล่ะ

 ผมกับสถาปนิกทำการบ้านกันหนักมาก

ตอนแบบอยากให้ไม่แพงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

จึงคิดว่าจะให้ห้องพักเป็นรูปแบบกลุ่มอาคาร สร้างบ้านบนต้นลำพู 

แต่โชคไม่ดีที่ต้นไม้ล้มไปก่อน เลยไม่ได้ทำ

นอกจากนั้นผมคิดว่าทำไมห้องโรงแรมต้องเป็นสี่เหลี่ยม 

ห้องน้ำอยุ่ทางซ้าย เตียงอยู่ขวาเหมือนกันหมด

เลยทำห้องออกมาเป็นสามชั้น เป็นห้องที่ค่อนข้างเล็กใช้เครื่องปรับอากาศน้อยที่สุด 

ชั้นสามเป็น Sun deck แขกสามารถออกไปอาบแดดหรือดูดาวได้ 

ผมเชื่อว่ามนุษย์เราอยากอยู่ใกล้ธรรมชาติมากกว่าอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆครับ"

 

คุณโจ้ยังเล่าให้เราฟังอีกว่า

"บันไดออกเราก็แบบใหม่ เพราะว่าปกติบันได้1เอาไว้ใช้เดิน 2ก้าว

แต่คนหนุ่มสาวเดินแค่ขั้นละก้าว เลยคิดรูปแบบของบันไดให้เดินไปได้แค่1ก้าว

เป็นการร่นระยะ ประหยัด ใช้ไม้น้อยลง"

 

จะเห็นว่าคุณโจ้ได้และทีมงานได้ออกแบบทุกสิ่งอย่างไว้ตอบสนองผู้ที่ต้องการความแตกต่างเป็นพื้นฐาน

แล้วสื่อสารให้ทุกคนมองสถานที่แห่งนี้อย่างเข้าใจ                                                                                                                                     

เพื่อให้เราครุ่นคิดมองที่การดำเนินชีวิตที่สมดุลและสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม

"ด้วยความเป็นกรีน โฮเตลอย่างที่บอก ผมเลยออกแบบให้เรียบง่ายและกลมกลืน                                                                                เบอร์ห้องเอาก้อนหินไปเรียงหน้าห้อง ส่วนสระว่ายน้ำก็ได้แรงบันดาลใจมาจากอ่างบัว

ที่น้ำใสทั้งๆที่ไม่ได้ใส่สารเคมีเลยทำสระเป็นทรงซิกแซก ส่วนหนึ่งเอาไว้ว่าย

อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ปลูกพืชเพื่อบำบัดน้ำ แล้วใช้ปั๊มถ่ายเทน้ำระหว่างสองสระนี้ 

คุณอาจเจอกบตัวน้อยๆมาว่ายเป็นเพื่อน                                                                                                                          

มีแมลงปอบินล้อลมอยู่ข้างๆ เพราะว่าไม่มีสารเคมีนั้นเอง"

 

สายลมจากแม่น้ำเจ้าพระยาลอยมาประทะหน้าเราอย่างเป็นมิตรเมื่อคุณโจ้พาเราเดินดูรอบๆบริเวณโรงแรม

 

"โรงแรมสร้างนานถึงสองปี เพราะว่าวันนึงมีน้ำขึ้นสองหน น้ำลงสองหน

โดยที่ระดับจะต่างกันเกือบสี่เมตร เราจึงต้องรอให้น้ำลงก่อนถึงจะตอกเสาเข็มได้

นอกจากใช้เวลานานแล้ว ยังพบว่ามีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ20%

อันเนื่องมาจากการวางระบบ ยกตัวอย่างเช่น เราใช้พลังงานธรรมชาติมาผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย

ทำให้ต้องทำเป็นสองระบบแล้วแบ่งกันเดินสายครับคุณโจ้ชี้ให้เราดูบ้านข้างๆพร้อมกับเล่าให้เราฟังว่า

 

"ที่นี่ผมเน้นมากเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เราก็ดูว่าเพื่อนบ้านทำอะไรบ้างจะได้อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยที ถ้อยอาศัย

เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกุลกัน

เราก็พบว่าข้างบ้านเราขายนั้นสัปรด เราเห็นว่าเปลือกสัปรดเยอะมาก 

ทิ้งไปวันๆที่เยอะเหลือเกิน เลยมาหาข้อมูลว่าจะเอามาทำอะไรได้บ้าง

ในที่สุดก็สรุปว่าจะเอาเปลือกเหล่านั้นไปหมักทำน้ำยาซักผ้า

เชื่อไหมครับว่าซักได้สะอาดมาก และที่ดีไปกว่านั้นคือไร้สารพิษ

ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้ประโยชน์ต่อชุมชนด้วย"

 

คุณโจ้พาเราเดินมาถึงห้องครัวพร้อมกับเล่าให้เราฟังอีกด้วยว่า

 

"อาหารของที่ใช้ออร์กานิก ผัก ปลา ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นครับ

พนักงานก็เป็นคนในพื้นที่ เพราะเรายึดหลักการทำงานที่กลมกลืมกับสภาพแวดล้อม

ซึ่งเค้าทำงานใกล้บ้านก็ไม่ต้องเดินทางไกล ประหยัดทั้งเวลาและค่ารถ

ซึ่งดีมาก เพราะว่าเราเป็นธุรกิจบริการ

เมื่อพนักงานทำงานด้วยความสุข 

ก็จะส่งผลไปถึงการดูแลแขกของเราทุกคน

อย่างมีความสุขเช่นเดียวกันครับ"

 

"นอกจากนั้นเรายังมีนโยบายว่าทุกการเข้าพักของแขกหนึ่งคน

 เราจะเก็บขยะรอบๆบริเวณที่เราอยู่เป็นจำนวนหนึ่งกิโลด้วยครับ"

 

คุณโจ้กล่าวกับเราอย่างมีความสุขที่ได้ทำเพื่อส่วนรวม

 

ถ้าเต๋าคือความเรียบง่ายอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ

และขงจื้อคือการยอมรับการใช้ชีวิตที่มีกฎเกณฑ์ในสังคม

แต่ต้องเป็น Good Government 

คุณโจ้ก็สามารถใช้ชีวิตทั้งสองด้านและตั้งตนอยู่บนความถูกต้อง

ภายใต้แนวคิดของทั้งเต๋าและขงจื๊อได้อย่างสมบูรณ์

 

และสิ่งหนึ่งที่คุณโจ้คิดอยู่เสมอก็คือการแสวงหาความรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

คุณโจ้บอกกับเราว่าคนไทยหลายคนรวมทั้งตัวของเขาเอง

เคยได้หลงไปกับค่านิยมทางสังคมที่เชื่อว่าปริญญาโทจากต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จ 

การศึกษาจึงกลายเป็นจุดจบไม่ใช่หนทาง การศึกษากลายเป็นกระบวนการไม่ใช่ประสบการณ์

การศึกษาเป็นแค่กระบวนการณ์เท่านั้น ไม่ใช่ประสบการณ์

 

"ผมได้พบว่านักเรียนที่ดีคือนักเรียนที่กระหายความรู้อยู่ตลอดเวลาครับ 

ผู้ที่มีคำถามในคำตอบ ไม่ใช่ผู้ที่ตอบคำถาม 

ซึ่งผู้ที่เป็นแบบนี้มักจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในชีวิตมาระดับหนึ่ง  ซึ่งก็คือผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานมาบ้างแล้ว 

ดังนั้นผมจึงอยากแนะนำให้ทุกท่านใช้เวลาทำงาน 2-3 ปี ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโท 

เพราะประสบการณ์ทำงานจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยให้ท่านทราบว่าท่านกำลังใฝ่หาอะไรในการศึกษา

และเมื่อจบออกมาแล้วจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ให้กับสังคมของเราอย่างไร"

 

บทสรุปของสนทนาในวันนั้นกับคุณโจ้ 

ทำให้เรานึกถึงประโยคหนึ่งของท่านมหาตมะคานธีที่เคยพูดไว้ว่า

 “Learn as if you would live forever, live as if you were to die tomorrow” 

คำๆนี้มันสะท้อนให้เห็นตัวตนคนคุณภาพของสังคมไทย 

ดั่งเช่น คุณโจ้ จิรายุ ตุลยานนท์ ชัดเจนเหลือเกิน


LastUpdate 17/06/2556 00:29:04 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 10:23 pm