ความสำเร็จเกิดได้หากวิ่งหาโอกาส กล้าเรียนรู้และกล้าที่จะก้าวออกจากความคุ้นเคย




 ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช (ดร.โอ) รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ผมเชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่อยากได้โอกาส ก็ต้องสร้างเอง พยายามทำเองให้เป็น

 

 

ชายหนุ่ม หุ่นสูงยาวเข่าดี ที่มาพร้อมเครื่องเคราบนใบหน้า เป็นเอกลักษณ์ที่คุ้นตาของเหล่าเจ้าหน้าที่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งหากมองผิวเผิน ใบหน้านั้นสามารถเป็นพระเอกได้อย่างสบาย  ชายหนุ่มหนวดเครางามรายนี้คือดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช (ดร.โอ)”    อาจารย์นักวิทยาศาสตร์หรือนักฟิสิกส์ระดับหัวกระทิรายหนึ่งของเมืองไทยจากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ.ที่ได้รับความไว้วางใจให้มาช่วยราชการในฐานะ รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องรับภาระหน้าที่ที่ท้าทาย ทว่าเขาก็พร้อมที่จะรับมือ ด้วยความเชื่อมั่นในประสบการณ์ ทักษะการทำงานผ่านกิจกรรมมากมาย โดยเฉพาะพลังศรัทธาในตัวเองที่มีอยู่เต็มเปี่ยมว่า พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ อยู่เสมอ

 

เมื่อเร็วๆนี้ทางทีมงานของสำนักข่าวเอซีนิวส์ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตของนักฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้และได้ค้นพบแง่มุมชีวิตที่น่าสนใจหลายอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ทั้งในด้านความใส่ใจ ขวนขวายเรียนรู้เพื่อความก้าวหน้าทางการศึกษาและหน้าที่การงานของตนเอง  การรู้จักทำกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การทำงานและสร้างสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลาย การคิดค้นใหม่ ๆในแบบนักวิทยาศาสตร์ มีความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และก้าวออกมาจากความคุ้นเคย

 

 

ดร.โอจากเด็กนักเรียนชายแดนใต้...สู่นักเรียนทุนระดับชาติ

ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช (ดร.โอ) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 38 ปีแล้ว เป็นตัวอย่างนักเรียนต่างจังหวัดที่สามารถไต่เต้าการศึกษามาเป็นนักเรียนทุนในประเทศและก้าวต่อไปร่ำเรียนในต่างแดนได้อย่างประสบความสำเร็จ  โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ไกลถึงจังหวัดยะลา 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนด้ามขวานของไทย ในเขต .สะเตง .เมือง โดยเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของคุณพ่อคุณแม่ข้าราชการครู ในโรงเรียนบ้านสาคอ ในพื้นที่มุสลิม

 

ดร.โอเล่าว่า คุณแม่เป็นชาวจีน โดยมีบรรพบุรุษรุ่นอากง อาม่า มาจากเมืองจีน ส่วนคุณพ่อมาจากครอบครัวชาวนาในจังหวัดพัทลุงที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ยะลา คุณพ่อมีพี่น้อง 4 คนและเป็นบุตรคนเดียวที่มีโอกาสได้ร่ำเรียนหนังสือ ประกอบกับคุณพ่อมีความพยายามดิ้นรนขยันเล่าเรียนมาตลอด จึงสำเร็จได้เป็นคุณครูสอนวิชาฟิสิกส์ โดยที่ดร.โอหารู้ไม่ว่า ตนได้เดินตามรอยคุณพ่อมาตลอด เพิ่งมารู้หลังจากเรียนจบแล้ว  แต่ต่อมาคุณพ่อเลื่อนชั้นไปประจำตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ด้านพี่ชายทำงานเด้านอุตสาหกรรมอาหารทำหน้าที่ควบคุมรับรองคุณภาพสินค้า

 

ชีวิตในวัยเด็กของดร.โอ ก็ไม่ต่างไปจากเด็กในพื้นที่ทั่วไป ซึ่งได้เข้าศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดยะลา หลังจากจบชั้นป.6 แล้ว ด้วยความที่อยากจะไปเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ .ปัตตานี (รร.สาธิตมอ.)จึงได้ไปสอบเข้าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พร้อมกับเพื่อนๆและปรากฏว่า สอบได้แต่คุณพ่อไม่ให้ไปเรียน เนื่องจากต้องไปอยู่หอพักประจำใน .ปัตตานี สร้างดร.โอ บอกกับเราว่ารู้สึกเสียใจมากที่ไม่ได้ไป เพราะมีเพื่อนที่สอบติดไปเรียนถึง 11 คน  พ่อบอกว่า ไว้อยู่ม.3 ค่อยไปเรียน แต่พอม.3 ก็ไม่ได้ไป เพราะไปเรียนที่อื่นแทน

 

 

เข้าค่ายวิทยาศาสตร์ กทม. จุดเปลี่ยนหันสนใจวิทย์จริงจัง-สอบชิงทุนพสวท.

ดร.โอเล่าว่า หลังจากไม่ได้เรียนที่ รร.สาธิตมอ. คุณพ่อได้ให้ ดร.โอเข้าเรียน ที่ โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง ในตัวเมืองยะลา แทน ซึ่งดร.โอเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดี มีผลการเรียนเฉลี่ยประมาณ 3.9 ขณะเดียวกันยังเป็นเด็กที่สนใจด้านกีฬาและทำกิจกรรมหลายอย่าง รวมถึงกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ด้วย เช่น เคยเป็นตัวแทนของโรงเรียนแข่งขันทางวิชาการ แข่งตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ และบังเอิญว่าทำได้ดี จึงทำให้เกิดความรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ 

 

อย่างไรก็ตามดร.โอเล่าว่า ช่วงเวลาที่ถือว่า เป็นจุดเปลี่ยน  ให้เขาหันมาชอบวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง คือ เมื่อเขาได้มีโอกาสไปเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ ในโครงการช้างเผือกของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง ในกรุงเทพฯ ขณะศึกษาอยู่ชั้นม.3

 

มีโอกาสเป็นตัวแทนมาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ที่กรุงเทพฯในช่วงม.3 จากการไปสอบกับเพื่อน   จนได้เป็นตัวแทนของจังหวัดไปเข้าค่ายในโครงการช้างเผือก ซึ่งจะมีตัวแทนจากจังหวัดต่าง มารวมกัน และในครั้งนั้นทำให้ได้มีโอกาสได้พบนักวิทยาศาสตร์จริง ได้เห็นบรรยากาศท้องฟ้าจำลองจริง ได้พบเพื่อน ที่ชอบวิทยาศาสตร์มาก เวลาเรียนก็จะเรียนจริง เวลาเล่นจะเล่นจริง เรียกว่า เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น ต่างจากที่อยู่ยะลา ที่เราจะเรียนอย่างเดียว

 

 

ประสบการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้เริ่มรู้สึกว่า อยากจะเรียนวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ซึ่งในช่วงเดียวกันนั้นเคยคิดเหมือนกันว่า จะทำอาชีพอะไรดี โดยมีตัวเลือก  3 อย่างคือ 1.วิศวกรรมศาสตร์ 2.สถาปัตยกรรมและ3.วิทยาศาสตร์

 

เมื่อมาเข้าค่ายช้างเผือกแล้วรู้สึกว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์เจ๋งที่สุด เพราะไม่ต้องทำอะไรซ้ำๆกัน อย่างการเป็นวิศวะแม้จะทำโน่นทำนี่ แต่สุดท้ายแล้วต้องมาทำตามแบบ ต้องทำซ้ำ ทำตามที่คนอี่นบอก สำหรับการเป็นสถาปนิก แม้จะคิดแบบใหม่ๆได้แต่ต้องอยู่กับโต๊ะทำโน่นทำนี่ในขณะที่วิทยาศาสตร์มีเรื่องเชื่อมโยงตั้งแต่จักรวาลไปถึงอะตอมเล็กๆ เล่นได้ทุกๆส่วน เลยรู้สึกสนุกขึ้นมา มันเป็นอะไรที่มีความชัดเจนในเชิงวิธีคิด มีกระบวนการ 1..2..3.. 4 .. ที่มีความชัดเจน ต้องสังเกต ต้องออกแบบการทดลองและตั้งสมมุติฐาน เป็นกระบวนการเดิมๆ ที่ทำให้เราเจอของใหม่ๆ เหมือนเรากำลังได้เรียนรู้ไปเรื่อย

 

ความคิดที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้นักเรียนจากแดนใต้คนนี้พยายามสอบชิงทุน โครงการพสวท.” ที่มีชื่อเต็มว่า  โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ซึ่งเป็นทุนแรกที่มุ่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาในประเทศไทย โดยเป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งต่อมาเขาสามารถทำได้สำเร็จ สอบได้ 1 ใน 6 ทุนของศูนย์ภาคใต้

 

ดร.โอเข้าเป็นนักเรียนทุนพสวท.ในรุ่นที่ 10 หลังจากรุ่นแรกเริ่มในปี 2528  โดยทุนพสวท. นี้สนับสนุนให้เด็กไทยเรียนสายวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับชั้นม.4-ปริญญาตรีปริญญาโทและปริญญาเอกภายในประเทศและยังมีโอกาสให้เลือกที่จะไปเรียนในต่างประเทศด้วย

 

 

ดร.โอเล่าว่าจุดดึงดูดให้เขาไปสอบชิงทุนพสวท. คือ ต้องการจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตนั่นเอง ซึ่งหลังจากสอบติดแล้วต้องไปเรียนชั้นมัธยมปลายที่ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย .สงขลา  ที่เป็นศูนย์ภาคใต้ของพสวท.  ส่วนศูนย์ภาคเหนืออยู่ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย  โรงเรียนขอนแก่นวิทยาลัย เป็นศูนย์ภาคอิสาน ส่วนโรงเรียนบดินเดชา โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยและโรงเรียนศรีบุณยนนท์ เป็นศูนย์ภาคกลาง  แต่ละภูมิภาคอยู่กระจายไปมีนักเรียนทุนแห่งละ 3- 6 คน ซึ่งต้องสอบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติในห้องแล็ป

 

ดร.โอเล่าว่า สำหรับการเรียนที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยในระดับชั้น .4 นั้นเป็นการเรียนสายวิทยาศาสตร์ปกติและยังมีโปรแกรมเสริมที่ให้นักเรียนทุนต้องทำแล็ป ต้องทำการทดลองและต้องทำโครงงานวิทยาศาสตร์พิเศษขึ้นมา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เหล่านักเรียนทุนเคร่งเครียดแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามพวกเขากลับมองเป็นเรื่องที่สนุกสนาน  มีความสุขกับการเรียนเกินกว่าที่คนภายนอกจะเข้าใจและยังพยายามทุ่มเททำการทดลองให้สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย

 

 

สิ่งสำคัญที่โครงการ พสวท.ให้กับพวกเรา คือ ทุก ปีนักเรียนทุนจะต้องไปเข้าค่ายกับสสวท. เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน โดยนักเรียนจากทุกศูนย์ทั่วประเทศจะมารวมกันและสิ่งที่ได้กลายเป็นโมเดลนำมาใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย นั่นคือ การที่พี่บัณฑิตกลับมาทำค่ายให้น้อง

 

ยกตัวอย่าง  ดร.ศรัญย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) เป็นพี่บัณฑิตที่สมัยนั้นจะมาตั้งกล้องดูดาวให้น้อง ๆได้ทดลองดูและทำอย่างนี้มาทุก ปีมากว่า 30 ปีแล้ว ตั้งกล้องแล้วโม้ให้น้องดูว่า มาดูดาวพฤหัสกัน มีดวงจันทร์อยู่ 4 ดวงนะ ชื่ออะไรบ้าง ซึ่งรู้สึกเขินเหมือนกัน เพราะผมเป็นคนเดียวที่มองไม่เห็น เราไม่เห็นหรือมันไม่มีอยู่จริง เพราะเป็นคนไม่ค่อยเชื่ออะไรง่าย ๆอยู่แล้ว แต่ก็สนุก

 

นอกจากนี้ยังมี ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ  นักวิชาการจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เป็นพี่บัณฑิตอีกท่านหนึ่งที่นำโลหะจำรูปได้(Shape memory alloy)มาให้น้อง เล่น  เป็นโลหะเมื่อถูกน้ำร้อน ไม่ว่าจะบิดอย่างไร มันจะคืนรูปเหมือนเดิม เป็นอะไรที่สนุก สิ่งเหล่านี้มีมาตั้งแต่สมัยปี 2535  สะสมเรื่อย ทำให้เราเกิดความรักในวิทยาศาสตร์ ทำให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยง กระทั่งในปี 2539 ได้สอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) .สงขลา ได้ และเข้าไปเรียนในชั้นปีที่ 1 ” 

 

 

เรียนมอ.หาดใหญ่ 1 ปี ก่อนลัดฟ้าเรียนปี 2 ต่างแดน-ปลื้มได้ใกล้ชิดนักวิทย์โนเบล

ดร.โอมีเวลาเรียนที่มอ.หาดใหญ่เพียง 1 ปีเท่านั้น ก่อนจะโบยบินไปเรียนต่อในต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งดร.โอเปิดเผยว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกระตุ้นขอองรุ่นพี่คนหนึ่งที่เคยบอกไว้ว่า น้องได้ทุนนี้แล้ว น้องต้องไปเรียนเมืองนอกให้ได้นะ” 

มันกลายเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์มาก หลังจากได้รับคำแนะนำดังกล่าว ทำให้ผมขวนขวายไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษทั้งที่ไม่ชอบเลย แต่พยายามไปหาครูฝรั่ง ติดต่ออาจารย์ที่มอ.จนในที่สุดก็สามารถทำได้สำเร็จ

 

สามารถสอบชิงทุนพสวท. ไปศึกษาต่อต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นทุนที่เปิดโอกาสให้ไปศึกษาในต่างแดนได้อยู่แล้วตามกำลังความสามารถ  โดยเชื่อกันว่า การที่จบปริญญาเอกได้จะมีทักษะในการทำวิจัยมากกว่า หลังจากเรียนที่มอ.หาดใหญ่เพียงปีเดียวก็ไปเรียนต่อชั้นปีที่ 2 ในต่างประเทศเลย”  

ทั้งนี้ดร.โอเลือกที่จะเรียนในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมองว่า เป็นประเทศใหญ่และน่าจะมีอะไรให้เรียนรู้ค่อนข้างมากย โดยเลือกลงที่มหาวิทยาลัย RIT (Rochester Institute of Technology) ในเมืองรอเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้น้ำตกไนแองการา เรียนวิชาเอกฟิสิกส์

สำหรับอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาเลือกเรียนที่ RIT มาจากรุ่นพี่ที่เคยสร้างแรงบันดาลให้สอบไปเรียนต่างประเทศให้ได้ เรียนอยู่ที่สถาบันดังกล่าวนี้และเรียนฟิสิกส์เหมือนกันด้วย

 

ดร.โอเล่าว่า ในขณะศึกษาที่ RIT  ชั้นปีที่ 2  มีการให้ทำโครงงานสัมมนา ซึ่งต้องไปหาหัวข้อมาศึกษาว่าจะทำหัวข้ออะไร  บังเอิญในขณะนั้นมีผู้ได้รับรางวัลโนเบล มีผลงานทำให้อะตอมเคลื่อนที่ช้าลงด้วยแสงเลเซอร์ จึงเกิดความรู้สึกประทับใจ ปลื้มในความเก่ง เขาจึงเลือกทำเรื่องดังกล่าว และจากความสนใจอยากจะทำเรื่องนี้บ้าง จึงพยายามสืบเสาะค้นข้อมูลต่อว่า มีอาจารย์ที่ปรึกษาด้านนี้อยู่ที่ไหนบ้าง จนได้พบว่า มีอยู่ท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยรอเชสเตอร์ (University of Rochester)  จึงตัดสินใจไปสมัครมหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้และสามารถเข้าไปเรียนได้สำเร็จในชั้นปีที่ 3 จนจบระดับปริญญาตรี

 

ในมหาวิทยาลัยใหม่นี้ทำให้ผมได้มีโอกาสร่วมทำงานในห้องแล็ปกับอาจารย์ ที่เป็นลูกศิษย์และเป็นเครือข่ายของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล เป็นความพยายามที่จะเข้าไปใกล้นักวิทยาศาสตร์โนเบล แต่ผมเข้าไม่ถึง ต้องไปทีละขั้น

 

อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาความพยายามของเขาได้นำไปสู่ความสำเร็จอีกครั้ง โดยหลังจากเรียนจบระดับปริญญาตรีแล้ว  ดร.โอได้ไปสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอริโซน่า  (University of Arizona) เป็นระดับปริญญาโทจนถึงปริญญาเอก   ซึ่งที่นี่เขาได้มีโอกาสพบปะกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลดังที่ใฝ่ฝัน  เป็นปลื้มกับการมีโอกาสได้ไปนั่งร่วมวงสนทนา ที่ทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้และชื่นชมกระบวนการคิดของคนเก่ง ระดับโลก มีโอกาสได้ไต่ถาม  รวมถึงรับถ่ายทอดความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์มาอย่างเข้าใจและเข้าถึงอย่างแท้จริง

 

แม้จะชื่นชมนักวิทยาศาสตร์โนเบล แต่ดร.โอไม่ได้ตั้งเป้าว่าตนจะเดินไกลไปถึงจุดนั้น เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์โนเบลที่ไม่เคยคิดว่าตนจะได้รับรางวัลทรงเกียรตินี้มาก่อน เพราะการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ต้องใช้เวลาเรียนรู้และความพยายามสูง และต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับดร.โอที่ทำงานวิจัยไม่ได้ผลดังที่ตั้งใจและเกิดความผิดพลาดบางอย่าง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เขาต้องใช้เวลาศึกษาระดับปริญญาเอกยาวนานกว่าเพื่อนๆ เล็กน้อยเป็น 6 ปีจาก 4 ปี โดยจบระดับปริญญาเอกในปี 2551  หลังจบปริญญาโทในปี 2545 และปริญญาตรีในปี 2543  รวมใช้ชีวิตในต่างแดนยาวนานกว่า 10 ปีเลยทีเดียว

 

ในขณะนั้นทำการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับอะตอม โดยใช้แสงเลเซอร์เพื่อให้อะตอมเคลื่อนที่ช้าลง เพื่อจะใช้อะตอมสร้างคอมพิวเตอร์ในอนาคต ซึ่งจะมีขนาดเล็กที่สุดเพียงขนาดอะตอม และมุ่งจะทำให้อะตอมเป็นเสมือนเมมโมรีหรือหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ แต่อะตอมควบคุมยากจึงทำได้ไม่สมบูรณ์นัก หลังการปรับแก้ปัญหาแล้ว ผลการควบคุมอะตอมทำได้เพียงประมาณ 90% เท่านั้น จากที่ต้องการให้ได้ถึง 99.99%  แต่อาจารย์ให้จบเพราะถือว่า อย่างน้อยก็ทำงานวิจัยเป็น ซึ่งทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ สามารถที่จะนำไปต่อยอดได้ นอกจากนี้ยังทำให้ได้รู้ว่าปัญหาและข้อจำกัดคืออะไร ได้ทำการทดลองที่ยาก ได้ฝึกคิดในสิ่งที่ยากและซับซ้อน ได้ฝึกแก้ไขปัญหาและรู้จักการจัดลำดับความสำคัญ

 

 

กลับมาเป็นพ่อพิมพ์ของชาติรั้ว มจธ. ก่อนก้าวเป็นอีกดาวเด่นประดับวงการการศึกษา

ภายหลังจากจบการศึกษาแล้ว ดร.โอได้กลับมาทำงานรับใช้ชาติบ้านเมือง โดยเลือกเป็นอาจารย์ประจำอยู่ภาควิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ในวัยเพียง 31 ปี สอนวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการศึกษาทั่วไป

 

ดร.โอเล่าว่านอกจากสอนวิชาหลักทั่วไปแล้ว ทางมหาวิทยาลัยมจธ.มีการพัฒนาหลักสูตรวิชาการศึกษาทั่วไปขึ้นมา เป็นวิชาสำคัญ ที่สอนให้นักศึกษาของสถาบันมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วย ซึ่งจะครอบคลุม 5 วิชา ได้แก่ ด้านคุณธรรมและจริยธรรม ที่สอนกระบวนการคิดและการแก้ปัญหา, ความมหัศจรรย์แห่งความคิด ซึ่งเป็นการนำวิธีคิดของบุคคลเด่น มีชื่อเสียงมาเป็นแบบอย่าง เช่น ความสำเร็จของเฟสบุ๊ค หรือสตาร์บัคส์ มีการนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ,ความงดงามแห่งชีวิต นำคนเล่นดนตรีเก่ง มาให้เห็นมุมมองที่แตกต่างและการบริหารจัดการ ที่เป็นทักษะสำคัญในการทำงาน

 

บทบาทการทำงานเป็นครูของดร.โอ ถือเป็นอีกสีสันชีวิตของเขาว่าได้ เพราะความไม่หยุดคิดทำสิ่งใหม่ ทำให้ดร.โอ มีบทบาทช่วยปรับกระบวนการเรียนการสอนยุคใหม่ของมหาวิทยาลัย โดยได้คิดรูปแบบการเรียนใหม่ ให้กับนักศึกษาเพื่อให้เด็ก ได้ปฏิบัติจริง รู้จริงและทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุกสนาน เช่น การให้นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์คิดโครงการใหม่ ๆในการเรียนรู้เรื่องเสียง ทำให้มีการค้นคว้าสร้างเครื่องดนตรีขึ้นเองได้จริงและสามารถนำไปแสดงร่วมกันเป็นวงดนตรีได้ รวมถึงการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับอาจารย์คณะอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้สึกสนุกกับการเรียนการสอน

 

ผลจากการทุ่มเททำงานดังกล่าวทำให้ดร.โอมีความโดดเด่นและเลื่อนตำแหน่งมารับผิดชอบงานด้านบริหารด้วยในเวลาต่อมา  โดยก้าวขึ้นเป็น รองผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย มจธ.

การทำงานดังกล่าวทำให้ได้เห็นภาพรวมของมหาวิทยาลัย พยายามทำให้มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรของการเรียนรู้ พัฒนาการให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้ได้ ตลอดจนทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับครูและกรรมการวิชาการ ทำให้เราได้บูรณาการความร่วมมือกับครูในสายงานศิลป์เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ทำงาน รู้จักกันเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ ได้รู้จักเพื่อนครูจำนวนมาก

 

นอกจากบริหารงานด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว ดร.โอยังมีโอกาสไปช่วยงานด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาด้วย โดยมีส่วนร่วมในโครงการโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการมุ่งยกระดับให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์คล้ายกับพสวท.แต่เน้นเรียนวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น มากกว่า โดยโรงเรียนจุฬาภรณ์ฯมีอยู่ 12 โรงเรียนทั่วประเทศ  ได้แก่ ที่เชียงราย มุกดาหาร พิษณุโลก เลย บุรีรัมย์ ลพบุรี ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี สตูล ตรังและนครศรีธรรมราช   ดร.โอช่วยงานเป็นอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและช่วยดูหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการไปทำงานเป็นครั้งคราวหรือในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โครงการนี้เป็นนักเรียนระดับชั้นม.1-.6  แต่ละรุ่นมีจำนวนราว 1,700 คน  

 

 

โรงเรียนจุฬาภรณ์ฯเป็นโครงการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์คล้ายกับพสวท. และในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าของพสวท.จึงมีโอกาสได้ไปช่วยกิจกรรมด้วย พสวท.เป็นการเรียนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ปกติ โดยมีกิจกรรมเสริม ต่างจากรร.จุฬาภรณ์ฯที่เน้นวิทยาศาสตร์จริงๆตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาอนุมัติ  ซึ่งโรงเรียนเน้นด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีอยู่ 3 โรงเรียนได้แก่  โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ,โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวถึงปี 2561 และโครงการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่จ.ระยอง

สำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์อีกด้านที่ดร.โอได้มีโอกาสไปสัมผัส ออกไปทางแนวบันเทิงเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ โดยมีบทบาทเป็นคอมเมนเตเตอร์ในรายการทีวี. ชื่อว่าวิทยสัประยุทธ์ของบริษัทเวิร์คพอยท์ ซึ่งเคยออกอากาศทางช่อง 5 โดยทำหน้าที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเด็กที่มาร่วมแข่งขันในรายการ ทำอยู่เป็นเวลา 2-3 ปี

 

มีเพื่อนจากสสวท. ชวนไปช่วยทำ ซึ่งรายการนี้ได้รางวัล เอเชียน อวอร์ด ด้วย เป็นการยกย่องว่า เป็นเกมโชว์ดีที่สุดของอาเซียน โดยรูปแบบรายการเป็นการแข่งขันการแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ทางรายการจะกำหนดโจทย์ให้แต่ละทีมประดิษฐ์อุปกรณ์ที่จะนำมาแก้ไข พร้อมทั้งนำเสนอระบบการทำงานของอุปกรณ์นั้นให้กับคณะกรรมการ เป็นการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 3 แสนบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังทำรายการ  วิทย์สู้วิทย์ (sci-fighting)ทางช่อง 9 ด้วย ซึ่งเป็นรายการเกมโชว์แนววิทยาศาสตร์ ที่ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษามาแข่งขันประลองความรู้กัน  ทำให้ได้ประสบการณ์พอสมควร ทั้งหมดนี้เป็นการทำให้วิทยาศาสตร์ที่เป็นเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องที่ง่าย ช่วยอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย

 

 

กล้าก้าวออกจากความคุ้นเคยรับงานท้าทายรองโฆษกกระทรวงวิทย์ฯ”   

ผลจากมีบทบาทโดดเด่นทั้งในแวดวงการศึกษา บวกกับมีโอกาสได้เปิดหน้าออกสื่อ จนเป็นที่รู้จักกันพอสมควรจากรายการด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้ดร.โอได้มีโอกาสก้าวเข้ามาช่วยงานราชการในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับบทบาทของรองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”  ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย แต่ดร.โอ ไม่ได้หวั่นไหว ด้วยเชื่อมั่นว่า ตนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ อยู่เสมอ

 

หากพิจาณาโดยภาพรวมแล้วอาจกล่าวได้ว่า ดร.โอ ก้าวมาถึงจุดนี้ได้เพราะความเป็นตัวตนของเขานั่นเอง ซึ่งชอบที่จะวิ่งหาโอกาสและสร้างโอกาสให้กับตัวเอง  ชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และกล้าที่จะก้าวออกจากความคุ้นเคย”  ผสมผสานกับการได้สั่งสมประสบการณ์และทักษะการสานสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลายมานานในช่วงชีวิตต่าง ทั้งในวัยเรียนและวัยทำงาน โดยได้ทำกิจกรรมและเล่นเกมกีฬาร่วมกับผู้ที่มีความต่าง แต่มีกีฬาในหัวใจเหมือนกันมาตลอดตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย และแม้กระทั่งมาทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว อาทิ ฟริสบี้ ฟุตบอลและเบสบอล  ซึ่งดร.โอบอกวา ในเกมกีฬาเหล่านี้ ล้วนมีวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่เช่นกัน ดังกรณี ฟุตบอลก็มีกลยุทธ์เยอะ เบสบอลมีเรื่องความเร็วในการขว้างลูก ส่วนบาสเก็ตบอลมีจังหวะในการส่งลูก เป็นต้น

 

ทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งตรงนี้ถือว่า เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตมาก เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการ เป็นการปลูกฝังเรา ทำให้ได้ประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยกับคนอื่น มากขึ้น ได้ประสบการณ์ในการพูดคุยกับคนที่มีพื้นฐานที่แตกต่าง เพราะโดยปกติเด็กสายวิทยาศาสตร์จะอยู่ห้องคิงส์  จะไม่ค่อยรู้จักคน

 

อื่นมากนัก แต่การทำกิจกรรม หรือ เล่นกีฬาทำให้เราได้รู้จักพูดคุยกับคนที่มีพื้นฐานต่างกัน เล่นกีฬา ทำให้เชื่อมโยงกันได้ แต่ไม่ได้ทิ้งเรื่องการเรียน

เมื่อมาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ดร.โอยังคงต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรม โดยมีโอกาสเป็นประธานชั้นปีที่ 1 ของคณะวิทยาศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ด้วย เพราะเพื่อนๆ ไม่อยากเป็น นอกจากนี้คนที่เคยทำแล้วมีผลการเรียนตกลงจึงไม่อยากทำต่อ แต่ดร.โอมีผลการเรียนดี เพื่อนๆ จึงผลักดันให้รับหน้าที่ดังกล่าวไปและมีเพื่อนๆ ร่วมด้วยช่วยกันทำงานเป็นทีม ซึ่งงานที่ทำเป็นความรับผิดชอบงานกิจกรรมของนักศึกษาทุกอย่างของมหาวิทยาลัย ของคณะและการประสานงานกับคณะอื่น      

 

สิ่งที่คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากผมคือ เราต้องวิ่งหาโอกาส อย่าปิดตัวเอง  เราต้องกล้าที่จะออกมายืนในสิ่งที่ไม่เคยทำ ต้องกล้าเข้าไปทำ กล้าที่จะออกจากความคุ้นเคย กล้าทำสิ่งใหม่    สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในอาชีพได้

อาชีพที่ทำรับคำสั่งคือ คนที่เป็นลูกจ้าง สิ่งที่น่ากลัวคือ คน Gen-Y ในวัย20-30  ปี ไม่ยอมคิดอะไร จะทำตามคำสั่งเท่านั้น

ผมกล้าที่จะทำเพราะผมคิดว่า ผมเรียนรู้ได้ ผมต้องเรียนรู้ประเด็นข่าวใหม่ ซึ่งเด็กยุคใหม่มีทางเลือกเยอะ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีการหาข้อมูลได้ทางอินเทอร์เน็ต แต่ระบบการศึกษาเราไม่ได้สอนที่สร้างสรรค์มากนัก เราต้องปลูกฝังให้คิดนอกกรอบ ซึ่งครูเป็นปัจจัยสำคัญมาก เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์โนเบล ที่ส่วนใหญ่ อยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากจะเรียนวิทยาศาสตร์ก็เพราะครู ที่ทำให้เด็กจำได้ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก

 

 

ปรับตัวลุยภารกิจดันวิทยาศาสตร์เข้าถึงสังคม-เยาวชน สร้างสังคมนวัตกรรม

สำหรับการทำงานในตำแหน่ง รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ดร.โอ ได้ปรับตัวพอสมควร โดยเตรียมพร้อมเรียนรู้และทุ่มเทการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย

ต้องทำงานร่วมกับกลุ่มประชาสัมพันธ์ของกระทรวงฯ ทีมวิชาการและทำงานในเชิงกลยุทธ์จัดการข่าว ดังในที่ผ่านมามีการจัดงานนิทรรศการเป็นส่วนใหญ่ อาทิ มหกรรมวิทยาศาสตร์และงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยเพื่อ SMEs ข้างคลองผดุงกรุงเกษม ที่ต้องแสดงให้เห็นว่า การวิจัยเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร เป็นงานด้านสื่อสารองค์กร นอกจากนี้ต้องทำงานเกี่ยวกับการแถลงของดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ติดตามท่าน ซึ่งท่านเป็นนักวิชาการ ผมต้องเรียนรู้จากท่านไปด้วย ซึ่งท่านจะเน้นให้ความหวังแก่สังคม” 

 

ดร.โอกล่าวต่อว่า หน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของรองโฆษกกระทรวงวิทย์ฯคือ การพยายามทำความเข้าใจกับสังคมว่า  วิทยาศาสตร์แฝงอยู่รอบ ตัวเรา จึงมีหน้าที่หลาย ส่วนที่พยายามทำให้เข้าใจวิทยาศาสตร์ทั้งด้านนโยบาย ระบบของงานวิจัยและกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในสังคมไทย รวมถึงในภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม ทุกอย่างเข้าไปถึงประชาชนและเยาวชนให้ได้ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น เหตุผลเพราะวิทยาศาสตร์มีอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ในขณะที่วิทยาการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องปลูกฝังให้เยาวชนเรียนรู้ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

 

 

วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใหม่สำหรับเยาวชนหลายคน แม้ได้รับความรู้ใหม่ ทำให้สนุกพอสมควร แต่ปัญหาคือ บางครั้งอาจจะยากไปสำหรับเขา แต่เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของเราค่อนข้างเยอะ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจกับมัน การใช้ชีวิตประจำวันต้องใช้วิทยาศาสตร์ช่วยในการตัดสินใจ  ยกตัวอย่าง  เวลาเราขับรถเข้าไปในปั๊มน้ำมัน เราจะเลือกตัดสินใจอย่างไรว่า เราจะเลือกเติมน้ำมันชนิดไหน เราต้องมีความรู้เบื้องต้นก่อนว่า รถเราต้องการน้ำมันชนิดไหน  วิทยาศาสตร์จะมีส่วนช่วยให้เราตัดสินใจ ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย  เขาบอกให้เติมน้ำมันดีเซล กับรถที่ใช้แก๊สโซลีน ก็จะไม่เหมาะสมกัน ของพวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องขวนขวายหาความรู้กันขึ้นมา

 

นอกจากนี้เราจะเห็นว่า ทุกๆ อย่างรอบๆตัวเราตอนนี้ วิทยาการก้าวหน้าไปมาก จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กๆรุ่นใหม่ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ยิ่งทราบว่า  เด็กๆ รุ่นใหม่โตมากับเทคโนโลยี ช่วงเวลาที่เขาต้องเรียนรู้มีอยู่เพียงไม่กี่ปี ระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัยรวมประมาณกว่า 10 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาต้องทำงานเป็นเวลา 40-50 ปี คนรุ่นใหม่ทำงานที่อายุประมาณ 20-30 ปี เกษียณประมาณ  60-70 ปี ช่วงเวลาตรงนี้กับวิทยาการที่เปลี่ยนค่อนข้างเร็ว เขาจะเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่จะจดจำในโรงเรียนไม่พอ  เขาต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย ตรงนี้เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เขาจะต้องฝึกฝนตัวเองไปพร้อม กัน

สำหรับสิ่งที่กระทรวงวิทย์ฯดำเนินการเพื่อจะปลูกฝังให้เยาวชนไทยสนใจวิทยาศาสตร์ว่ามีความสำคัญกับสิ่งที่อยู่รอบตัวนั้น ได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้าง สังคมนวัตกรรม  ขึ้น

 

เราต้องทำให้ประชาชนเห็นภาพว่า วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องแทบจะทุกส่วน  โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างนวัตกรรม ทำให้สินค้าของไทยราคาสูงขึ้นได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีราคาที่สูงขึ้นได้ เรายอมรับว่า การใช้แรงงานในการผลิตสินค้าแทบจะไม่พอ เราต้องใส่ความคิดเข้าไป เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่วงการการศึกษาทำได้คือ ให้นำวิทยาศาสตร์มาทำในสิ่งสร้างสรรค์  ทำให้มันสนุกและทำให้มีผลผลิตที่แปลกใหม่   ของพวกนี้เป็นอะไรที่ต้องฝึก ฝึกคิด ฝึกทำอยู่เรื่อย   กระบวนการฝึกนี้ จะทำให้ฝังอยู่ในตัวเขา พอเขาโตขึ้นมา เรารู้ว่า โลกยุคใหม่คือ โลกที่จะมีผู้ประกอบการเต็มไปหมด ของพวกนี้แข่งขันกันด้วยความคิด ด้วยไอเดียก่อน  เพราะฉะนั้นหากเขามีสิ่งต่างๆ ที่มาเสริมตัวเขาขึ้นมา ก็จะมีความคิดใหม่ๆ ทำสินค้าใหม่ๆขึ้นมาและ ผลิตสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ ถ้าเข้าใจเทคโนโลยีจริงๆ  สามารถแก้ไขปรับปรุงมันได้ก็จะไปได้ไกล จนสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ แข่งกับเพื่อนๆ ในอาเซียนได้ด้วย

 

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันให้เยาวชนได้รับการปลูกฝังเข้าไป เริ่มง่าย ด้วยการให้เขาหยิบวิทยาศาสตร์เข้ามาลองอธิบายดู เพราะการอธิบายเป็นการแสดงความเข้าใจ เราต้องสนับสนุนให้เขามีการทดลอง ลองเล่นโน่น เล่นนี่ดู พอลองเล่นจริงมันฝังเข้าไปจะจำได้ พอเราไม่ได้ทดลองอะไรเลย ก็จะเหมือนการท่องจำ   ปกติเวลาเราสอบ เราท่องจำ ใช้เวลาประมาณ 2 วันก็จะลืมหมดเลย แต่ถ้าเราทำ เราฝึกปฏิบัติเราจะจำได้  และของพวกนี้จะอยู่กับตัวเขาไปเรื่อย ทำให้เขาเป็นคนที่มีความคิด มีทักษะกระบวนการคิดที่ดี

 

 

นอกจากนี้แล้วอีกภารกิจหนึ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯคือ การชี้ให้เด็กๆและเยาวชนมองเห็นว่า เรียนวิทยาศาสตร์ไปแล้วจะทำอะไรได้บ้าง?

ดร.โอกล่าวด้วยใบหน้าและดวงตาฉายแววแห่งความสุขว่า เราจะสร้างแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน โดยทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยมากขึ้น  ให้มีนักวิจัยมีแหล่งงานมากขึ้น  เราเดินสายคุยกับภาคเอกชนให้เขามาลงเงินด้านการวิจัยขึ้นมา ซึ่งต้องยกระดับประมาณ 3-4 เท่าจากปัจจุบัน

 

หลังจากนั้นพอมีการลงทุน เอกชนอาจจะถามว่า มีเงินแล้ว มีทุกอย่างแล้ว แล้วใครจะมาทำ ตรงนี้เป็นโอกาสที่จะมีแหล่งงานขึ้นมา ผมว่า มันหมดยุคหมดสมัยแล้วที่จะบอกว่า เราทำกิจกรรมสนุก แล้ว มันสนุกก็จริง แต่สุดท้ายเขาต้องเลือกไปอาชีพที่เขาเห็นทางว่าจะประสบความสำเร็จ  เราจะเห็นว่า ในสมัยนี้ เด็กเก่งๆ เรียนแพทย์เยอะ เพราะว่าแพทย์มีอาชีพที่แน่นอน เราเห็นว่า มีตัวอย่างค่อนข้างเยอะ เป็นวิศวกรก็ค่อนข้างเยอะ เพราะวิศวะมีอาชีพที่แน่นอน

 

ความจริงอาชีพนักวิทยาศาสตร์มีเยอะมาก แต่สังคมไม่ได้รับรู้มากสักเท่าไหร่  จึงเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างให้ทุกคนเห็นว่า นักวิทยาศาสตร์มีบทบาทสร้างสิ่งดี ในสังคมค่อนข้างเยอะ  ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสร้างแหล่งงานให้กับเด็ก เพราะในที่สุดเด็ก จะเกิดแรงบันดาลใจว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วเท่ห์ และนี่เป็นสิ่งที่เด็กจะต้องได้รับรู้และเดินต่อไปในอนาคตได้”  

 

 

พร้อมกันนี้ดร.โอได้ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ให้ร่วมช่วยกันอีกทาง โดยเปิดโอกาสการเรียนรู้ผ่านการเล่นให้กับเด็ก เพิ่มขึ้น พร้อมช่วยอธิบายสิ่งที่พวกเขาได้สัมผัส

สิ่งสำคัญคือ ความท้าทายในอนาคตมีค่อนข้างเยอะ อยากฝากให้พ่อแม่ผู้ปกครองเปิดโอกาสให้เด็ก ได้ทดลองเล่นโน่น เล่นนี่  เล่นไปเลย ในกระบวนการตรงนี้ อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยลูก ช่วยสรุปนิดนึงว่า สิ่งที่เด็กๆ เล่นนั้น เขาได้อะไร ไม่จำเป็นต้องเป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น  แต่ต้องบอกว่า วิทยาศาสตร์ฟังดูแล้วง่าย เพราะมีกระบวนการที่ชัดเจน เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่แค่ความคิดเห็น ให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยลูก สรุปความคิดให้เขา  สอนเขาไปในตัว  ใช้เวลากับเขาเยอะ หลังจากนั้นเด็ก จะซึมซับจากพ่อแม่และจะทำให้เป็นเยาวชนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง ในที่สุดจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดี ๆในอนาคตได้”  

 

 

จากบทบาทผลักดันสังคมและเยาวชนเข้าถึงวิทยาศาสตร์และภารกิจอื่นๆของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯแล้ว ดร.โอยังต้องมีการปรับตัวและภารกิจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ภายหลังจากรัฐบาลจัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเข้ามาอยู่กลุ่มสายเศรษฐกิจ  แต่ไม่ได้ย่อท้อ ยังคงสนุกกับงานที่ทำไม่เสื่อมคลาย 

 

ต้องวิ่งหาข้อมูลเพิ่มขึ้น เพราะงานข่าวด้านเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน ต้องปรับรูปแบบการทำงานมากขึ้น จากนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น เช่น ประเด็นด้านเศรษฐกิจ เรื่อง ส่งออกเราจะมองแค่งานวิจัยยังไม่พอ ต้องมองให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นตัวเลขออกมาให้เห็น

นอกเหนือจากนี้แล้ว ภารกิจของดร.โอ ยังต้องดูแล หาจุดที่เหมาะสมให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯด้วย   ซึ่งมีทั้งการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการเชื่อมโยงกับกระทรวงต่าง

 

 

เวลายามว่าง ทุ่มเทให้กับครอบครัว

โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า ดร.โอ เป็นด็อกเตอร์หนุ่มที่มีภารกิจรัดตัวจริง แต่แม้จะยุ่งอย่างไร เขาก็ไม่ลืมที่จะใช้เวลาเพื่ออยู่กับครอบครัวสุดที่รักอย่างเต็มที่เมื่อมีโอกาส มาถึงตรงนี้สาวๆ ที่แอบปลื้มดร.หนุ่มคนนี้อยู่อาจต้อง อกหักรักคุด กันไปตามๆ กัน   เพราะคุณด็อกเตอร์หนุ่มวัย 38 ปีท่านนี้ หัวใจไม่ว่าง เสียแล้ว


ขอขอบคุณสถานที่ : เดอะคอฟฟี่ บีน แอนด์ ที ลีฟ  สาขาสุขุมวิท 22


LastUpdate 01/12/2558 16:28:58 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:02 pm