ผศ. เอกรัตน์ วงษ์จริต อาจารย์นักออกแบบมือทอง


สร้างผลงานไฮเอนด์ อวดสายตาชาวโลก
 
 

 
เคยมีคำกล่าวที่ว่า "คนไทยถ้าตั้งใจทำอะไร จะไม่แพ้ชาติใดในโลก" ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดี ว่าคนไทยเก่งกล้าสามารถไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติใด โดยคนเก่ง มากความสามารถมีอยู่ในทุกวงการ เช่นเดียวกับวงการศิลปะและการออกแบบผลิตภัณฑ์ ดาวเด่นดวงหนึ่งที่ประดับวงการนี้ยังรวมไปถึง ผศ. เอกรัตน์ วงษ์จริต ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ ของบริษัท คราฟท์ แฟคเตอร์ จำกัด (Craft Factor Co.Ltd.- www.crafactor.com) และเป็นอดีตอาจารย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตด้วยเช่นกัน  ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นนักออกแบบระดับแถวหน้า สามารถสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่เป็น "งานหัตถกรรม" ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ 

ทว่ากว่าจะประสบความสำเร็จได้ อาจารย์เอกรัตน์ต้องผ่านการเรียนรู้ ใฝ่รู้และฝึกฝนตนเองมาอย่างพากเพียร การทำงานด้วยความรัก เก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ชีวิตมาผสมผสานกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งและไม่หวั่นกับอุปสรรคที่ต้องเผชิญ ด้วยศรัทธาที่ว่า “ว่าวจะบินสูง ต้องมีลมปะทะ” จึงทำให้ผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ ออกแบบผลิตภัณฑ์มาแล้วขายได้ แถมยังขายได้ราคาสูงอย่างที่หลาย ๆ คนต้องทึ่งและได้รับการยอมรับในแบรนด์ไปไกลถึงต่างแดน ชีวิตของศิลปินท่านนี้น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเหล่านักออกแบบรุ่นหลังได้ไม่มากก็น้อย  
 
 

 

ซึมซับงานศิลปะ-วัฒนธรรมไทยตั้งแต่วัยเด็ก

 

เมื่อเร็ว ๆนี้ ทีมงานของเอซีนิวส์ได้มีโอกาสสัมผัสเรื่องราวชีวิตที่โลดแล่นในวงการศิลปะของศิลปินหนุ่มใหญ่วัย 56 ปีท่านนี้ และได้ชื่นชมผลงานบางส่วน ซึ่งสวยงามแปลกตา หรูหราและสามารถทำราคาได้สูงลิ่ว ประดับโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวมาแล้วหลายต่อหลายโรงแรม  
 
ผศ.เอกรัตน์ วงษ์จริต กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ ของ บริษัท คราฟท์ แฟคเตอร์ จำกัด หรือที่เรียกกันว่า “อาจารย์เบิร์ด” ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองที่แสดงให้เห็นว่า มีความใกล้ชิดผลงานศิลปวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่วัยเยาว์ เนื่องจากผู้ใหญ่ในบ้านโปรดปรานงานศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งในด้านการแสดง ดนตรี จึงซึมซับมาอย่างไม่รู้ตัว  

อาจารย์เอกรัตน์เล่าว่า “บ้านอยู่แถววัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นบ้านพักข้าราชการเนื่องจากคุณตารับราชการอยู่กรมที่ดิน จึงได้ซึมซับกับวัฒนธรรมไทยตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะคุณตาเล่นดนตรีไทยได้และเป็นนักดนตรีของกรมที่ดิน คุณยายก็ชอบร้องเพลงไทยเดิมมาก ชอบทำบุญเข้าวัดและก็พาหลานชายติดตามไปด้วยตลอด เช่น ไปดูละครชาตรี ไปดูหุ่นกระบอกคณะยายชื้นในงานแก้บน ส่วนคุณตาจะชอบดูโขนของกรมศิลปากร เช่น เรื่องอิเหนาและผู้ชนะสิบทิศ   
 
ส่วนตัวผมก็ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ในสมัยเรียนหนังสือจะเขียนรูปได้เก่งมาก และจะถนัดวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษมากกว่าเมื่อเทียบกับวิชาเลขหรือคำนวณอย่างชัดเจน คือ คะแนนเต็ม 100  จะทำได้แค่ 1 คะแนนเท่านั้น (หัวเราะ..) เป็นคนละขั้วไปเลย ไม่มีแบบกลาง ๆ ..(หัวเราะอย่างชอบใจ..) ซึ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจอยู่บ้าง เพราะไม่รู้ว่าจะให้เรียนทางไหน  โดยในสมัยก่อนจะนิยมการเรียนหมอหรือด้านวิทยาศาสตร์ จึงจะเป็นสิ่งที่ดี เป็นที่เชิดหน้าชูตาวงศ์ตระกูล เราจึงเป็นเด็กที่ไม่ค่อยฉลาดนักในสายตาผู้ใหญ่ บุคลิกผมก็ช้า ๆ ไม่ค่อยเร็ว แต่ความจริงแล้วในวัยนั้นผมก็มีความชอบอยู่ในใจเพียงแต่อธิบายไม่ถูก ผู้ใหญ่มามองเห็นกันตอนโต ”
 
  
 
อาจารย์เบิร์ด” ยังเล่าต่อว่า เมื่อโตขึ้นมาจึงมีคนมองเห็นว่า ตนมีแววทางด้านศิลปะ ซึ่งคนที่มองเห็นไม่ใช่คุณพ่อ แต่เป็นเพื่อนของคุณพ่อ คือ คุณจรูญ อังศวานนท์ ที่เป็นมัณฑนากรมีชื่อเสียงของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นผู้ช่วยสอนฝึกมือให้ โดยคุณจรูญบอกว่า ควรจะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร  
 
ดังนั้นการจะเดินไปยังเส้นทางสายนั้น จึงต้องเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแทนการเรียนสายพาณิชย์หรืออาชีวศึกษา โดย “อาจารย์เบิร์ด” เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สายศิลป์คำนวณ (คณิต-อังกฤษ) แม้ว่าไม่ได้โปรดวิชาคำนวณเอาเสียเลย
 
“ความจริงแล้วชอบภาษาฝรั่งเศส เพราะถนัดด้านภาษาฝรั่งเศสมากกว่า แต่คนเรียนเต็มแล้ว จึงต้องเลือกเรียนศิลป์คำนวณและหันมาเน้นภาษาอังกฤษแทน ส่วนวิชาที่เกี่ยวกับคำนวณก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม(หัวเราะ.ชอบใจ.) หากเป็นวิชาพวกวิทยาศาสตร์ที่เป็นเรื่องของเหตุและผล ที่ต้องพิสูจน์ เรขาคณิตจะทำได้ดี แต่ถ้าเป็นอะไรที่เป็นตัวเลข เป็นสูตร อย่างวิชาพีชคณิต ตรีโกณ ที่มีสูตรเฉพาะจะทำไม่ได้ คือ ถ้าจับผมมาอยู่ในกรอบจะทำไม่ได้เลย เพราะเป็นคนชอบอิสระ สบาย ๆ  ชอบคิดเอง ค้นคว้าด้วยตัวเอง ของเล่นในบ้านจะชอบแกะออกหมด(หัวเราะ..) ประกอบใหม่ได้หรือไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง”  
 
 
หลังจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อาจารย์เอกรัตน์ยังสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรได้ดังที่ตั้งใจ โดยเรียนคณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้สอบเข้าได้เป็นน่าจะมาจากได้วิชาภาษาอังกฤษช่วยมากกว่า เพราะคณะมัณฑนศิลป์ต้องวาดรูปด้วย ซึ่งจะสู้คนที่เรียนศิลปะ โรงเรียนช่างศิลป์หรือเพาะช่างมาโดยตรงไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้เรื่องความคิดสร้างสรรค์อีกทางหนึ่ง เพียงแต่ในขณะนั้นยังเด็กจึงยังไม่รู้ว่า ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร 
 
อาจารย์ยังบอกด้วยว่า ที่สำคัญยังไม่รู้จักตัวเองด้วยว่า ชอบอะไร คิดว่าชอบด้านโฆษณา จึงเลือกเรียนสาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ หรือกราฟฟิกดีไซน์ ซึ่งการเรียนระดับปริญญาตรีจะเป็นแบบพื้นฐาน ไม่ได้ลงลึก ในตอนนั้นยังไม่รู้ว่า การคิดเก่งดีอย่างไร  การ“คิดให้เป็น” เป็นอย่างไรและไม่รู้แม้แต่ความหมายของ “ดีไซน์คอนเซ็ปต์” ว่าคืออะไร 
 
 
 
 
 

หลังจบป.ตรี บินลัดฟ้าต่อป.โทนิวยอร์ก-ได้ครูดี

 

ในระหว่างเรียนที่ศิลปากร “อาจารย์เบิร์ด” ยังขยันฝึกงานเพื่อหาความรู้ไปด้วย โดยเริ่มในช่วงชั้นปีที่ 3 ฝึกงานที่ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ทางด้านดิสเพลย์และที่บริษัทอื่น ๆต่อเนื่องไปกระทั่งเรียนจบ
 
หลังจากนั้นได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สถาบัน PRATT Institue ในนครนิวยอร์กของสหรัฐ ซึ่งเป็นสถาบันมีชื่อทั้งด้านสถาปัตยกรรมและกราฟิกดีไซน์ และที่นี่เองทำให้“อาจารย์เบิร์ด” ได้พบกับบุคคลที่ถือเป็น “ยอดครู” ที่ช่วยแนะแนวทางการสร้างผลงานศิลปะที่ถูกทางให้ อาจารย์ท่านนี้มีชื่อว่า “TONY DISPIGNA”  ซึ่งเป็นชาวอิตาเลียน-อเมริกัน โดยเป็นผู้วางพื้นฐานแนวคิดในการทำงานให้อย่างลึกซึ้ง จึงเป็นอาจารย์ที่อยู่ในความทรงจำตลอดไป
 
“อาจารย์ท่านนี้เป็นผู้สอนการวางรากฐานแนวคิดว่า การที่จะดีไซน์อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานโฆษณาหรืออะไรก็ตาม จะต้องมีพื้นฐานความคิดก่อน ต้องมีการรวบรวมข้อมูล การสังเคราะห์ความคิด ออกเป็นแนวความคิด ก่อนจะไปแทนค่าเป็นรูปทรง ซึ่งอาจเป็นงานกราฟฟิก โลโก้ หรือรูปทรง 3 มิติต่าง ๆ เป็นโต๊ะหรืออะไรได้ทั้งหมด แต่ตอนนั้นผมทำงานเกี่ยวกับด้าน 2 มิติอยู่จึงเน้นไปทางนั้นมากกว่า นับว่าเป็นพื้นฐานความคิดที่ใช้ได้กับทุกอย่างที่จะดีไซน์ผลงานออกมา และนั่นเป็นสิ่งที่ผมยึดมั่นในการทำงานมาตลอด”
 
“อาจารย์เบิร์ด” ใช้เวลาร่ำเรียนที่มหานครนิวยอร์กเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง แต่ก็ไม่ลืมที่จะฝึกฝนการทำงานเพิ่มทักษะความรู้ให้กับตัวเองไปด้วยอีกเช่นเคย โดยรวมแล้วใช้เวลาอยู่ที่นครนิวยอร์กเป็นเวลาถึง 3 ปี  โดยในการฝึกงานนั้นได้ฝึกที่บริษัท MeeKer&Blum  เป็นงานด้านกราฟฟิก 3 มิติ เกี่ยวกับป้ายบนทางด่วน ต้องใช้ตัวอักษร หรือทำโลโก้ 3 มิติ  
 
จากจุดนี้เอง ทำให้ “อาจารย์เบิร์ด” เริ่มหันมาชอบงานทางด้าน 3 มิติ ซึ่งเป็นการสร้างงานที่จับต้องได้ มีความซับซ้อนกว่า 2 มิติที่เป็นสิ่งพิมพ์ เป็นเพียงสตอรี่บอร์ด เพื่อนำส่งโรงพิมพ์และพิมพ์ออกมา
 
 
 

กลับทำงานไทยพบตัวตนชอบงาน3มิติ-กลับเรียนนอกรอบใหม่

จุดหักเหสำคัญ ที่ทำให้“อาจารย์เบิร์ด” ได้รู้จักและค้นพบตัวเองว่า แท้จริงแล้ว ตัวเองชอบอะไร..เกิดขึ้นหลังจากเดินทางกลับบ้านและทำงานอยู่ในไทย

 

 
“หลังกลับจากนิวยอร์ก ได้เข้าทำงานที่บริษัทโฆษณาชั้นนำอย่างบ.ลีโอเบอร์เน็ต ทางด้านกราฟฟิกหรือด้านอินดัสเตรียลดีไซด์ แต่ทำได้เพียงประมาณ 2 ปีเท่านั้น แล้วรู้สึกว่า “นี่ไม่ใช่ทางของตัวเอง”  โดยมองว่า งานกราฟฟิกเป็นการทำงานตามความต้องการของลูกค้า  ไม่ได้เปิดโอกาสให้ได้คิดสร้างสรรค์ ทำให้เริ่มรู้สึกเบื่อ รู้สึกว่าไม่ชอบ จึงกลับไปนิวยอร์กอีกเป็นรอบที่ 2 เพื่อไปค้นหาตัวเองว่า เพราะอะไรจึงไม่ชอบงานด้านกราฟฟิก ทั้งที่เรียนมาทางด้านนี้ ซึ่งการไปรอบใหม่นี้เน้นทำงานเป็นหลักมากกว่าการเรียน เป็นการทำงานควบคู่กับการเรียน โดยทำงานที่ MeeKer&Blum และอีกหลายที่ และเลือกเรียนระดับปริญญาโททางด้านอินดัสเตรียล ดีไซน์ที่สถาบันเดิม PRATT Institue ในนิวยอร์ก
 
หลังจากเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงไปเที่ยวยุโรป โดยไปร่วมคอร์สในช่วงซัมเมอร์ของสถาบัน Domus Academy ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาอเมริกันและนักศึกษาชาติอื่น ๆ เข้าร่วม เป็นการไปเรียนและเที่ยวที่อิตาลี ซึ่งทำให้ได้วิธีคิดใหม่ๆและชอบวิธีคิดของชาวอิตาเลียน ที่มีอิสระ ไม่มีกฎเกณฑ์มาก”

ที่อิตาลีนี่เอง “อ.เบิร์ด” เล่าว่า ได้ พบกับ อาจารย์ Francesco Binfarre ที่ช่วยเปิดโลกในเรื่องคอนเซ็ปต์ทางด้าน 3 มิติให้  จึงได้เอาความรู้ทั้ง 2 ด้าน คือ  2 มิติและ 3 มิติของอาจารย์ทั้ง 2 ท่านมาผสมผสานกัน และรู้สึกหลงใหลชื่นชอบอิตาลีเป็นพิเศษ โดยชอบวัฒนธรรมและศิลปวัฒนธรรมอิตาลีที่คล้ายกับคนไทย รวมถึงด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งครอบครัวในยุโรปจะมีความอบอุ่นกว่าในนครนิวยอร์ก  

หลังจบคอร์สซัมเมอร์    กลับมาที่นิวยอร์กเพื่อเรียนต่อให้จบอีกเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีเศษ ในระหว่างนี้ “อ.เบิร์ด” ได้มุ่งมั่นและใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อจะไปศึกษาต่อที่อิตาลีให้ได้ โดยบอกคุณพ่อว่าจะไปอิตาลีและเตรียมเรื่องวีซ่าที่อิตาลีให้ ขณะเดียวกันได้พยายามสร้างผลงานและส่งไปที่ทางสถาบัน Domus Academy เพื่อแจ้งความประสงค์ว่าจะไปเรียน โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่า สถาบันมีทุนการศึกษาให้ ซึ่งต่อมาทางสถาบันตอบรับกลับมา พร้อมกับให้ทุนการศึกษาด้วย ทำให้ “อ.เบิร์ดเป็นคนไทยคนเดียวหรือเป็น 1 ใน 6 ของผู้ที่ได้รับทุนจากสถาบันแห่งนี้ 
 

"ก่อนจะไป เขามีจดหมายมาบอกว่าได้ทุน ตอนนั้นคุณพ่อส่งเงินมาให้แล้ว ก็เลยเก็บเอาไว้(หัวเราะ...) คุณพ่อบอกให้เก็บเอาไว้ใช้(หัวเราะ..) และทิ้งปริญญาโทที่นิวยอร์กที่เหลืออยู่อีกไม่กี่หน่วยกิต เพื่อไปทำปริญญาโทที่อิตาลีแทน เพราะรู้สึกว่าเบื่อแล้วนิวยอร์ก ชอบสังคมในยุโรปมากกว่า เมื่อไปอยู่ที่อิตาลีแล้วรู้สึกมีความสุขมากเหมือนเจอโลกใบใหม่ ทั้งสภาพสังคมที่ดี เพื่อนและทุกอย่าง ทำให้สร้างผลงานออกมาได้ดี"

“อ.เบิร์ด” ใช้เวลาเรียนที่อิตาลีเป็นเวลา 1 ปี หลังเรียนจบแล้วยังอยากอยู่ต่อเพื่อทำงาน จึงต่อวีซ่าเพื่อให้อยู่ทำงานได้และใช้เวลาทำงานที่นั่นนานถึง5 ปี รวมใช้ชีวิตอยู่ในอิตาลีนานถึง 6 ปีด้วยกัน 
 
“หลังกลับไปใหม่ PAOLO NAVA สถาปนิกชื่อดังเจ้าของบริษัทสตูดิโอ PAOLO NAVA ต้องการรับนักศึกษาต่างชาติที่จบใหม่ๆไปทำงานด้วย เพราะในขณะนั้นอิตาลีเป็นช่วงเปิดใหม่ที่ต้องการต่างชาติเข้าทำงาน ซึ่งตอนแรกไม่มีใบเวิร์คเพอร์มิทหรือใบอนุญาตทำงาน มาได้ในภายหลัง ต่อมาได้ออกจากบริษัทดังกล่าวและไปรับทำงานพิเศษหรือเป็นฟรีแลนซ์ให้กับบริษัทเฟอร์นิเจอร์ในมิลานแทน ทำงานในอิตาลีประมาณ 5 ปี ก่อนกลับบ้าน มาทำงานในไทย” 
 
 
 
 
รวมกลุ่มสร้างงานหัตถกรรมแนวดีไซน์ หรู สู้วิกฤติต้มยำกุ้ง
“อ.เบิร์ด” เล่าว่าก่อนกลับบ้านในขณะนั้นช่วงต้น ๆ ทศวรรษ 2530  นับว่าในบ้านเรากำลังเติบโต โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวอย่างมากในช่วงก่อนจะถึงยุคฟองสบู่แตก เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 

ทั้งนี้อาจารย์กลับไทยในช่วงปี 2534 และเข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิตในปี 2538  โดยสอนภาควิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรี ก่อนจะพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท หลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาการออกแบบ ในเวลาเดียวกันก็เปิดบริษัททำงานด้านศิลปะไปด้วย แต่ยังไม่เต็มตัวมีชื่อว่า สตูดิโอ Egg-Karat โดยเน้นด้านตลาดในประเทศ ก่อนจะมาเป็น บริษัท คราฟท์ แฟคเตอร์ จำกัด (Craft Factor Co.,Ltd.) ในภายหลังเมื่อบริษัทโตขึ้นและทำด้านส่งออก โดยเบื้องต้นบริษัทของอาจารย์เอกรัตน์ทำงานป้อนให้กับบริษัทในอิตาลีก่อน พร้อมกับป้อนงานตกแต่งภายในไปด้วย ซึ่งสามารถอยู่ได้เนื่องจากตลาดทางด้านนี้ยังไม่ใหญ่มากนัก

“การคิดสร้างงานในขณะนั้น คิดว่าอยู่ในเมืองไทยจะทำอะไรได้บ้าง จึงคิดถึงงานคราฟท์หรือหัตถกรรม โดยนำแบบที่เคยทำในอิตาลีมาสร้างผลงานด้วยผสมผสานกับศิลปะความเป็นไทย นำลายศิลปะไทยมาเล่น เช่น เอาลายกนกกลับหัวมาทำเฟอร์นิเจอร์เก้าอี้นั่งรุ่นแรก สมัยนั้นมีบริษัทที่ทำงานด้านนี้เพียงไม่กี่ราย จึงถือเป็นรุ่นแรก ๆ ที่มีดีไซน์ของตัวเองและเป็นหัตถกรรม แต่บริษัทของผมจะมีความเป็นไทยมากกว่า บริษัทของคนอื่นจะเป็นสากลกว่า”
 
 


“อ.เบิร์ด” ยังเล่าต่อไปว่า การทำงานต้องอดทนอย่างมากเพื่อสร้างกระบวนการผลิตอยู่นาน เพื่อทำกระบวนการผลิตผลงานหัตถกรรมให้เป็นหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งมีกระบวนการอุตสาหกรรมเข้าไปรวมด้วย เป็นการเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบและผลิตเอง ที่เป็นการทำด้วยมือ ซึ่งจำเป็นต้องมีความประณีตพิถีพิถันเป็นพิเศษ 

“อ.เบิร์ด” เปรียบเทียบกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์กับการหล่อพระที่เป็นการหล่อชิ้นเดียวว่า หากจะมีสัดส่วนความยาวต่างกันสัก 1 เซนติเมตรก็ไม่รู้สึกแตกต่างนัก แต่ถ้าเป็นขาเก้าอี้ ทำทีละขา หากไม่เท่ากันก็จะมีปัญหาทันที ทำให้ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ โดยใช้เวลานานประมาณ 5-6 ปี กว่ากระบวนการทั้งหมดจะเข้าที่เข้าทาง แต่โชคไม่เข้าข้างนัก เพราะแม้จะพัฒนากระบวนการผลิตได้สำเร็จ แต่ทำได้ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ด้านการเงินหรือวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี 

“หลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540  กิจการด้านสถาปนิกออกแบบตกแต่งภายในปิดกันหมด บริษัทต้องหยุดเพราะทำอะไรไม่ได้ อสังหาริมทรัพย์ประสบภาวะขาดทุนกันหมด สถาปนิกถูกออกจากงานกัน พอดีในขณะนั้นทางกรมส่งเสริมการส่งออกเริ่มมีงานส่งออก จึงชักชวนบรรดานักออกแบบเข้าไปทำ โดยในขณะนั้นยังไม่เป็นงานจัดแสดงสินค้าดีไซน์(Design Hall) มีเพียงประมาณ 10 บริษัทที่ทำออกมา ซึ่งเป็นงานด้านเซรามิค ไม้แกะสลัก เครื่องหวาย เครื่องจักสานและเอาไปแสดงในงาน เป็นงานดีไซน์รุ่นแรก ๆ จนในปีที่ 2 จึงเกิดเป็นดีไซน์ฮอลล์ขึ้นมา ที่เป็นโซนสินค้าแนวดีไซน์โดยเฉพาะ  
 



หลังจากนั้นจึงเกิดเป็นสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์(D&O) ขึ้นมา เป็นการรวมกลุ่มผู้ผลิตที่เป็นดีไซเนอร์และ D&O เป็นรุ่นแรกที่บุกเบิกทำดีไซน์ฮอลล์ โดยในขณะนั้นจัดที่ศูนย์การประชุมไบเทคก่อนและไปจัดที่เมืองทองธานีบ้าง ซึ่งต่อมาเริ่มมีลูกค้ารู้จักเพิ่มขึ้นและขายดีมาก รับออร์เดอร์จนแทบไม่ได้กินข้าวกัน ส่วนลูกค้ามีทั้งที่มาจากอิตาลี สเปน ฝรั่งเศสและอื่น ๆ ทั่วโลก และตอนนั้นยังไม่ขายจีน ขายในต่างประเทศ ซึ่งทางกรมฯถือเป็นหน้าตาของประเทศและให้ทาง D&O จัดเป็นโซนที่แยกออกมาเฉพาะเป็นของที่มีดีไซน์” ในส่วนบริษัทคราฟท์ฯของ “อ.เบิร์ด” ได้หันมาทำส่งออกและเข้าร่วมจัดงานกับ D&O ด้วยก็ขายดีไม่แพ้กัน

“ลูกค้าให้การตอบรับที่ดี โดยเฉพาะจากฮ่องกง สหรัฐฯและเยอรมนี  ในปีแรกขายได้ถึง 3 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่เมื่อทำต่อไป ได้มีออร์เดอร์เข้ามาเรื่อย ๆ ทำให้บูธเล็ก ๆ ขยายเป็นบูธใหญ่ขึ้นและกิจการขยายอย่างต่อเนื่อง กระทั่งขณะนี้ทำด้านส่งออกมาเป็นเวลา 13 ปี  ทว่าบริษัทคราฟท์ฯยังคงไม่ทิ้งการสร้างผลงานทำมือ จนสิ่งนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของบริษัทไปแล้ว ลูกค้าเห็นก็จำได้ ซึ่งในต่างประเทศมักนิยมสินค้าประเภทนี้มากกว่า ขณะที่ตลาดในประเทศแคบมาก สู้การไปร่วมกับต่างประเทศไม่ได้ ที่มีลูกค้าจากทั่วโลกมาซื้อและทำให้บริษัทคราฟท์ฯมีชื่อเสียงผ่านสื่อได้โดยไม่ต้องลงทุน”
 
 
 
 

เน้นคอนเซ็ปต์“ทำไทยให้เป็นเทศ-แปลก-ทำน้อยแต่ได้ราคา”

 

อ.เบิร์ด กล่าวว่า การจะสร้างเอกลักษณ์ในสินค้าของตัวเองได้ นอกจากจะเป็นงานทำมือแล้ว ทางบริษัทคราฟท์ยังมีความโดดเด่นอย่างอื่นด้วย  โดยคอนเซ็ปต์อย่างหนึ่งคือ  “การทำไทยให้เป็นเทศ” 

“การทำงานโอท็อปที่มีความเป็นไทยมากจะไม่ตรงกับที่ต่างประเทศต้องการ จะทำอย่างไรให้สามารถเข้ากับรสนิยมของต่างชาติได้  ในฐานะที่อยู่ต่างประเทศมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงรู้ว่าทำอย่างไรที่ฝรั่งชอบ ทำอย่างไรจะทำงานให้เนี๊ยบ แปลก มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการสร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง สิ่งเหล่านี้

จึงทำให้งานของผมตอบสนองของคนที่ต้องการได้ เช่น โรงแรมที่ต้องการความแปลกใหม่ ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานและโชว์ได้ด้วย งานดีไซด์ที่เราออกแบบเอง จะทำให้ได้สตางค์มากกว่า ทำให้เราได้เครดิต  ลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นระดับไฮเอนด์ สินค้าราคาถูกกว่าของยุโรป แต่ถ้าเขาซื้อไปจะไปบวกอีก 3 เท่าและได้ไปอยู่ในห้างดี ๆและโรงแรมหรูหรา เช่น ดับเบิลยู รีทรีท ฮ่องกง, ดับเบิลยู รีทรีท สมุย, โรงแรมเรเนซองส์ และอินิอาลา(Iniala)  นอกจากนี้ยังมีแกลอรี ผู้ประกอบการ สปาและร้านขายของแปลก ซึ่งจะขายให้ในราคาเท่ากัน เน้นทำน้อยได้ราคามาก ดูหรูหรา ให้ดูคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป”
 


 
เวลานี้ลูกค้าของบริษัทคราฟท์ฯกล่าวได้ว่า มีอยู่ทั่วเอเชีย เช่น เมียนมาร์ ลาว ไต้หวัน อเมริกาใต้ รัสเซียและญี่ปุ่น ต่างชาติที่ไปลงทุนในเมียนมาร์จะมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมกับความทันสมัยสู่สากลเพิ่มขึ้น ไปเที่ยวเมียนมาร์คงไม่มีใครอยากไปอยู่โรงแรมที่มีหน้าตาแบบอเมริกัน โรงแรมจะมีการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นบูทีคที่มีการดีไซน์โดดเด่นเพิ่มขึ้น โดยจะเปลี่ยนไปสู่การเป็น Theme Park มากขึ้น เพิ่มความสนุกและมีสีสันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นที่โปรดปรานของลูกค้าไฮเอนด์”

ปัจจุบันบริษัทคราฟท์ มีพนักงานประมาณ 10 คน โดยมีโรงงานอยู่เขตสายไหม กรุงเทพฯ ผลิตเฟอร์นิเจอร์และสินค้าประดับตกแต่งหลายรายการ ส่วนใหญ่เป็นประเภทโต๊ะ เก้าอี้ เตียง โถและแจกัน  การทำงานจะอาศัยเครือข่ายผู้ประกอบการและซัพพลายเออร์ในการผลิต เช่น ซัพพลายเออร์ด้านเหล็ก ไฟเบอร์กลาส โมเสส หนัง ผ้าและไม้ โดยกระบวนการทำงาน เริ่มจากการออกแบบ นำส่งซัพพลายเออร์เพื่อผลิตเป็นต้นแบบ ก่อนนำไปให้ช่างเฉพาะทางรับช่วงต่อไปผลิต ในแต่ละปีมีการออกแบบประมาณ 6-7 ชิ้น ปัจจุบันทำไปแล้วประมาณ 50-60 แบบ

อ.เบิร์ด เปิดเผยว่า “ในการออกแบบจะอาศัยเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ที่พบเห็นในการเดินทาง จดสิ่งที่เห็น สเก็ตภาพไว้และสิ่งสำคัญคือ ต้องมีความสุขในขณะทำงาน จะไม่ระบายอารมณ์เสียลงไปในงานเด็ดขาด” 

นอกจากผลิตสินค้าดีไซน์ขายเองแล้ว ไม่รับจ้างผลิต แต่รับผลิตให้กรณีลูกค้ามีพื้นที่  แล้วให้บริษัทเป็นผู้ออกแบบให้แต่ต้องเป็นแบรนด์ของเราทั้งหมด      

"เราออกแบบให้ มาสั่งกับเรา ทำให้เราได้เครดิตด้วย เราต้องมีแบรนด์ของเราเอง ถ้าผลิตให้เขาไปติดแบรนด์ตัวเองและต่อมาเขาไปผลิตเองจะส่งผลเสียต่อเรา ส่วนผลงานแต่ละชิ้นใช้เวลาผลิตประมาณ 3 เดือน ถึงจะได้เห็นของ"

สำหรับผลงานที่มีราคาสูงที่สุดอยู่ที่ 7- 8  แสนบาท ทำจากหยกของเมียนมาร์ เป็นผลงานประติมากรรมจากแนวคิดของการทำให้สมดุล ส่วนราคาต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นบาท  
 

 

ผลงานสร้างชื่อ คว้ารางวัลมากมาย

 


เมื่อสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่สวยหรู แปลกตาแก่ผู้พบเห็นขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทคราฟท์ฯจะคว้ารางวัลประกวดผลงานการออกแบบมามากมาย

"ความจริงแล้ว ไม่ได้คิดที่จะประกวด ส่วนใหญ่เรามีสินค้าอยู่แล้ว เขาจะให้มาเขียนเพื่อให้ไปประกวดก็ส่งไป แล้วก็ได้รางวัลมา "

ตัวอย่างรางวัลที่ได้มา เช่น 

-รางวัล Best of the best Designer Award 
-รางวัล Designer of the Year Award 2007 และ
-รางวัล "Honor Award for lift9time design career achievement"  จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2550 
-รางวัล Designer of the Year Award ของ PM Award หรือสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2550
-รางวัล Denmark Award 2008 for “Sputnik” chair  ปี 2551 จากกรมส่งเสริมการส่งออก 
-รางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์  ปี 2552 เป็นรางวัลที่จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทย ที่มีผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องและอยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี  
-นอกจากนี้ยังมีรางวัล Good Design Award หรือ G Mark ,รางวัล Design Excellence Award หรือ DEmark Award   2008-2009 จากญี่ปุ่น
 
“รางวัลต่าง ๆ ข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เป็นเครื่องการันตีได้เป็นอย่างดีว่า บริษัทคราฟท์ฯทำงานมานานและเน้นงานด้านดีไซน์มากกว่า แต่ไม่ได้มีผลต่อยอดขายมากนัก เพราะลูกค้ามาซื้อเพราะชอบของแปลก ของดีมากกว่า”

 
 

ช่วยผลักดันนำผลงานไทยโชว์ต่างแดน

 


นอกจาก อ.เบิร์ด จะเป็นนักออกแบบและเจ้าของกิจการสินค้าดีไซน์หรูแล้ว ขณะเดียวกันยังมีบทบาทในการนำผลงานฝีมือของนักออกแบบไทยไปจัดแสดงอวดสายตาชาวโลกด้วยเช่นกัน โดยมักจัดแสดงผลงานในต่างประเทศเป็นหลัก  เช่น การร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)ของกระทรวงพาณิชย์   ที่งาน “MASON & OBJET”  ในนครปารีสของฝรั่งเศส  ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก 

นอกจากนี้ยังไปจัดแสดงที่เมืองมิลานของอิตาลีด้วย เนื่องจากมีการจัดงานที่คนทั่วโลกไปแสดง ได้แก่ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ การตกแต่ง Public Design Festival 2012  โดยทางกรมส่งเสริมการส่งออกติดต่อสถานที่ให้ไปและ อ.เบิร์ด ช่วยงานกรมฯด้วยการนำผู้ประกอบการประมาณ 40 รายไปแสดงผลงานภายใต้ชื่อ  “Thailand Slow Hand  Design  2012”  ซึ่งอาจารย์บอกว่า ถือเป็นงานแรกที่ทำ ไปขายกันเอง  

และเมื่อเร็ว ๆนี้อาจารย์เอกรัตน์ยังมีส่วนร่วมในการจัดงาน “งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน” หรือ “Bangkok International Gift Fair 2014 and Bangkok International Houseware Fair 2014” ครั้งที่ 38 หรือ BIG+BIH ระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ โดยรับผิดชอบในโซน“Hospitality Objects Thailand 2014 (H.O.T.2014)”  เป็นโซนที่เมื่อผู้เข้าชมงานเข้าไปแล้วจะได้ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโรงแรมหรูหราหรือหลุดไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งเลยทีเดียว เพราะจะได้ชมผลงานการออกแบบที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใครและเป็นที่ต้องการทั่วทั้งเอเชีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าที่ผลิตขึ้นด้วยความปราณีตของชาวเอเชีย โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลไทย
 
อ.เบิร์ด บอกว่า การสามารถทำงานทางด้านนี้ด้วย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเคยมีประสบการณ์มาบ้าง โดยหลังจากกลับมาไทยใหม่ ๆ ช่วงปี (1991-1992) เคยทำงานเป็นผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและส่งเสริมคุณภาพสินค้าของกรมส่งเสริมการส่งออกและยังเคยเป็นกรรมการของสมาคมมัณฑนากร เป็นการทำเพื่อตัวเองและเพื่อชาติด้วย

“เคยบอกกับตัวเองเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วว่า อยากให้ไทยเป็นเมืองของการออกแบบ อยากให้ผลงานของคนไทยได้ไปอิตาลี ในสักวันหนึ่ง ตอนนั้นคิดเพื่อชาติ และตอนที่จัดงาน Thailand Slow ดีใจและบอกกับตัวเองว่า  เราทำได้แล้ว..”.
 
 
แนวโน้มวงการดีไซน์ไทยดีขึ้น เป็นที่ยอมรับมากขึ้น  
เมื่อมีโอกาสได้มาพูดคุยกับนักออกแบบระดับแถวหน้าของเมืองไทยขนาดนี้แล้ว ทางเอซีนิวส์จึงไม่พลาดที่จะยิงคำถามถึง “เทรนด์ดีไซน์ในปี 2557และอนาคต”  ซึ่งอาจารย์เอกรัตน์กล่าวว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาวงการออกแบบของประเทศไทยมีการพัฒนาดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากมีเด็กรุ่นใหม่ที่ไปศึกษาในต่างประเทศ  ช่วยให้มีการพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือน การตกแต่งภายใน  

นอกจากนี้ยังมีจุดดีตรงที่ มีการควบคุมคุณภาพและมีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เริ่มมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับและได้รับโอกาสให้ไปออกงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 

สำหรับแนวโน้มการสร้างงานดีไซน์นั้นมองว่า ต่อไปพฤติกรรมการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนด ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียและอาเซียน รวมถึงจีน รัสเซีย อินเดีย มีการเปลี่ยนแปลงที่จะยอมรับของแปลกใหม่เพิ่มขึ้น เทรนด์งานดีไซน์จึงมีความเป็นเอเชียมากขึ้น มีสีสันสดใสขึ้น 

นอกจากนี้ยังเน้นไปเรื่องของ “Green” หรือความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ในขณะที่รูปลักษณ์ก็กลับไปหาสิ่งที่เป็นรูปทรงทางธรรมชาติมากขึ้น มีความเป็นออร์แกนิคมากขึ้น ไม่เน้นใช้ประโยชน์อย่างเดียว แต่ใช้เป็นสิ่งประดับตกแต่งมากขึ้น 

นอกเหนือจากนี้ยังมีการสร้างความต่าง เพราะในความเป็น Globalization ซึ่งมีการเสพข้อมูลเหมือนกัน แต่อะไรที่จะทำให้มีความแตกต่างกันได้ ในกรณีของไทยหนีไม่พ้นการเน้นความเป็นไทยนั่นเอง

“ถ้าเรารู้ว่า ประเทศไทยเป็นแบบไหน เราไม่ทำแบบคนอื่นหรือเหมือนใคร ก็จะเป็นการสร้างความแตกต่างที่เหมาะกับศักยภาพของไทยได้”

 
 

ไม่ตีกรอบชีวิต-ยึดธรรมะเป็นที่พึ่งยามท้อ-มีศรีภริยาเป็นกำลังใจ

 

ได้สัมผัสกับความสามารถในด้านการงานของอาจารย์นักออกแบบแถวหน้าของเมืองไทยท่านนี้ไปแล้ว การใช้ชีวิตของอาจารย์ก็มีแง่มุมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยมีไลฟ์สไตล์ที่สบาย ๆตามสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้มีศิลปะในหัวใจ  ชอบชีวิตอิสระ ไม่มีการตีกรอบชีวิตของตัวเองให้ต้องเครียด  
 
“ผมเป็นคนที่ไม่คิดเหมือนคนอื่น  ชอบคิดนอกกรอบ เช่น เมื่อมีเวลาว่างจะไปเที่ยว ก็จะไปแบบไม่มีแบบแผน แบบทัวร์ฉิ่งฉับ หลงไม่เป็นไร ถึงไหนนอนนั่น ภัตตาคารกลิ่นดีก็เข้าไปกิน ” อาจารย์กล่าวอย่างอารมณ์ดี 

ส่วนกิจกรรมโปรดอื่น ๆ ของ อ.เบิร์ด เช่น ว่ายน้ำออกกำลังกายและการทำอาหาร ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการไปศึกษาต่างแดนเมื่อครั้งพักอาศัยอยู่กับครอบครัวชาวอิตาลี ที่เพื่อนของพ่อฝากให้ จึงทำให้อาจารย์มีโอกาสได้เรียนรู้การทำอาหารอิตาลีไปด้วยและซึมซับวิชาการทำอาหารติดตัวมาด้วยอีกอย่าง

นอกจากนี้อาจารย์ยังชอบอ่านหนังสือซึ่งจะเน้นที่หนังสือธรรมะเป็นส่วนใหญ่ นอกจากเป็นการใช้เวลายามว่างสร้างความสงบสุขแก่จิตใจแล้ว ยังเป็นตัวช่วยที่ดีในยามที่ต้องเผชิญอุปสรรคในการทำงานหรือท้อแท้ได้อีกทางหนึ่ง 

“วิธีอ่านหนังสือธรรมะช่วยได้มากและที่เลื่อมใสศรัทธามาก ได้แก่ คำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ วัดป่า จังหวัดชลบุรี ซึ่งสอนในเรื่องของ ความรู้ ระลึกรู้  รู้ว่าท้อ รู้ว่าจิตตา เดี๋ยวก็หาย และ รู้ว่า ชีวิตย่อมมีอุปสรรคแวะเวียนเข้ามาบ้างเปรียบได้ดั่ง “ว่าวจะขึ้น ต้องมีลมปะทะ” ทำให้สามารถรับมือกับปัญหาที่ผ่านเข้ามาได้” 

ขณะเดียวกัน อ.เบิร์ด ยังมีอีกกำลังใจดี ๆ จากภรรยาคนสวยของครอบครัว ซึ่งแม้จะไปร่ำเรียนในต่างแดนมานาน แต่อาจารย์ยังมีศรีภรรยาที่เป็นหญิงไทย โดยครองคู่กันมากว่า 10 ปีแล้ว ได้แก่ คุณรวิดา ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทซีคอนกรุ๊ป โดยอาจารย์เล่าว่า พบกันที่เมืองไทย รู้จักกันในกลุ่มเพื่อน ๆ  ซึ่งคุณรวิดาเป็นเพื่อนของคู่รักของเพื่อน และรู้ว่าเป็นคนที่ใช่ตั้งแต่แรกพบ แม้จะมีลักษณะที่นิสัยต่างกัน แต่ก็เป็นความต่างที่ลงตัว และสามารถอยู่ด้วยกันได้ 

สิ่งที่ชอบเหมือนกันก็มีอยู่บ้าง เช่น การไปท่องเที่ยวด้วยกันหรือไปทำกิจกรรมที่ชอบเหมือนกัน เช่น ไปตลาดเก่าเพื่อซื้อของเก่ามาสะสม เช่น ของเล่นเก่า ๆ เครื่องดนตรีเก่าและเฟอร์นิเจอร์  เป็นต้น 
 
แม้ปัจจุบันอาจารย์เอกรัตน์ยังไม่มีทายาทไว้เชยชม แต่ก็ไม่ได้คิดพึ่งพาวิทยาการที่ปัจจุบันสามารถช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากให้สามารถมีบุตรมาเชยชมได้และปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยเชื่อว่า “ไม่มีไม่เป็นไร ให้กรรมหมดที่เรา เพราะมีแล้วมีรัก มีห่วง ขนาดมีหลานยังรักและเป็นห่วง ถ้าเป็นลูกคงต้องห่วงมากกว่า
 
 
คำแนะนำสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ 
โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า อ.เบิร์ด เป็นอีกหนึ่งบุคลากรที่เป็นคนเก่ง มีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีค่า สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติและถือเป็นดาวประดับวงการออกแบบที่นักออกแบบรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้และเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในชีวิตได้

ขณะเดียวกันยังเป็นตัวอย่างของผู้ที่สามารถประสบความสำเร็จได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเก่งในทุกเรื่อง เก่งในทุกวิชา ทว่าการรู้จักตัวเองและดึงเอาความสามารถเฉพาะ ความชอบเฉพาะและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตนเองออกมาสร้างสรรค์ผลงานให้ได้เท่านั้น  ทุกคนสามารถก้าวขึ้นเป็นสุดยอดนักออกแบบได้ไม่ต่างไปจากอาจารย์เอกรัตน์อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้น อาจารย์นักออกแบบเจ้าของรางวัล Best of the best Designer Award ปี 2550 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ข้อแนะนำแก่เหล่านักออกแบบหน้าใหม่ไว้หลายข้อดังนี้  คือ
-ต้องเป็นคนรักงาน  ทำงานอย่างจริงจัง  ไม่ใช่เห็นคนอื่นทำ ก็ทำตามเป็นแฟชั่น  
-ต้องมีความสุขในงานที่ทำ โดยไม่ต้องมองผลสำเร็จเป็นหลัก
-อย่ามองความสำเร็จของคนอื่น ชื่นชมได้ แต่ต้องเป็นตัวของตัวเอง ทำสิ่งที่เป็นของตัวเองแล้วจะรักตัวเอง และคนอื่นจะชื่นชมเรา
-ขณะเดียวกันยังต้องมีระเบียบ แต่ไม่ยึดถือเป็นสำคัญหรือจริงจังมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เราสามารถละลายกรอบได้ง่าย  หรือ หมายถึง “การสร้างกรอบและพร้อมที่จะละลาย เพื่อไปสร้างกรอบใหม่
-นอกจากนี้ยังต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ปรับตัวอยู่ร่วมกับมันให้ได้
ในเงื่อนไขที่ดีที่จะทำให้สังคมรอบข้างเจริญขึ้น ในทางที่ดี
“เคยทำงานด้านโอท็อปเหมือนกัน มองเห็นศักยภาพว่าเขาทำได้ แต่โอท็อปไทยไม่สามารถก้าวไกลได้เหมือนของญี่ปุ่นเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น การไม่มีวินัยเหมือนเขา พฤติกรรมไม่ได้  ดื่มเหล้า เมานอนไป 3 วัน ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งได้ตามออร์เดอร์  ขณะเดียวกันคนไทยรักสบายและไม่ต้องการเงินมากมาย จึงทำงานตามใจฉันและยึดติด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำแต่สิ่งเดิม ๆ ”


 
คำแนะนำของอาจารย์เป็นสิ่งที่มีเหตุผล เพราะโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาและอย่างรวดเร็วเสียด้วย 

ดังนั้นการปรับตัว พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  จะเปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ทำให้นักออกแบบรุ่นใหม่หรือผู้ทำงานในวงการออกแบบทั่วไป จะสามารถยืนอยู่ในวงการนี้ไปได้อย่างยั่งยืนได้ 
 

 

หรือแม้แต่ช่วยทำให้สามารถยืนหยัดฝ่าวิกฤติการเศรษฐกิจรอบใหม่ ๆ  ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย..

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 พ.ย. 2557 เวลา : 18:22:51
กลับหน้าข่าวเด่น
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:40 am