นพ. ปิยะ รุจกิจยานนท์ คุณหมอคนดีที่หนึ่ง ความหวังหนูน้อยเหยื่อ 'มะเร็ง'




 คุณหมอคนดีที่หนึ่ง ความหวังหนูน้อยเหยื่อ 'มะเร็ง'

นพ. ปิยะ รุจกิจยานนท์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า    

 

“ยุคสมัยนี้คนเก่ง...คนดี หายาก” แต่สำหรับคุณหมอปิยะ แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎ อาจจะเป็นหนึ่งในคนเก่งและคนดีที่มีเหลืออยู่น้อยนิด เสมือน "เพชรน้ำงาม"ที่สร้างความภาคภูมิใจตั้งแต่ระดับครอบครัว สถาบันการศึกษาและประเทศชาติ ด้วยเป็นหนึ่งในนักเรียนดีเด่น นักเรียนทุนที่ได้ไปเรียนถึงแดนไกล และนำความรู้ที่ได้กลับมาใช้ในบ้านเกิด ทิ้งโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ที่มีค่าตอบแทนเรือนแสนต่อเดือนไว้เบื้องหลัง

คุณหมอ นพ. ปิยะ รุจกิจยานนท์ อาจารย์(ยศร้อยเอก) แห่งหน่วยโลหิตวิทยา กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผู้มีบุคลิกและรอยยิ้มอันอ่อนโยน สมกับเป็นคุณหมอของเด็ก ๆ ถือเป็นตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการเรียน หน้าที่การงานและครอบครัว ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ มีความสุขกับครอบครัวที่อบอุ่น แม้ต้องมีภารกิจที่หนักอึ้ง ดูแลรักษาหนูน้อยที่ตกเป็นเหยื่อของโรคร้ายอย่างมะเร็งและโรคเลือดอื่น ๆ

กว่าจะมาถึงวันนี้ คุณหมอดูเหมือนใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการเรียน โดยครอบครัวซึ่งมีคุณพ่อคุณแม่ประกอบอาชีพค้าขายและร้านเสื้อผ้าในจังหวัดสมุทรปราการสนับสนุนในเรื่องการศึกษา และด้วยความที่คุณพ่อมีเพื่อนเป็นหมอหลายคนและบ้านอยู่ใกล้โรงพยาบาล คุณพ่อจึงคาดหวังจะให้ลูกชายร่ำเรียนแพทย์เป็นหมอกับเขาบ้าง

คุณหมอปิยะก็ไม่ได้ทำให้ท่านผิดหวัง โดยหลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัน สำโรง จ.สมุทรปราการ จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชันบางรัก กรุงเทพฯ เป็นนักเรียนในโครงการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในการเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (สพพ.)ซึ่งเป็นหลักสูตรเรียนรวบรัด 2 ปี และไม่ต้องสอบเทียบเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยมีทุกคนในบ้านเป็นกำลังใจอย่างแข็งขัน

 

แม้ต้องลำบากตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 และต้องนั่งรถเมล์ไปเอง คุณหมอปิยะในขณะนั้นก็สามารถเรียนเพียงปีเดียวจบและสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้ ซึ่งเป็นการเดินตามทางที่คุณพ่อวาดหวังได้สำเร็จในขั้นแรก

จากนั้นคุณหมอคนเก่งคนนี้ยังทำให้ครอบครัวชื่นใจอย่างต่อเนื่อง เมื่อสามารถสอบได้อันดับ 1 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.97 ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ในชั้นปีที่ 1 ซึ่งต้องเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เป็นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไปและยังได้คะแนนสูงสุดด้านวิชาเคมีของมหาวิทยาลัย

ต่อมาชั้นปีที่ 2-3 จึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎตามขั้นตอนปกติ ซึ่งเป็นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ด้านสรีระ ยามปิดเทอมต้องฝึกทหารฝึกการใช้อาวุธเนื่องจากเรียนในวิทยาลัยแพทยศาสตร์ของทหาร ทว่าคุณหมอไม่ได้ย่อท้อ กลับรู้สึกสนุกสนานไปกับกิจกรรมสมัยเรียน เหมือนได้เรียน 2 อย่าง

ในช่วงปี4-5-6 เป็นการเรียนด้านคลินิก วนเวียนศึกษาหลายด้านเช่น ศัลยศาสตร์ กุมาร สูติ-นรีเวช ตาหูคอจมูก และเมื่อวนมาเรียนด้านโรคเด็ก ในช่วงเวลานี้เองที่ทำให้คุณหมอสนใจจะเรียนด้านโรคของเด็ก ๆ เนื่องจากสงสาร เพราะโรคของเด็กเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของตัวเอง ไม่เหมือนโรคในผู้ใหญ่ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคตับอักเสบ แต่โรคของเด็กเป็นสิ่งที่ติดตัวมา

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ไปใช้ทุนเป็นแพทย์ฝึกหัดหรือ Intern (2 ปี) ที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา จึงไปศึกษาต่อด้วยทุนสนับสนุนจากกองทัพบกที่จะมอบให้แก่ผู้ที่มีผลการเรียนดีเด่นเป็นที่ 1 ทุกคนได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งคุณหมอเลือกที่จะไปแคนาดา ได้แก่ เมืองโตรอนโต 2 ปี ที่ The Hospital For Sick Children , University of Toronto, Canada

โดยเหตุผลที่เลือกแคนาดา เนื่องจากมีผู้คนค่อนข้างเป็นมิตร ขณะเดียวกันยังมีรุ่นพี่อยู่บ้างและภาษาอังกฤษในขณะนั้นยังไม่แข็งแรงพอ โดยขณะอยู่ที่นั่นได้มุ่งทำงานวิจัยก่อนเพื่อหวังใช้เป็นพื้นฐานปูทางสู่อนาคตให้สามารถศึกษาต่อด้านการแพทย์เฉพาะทางได้ง่ายขึ้น โดยไปทำงานวิจัยทางด้าน stem cell และโรคไขกระดูกบกพร่อง (bone marrow failure) มีผลงานรวม 4 ผลงาน

ต่อมาได้ย้ายไปออตตาวา เพื่อไปศึกษาด้านกุมารเวชศาสตร์ทั่วไปที่ The Children’s Hospital of Eastern Ontario, University of Ottawa, Canada เป็นเวลา 3 ปี รวมทุนกองทัพบก 5 ปี

หลังจากเรียนจบได้แต่งงานกับแฟนสาวและคิดเรียนต่ออีก โดยคราวนี้เน้นด้านกุมารเวชศาสตร์ด้านโรคเลือดและโรคมะเร็ง ซึ่งได้รับคัดเลือกให้ศึกษาที่ St. Jude Children’s Research Hospital, Memphis, Tennessee, USA สถาบันที่มีชื่อเสียงด้านการรักษาโรคมะเร็งเด็กและเป็นที่มีการปลูกถ่ายสเตมเซลล์มากที่สุดในโลกหรือ 200 รายต่อปี โดยเป็น 1 ใน 6 คนที่ทางสถาบันรับเข้าศึกษาต่อจากที่สมัคร ไป 60 คน ใช้เวลาศึกษา 3 ปี ซึ่งปีแรกเน้นด้านมะเร็งเด็กลูคีเมีย มะเร็งทั่วไปและมะเร็งสมองและที่โปรดปรานเป็นพิเศษ คือ “ด้านสเตมเซลล์”

ต่อมาในปีที่ 2-3 ทางสถาบันจะให้ทำวิจัยเพื่อคิดค้นวิธีใหม่ๆ มารักษามะเร็งด้วย โดยให้ทำควบคู่กับการรักษา โดยคุณหมอสนใจศึกษาด้านเซลล์บำบัดเพราะโรคเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า ทีเซลล์บกพร่อง ซึ่งเดิมเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ต่อต้านการติดเชื้อต่าง ๆ เชื้อไวรัสเอดส์ และอื่นๆ เป็นต้น โดยทำวิจัยอยู่ 2 ปี

ทั้งนี้ “เซลล์บำบัด” ได้แก่ การเอาเซลล์ในร่างกายมาใช้ฆ่ามะเร็ง โดยผลงานที่คุณหมอคิดค้นคือ การนำเซลล์ที่เรียกว่า NK CELLS ย่อมาจาก Nature killer cells เป็นเซลล์ที่สามารถฆ่าเซลล์แปลกปลอมได้โดยธรรมชาติ โดยนำมาจากในเลือดของพ่อหรือแม่มาใช้ เนื่องจากหาง่ายกว่า เป็นเซลล์ที่เข้ากันได้มากสุด โดยนำเลือดมาปั่นแยกเซลล์ออกมาและมาขยายพันธุ์ จากนั้นนำมาให้เด็ก ทดลองให้เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวพบว่าได้ผลดี โดยให้ควบคู่หรือเสริมกันไปกับการให้ยาเคมีบำบัดได้ แต่คุณพ่อคุณแม่อาจเจ็บปวดบ้างเพราะต้องนอนให้เลือดเป็นเวลาประมาณ 7 ชั่วโมง

นอกจากนี้คุณหมอยังศึกษาวิจัยด้านการใช้ NK CELLS รักษามะเร็งชนิดที่เรียกว่า“นิวโบลาสโตมา”

หรือมะเร็งต่อมหมวกไตด้วย ซึ่งเป็นมะเร็งที่เป็นก้อนในท้อง โดยต้องการดูว่า จะสามารถรักษาได้หรือไม่ ผลการทดลองในหนูพบว่า ช่วยฆ่ามะเร็งที่ย้อมสีไว้หายได้ จึงคิดว่าวิธีนี้น่าจะใช้ได้ในคน ซึ่งในอนาคตอันใกล้เตรียมนำมาวิจัยต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์รักษาผู้ป่วยในไทยด้วยเช่นกัน คาดว่าจะเริ่มทดลองใช้กับผู้ป่วยได้ภายใน 1-2 ปี โดยร่วมมือกับคณะแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี รพ.ศิริราชและรพ.จุฬาลงกรณ์ ส่วนการศึกษาในปีที่4 เป็นการศึกษาต่อยอดด้านปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อีก ซึ่งเป็นทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ทางสถาบันสนับสนุน

นอกจากคร่ำเคร่งกับการเรียนแล้ว คุณหมอยังโปรดปรานการท่องเที่ยวตามเมืองต่าง ๆ ยามว่างและ ยังโปรดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ชอบเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่สมัยอยู่ในแคนาดาและอยู่ในสหรัฐ นอกเหนือจากนี้ยังชอบอ่านหนังสือแนวนวนิยายธรรมดา ท่องเที่ยวจะเป็นสไตล์แบ็คแพ็ค เช่น ไปปีนเขาที่แคนาดา

 

แม้จะใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน 8-9 ปี คุณหมอปิยะยังไม่ลืมที่จะกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด ยอมทิ้งหน้าที่การงานตำแหน่งระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ทาง St. Jude  Children’s Research Hospital เสนอให้ ซึ่งจะได้รับเงินเดือนประมาณ 6000-7000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 200,000 บาท กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองไทย เป็นอาจารย์แพทย์ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยหวังอยากให้ลูก ๆ ได้ซึมซับวัฒนธรรมของไทยหรือของเอเชียที่เชื่อมั่นว่า ดีกว่า มีความรัก ความอบอุ่นและเอื้ออาทรกันในครอบครัวกันมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมามีคุณยาย คุณย่าและบรรดาคุณน้ามาช่วยเลี้ยงหลาน ๆ ให้ตลอดก่อนเข้าเนิร์สเซอรี่ 

ปัจจุบันคุณหมอมีครอบครัวที่อบอุ่น มีภรรยาที่เป็นคุณหมอเหมือนกันพร้อมบุตรสาว 2 คน ภรรยาทำงานโรงพยาบาลเอกชน เพื่อความสมดุลย์ด้านรายได้และเวลาสำหรับครอบครัว ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเองโดยยังต้องอยู่บ้านภรรยาหรือบ้านของคุณพ่อคุณแม่อยู่เหมือนเดิมและใช้รถยนต์คันเก่าเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ชีวิตเต็มไปด้วยความสุข

 

คุณหมอพบกับภรรยาตอนอยู่ปี 6 โดยภรรยาสอบเทียบมา เรียนเร็วกว่าและจบก่อน 1 ปี โดยขณะที่พบกันภรรยาเป็นแพทย์อินเทิร์นอยู่และยังคงติดต่อกันแม้คุณหมอไปเป็นแพทย์อินเทิร์นอยู่ที่โคราช โดยภรรยาเรียนแพทย์อายุรกรรมก่อน หลังจากนั้นไปเรียนต่อด้านต่อมไร้ท่อที่ออตตาวาและแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน

“มีเรื่องบังเอิญระหว่างผมและภรรยาคือ เกิดห่างกันไม่กี่ชั่วโมง ภรรยา 25 ตุลาคม ผมเกิดวันที่ 26 ตุลาคมลูกคนแรกเกิดวันที่ 28 ตุลาคม ซึ่งเฉียดที่จะเกิดวันที่ 27 ตุลาคมเหมือนกัน เพราะใน

วันนั้นเป็นวันที่ผมต้องไปสอบและฝากภรรยาท้องแก่ใกล้คลอดไว้กับเพื่อน พอสอบเสร็จคืนนั้นก็ปวดท้องต้องพาไปโรงพยาบาลคลอดในเวลาต่อมา

ลูกคนแรกชื่อ ปารมี อายุ 4 ปีและคนที่สองชื่อ ปุญญา อายุ 2 ปี เป็นผู้หญิงทั้งคู่ คนที่ 2 ไม่ได้เกิดเดือนตุลาคม แต่ก็มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นอีก เพราะเกิดในวัน “แบล็คฟรายเดย์” พอดี คือ วันที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่มีการลดราคาสินค้ามากตามห้าง ใครซื้อของหากไม่ชอบสามารถนำไปคืนได้ เลยพาภรรยาออกไปช็อปปิ้งซื้อเสื้อผ้าเด็ก ระหว่างรอจ่ายเงิน ภรรยาน้ำเดินใกล้คลอดพอดี แต่โชคดีที่โรงพยาบาลอยู่ใกล้ ๆ จ่ายเงินเสร็จก็รีบพาเข้าโรงพยาบาลทันที”

คุณหมอได้ยึดหลักในการใช้ชีวิตคู่ว่า การมีครอบครัวทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น ซึ่งแตกต่างจากชีวิตโสด แต่ต้องรู้จักแยกแยะ มีเวลาให้ครอบครัว ไม่นำงานกลับไปทำที่บ้าน

  

สำหรับการเป็นหมอที่ต้องดูแลชีวิตคนไข้นั้น คุณหมอยึดมั่น ในการทำจิตใจให้เข้มแข็ง พยายามต่อสู้กับโรคร้ายของคนไข้ตัวน้อย ๆ อย่างไม่ย่อท้อ เพื่อให้เขาได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด

“คนไข้มาหาหมอ แสดงว่าเขาต้องมีความหวัง จึงไม่ใช่หน้าที่หมอที่จะหยุดการรักษา ต้องสู้ให้ถึงที่สุด เพระเด็กๆมีโอกาสที่จะหายได้ หากไม่ไหวจริงๆ พ่อแม่เด็กจะเป็นคนบอกเราเอง

หากทำสุดความสามารถแล้ว รักษาไม่ได้ สุดท้ายคนไข้ต้องเสียชีวิตไป

หากลงเอยด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว เสียใจได้ แต่อย่านาน อย่าโทษตัวเอง เพราะเราช่วยเต็มที่แล้ว ทำถึงที่สุดแล้ว ” คุณหมอกล่าวด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง และ อบอุ่น

นี่คือตัวตนของคุณหมอคนเก่ง คนดี ของน้องหนูในแผนกโลหิตวิทยาทุกคน  นพ. ปิยะ รุจกิจยานนท์ 


LastUpdate 10/03/2557 17:14:05 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:32 am