จิตแพทย์ผู้ทำทุกอย่างด้วยความสุข และ อุดมการณ์ นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล




นายแพทย์กัมปนาท  ตันสิถบุตรกุล

จิตแพทย์ผู้ทำทุกอย่างด้วยความสุข และ อุดมการณ์

 

หากเอ่ยชื่อของ นายแพทย์กัมปนาท  ตันสิถบุตรกุล หรือ “หมอแดน”แล้ว หลายคนในวงการทราบดีว่าผลงาน ของ “หมอแดน” นั้นมากมายนับไม่ถ้วน  อาทิ จิตแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวชศรี นครินทร์ / โรงพยาบาลมนารมย์ / สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (โรงพยาบาลนิติจิตเวช ) ฯลฯ และนอกจากนั้น “หมอแดน” ยังรับผิดชอบเป็นจิตแพทย์ตรวจประเมินสุขภาพจิตนักโทษในเรือนจำและนักโทษประหารชีวิต(ก่อนตัดสินประหารชีวิต) อีกทั้งยังได้ร่วมในทีมเจรจาต่อรองกรณีจับตัวประกันที่สถานทูตพม่า  

เห็นเครดิตยาวขนาดนี้  ตัวตนของคุณหมอเป็นอย่างไร “เอซีนิวส์” ขอพาคุณไปทำความรู้จักกับ “หมอแดน”  นพ.หนุ่มมาดนุ่ม แม้ตารางงานของคุณหมอจะแน่นมาก  แต่คุณหมอก็ได้กรุณาให้เกียรติกับเราในวันนี้

                                   

 

เพียงครั้งแรกที่เราได้เห็นก็รู้สึกได้ทันทีว่า  หมอแดน  มีบุคลิกที่ดูเป็นมิตร  อบอุ่น  กอร์ปกับสไตล์การคุยที่สุภาพและอบอุ่น 

คุณหมอเริ่มเล่าว่า  “หมอเป็นคนเบตง จังหวัดยะลา ดินแดนที่หลากหลายทางวัฒนธรรม หมอโตที่นั่น แต่ต่อมาย้ายไปเรียนหนังสือที่จังหวัดสงขลา  ซึ่งในสมัยเด็กๆนั้น เรียนเก่งขนาดได้อันดับหนึ่งเกือบตลอด   และด้วยความที่ผลการเรียนดีเยี่ยม ประกอบกับคุณแม่เป็นพยาบาล ทำให้ตัดสินใจเรียนแพทย์  ซึ่งส่วนหนึ่งเหมือนกับเป็นค่านิยมด้วยว่า  คนที่เรียนเก่งต้องเรียนหมอ  ก็เลยไปตามนั้น อีกอย่างคือ คุณแม่เป็นพยาบาล ทำให้ได้เล่นในโรงพยาบาลบ่อยๆ และชอบอะไรที่เป็นเรื่องการแพทย์  เรื่องหมอ   รายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับการแพทย์ก็ดู แม้จะดึก และคนอื่นนอนไปแล้วก็ตาม” 

 

ในที่สุดความฝันที่จะเรียนแพทย์ก็ประสบความสำเร็จ  

“หมอแดน” ได้โควตาเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และเลือกเรียนทางด้านจิตเวช ทั้งๆที่เมื่อเทียบกับแขนงอื่นในด้านการแพทย์ด้วยกันแล้วค่าตอบแทนน้อยกว่า  ซึ่งจุดเริ่มต้นของการศึกษาด้านจิตเวชมาจากช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์ประมาณปี 4 ปี 5 ช่วงนั้นได้มีโอกาสไปดูผู้ป่วยในหอผู้ป่วยจิตเวช ทำให้รู้สึกสงสาร และเห็นใจ นอกจากนั้นยังมีพี่ๆ ที่สนิทกัน เรียนจิตเวชก่อน ก็เลยอยากจะมาเรียนบ้าง”


“ตอนที่เข้ามาแรกๆ ไม่ได้รู้สึกชอบนะ แต่ก็คิดว่าอาจจะเป็นบุคลิกภาพของตัวเองมั้ง ดูตัวเองอาจจะไม่ชอบงานที่บู๊ๆ เช่น ผ่าตัด หรืออะไรแบบนั้น แต่ว่าสนใจเรื่องทางด้านจิตใจค่อนข้างเยอะ ก็เลยมาลงด้านนี้ แล้วพอมาเรียนจริงๆ ก็เจอครูบาอาจารย์ทางด้านจิตเวชที่น่ารักมากๆ แล้วก็ใจดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพวกเราที่เป็นลูกศิษย์ เวลาที่เรียนอยู่อาจารย์ก็จะสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เยอะมาก และอาจารย์ก็จะนำเสนอชีวิตตัวเองที่เป็นแบบอย่างที่ดี เวลาพวกเราเห็นแล้วก็อยากโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แบบที่อาจารย์เป็นบ้าง” 

 

 

 

และในช่วงเรียนก็ไม่ได้เรียนตลอดเวลา “หมอแดน” ทำกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมสันทนาการ เนื่องจากมีสโมสรของนักศึกษาแพทย์ ทำเป็นสันทนาการของชั้นปี มีการแสดง และแสดงมาตลอด

งานใหญ่ที่รับผิดชอบ

ผลงานสำคัญของ คุณหมอ ที่ผ่านมาคือการประเมินสุขภาพจิตนักโทษในเรือนจำและนักโทษประหารชีวิต ซึ่งนักโทษคนหนึ่งที่เคยตกเป็นข่าวใหญ่คือ น.ส.จิตรลดา ตันติวณิชยสุข ซึ่งพกอาวุธมีด เข้าไปใน ร.ร.เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ แล้วใช้มีดแทงนักเรียนหญิงได้รับบาดเจ็บรวม 4 ราย อีกกรณีหนึ่งที่เป็นผลงานของคุณหมอคือการร่วมทีมเจรจาต่อรองกรณีจับตัวประกันที่สถานทูตพม่า เมื่อปี พ.ศ.2542

คุณหมอเล่าว่า “อาจจะเรียกว่าบังเอิญที่ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ให้ไปตรวจเคสเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ชีวิต แต่ละเคสก็มีอะไรให้เราได้ศึกษา ปรกติแล้ว เคสต่างๆ การวินิจฉัยในแต่ละเคสก็ยากง่ายแตกต่างกันไป อย่างเคสที่ยากมากคือผู้ต้องหาจู่ๆก็เอามีดไปแทงคนอื่นเสียชีวิต โดยไม่มีประวัติ ไม่มีอไรโกรธเคืองกันมาก่อนเลย ซึ่งการทำงานในกระบวนการยุติธรรมต้องมีหมอสองคนขึ้นไป ถ้าตัดสินคนเดียวโอกาสผิดพลาดก็มี และเคสในเมืองไทยที่ผ่านๆมา ส่วนมากที่วินิจฉัยว่าป่วยคือป่วยจริงๆ เรียกว่าร้อยละ 90 แต่เมืองนอก มีเหมือนกันที่แกล้งป่วย”

 

 

หน้าที่อีกอย่างที่ “คุณหมอแดน” เคยทำคือเป็นวิทยากรให้กับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เพราะหลายฝ่ายเล็งเห็นว่าปัญหาของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันนี้มีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบีบคั้นจากเรื่องการเรียน และความล้มเหลวของครอบครัว ทำให้หลายคนหันไปทำในสิ่งที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การตีกัน ซึ่งช่วงของการเป็นวัยรุ่นนี้เป็นช่วงสำคัญที่ต้องประคับประคองให้ดี อย่างไรก็ตาม เรื่องของปัญหาสุขภาพจิตนั้น ไม่ได้มีเพียงแต่เฉพาะเด็กและเยาวชนเท่านั้น หากแต่มีในทุกเพศทุกวัย ฉะนั้นเรื่องของการพบจิตแพทย์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ในต่างประเทศจะมีคลินิกจิตแพทย์ค่อนข้างเยอะ แล้วสามารถให้คำปรึกษาได้หมด บางทีคนปรึกษาเรื่องครอบครัว เรื่องคนรัก เรื่องพ่อแม่พี่น้อง เรื่องเพื่อน เรื่องการงานการเงิน บางคนเป็นนักกีฬาดังๆ ก็ยังต้องมีจิตแพทย์ประจำตัว เพราะถ้าอารมณ์ไม่ดี ควบคุมสติไม้ได้ จะส่งผลต่อการเล่น ซึ่งประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับตรงนี้น้อย แต่ก็ยังเป็นที่น่ายินดีที่ ทัศนคติผิดๆที่ว่า “คนที่มาพบจิตแพทย์คือคนบ้า” นั้นดูจะลดน้อยลง ซึ่งเรื่องทัศนคติก็เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดด้วยหลายๆอย่างๆ เช่น ค่านิยมของสังคมและความรู้ ปัจจุบันคนมีความรู้มากขึ้น ทำให้ทัศนคติต่อผู้ที่เข้ามารับการรักษาจากจิตแพทย์ดีขึ้น โดยเฉพาะคนในเมืองที่ตระหนักถึงเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น แข็งแรง นอกเหนือจากสุขภาพกาย ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่คนไทยเป็นกันเยอะคือโรคซึมเศร้า อันเป็นผลสืบเนื่องจากสภาพสังคมที่บีบคั้นมากขึ้น

   

มีสุขบนพื้นฐานความถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงเคล็ดลับของการดูสุขภาพจิตของตนเอง ทำให้เป็นคนมีความสุข คุณหมอบอกว่าไม่มีเคล็ดลับหรือสูตรสำเร็จอะไร เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่หลักหนึ่งที่คุณหมอมองว่าสำคัญคือการรู้จักตัวเอง

“เวลาเราสอนให้คนไข้ควบคุมตัวเองได้ ให้รักษาจิตใจ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือต้องรู้จักตัวเอง เพราะการรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง เป็นเหมือนกับสติที่คอยฉุดคุณอยู่ สมมุติว่าโกรธ เครียด ก็ถามตัวเองว่าเพราะอะไร พอเรารู้จักตัวเองปุ๊บก็หาทางออก หาทางที่ทำให้ตัวเองสบายใจ มีความสุข เหมือนหลักพระพุทธศาสนา ที่เมื่อมีทุกข์ก็กลับไปค้นหาสาเหตุแล้วแก้ที่ต้นเหตุ”

 

ปัจจุบันนี้คุณหมอทำงานเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ แต่นอกจากงานด้านการรักษาและการให้คำปรึกษาคนไข้แล้ว ยังมีงานด้านสื่ออีกมากมาย โดยปัจจุบันนี้ มีรายการ “ผู้หญิงรู้จริง” ทาง S Chanel ซึ่งออกอากาศผ่านทางดาวเทียมและเคเบิลทีวี โดยรายการนี้จะเป็นเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับผู้หญิงเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งนอกจากรายการนี้แล้ว คุณหมอยังเคยมีรายการหลายรายการ ทั้งรายการ ชูรักชูรส ที่เป็นวิทยากรรับเชิญซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมีรายการคุยรักออกรสทาง ASTV , วิทยากรรับเชิญรายการ Club X ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ฯลฯ

 

“ หมอมองว่าทุกคนในโลกนี้ไม่ว่าจะอย่างไร เราต้องยึดมั่นในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมอยู่ ถ้าเราไม่ยึดมั่นตรงนี้ประเทศชาติคงแย่แล้วล่ะ “

แต่..แม้ว่าจะเป็นงานด้านการแพทย์หรืองานด้านสื่อ ถือว่าตั้งใจในการทำงานทั้งสิ้น ซึ่งคุณหมอเปิดเผยถึงหลักคิดการทำงานว่า “สิ่งสำคัญคือต้องทำแล้วตัวเองมีความสุข แต่ความสุขนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ทำแล้วต้องมีความสุข ซึ่งหมอทำงานทุกวันนี้มีความสุข เพราะเราโฟกัสที่งาน อาจจะเหนื่อยบ้าง แต่ก็มีความสุข ซึ่งการทำงานให้มีสุข สิ่งแวดล้อมก็มีส่วน อย่างไรก็ตาม ความสุขนั้นจะต้องถูกต้อง ถ้าเรามีความสุขแต่ไม่ถูกต้องก็คงไม่ดี “

จากเรื่องราวของคุณหมอกัมปนาท นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่มีความสามารถและใช้ความสามารถในการช่วยเหลือสังคม ที่สำคัญกล้ายืนหยัดในการทำในสิ่งที่ถูกต้องตามอุดมการณ์ของตนเอง


LastUpdate 10/03/2557 17:11:51 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:18 am