มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์


ชายคนนี้ไม่เคยหวั่นต่อบททดสอบใดๆ  
เพราะเขาเลือกที่จะตั้งเป้าหมายและสร้างบททดสอบให้แก่ชีวิตตนเอง
มาณพ เสงี่ยมบุตร  
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์
 
 
ในชีวิตของคนเรามักเกิดบทเรียน บททดสอบที่ให้ต้องเผชิญ แก้ปัญหาและขบคิดเพื่อให้ก้าวข้ามไปให้ได้ แต่สำหรับชายคนนี้ไม่เคยหวั่นต่อบททดสอบใดๆ เพราะเขาเลือกที่จะตั้งเป้าหมายและสร้างบททดสอบให้แก่ชีวิตตนเอง จนกลายเป็นหลักในการทำงานของเขาไปแล้วว่า ในทุกช่วงที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เขาอยากจะสร้างภูเขาลูกใหม่ๆ เพื่อเป็นความท้าทายอันใหม่ให้กับชีวิต.....มาณพ  เสงี่ยมบุตร ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง วัย 42 ปี ของธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) กับความท้าทายใหม่ในชีวิต ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจต่างประเทศ ที่เขาเพิ่งก้าวมารับหน้าที่นี้ด้วยระยะเวลาเพียง 2 ปีกว่า 
ก่อนหน้าที่คุณมาณพ จะก้าวเข้ามารับตำแหน่งที่เอสซีบี เขาเคยเป็นผู้สอบบัญชี ณ สำนักงานบัญชีแห่งหนึ่ง ด้วยดีกรีปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานได้สักระยะ จึงตัดสินใจเข้าสอบชิงทุน ก.พ. ไปเรียนต่อ MBA ด้านการเงิน ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

ถึงแม้จะเข้าเรียนบัญชี จุฬาฯ ที่ถือว่าเป็นคณะที่ไม่ง่ายคณะหนึ่งได้ด้วยการสอบเทียบข้ามชั้นสองครั้ง สมัยเป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญและเตรียมอุดมฯ เรียนจบเมื่ออายุ 20 ปี และมีดีกรีเป็นถึงนักเรียนทุนก.พ. แต่คุณมาณพก็ถ่อมตัวว่า ไม่ได้เป็นคนเรียนดี เพียงแต่อาศัยความตั้งอก ตั้งใจเท่านั้น

 
“ผมเป็นคนที่ไม่ได้เกรดดีอะไรเลย และก็ไม่ได้เกียรตินิยมอะไรด้วย เป็นคนที่เรียนปานกลาง แต่ผมเป็นคนที่พอถึงช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่างตอนสอบเทียบ สอบเอ็นทรานซ์ หรือแม้แต่การสอบชิงทุน ผมเป็นคนที่เรียกได้ว่าเอาความตั้งใจเข้าไว้ และไม่ได้เป็นเด็กหัวดี แต่ช่วงที่เป็นจุดเปลี่ยน ผมพยายามตั้งใจและทำให้ดีที่สุด”
เมื่อเรียนจบจากอเมริกากลับมา คุณมาณพก็เลือกรับราชการในสำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ หรือที่ตอนนี้ได้รับการยกฐานะเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ทำงานอยู่ในกระทรวงการคลังประมาณ 4 ปีกว่าๆ คุณมาณพก็ผันตัวเองมองหาภูเขาลูกใหม่ 

“ผมคิดว่า การที่เป็นราชการภายใต้ระบบราชการในปัจจุบันนี้มันมีกรอบ มันมีวิธีการซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาแบบรวดเร็ว ผมจึงคิดว่าอยากจะออกมาหาประสบการณ์ในภาคเอกชน เลยออกมาร่วมงานบริษัทหลักทรัพย์ CLSA ที่ได้มีโอกาสใช้ความคิด แสดงความเห็น และต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก ซึ่งค่อนข้างตรงกับความถนัดของผมมากทีเดียว ทั้งการเงิน ความคิด การสื่อสาร”

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ CLSA แล้ว ถือว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ระดับภูมิภาคที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในฮ่องกงพร้อมกับมีเครือข่ายอยู่ในหลายๆ ประเทศ การทำงานในบริษัท CLSA ของคุณมาณพ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาคือ ทำอยู่ที่สำนักงานในเมืองไทย 3 ปี ย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกง 1 ปี และไปอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ยาวนานถึง 9 ปี ด้วยกัน โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่คุณมาณพจะกลับไทยคือ เป็น Head of China A-Share Research ซึ่งเอแชร์คือหุ้นที่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่
 

“บทบาทตรงนี้เราต้องเข้าใจถึงนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ เศรษฐกิจมหภาค อุตสาหกรรมที่เป็นหลักใหญ่ของเศรษฐกิจจีน ระบบธนาคาร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร การก่อสร้างซึ่งเป็นหัวจักรสำคัญของการพัฒนาของประเทศจีนใน 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนออกไปพบปะนักลงทุนเราก็ต้องเข้าใจว่าประเทศจีนจะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง เขาต้องการที่จะปรับโครงสร้างจากการพึ่งพาการลงทุนหรือการก่อสร้างเป็นหลัก มาเป็นการบริโภค การบริการ พอมีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ มันแปลว่าอะไร มันแปลว่ามีหุ้น มีธุรกิจใดบ้างที่จะได้ประโยชน์ กลุ่มไหนบ้างที่เสียประโยชน์ เป็นหน้าที่ผมและทีมผมที่ต้องวิเคราะห์และสื่อสารเรื่องเหล่านี้”

เมื่อไปทำงานที่จีน ชีวิตของคุณมาณพต้องผกผัน เพราะจากบ้านเกิดเมืองนอนที่ๆ คุ้นเคย ไปเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตในแดนมังกรอันไพศาล ที่อะไรๆ ก็ดูจะต่างจากเมืองไทยไปเสียหมด

“เราต้องปรับตัวอย่างมากเริ่มต้นนับศูนย์ใหม่เลย แม้จะพูดภาษาจีนกลางได้ดีแล้วนะครับ แต่ไม่ใช่อยู่ๆ เราจะไปวิเคราะห์เศรษฐกิจของเขาหรืออุตสาหกรรมได้ มันต้องเป็นการไปสร้างคอนเนคชั่น สร้างความเข้าใจอย่างลุ่มลึกต้องนับศูนย์ใหม่ เราต้องเรียนรู้วิธีการทางภาษา เราต้องเรียนรู้วิธีการว่าเขาพูดอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร นี่คือชีวิตของผมที่ผกผัน ก็เป็นการที่เราจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิต
 

เพราะทุกอย่างไม่เหมือนที่ไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาด ความรวดเร็วในการพัฒนา แล้วก็ในเรื่องของความลึกของเศรษฐกิจจีนที่มีค่อนข้างมาก เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ มีโอกาสดูแนวคิดของการพัฒนาของพรรคคอมมิวนิสต์ในการนำพาประเทศจีนให้มีบทบาทในระดับโลกในปัจจุบันนี้ และคาดว่าจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต”
เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ คุณมาณพจึงยืนอยู่ในวงการนี้มาถึง 12 ปีด้วยกัน ก่อนจะผันจากวงการหลักทรัพย์ มาในแวดวงธนาคารที่เขาได้ตัดสินใจเลือกให้เป็นภูเขาที่ท้าทายชีวิตลูกใหม่ในเมืองไทย

“ในชีวิตที่ทำงานค้าหลักทรัพย์เป็นนักวิเคราะห์หุ้นจากเมืองไทยไปเมืองจีนก็เป็นภูเขาลูกหนึ่ง แน่นอน ตอนนี้ผมย้ายกลับมาเมืองไทย ผมก็อยากที่จะสร้างภูเขาอีกลูกหนึ่งให้ผมปีนขึ้นไป แม้ว่าจะยากขึ้นกว่าเดิมมากๆ โดยเฉพาะถ้าเราอายุมากขึ้น การปีนในขั้นต่อไปก็จะยากขึ้นไม่ง่ายเหมือนกับ 10 ปีที่แล้ว ผมมองแล้วว่าธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจที่ผมสนใจ เป็นการเงินเหมือนกันแต่ก็ต่างจากธุรกิจประเภทหลักทรัพย์” 

แล้วในเมื่อองค์กรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับธนาคารในประเทศไทยก็มีมากมายหลายแห่ง แล้วทำไมองค์กรในใจที่คุณมาณพอยากร่วมงานด้วยจึงเป็น เอสซีบี

 
“ผมคิดว่าผมอยากจะมาร่วมงานกับธนาคารที่มีรากฐานที่มั่นคง และก็มีความตื่นตัวและอยากที่จะพัฒนาไปสู่ภูมิภาค ผมเองก็ตั้งใจเลือกธนาคารที่ไม่มีเครือข่ายในเมืองจีนเลย อันนี้ก็เป็นการสร้างภูเขาที่สูงกว่าเดิมอีก ถ้าผมเลือกไปร่วมงานกับบริษัทที่มีเครือข่ายในเมืองจีนอยู่แล้ว ภูเขาลูกนั้นอาจจะง่ายกว่า ผมก็ไม่รู้ว่าคิดถูก คิดผิดนะครับ แต่ผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจ ว่าในแต่ละช่วงชีวิตต้องมีการพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด”

 
เอซีนิวส์ มองเห็นภูเขาลูกนี้ของคุณมาณพที่ตั้งรออยู่ตรงหน้าแล้ว เลยถามถึงภูเขาลูกใหม่ ซึ่งคุณมาณพก็รีบออกตัวว่า ภูเขาที่เอสซีบีลูกนี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น หนทางต่อจากนี้ไปยังอีกยาวไกล ทำให้ยังไม่ได้คิดถึงภูเขาลูกต่อไป เพราะการสร้างธุรกิจจีนให้กับธนาคารเป็นโจทย์ใหญ่ที่ได้รับมา 

“หนทางในระยะข้างหน้ายังเป็นหนทางที่ยาวไกลมาก ยังต้องฟันฝ่ากับอุปสรรคนานับประการธนาคารพาณิชย์ของไทยจะไปแข่งขันในเวทีนานาชาติ และตลาดจีน ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง แต่ผมก็เชื่อว่าการที่ประเทศจีนมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย ผมเชื่อเหลือเกินว่าต่อไปการค้าระหว่างไทยจีนจะต้องเพิ่มมากขึ้น การลงทุนก็จะมีมากขึ้นด้วย นับเป็นโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยจะเข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทตรงนี้เพิ่มมากขึ้น” 
 

นอกจากนี้คุณมาณพยังได้เพิ่มเติมถึงการสร้างธุรกิจที่จีนด้วยว่า คงไม่ใช่เป็นเรื่องการไปเปิดสาขาที่เมืองใด เมืองหนึ่ง เพราะถึงแม้เปิดสาขา 3 เมือง 5 เมือง หรือต้องเปิดจำนวนสาขา 100 สาขา ก็ยังแข่งขันไม่ได้ ถ้าขาดการสร้างความรู้จักและการเตรียมพร้อมของตัวธนาคารตั้งแต่อยู่ที่เมืองไทย ซึ่งบทบาทของเอสซีบีที่ตั้งไว้คือ เน้นที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างธุรกิจไทยที่มาค้าขาย ลงทุนในจีน และธุรกิจจีนที่มาค้าขาย ลงทุนไทย แล้วก็จะให้ดียิ่งขึ้นคือ สามารถเชื่อมจีนมาไทยแล้วใช้ไทยเป็นฐานในการขยายธุรกิจไปยังประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะในกลุ่มแม่น้ำโขง และธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีโครงข่ายครบไม่ว่าจะเป็นเมียนม่าร์ ลาว เขมร เวียดนาม

“ผมคิดว่าการที่ผมมาทำงานทุกวันนี้ต้องการสร้างทีมมากกว่า เพื่อให้ทีมงานและธนาคารมีความพร้อมมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจจีน ตลอดจนธุรกิจในภูมิภาคนี้ด้วย คงไม่ใช่ผมคนเดียวที่จะสามารถทำได้ แน่นอน ผมเองผมไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องทำงานกับจุดไหน แต่จุดใดที่เราสามารถมีสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ผมก็พร้อมที่จะทำเสมอ”

 
สำหรับการบริหารงานของทีมงาน คุณมาณพค่อนข้างให้อิสระกับทีมงาน มอบหมายงานด้วยการบอกโจทย์มากกว่ามอบหมายวิธีการ ให้ความเป็นอิสระสูงและมอบอำนาจให้เต็มที่ในขอบเขตการรับผิดชอบของทีมงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ในทีมมีโอกาสที่จะนำความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองออกมา 

แต่นอกเหนือจากหน้าที่ การงานที่เป็นความท้าทายบทใหม่ให้คุณมาณพย้ายกลับมาเมืองไทยแล้ว เหตุผลหลักที่เป็นน้ำหนักสำคัญให้คุณมาณพตัดสินใจย้ายมาอยู่เมืองไทยแบบถาวรนั้นก็คือ ครอบครัว ด้วยสายใยความรัก ความผูกพันของคุณแม่และคุณยาย คุณมาณพจึงตั้งใจอยากจะกลับมาดูแลท่านทั้งสอง 

“อยู่ที่เมืองจีนมา 10 ปีแล้ว อายุก็มากขึ้น คิดว่าต้องกลับมาดูแลคุณแม่และคุณยาย ซึ่งคุณยายอายุ 100 ปีแล้วในขณะนั้น อยากกลับมาดูแล มาอยู่ใกล้ๆ ท่าน เพราะตอนเด็กๆ จะมีคุณยายเป็นคนเลี้ยง เลยจะผูกพันกับคุณยาย เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจไว้ ตอนนี้คุณยายท่านเสียไปไม่นาน อย่างน้อยผมดีใจที่ได้มีโอกาสอยู่กับคุณยายในช่วงท้าย ไม่ได้เสียดายโอกาสที่จะต้องกลับมา คิดว่า 10 ปีที่เมืองจีนนั้นประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ถ้าเรากลับมาที่เมืองไทยแล้วเป็นประโยชน์ต่อไทยบ้างไม่มากก็น้อย ก็คิดว่าเป็นมูลค่าเพิ่มมากกว่าทำงานอยู่ที่เมืองจีนต่อไป”
 

ซึ่งนอกเหนือจากความรัก ความผูกพันที่มีให้กัน คุณยายยังได้ปลูกฝังความรักความชอบในวัฒนธรรมจีน ภาษาจีนให้กับคุณมาณพด้วย เพราะคุณยายเป็นชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว ที่อพยพมาจากเมืองจีนแล้วมาตั้งรกรากในไทย ที่บ้านเลยให้คุณมาณพเริ่มเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่ 7-8 ขวบ นอกจากนี้ยังใช้ภาษาจีนในการสื่อสารกับคุณยายตลอด ประกอบกับเขามีความสนใจเรื่องของวัฒนธรรมจีน ทำให้สนใจภาษาจีนและประวัติศาสตร์จีนด้วย จากประวัติศาสตร์ที่มีอายุช้านาน 3,000 กว่าปี มีความลุ่มลึกของประวัติศาสตร์ทำให้เขาสนใจ

คุณมาณพให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ประวัติศาสตร์ของจีนก็มีความลุ่มลึกมาช้านาน เรียกได้ว่าแทบจะเป็นประวัติศาสตร์โบราณ เป็นอารยธรรมโบราณเดียวที่ยังคงสภาพอยู่ถึงทุกวันนี้ด้วยสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์จีนมี 2 ราชวงศ์ด้วยกัน คือ หยวนและชิง ที่ไม่ใช่ชนชาวฮั่นหรือเชื้อสายจีน แต่พอเขามาปกครองประเทศจีนแล้ว รับวัฒนธรรมจีนมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของตัวเอง จักรพรรดิหรือว่าฮ่องเต้ในราชวงศ์นั้นก็ต้องมาฝึกกลอนภาษาจีน ฝึกภาษาจีน ทั้งที่จุดกำเนิดของเขาไม่ได้เป็นคนจีน สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมของเขามีความเข้มแข็ง มีความลุ่มลึก แม้ว่าต่างชาติจะมายึดครองแต่ก็ยังคงยึดมั่นในวัฒนธรรมจีน”

 
กิจกรรมยามว่างของคุณมาณพ ก็มีความเกี่ยวข้องกับจีนร่วมอยู่ด้วย โดยกิจกรรมที่คุณมาณพมักจะทำอยู่อย่างเสมอๆ คือ อ่านหนังสือ แม้จะอ่านหลากหลายแนว แต่หนึ่งในนั้นก็ต้องมีประวัติศาสตร์จีนรวมอยู่ในลิสต์ด้วย นอกจากในโลกของตัวหนังสือ เขายังชอบท่องเที่ยว หลงรักในเสียงเพลง เสียงดนตรี เพราะได้รับการปลูกฝังให้เรียนอิเล็กโทน เปียโนและเครื่องดนตรีไทยอย่างขิม และชื่นชอบสะสมของเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งของแกะสลักที่มีความประณีต วิจิตร บนวัสดุอย่างไม้ เครื่องเงินและหยก 

แม้ทุกอย่างในชีวิตจะดูเครียดแต่คุณมาณพ ก็มีวิธีบริหารชีวิตให้ลงตัวได้ โดยเขาเปิดเผยให้เราฟังว่า “ในการทำงานบางครั้งก็จะมีช่วงว่าง.....บางครั้งอาจทำงานมาก....บางครั้งอาจจะทำงานน้อย มันเป็นการสร้างบาลานซ์ในจิตใจมากกว่า ผมคิดว่าการสร้างบาลานซ์ในจิตใจคือ  ทำงานที่เรารับผิดชอบอยู่ให้บรรลุ ให้มันสำเร็จ ให้ดีในช่วงนั้นๆ แล้วเราจะได้ไปพักผ่อนหลังจากนั้นให้เต็มที่ ผมคิดว่าเป็นการสร้างบาลานซ์แทนที่จะบอกว่างานยังไม่เสร็จนะ แต่ถึงเวลาหยุดแล้วก็หยุดนะ เพราะว่าพักผ่อนอาจจะไม่ได้ผ่อนคลายเต็มที่ เพราะว่าต้องห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ ผมคิดว่าการแบ่งเวลาหรือการบาลานซ์ของผมเป็นแบบนั้นมากกว่า”
“หลักการทำงานส่วนตัว คือ ต้องเป็นงานที่เราชอบก่อน เพราะถ้าเราไม่ชอบคงทำงานออกมาไม่ดี ก็คงต้องไปหางานหรือตัวเนื้องานที่เป็นจุดที่เราชอบ นี่คือประเด็นที่หนึ่ง 
 

ประเด็นที่สอง เราต้องพยายามที่จะทำงานเพื่อให้โอกาสกับคนอื่น โดยเฉพาะเราเป็นหัวหน้างาน เติบโตมาเป็นนักบริหาร ให้เขามีโอกาสอย่างน้อยๆ เหมือนกับเราหรือดีกว่าเราซะด้วยซ้ำในการพัฒนาตัวเอง แล้วก็หวังว่าเขาจะพัฒนาตัวเองและก้าวหน้าไปมากกว่าเรา มีความรู้ในเรื่องนั้นๆมากกว่าเราซะด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก ตัวผมเองก็ยังต้องเรียนรู้ตรงนี้ให้มันเกิดขึ้นให้ได้ ณ วันนี้ ผมคิดว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่ง คงไม่เรียกว่าเป็นความสำเร็จลำดับสุดท้าย ผมไม่ได้เป็นคนที่เรียกว่าหัวดีหรือว่าเป็นคนที่ฉลาดอะไรมาก ผมยอมที่จะเรียนรู้ ยอมที่จะเดินไปข้างหน้าและปรับตัวเองให้เข้ากับบรรยากาศการทำงานแบบใหม่ๆ”

ดูเหมือนว่าชายหนุ่มคนนี้จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของความรักที่เขามองว่าเรื่องความรักที่จะลงเอยไปสู่งานวันวิวาห์ได้นั้นก็เป็นโจทย์ยาก อาจจะเปรียบเสมือนภูเขาอีกลูกหนึ่งของชีวิตเหมือนกัน ส่วนสเป็คสาวที่จะลงเอยกับเขาได้นั้นต้องมีคุณสมบัติด้งต่อไปนี้.....
 

“ต้องเป็นผู้หญิงที่เราสามารถให้ได้ทั้งความรักและความนับถือในความเป็นตัวเขา ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้ชีวิตคู่อยู่ได้แบบยั่งยืน คงต้องเป็นผู้หญิงที่แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงสวย แต่ต้องมีความสง่างาม ส่วนในหน้าที่การงานก็ต้องโดดเด่นในหน้าที่การงานของเขา และที่สำคัญก็ต้องเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถพิเศษ นอกจากการทำงานก็มีความสามารถพิเศษอย่างอื่นๆ เช่น เล่นเปียโน หรืออาจจะเล่นกีฬาเก่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีไลฟ์สไตล์เดียวกับเรา แต่ว่ามีจุดที่เราให้ความนับถือเขาได้ เป็นคนจิตใจดีต้องเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน”

ในชีวิตของเรายังมีโจทย์ให้แก้ไข มีภูเขาอีกหลายลูกที่รอเข้ามาท้าทาย หากเราไม่หวั่นกลัวและท้อถอย แล้วใช้ความมุมานะเป็นแนวทาง ตั้งใจมั่น พร้อมจะเดินหน้า ความสำเร็จก็คงจะไม่หนีไปไหนไกลเช่นเดียวกับผู้ชายคนนี้.....มาณพ เสงี่ยมบุตร
จากตัวหนังสือข้างต้นคงจะทำให้เราได้รู้จักตัวตนของผู้ชายคนนี้ที่ชื่อ มาณพ เสงี่ยมบุตร มากขึ้น ซึ่งกว่าจะมาถึงความสำเร็จในวันนี้ได้ เขาบอกว่า ได้ใช้ความตั้งใจมั่น มุมานะ อดทนสูง ยอมที่จะเอาความล้มเหลว ความผิดพลาดมาปรับ มาเป็นบทเรียน และไม่ท้อแท้ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เดินมาถึงได้ 

ขอขอบคุณสถานที่
บ้านทรงไทย ของ 
ศ.ดร.สมชาติ และ คุณเจิมใจ โสภณรณฤทธิ์

LastUpdate 07/06/2557 02:00:32 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:37 pm