ชีวิตผู้ป่วยสำคัญที่สุด นพ.นพรัตน์ พานทองวิริยะกุลผู้ช่วย ผอ. โรงพยาบาล บีเอ็นเอช


 นายแพทย์นพรัตน์ พานทองวิริยะกุล  

“ ชีวิตผู้ป่วยสำคัญที่สุด ”

ข้อหนึ่ง..เน้นประโยชน์ผู้ป่วยสูงสุด (beneficence)

ข้อสอง..สิ่งที่จะทำต้องเน้นไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายใดๆ เพิ่มขึ้น (Non-maleficence)

ข้อสาม..ผู้ป่วยมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะรู้สาเหตุและอาการป่วยของตัวเองและเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสม    (Autonomy)

ข้อสี่..การรักษาต้องอาศัยความบริสุทธิ์ยุติธรรมไปตามสมุฏฐานโรคของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างแท้จริง (Justice)

ข้อห้า..ทั้งผู้รักษาหรือผู้ดูแลพยาบาลและคนไข้ต่างมีเกียรติและสมควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติ (dignity)

ข้อหก..แพทย์และพยาบาลต้องไม่ปิดอาการป่วยต่อผู้ป่วย และควรให้ผู้ป่วยรับรู้ความหนักเบาของอาการป่วยตามความจริง แต่ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมอย่างอื่นประกอบ เช่น สภาพจิตผู้ป่วยด้วย (Truthfulness and Honesty)

สิ่งเหล่านนี้คือจรรยาบรรณของแพทย์  ซึ่ง นายแพทย์นพรัตน์ พานทองวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาล บีเอ็นเอช  ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนทำให้เป็นขวัญใจของผู้ป่วยทั้งนอกและใน  แม้คุณหมอจะไม่ค่อยมีเวลาว่างแต่ก็กรุณาสละเวลามาเป็นแขกรับเชิญร่วมกับ คุณหมอปิยะ และ คุณหมอแดน ขึ้นหน้าเว็บในครั้งนี้

 

   

คุณหมอนพรัตน์ เปิดฉากคุยกับเราแบบสบายๆเริ่มเล่าถึงเรื่องครอบครัว “ ผมเป็นคน อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เกิดมาในครอบครัวคนจีนที่อาจจะไม่เหมือนครอบครัวอื่น คือโชคดีที่คุณพ่อคุณแม่ ผลักดันให้ลูกๆได้เรียนหนังสือ และเป็นบ้านเดียวในแถบนั้นที่สนับสนุนให้ลูกๆได้เรียน เพราะปกติครอบครัวคนจีนทั่วๆไป จะไม่นิยมให้ลูกเรียนหนังสือแต่ต้องการให้สืบทอดธุรกิจ หรือค้าขายมากกว่า”

คุณหมอเล่าต่ออีกว่า “ ผมเริ่มเข้าศึกษาโรงเรียนแถวบ้านในอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี คือโรงเรียนวัดหนองแช่แว่น จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนพนัสพิทยาคาร ซึ่งเป็นโรงเรียนสหศึกษา ระดับมัธยมศึกษาประจำอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี จนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นเข้าไปเรียนต่อที่โรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์ ในกรุงเทพฯ ซึ่งคุณหมอนพรัตน์คิดว่าน่าจะดี แต่พอไปเรียนจริง กลับรู้สึกว่าไม่ดี ไม่ชอบสังคม ไม่ชอบความวุ่นวายของกรุงเทพฯ อาจเป็นเพราะเกิดในต่างจังหวัด ในพื้นที่ที่เป็นสวนเป็นไร่ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ชอบธรรมชาติมากกว่าสังคมกรุงเทพฯ จึงตัดสินใจขอกลับไปเรียนที่โรงเรียนชลราษฎร์อำรุง ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชลบุรี ”

 

คุณหมอเงียบไปครู่หนึ่งแล้วเล่าย้อนอดีตให้เราฟังต่อว่า “ ช่วงวัยเด็กยอมรับว่าตัวเองเป็นเด็กเกเร ไม่สนใจเรียน ไม่อยากเรียนหนังสือ ทะเลาะกับคุณแม่ประจำ และเมื่อต้องเรียนต่อระดับปริญญาตรีก็ไม่รู้ว่าจะเรียนด้านไหนดี เพราะโดยส่วนตัวไม่อยากเรียนหนังสือ คิดว่าตัวเองมีศักยภาพ ไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้ สามารถทำมาค้าขาย หรือประกอบธุรกิจได้ จึงหยุดเรียนหนังสือไป 1 สัปดาห์ คุณแม่มาขอร้องให้เรียนต่อ ท่านบอกว่าไม่มีทรัพย์สมบัติมอบให้ อีกทั้งยังเป็นครอบครัวใหญ่มีพี่น้องถึง 9 คน ผมเป็นลูกคนที่ 8 ช่วงที่กำลังตัดสินใจว่าจะเรียนหรือไม่เรียนต่อ โชคร้ายคุณแม่เสียชีวิต จึงตัดสินใจกลับไปเรียน ”

“ ช่วงนั้นไม่รู้ว่าควรจะเลือกเรียนสาขาอะไรดี พอดีพี่ชายเป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาลขอนแก่น จึงตัดสินใจเลือกเรียนหมอตามพี่ชาย เพราะในความรู้สึกของผมพี่ชายเป็นคนดีเป็นโมเดล โดยเลือกคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชอันดับ 1 และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นอันดับ 2 ปรากฏว่าเอ็นทรานส์ติดที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

แม้ว่าคุณหมอจะตัดสินใจเลือกเรียนต่อ แต่ด้วยความที่ไม่อยากเรียนตั้งแต่แรก ในช่วง ปี1- ปี3 คุณหมอจึงไม่ค่อยสนใจเรียนมากนัก เรียนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปี4 - ปี6 คุณหมอต้องไปเรียนรู้จากคนไข้ (แพทย์ฝึกหัด) เข้าตรวจรักษาจริง

 

คุณหมอเล่าถึงช่วงที่เป็นแพทย์ฝึกหัดว่า “ ผมเห็นคนไข้ที่มาตรวจแล้วทำให้คิดได้ว่า คนไข้จำนวนมากฝากชีวิตไว้ กับเรา ไว้กับหมอทุกคน จึงตัดสินใจเริ่มเรียนหนักอย่างจริงจัง จนกระทั่งเรียนจบ และเข้ารับราชการ โดยจับฉลากได้ที่โรงพยาบาลตราด สาเหตุที่เลือกจังหวัดตราด เพราะไม่ไกลจากจังหวัดชลบุรีบ้านเกิดมากนัก

ในปีนั้น มีแพทย์ของลงโรงพยาบาลตราดเพียง 2 คน จึงใช้วิธีจับฉลาก โชคดีผมจับฉลากได้ จึงได้ทำงานที่โรงพยาบาลตราดสมความตั้งใจ” นั่นคือจุดเริ่มต้นที่นายแพทย์นพรัตน์ มีโอกาสได้เรียนจนกระทั่งจบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คุณหมอเล่าต่อถึงชีวิตการทำงานในโรงพยาบาลประจำจังหวัดตราด “ จังหวัดนี้มีโรงพยาบาลใหญ่เพียงแห่งเดียวคือที่นี่ มีหมอใหม่เพียงคนเดียวคือผม ขณะที่มีคนไข้จำนวนมาก รอการรักษาทุกโรค โชคดีตรงที่ตอนนั้นพึ่งเรียนจบเป็นหมอใหม่ไฟแรงซึ่งที่โรงพยาบาลตราดไม่มีหมอใหม่มา2 ปีแล้ว (หัวเราะ) จึงสนุกสนานและเต็มที่กับการดูแลรักษาคนไข้ และต้องรักษาทุกโรคเพราะไม่มีแพทย์เฉพาะทาง”

คุณหมอเล่าต่ออย่างออกรส “ มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ผมคิดว่าท้าทายมาก คือในราวปี 1990 เป็นช่วงที่เกิดโรคมาเลเรียและเป็นกันหลายคน ซึ่งผมต้องรักษาคนไข้ทั้งที่ไม่เชี่ยวชาญด้านนี้ เพราะในช่วงนั้นไม่ค่อยมีแพทย์เฉพาะทาง หรือเชี่ยวชาญเฉพาะโรค แต่ก็สามารถช่วยชีวิตคนไข้ไว้ได้หลายคนทีเดียว ช่วงนั้นสนุก มีความสุข และมีความท้าทายในการรักษา ทั้งที่ไม่เชี่ยวชาญโรคมาเลเรีย รวมถึงโรคอื่น เพราะไม่ได้เรียนเฉพาะทางมา

รักษาคนไข้อยู่ที่โรงพยาบาลตราดได้ 3 ปี เริ่มรู้สึกว่า เราทำได้ไม่ดีเพราะมีความรู้น้อย จึงตัดสินใจไปเรียนเพิ่มเติมที่จุฬาฯและคิดว่าจะกลับไปทำงานต่อในโรงพยาบาลของรัฐเพื่อใช้ทุน แต่ด้วยความที่มีแนวคิดเป็นของตัวเอง จึงคิดทบทวนอยู่นาน และคิดได้ว่าถ้าต้องกลับไปเจอปัญหาแบบเดิมๆ คือต้องรักษาคนไข้ทุกโรค ทั้งโรคมาเลเรีย โรคไต ล้างไตหน้าท้อง ซึ่งไม่ดีเลย เพราะหลายโรคเราไม่ถนัด อาจทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดี จึงตัดใจใช้ทุนรัฐบาล และไปทำงานที่โรงพยาบาล บีเอ็นเอช ในช่วงก่อนที่ผมจะตัดสินใจทำงานที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช คิดว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ดี อาจไม่ได้มาตรฐาน แต่พอเข้าไปทำงานจริงกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐาน การรักษามีคุณภาพ จึงอยู่ที่โรงพยาบาลนี้มาตลอด จนถึงวันนี้เป็นเวลา 15 ปี แล้ว "

ย้อนมาที่ชีวิตส่วนตัวของคุณหมอกันบ้าง คุณหมอยิ้มแล้วพูดถึงตัวเองว่า“ ผมเป็นคนสนุกสนานนะ เพราะต้องพบกับความเครียดกับการรักษาคนป่วย ผมจึงทำจิตใจให้แจ่มใส ร่าเริง ผมชอบธรรมชาติ และธรรมะ ทำให้มีที่พึ่งทางใจ ” (ในวันที่สัมภาษณ์เราได้ยินคุณหมอฮัมเพลงอย่างอารมณ์ดี)

เราขออนุญาติถามถึงเรื่องครอบครัว คุณหมอก็ยินดีเล่า “ ผมมีครอบครัวเป็นของตัวเอง เมื่อ 5-6 ปีก่อน (หัวเราะ) ทั้งที่อายุ 48 ปีแล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะแต่งงานไปเมื่อสิบหรือยี่สิบปีก่อน ภรรยาของผม คุณภัณฑิลา เนื้อทอง เขาทำธุรกิจส่วนตัว เรามีลูกสาวคนเดียว กำลังน่ารัก อายุ 4 ขวบครึ่ง เรียนอยู่โรงเรียนอนุบาลเซ็นต์แอนดรูส์ สิ่งที่ผมต้องการปลูกฝังให้เติบโตไปกับลูกสาวคือ การปลูกฝังเรื่องธรรมะ เรื่องการปฏิบัติ นั่งสมาธิ ซึ่งมีความชอบเป็นส่วนตัว และคิดว่าดี จึงต้องการให้ลูกสาวเติบโตมาพร้อมกับการมีธรรมะในใจ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับครอบครัวเล็กๆ 3 ชีวิต พ่อ แม่ ลูก ใช้เวลาในการดูพัฒนาการของลูกสาว ใช้เวลาว่างวันหยุดร่วมกันด้วยการไปเที่ยวต่างจังหวัด ที่ชื่นชอบและไปบ่อย คือไปทะเล หัวหิน พัทยา และไปต่างประเทศค่อนข้างบ่อย เช่น ฮ่องกง และเวียดนาม ซึ่งนอกจากจะไปเที่ยวแล้ว ยังถือโอกาสไปเยี่ยมคนไข้ด้วย เพราะคนไข้ของโรงพยาบาลบีเอ็นเอชเป็นชาวต่างชาติถึง 40%” คุณหมอเล่าด้วยน้ำเสียงมีความสุข

และนี่คือ นายแพทย์นพรัตน์ พานทองวิริยะกุล รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ผู้มีความสุขกับการทำงาน และ ครอบครัว ไปพร้อมๆกัน


LastUpdate 10/03/2557 17:13:17 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:06 am