5 ปี AC NEWS กับทางที่เลือกเดินของ อัชณา จิณณวาโส


5 ปี AC NEWS กับทางที่เลือกเดินของ "อัชณา จิณณวาโส" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบรนดาเบิล จำกัด และ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว AC NEWS  

สัมภาษณ์ โดย : สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์ 

ภายใต้โลกแห่งแวดวงสื่อสารมวลชนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วที่ปัจจุบันสื่อออนไลน์ได้ก้าวเข้ามาสู่ปริมณฑลชีวิตของทั้งผู้รับสาร และผู้ผลิตสาร  มันยากนักที่จะกล่าวได้ว่า ใครสักคนจะสามารถรั้งตำแหน่ง “ของจริง” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ การมีขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของคนสื่อสารมวลชนและสื่อต่างๆ กลายเป็นปกติวิสัยที่พบเห็นได้จนกลายเป็นความชาชิน

แต่ถ้า “ความเปลี่ยนแปลง” คือ สัจธรรมที่จริงแท้ของชีวิต ที่ไม่อาจเป็นอื่นได้แล้วนั้น คนที่น้อมรับวิถีโดยที่ยังคงแก่นของจรรยาบรรณวิชาชีพแห่งสื่อสารมวลชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ ก็อาจจะถือได้ว่าเป็น “ของจริง”  ที่ไม่เป็นสองรองใคร เช่นเดียวกับ “พี่อ้อ อัชณา จิณณาวาโส”บรรณาธิการบริหาร และผู้ก่อตั้ง สำนักข่าวออนไลน์ AC News ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในสนามข่าวมากว่าสามสิบปี ที่แม้จะย้ายฐานข่าวจากสื่อสิ่งพืมพ์มาสู่สื่อออนไลน์ แต่ก็ยังมั่นคงในแนวทางอันชัดเจนของสื่อสารมวลชนที่ดีและยืนหยัดมากว่าห้าปีซึ่งน้อยคนนักจะสามารถทำได้ท่ามกลางสายธารแห่งความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและโหมกระหน่ำ

และในวาระที่ "AC News" ได้ข้ามผ่านเวลาห้าปีก้าวเข้าสู่ปีที่หก เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ“พี่ใหญ่”ผู้เป็นแก่นใจของสำนักข่าวออนไลน์ ถึงเรื่องราว มุมมอง ความคิด และทัศนคติ ที่มีต่อโลกสื่อสารมวลชนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และทิศทางที่ "AC News" พร้อมจะเดินหน้าเข้าไปสู่ปีที่หกในครั้งนี้

@การข่าวฝังใจ เพราะมีพ่อเป็น “สายลับ” 

แรกเริ่มเมื่อจับเข่าคุยกัน สิ่งที่ได้ยินเป็นประการต้นของประวัติชีวิตของพี่อ้อนั้น ก็เรียกว่าไม่ธรรมดา แม้โดยผาดเผินแล้วจะเหมือนครอบครัวขนาดกลาง ที่ทางบ้านสืบทอดอาชีพทหาร เป็นข้าราชการที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป พี่อ้อ เป็นลูกคนเล็กของ คุณแม่เสริมศรี กับ คุณพ่อ อำนวย จิณณวาโส "พี่อ้อ" พูดถึงคุณแม่ว่า ท่านเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ยิ้มง่ายใจดี มีชีวิตเรียบง่ายแต่เข้มแข็ง และตัวพี่อ้อเอง จะมีเวลาอยู่กับคุณแม่เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากบ่อยครั้งที่คุณพ่อต้องไปปฏิบัติภารกิจยังต่างประเทศเป็นเวลานานซึ่งด้วยความที่พี่อ้อเองยังเป็นเด็กจึงไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรพ่อจึงไม่เหมือนข้าราชการบ้านอื่นที่ตกเย็นก็กลับบ้าน วันหยุดก็อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาจึงแอบน้อยใจคุณพ่ออยู่บ่อยครั้ง แต่พี่อ้อเองหารู้ไม่ว่าท่านเป็นมากกว่าข้าราชการธรรมดาเพราะท่านคือ “สายลับ ! ”

คุณแม่เสริมศรี-คุณพ่ออำนวย จิณณวาโส ในงานเลี้ยงรับรองคณะทูตานุทูต

 

“เดิมคุณพ่อเป็นทหาร และลาออกมารับราชการอยู่กรมประมวลข่าวกลางแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันคือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติซึ่งสมัยก่อนตอนเป็นเด็ก จะร้องไห้เป็นประจำทุกครั้ง ที่พ่อต้องออกไปราชการที่ลาว เวียงจันทร์ โดยมีฐานอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี  ไม่เข้าใจว่า ทำไมพ่อกลับบ้านมาได้ไม่กี่วัน ก็ต้องไปอีกแล้ว” พี่อ้อกล่าวย้อนความหลัง “พอโตขึ้นมาถึงรู้ว่า พ่อนั้นทำหน้าที่เป็น “สายลับ” ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น เพราะเป็นช่วงที่กำลังแทรกซึมเข้าประเทศไทยมาเป็นอย่างมาก  โดยพ่อเป็น ”C-O” เจ้าหน้าที่ด้านการข่าวสายเสธ อำนวยการคุมข่ายผู้ปฎิบัติงานภาคสนามในลาวต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในหน่วยผสม  บก.333 ที่มีพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์  เป็นหัวหน้าใหญ่ ซึ่งการปฎิบัติการของพ่อและทั้ง บก.333 ซึ่งมีทั้งข้าราชการพลเรือน ทหารตำรวจทุกเหล่าทัพ ถือเป็นปฎิบัติการลับที่สุดที่ทุกคนต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ โดยพ่อใช้ชื่อ “พิมาณ” เพื่อทำหน้าที่ติดตามการเคลื่อนไหวพรรคคอมมิวนิสต์ไทย จีน และเวียดนาม  ที่รุกล้ำเข้ามาในลาว และแฝงตัวแทรกซึมอยู่ในกรุงเทพฯแถวถนนสามเสนและซอยโกบ๊อ

คุณพ่ออำนวย รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ณ วังปารุสกวัน

หากย้อนกลับไปในวิชาประวัติศาสตร์ เราจะทราบกันดีว่า ช่วงทศวรรษที่ 60 นั้น ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ คือสนามรบสงครามเย็นที่ร้อนระอุราวกับไฟ ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของสองค่ายยักษ์ใหญ่ โลกประชาธิปไตย กับระบบคอมมิวนิสต์ กำลังกลั่นตัวถึงขีดสุด ประเทศไทยคือ “โดมิโน่ชิ้นสุดท้าย” ภายใต้ประเทศรอบด้านที่เดินเข้าสู่ระบอบจากค่ายโซเวียตกำแพงเหล็ก (โดยมีจีนเป็นตัวกลางส่งผ่าน) นั่นทำให้การข่าวของหน่วยผสม บก.333  คือความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการรักษาอธิปไตยของประเทศให้คงอยู่เอาไว้

คุณพ่ออำนวย (ซ้าย) กับ หัวหน้าหน่วยข่าวเกาหลีใต้ (คนที่ 2) เมื่อครั้งมาประชุมราชการลับที่ประเทศไทย

“จำได้ว่าตอนนั้น พ่อเคยบอกเอาไว้ว่า ลูกต้องอดทน ลูกต้องอยู่ให้ได้ พ่อทำภารกิจเพื่อชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเราสุขสบาย ไม่มีคอมมิวนิสต์” พี่อ้อกล่าวเสริม เพราะภารกิจของคุณพ่อของพี่อ้อนั้น มีความเสี่ยงอย่างยิ่งยวด จากการที่ต้องแทรกซึมแฝงตัวเข้าไปคลุกคลีกับพวกคอมมิวนิสต์ ทั้งในส่วนของพื้นที่สีแดง และในส่วนของพื้นที่ย่านถนนสามเสนและซอยโกบ๊อ กรุงเทพมหานคร

“จำได้ว่า ทุกครั้งที่พ่อรับเงินเดือน  พ่อจะยกมือขึ้นไหว้ และหันไปทางวังสวนจิตรลดาทุกครั้ง พอถามว่าทำไม พ่อบอกเพียงว่า พ่อรักในหลวง…พ่อรักประเทศไทย และเงินเดือนที่ได้ ที่เรามีกินมีใช้ทุกวันนี้ ก็เป็นเงินของหลวง เงินของแผ่นดิน ฉะนั้นจึงมีบุญคุณกับเรามาก…จำไว้น่ะลูก”
 
 
คุณพ่ออำนวย ตอนสืบราชการลับ 
ความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และการคิดถึงส่วนรวมของประเทศชาติเป็นหลักใหญ่ คือหัวใจสำคัญที่ฝังอยู่ในความทรงจำของพี่อ้อ แม้ในเวลานั้น จะยังไม่อาจรู้ ว่าชีวิตของตนเองจะเดินหน้าไปทางไหน ซึ่งโดยไม่รู้ตัว โลกแห่ง “สายลับการข่าว”  ของคุณพ่อ ก็ได้วิวัฒน์มาสู่สิ่งที่จะเป็นตัวตนของพี่อ้อในเวลาอีกหลายปีให้หลัง ในฐานะสื่อสารมวลชน
  

@เดินสายชีวิต เกาะติด “งานข่าว” 

หลายครั้งในปัจจุบัน เรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆ ว่า การเป็นนักข่าว ผู้สื่อข่าว และผู้ทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์นั้น คือสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ จากคุณูปการของเหล่านักคิด และนักเขียนที่สร้างปรากฎการณ์ และผลักดันความคิดของผู้อ่านไปสู่มุมมองที่หลากหลาย น่าสนใจ แต่สำหรับพี่อ้อนั้น การเดินเข้าสู่โลกแห่งการข่าว อาจจะเรียกว่าเป็นความบังเอิญแห่งจังหวะและโอกาสก็ว่าได้
 
“เริ่มทำงานการข่าวสมัยไทยรัฐ ช่วงหนึ่งปีหลังเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. 2530 อยู่ไทยรัฐมาสี่ปี สังกัดกองบรรณาธิการ ในส่วนศูนย์ข้อมูล ก็จะมีหน้าที่สรุปข่าว คือในสมัยก่อนที่คอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลาย ทางกองฯ ก็จะมีแฟ้มที่เก็บรวบรวมข่าวหมวดต่างๆ ซึ่งเราจะมีหน้าที่เรียบเรียงกับสรุปใจความข่าวด้านอาชญากรรมและเศรษฐกิจ เพื่อให้นักข่าวใช้ประกอบในการเขียนล่าสุด ให้เนื้อข่าวมีความต่อเนื่อง แต่เราไม่ได้เป็นนักข่าวโดยตรง ในตอนแรกเราเองก็ไม่ได้คิดว่าจะมาทำงานเป็นนักข่าว หรือถ้าให้พูดตรงๆ ตอนแรกๆ เรายังงงๆ อยู่เลยว่าเรียนจบมาแล้วจะทำงานอะไร (หัวเราะ)” พี่อ้อกล่าวย้อนความในช่วงเวลาเริ่มต้น 
แม้ไม่อาจเรียกตัวเองได้ว่า “นักข่าว”  อย่างเต็มปากในเวลานั้น แต่การที่ต้องอยู่กับข่าว การเรียบเรียง การอ่านอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ก็ทำให้หัวใจที่ปรารถนาจะถ่ายทอดเรื่องราวและประเด็นที่สำคัญสำหรับผู้อ่าน เริ่มก่อตัวขึ้น
“พอเราได้ทำงานที่ไทยรัฐได้สี่ปี บวกกับต้องอ่านหนังสือพิมพ์มาเยอะ เราก็เริ่มคิดว่า ทำไมเราต้องมาเขียนสรุปข่าวให้คนอื่น ทำไมเราไม่มาเขียนหรือทำข่าวด้วยตัวเอง”
 
เมื่อหัวใจเรียกร้องในจังหวะที่เหมาะสม โอกาสก็คือสิ่งที่สนองต่อความปรารถนาดังกล่าว ซึ่งในเวลานั้น เป็นช่วงที่หนังสือพิมพ์อย่าง ประชาชาติธุรกิจ เครือมติชน ที่รั้งตำแหน่งลำดับต้นแห่งข่าวสายเจาะลึกด้านเศรษฐกิจ กำลังเปิดรับสมัครนักข่าวเพื่อเติมเต็มให้กองบรรณาธิการสามารถทำงานได้อย่างเต็มฟังก์ชัน และพี่อ้อเองก็ไม่พลาด ที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้
 
“บังเอิญหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เครือมติชน รับสมัครผู้สื่อข่าว เราก็เลยลองสมัครไปแม้ว่าเกณฑ์อายุเราจะเกินกว่าที่กำหนด แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าเราจะต้องมาทำหน้าที่อะไร ก็บอกทางนั้นไปว่า เราอายุเกินแต่มีประสบการณ์ทำที่ไทยรัฐ ทางนั้นก็จะอึ้งนิดๆ ว่าอยู่ไทยรัฐ ทำไมตัดสินใจมาประชาชาติที่ไม่ได้ใหญ่เท่า ก็บอกไปว่าเราไม่ได้เป็นนักข่าว แต่อยู่ในฝั่งที่สรุปข่าว ก็คิดว่าเราน่าจะเป็นนักข่าวเองได้ ก็เลยอยากจะพิสูจน์ตัวเอง
 
 
แน่นอนว่าในสมัยก่อน การจะสอบบรรจุเป็นนักข่าวในหนังสือพิมพ์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝ่าฟันด่านโหดหินเทียบได้กับการสอบเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นจังหวะที่พี่อ้อ ได้แสดงศักยภาพที่สั่งสมมาอย่างยาวนานให้เป็นที่ประจักษ์
“ตอนที่ต้องสอบข้อเขียนข่าวเพื่อสมัครเข้าประชาชาติธุรกิจ เราได้ข้อสอบที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน และการตลาด ซึ่งโดยทั่วไป คนส่วนมากจะเลือกเขียนเกี่ยวกับการตลาดเพราะค่อนข้างง่ายกว่า แต่เราเคยอ่านประชาชาติธุรกิจมาก่อน มีพื้นเพเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยมาบ้าง เราก็เลือกเขียนเรื่องนั้น ซึ่งถือได้ว่าแปลกเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนเลือกที่จะเขียนกัน จนได้มาสัมภาษณ์กับ บก. ทั้ง พี่เป๋า ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ และพี่ตุ้ม สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่ม เมืองจันท์) เราก็ได้รับคัดเลือกหนึ่งในสิบคน จากคนมาสมัครกว่าร้อยคน บวกกับเราที่อายุเยอะที่สุดในบรรดาคนที่เข้ามาด้วยกัน รวมถึงมาจากไทยรัฐอีกต่างหาก คนในกองก็จะเรียกเราด้วยชื่อขำๆ ว่า ‘อ้อ เฮฟวี่เวธ’ (หัวเราะ)”
 
 
และแม้จะถูกถามไถ่ว่า เหตุใด จึงเลือกที่จะมาอยู่ประชาชาติธุรกิจ แทนที่จะรั้งตำแหน่งในไทยรัฐ ที่ใหญ่กว่า มั่นคงกว่า พี่อ้อก็ได้ให้เหตุผลที่สำคัญย้ำอีกครั้งว่า “การเปิดโลกและโอกาส ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับขนาดของสถานที่ ขอเพียงมีเวทีให้ได้แสดงฝีมือ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ นั่นก็นับว่าพอเพียง”
เพราะ “ของจริง”  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็คือ “ของจริง”  ไม่ต้องพะยี่ห้อ เพื่อรอทะยานในเส้นทางใดๆ
 

@สู่โลกแห่งการข่าว และสนามที่ไม่คุ้นเคย

การเปลี่ยนแปลง คือ สัจธรรมแห่งโลก เมื่อตัดสินใจย่างก้าวเข้าสู่สนามใหม่ นอกเหนือจากโอกาสที่รอคอยเป็นรางวัลอยู่ในปลายทางแล้วนั้น อุปสรรคและการปรับตัว ก็คือ ราคาที่ต้องเดินไปเพื่อให้ได้ในเป้าหมายดังที่กล่าวมา ซึ่งพี่อ้อเองก็ต้องเผชิญหน้ากับความไม่คุ้นชินดังกล่าว พ่วงด้วยความคาดหวังในฐานะ ‘อ้อ เฮฟวี่เวท’ รุ่นใหญ่จากไทยรัฐในมุมมองของใครต่อใครหลายคน
 
 
“ภายหลังที่เราได้เข้าไปทำงานในประชาชาติธุรกิจ ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สื่อข่าวในทันที อาจจะเพราะเราเป็นอ้อรุ่นเฮฟวี่ เคยผ่านงานมามากกว่าคนอื่นที่เข้ามาพร้อมกัน ก็คิดว่าน่าจะมีประสบการณ์ เลยจะให้เราไปรับหน้าที่ในส่วนของข่าวสดที่พึ่งเปิดตัว เราก็โวยไปเล็กๆ แบบนี้ไม่เหมือนที่ตกลงกันไว้  เรามาสมัครเพราะจะอยู่ประชาชาติธุรกิจ ไม่ใช่อยู่ข่าวสดนะ ถ้าต้องโดนโยกจริงๆ เราก็พร้อมกลับไปที่ไทยรัฐได้ทุกเมื่อ เพราะเรายังไม่ได้ลาออก และยังไม่ได้บอกใคร แต่เราเลือกที่จะมาประชาชาติ เพราะต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งด้านข่าวเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น  สุดท้ายเราก็ได้มาประจำอยู่ในส่วนของการท่องเที่ยว ทำข่าวเกี่ยวกับการเปิดตัวธุรกิจโรงแรมใหม่ๆ ข่าวเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว”
 
นั่นคือจังหวะเวลาที่ “ความอดทน” จะได้รับการพิสูจน์ ว่าคนผู้นั้นจะสามารถก้าวผ่านเพื่อรับการทดสอบที่แท้จริงของสายงานและชีวิตหรือไม่ บางครั้งใช้เวลานานนับเดือน และหลายครั้ง ใช้เวลานานนับปี แต่จะช้าหรือเร็ว เวลาแห่งความท้าทายที่แท้จริงย่อมมาถึง
“ทำในส่วนของท่องเที่ยวมาได้พักหนึ่ง ทางกองก็มีให้ย้ายไปอยู่ในส่วนของการเขียนสกู๊ปหน้าหนึ่ง ก็มีทีมที่ทำงานด้วยกัน ซึ่งจะดึงคนจากสายต่างๆ มาอยู่รวมกัน เราอยู่ได้ประมาณปีกว่าๆ พี่หนุ่ม เมืองจันท์ ก็มาขอตัวให้เราไปอยู่หน้าการเมือง เราก็เหวอสิ นี่ก็ทำมาหมดแล้ว ทั้งสายท่องเที่ยว สายเศรษฐกิจ คราวนี้มาการเมืองเลย (หัวเราะ)” พี่อ้อกล่าวถึงช่วงเวลาแห่งความน่าตกตะลึง “แล้วส่งเราไปประจำทำเนียบรัฐบาล แต่พี่เขาก็อธิบายว่า เป็นการเมืองสายเศรษฐกิจ เราก็ใจชื้นขึ้นมา และตัดสินใจรับตำแหน่งที่ว่าและไปประจำอยู่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และทันกับช่วงของเจ๊ยุ (ยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาลผู้ล่วงลับ) ก่อนที่กลุ่ม รสช. จะเข้ามา ทีนี้ก็ถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อหัวหน้าข่าวการเงิน "ประชาชิติธุรกิจ" ในขณะนั้นได้ชักชวนให้ไปอยู่สายการเงิน อันนี้ล่ะของยาก เพราะสายนี้ เป็นสายแข็ง ไม่จำเป็นไม่มีใครอยากโดนส่งไปอยู่ถ้าไม่ได้มาสายตรง เราก็ถามก่อนเลย ว่าคิดดีแล้วเหรอ เราเรียนเศรษฐศาสตร์ก็จริง แต่แค่สามเล่ม เราไม่ได้รู้ลึกอะไรขนาดนั้น แต่ทางนั้นก็ยังยืนยันแบบเดิม เราก็เลยตามเลย ไปประจำอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทยซะอย่างนั้น”
 
สายการเงิน…ถ้าจัดความยากของสายการข่าวออกเป็นสิบระดับ สายการเงินก็สามารถไต่ขึ้นมาในระดับที่แปดหรือเก้าได้อย่างสบายๆ ด้วยความซับซ้อนทางเทคนิค ความผันผวนของกระแสเศรษฐกิจ และความยากในการได้มาซึ่งเนื้อหา โดยเฉพาะกับประชาชาติธุรกิจ ที่ต้องเจาะให้ลึก ลงให้สุด ในขณะที่สภาพแวดล้อมอันเป็นที่ตั้งของข่าวนั้นพร้อมจะปะหน้า “ปกปิด” เอาไว้อยู่ตลอดเวลา
 
“ถามว่าความรู้สึกแรกที่ได้ทราบว่าเราต้องไปประจำธนาคารแห่งประเทศไทยและทำข่าวสายการเงินนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่าค่อนข้างกังวลอยู่ไม่น้อย อาจจะเพราะแหล่งข่าวส่วนมากเกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งจะไม่ค่อยมีใครยอมให้ข่าวกันเท่าใดนัก มีเรื่องลึกลับซับซ้อนซะเยอะ บางทีคดีความเกี่ยวกับการเงินก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ ทำให้การทำข่าวยากขึ้นเป็นเงาตามตัว เรียกว่าแดนสนธยาก็คงไม่ผิด อีกทั้งไม่มีใครมาสอนงานเราเพราะถือว่าเราเป็นรุ่นใหญ่ไปแล้ว เราอยู่มาหนึ่งอาทิตย์ก็อาศัยการหาแหล่งข่าวของตนเอง ให้แหล่งข่าวช่วยสอน ทำแบบนี้ไปเรื่อยจนในที่สุดเราก็มีแหล่งข่าวมากพอที่จะทำงานได้สะดวกในระดับหนึ่ง” พี่อ้อกล่าวเสริม
อุปสรรคคือแรงเสียดทานในการก้าวไปข้างหน้าของชีวิต และนี่คือโจทย์ใหญ่ในฐานะ “นักข่าว”  ที่แท้จริง ที่จะพิสูจน์ว่า พี่อ้อนั้น เป็น “อ้อ เฮฟวี่เวท”  ของพี่ๆ เพื่อนๆ สายข่าว ที่จะนำไปสู่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ และกำหนดตัวตนในเวลาถัดไป
 
 
 @กัดติดไม่ยอมปล่อย เพื่อรอคอยข่าวที่แม่นยำ
เมื่ออุปสรรคเดินหน้ามาทักทาย โดยมีเป้าหมายตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลัง สิ่งที่จะแยกความต่างระหว่าง “ของจริง” กับ “ของตลาด”  คือความพยายามที่จะไปให้ถึง ความ “เอาเป็นเอาตาย”  ที่จะฝ่าฟันกำแพงสูงขึ้นไป  โดยเชื่อมั่นปักใจ ว่าผลลัพธ์นั้น คุ้มค่า สมกับการลงแรงและความพยายามที่ได้กระทำมา ซึ่งสำหรับพี่อ้อ ผู้โดนโยกมาเป็นนักข่าวสายการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น คือวาระสำคัญที่จะพิสูจน์ตัวเอง ว่าการมาถึงตรงนี้ … ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ โดยเฉพาะกับโลกแห่งการข่าวสมัยก่อน ที่ความสะดวกสบายแห่งการสื่อสารนั้น ยังเรียกได้ว่าห่างไกลจากปัจจุบันอยู่หลายช่วงตัว
“งานข่าวต้องมีความไวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และการเงิน นั่นเพราะหลายครั้ง แหล่งข่าวจะมีเวลาที่จำกัดมากๆ ชนิดที่ว่า แค่ช่วงเดินออกมาจากทำเนียบหรือธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วขึ้นรถออกไปเลย” พี่อ้อกล่าวถึงสภาพการทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว “เราก็ต้องเตรียมตัวเตรียมคำถามที่เป็นประเด็นสำคัญจริงๆ เอาไว้ล่วงหน้า แล้วพอแหล่งข่าวออกมา เราก็ต้องเดินตามและถามให้จบภายในระยะเวลาแค่นั้นให้เสร็จ บางทีก็มีถามไม่ครบหรือถามไม่หมดบ้าง เราถึงขั้นชะโงกหน้าเข้าไปถามต่อก็มี ชนิดที่บางรอบ รถวิ่งไปช้าๆ เรายังเกาะขอบหน้าต่างถามอยู่เลย (หัวเราะ) แถมจะส่งงานแต่ละที ก็ต้องกลับไปที่ห้องนักข่าวหรือรังนกกระจอก ใช้เหรียญบาทหยอดโทร ส่งแฟกซ์อะไรแบบนั้น วุ่นวายกันอยู่ไม่น้อย”
 
และถ้าขั้นตอนการได้มาซึ่งข่าวยังไม่ถือว่ายุ่งยากพอ เงื่อนไขที่พี่อ้อต้องพบเจอในนโยบายของประชาชาติธุรกิจ ที่ต้องเจาะลึก ลงให้สุด และไปให้ถึงแก่นการนำเสนอกับประเด็นที่น่าสนใจ ที่เป็นจุดขายของหนังสือพิมพ์ ก็เป็นอีกโจทย์ที่ต้องฝ่าฟันออกไป ซึ่งการลงสนามจริง ลองจริง เจ็บจริง และตั้งใจจริง ทำให้พี่อ้อได้ค้นพบแนวทางและวิธีการในการได้มาซึ่งข่าวของตนเอง
“หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ต้องมีการสืบข่าว ต้องมีประเด็นในการนำเสนอ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นและข้อแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ นั่นทำให้เราต้องทำการบ้าน เตรียมประเด็นกันอยู่เยอะ อย่างเช่นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเงิน ฝ่ายตรวจสอบสถาบันทางการเงิน การกำกับดูแล” พี่อ้อกล่าวถึงเงื่อนไขที่ได้พบเจอ “ซึ่งทุกเจ็ดโมงเช้าของแต่ละวัน เราก็จะโทรไปหาแหล่งข่าวเพื่อสอบถามในประเด็นเหล่านี้อยู่ประจำ จากนั้นพอเดินทางไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะเริ่มพิมพ์เนื้อหาข่าวทันที พอสักเที่ยงๆ เราก็ต้องเอาประเด็นที่เตรียมไว้ไปถามแหล่งข่าวที่ตรงกับเนื้อหาที่เราเตรียมมา จะไม่ใช่การกรูกันเข้าไปถามๆ แล้วก็จบ แต่ต้องเจาะลงให้ถึงประเด็น เรียกว่าตั้งแต่หน้าธนาคารจนถึงร้านอาหาร ถ้าประเด็นยังไม่หมดก็จะรอ แล้วก็ถามต่อ บางทีก็ไปนั่งทานข้าวด้วยกันเลยก็มี”
 
 
รียกว่ากัดไม่ปล่อยไม่ยอมถอยจนกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจซึ่งด้วยขั้นตอนดังกล่าวก็เปรียบได้กับการเตรียมพร้อมสำหรับงานชิ้นใหญ่ที่สุดอีกชิ้นหนึ่งในชีวิตที่พี่อ้อได้ลงสนามทำจริงเช่นกรณีการทุจริตธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือคดี BBC กับนายราเกซ สักเสนา...
“ช่วงคดีทุจริตธนาคารกรุงเทพ พาณิชยการ (BBC) กับนายราเกซ สักเสนา ซึ่งเราก็กระโดดลงไปเล่นกับเรื่องนี้เต็มตัว และเน้นหนักเป็นพิเศษ เพราะที่กองบรรณาธิการมีเป้าหมายว่าจะส่งข่าวนี้เข้าชิงรางวัลพูลิตเซอร์ ซึ่งวิธีการที่ใช้ในตอนนั้นก็คือ การเตรียมข้อมูลเตรียมตัวเพื่อให้รู้ว่าจะต้องเจาะลงไปที่ประเด็นไหน แล้วตามหาแหล่งข่าวที่เป็นระดับรอง เป็นระดับปฏิบัติการ เพื่อให้ได้การยืนยันและการต่อยอดเนื้อหา เพื่อที่จะได้ถามผู้บริหารระดับสูงในทันทีด้วยเวลาที่สั้นที่สุด เรียกว่าเป็นคำถามประเภทแค่ใช่หรือไม่ใช่เท่านั้น แต่ต้องแม่นยำ ชัดเจน สุดท้ายเราได้ข่าวเพื่อส่งชิงรางวัลพูลิตเซอร์ น่าเสียดายที่ปีนั้น พี่ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ จากมติชน ก็ส่งเรื่องเดียวกัน และได้รางวัลไป แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ เนื่องด้วยประชาชาติธุรกิจเป็นข่าวรายสามวัน เราได้ข่าวมาวันนี้ ก็ต้องกลั่นต้องเขียน เทียบกับหนังสือพิมพ์ข่าวรายวันแล้ว เรื่องความสดก็ย่อมเทียบได้ยากเป็นธรรมดา”
 
 
ความมุ่งมั่นจนแทบจะทุ่มลงไปทั้งจิตวิญญาณเหล่านี้ ถ้าถามว่าเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด สำหรับพี่อ้อแล้ว มันเป็นเหตุผลที่แสนจะเรียบง่าย ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน นอกจากต้องการนำเสนอ “ความจริง”  มาสู่ผู้อ่านเป็นสำคัญ และเชื่อมั่นว่า ช้าหรือเร็ว สิ่งนั้นจะได้รับการพิสูจน์ 
 
“ถามว่าเรามุ่งมั่นกับข่าวคดี BBC ครั้งนั้นมากแค่ไหน เอาง่ายๆ ว่า เรารู้ชัดเจนแล้วว่ามันมีการทุจริต และคิดตั้งมั่นไว้ ว่าต้องทำทุกทางด้วยการข่าว เพื่อเอานายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการ เข้าคุกให้ได้ ทั้งนี้ ที่อยากจะบอกคือ การจะทำอะไรสักอย่าง ไม่เฉพาะแต่การข่าว ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ชนิดที่คนอื่นกลับบ้าน เราก็ยังต้องรอแหล่งข่าวไม่กลับไปไหน จนมาถึงเรื่องค่าเงินบาทก่อนการลอยตัวภายใต้การจัดการที่เรามองแล้วว่า ท้ายที่สุด ค่าเงินบาทจะถูกพยุงต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ต้องมีการปล่อยให้ลอยตัว แต่บอกไปก็ไม่มีใครเชื่อ แต่เรารู้ เรามั่นใจ เราก็ทำข่าวของเราไปโดยตั้งมั่นว่า สักวัน ข่าวของเราจะสะท้อนความจริงนั้นออกมา พอมีข่าวปรับสูตรตะกร้าเงิน นั่นก็พิสูจน์ว่าเราคิดและมองมาถูกทาง”
 
@ถึงจุดอิ่มตัว
เช่นเดียวกับจอมยุทธ์ในนวนิยาย การตระเวนในยุทธจักร ฝ่าฟันร้อนหนาวมาอย่างโชกโชน พบเห็นสัจธรรมและความเป็นจริง และขึ้นเป็นคนหนึ่งในแถวหน้าของแวดวง ย่อมสร้างความเหนื่อยล้า และคำถามถึงทิศทางถัดไปในชีวิตที่จะเลือกใช้หรือเลือกเดิน และสำหรับพี่อ้อ แม้จะรักงานข่าวเพียงใด ก็ย่อมมีวันที่ล้า และตัดสินใจที่จะถ่ายถอนตัวเองไปสู่เป้าหมายใหม่ไม่ต่างกันแม้มันจะเป็นไปด้วยความยากลำบากก็ตาม…
 
“ทำงานด้านการข่าวจนขึ้นเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวรวมเวลาแล้วก็หลายสิบปีแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะเกษียณก่อนกำหนดในช่วงปี 2540 ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากทำธุรกิจของตนเอง เพราะเราเองก็ทำข่าวมานาน และถ้าเราเป็นนักธุรกิจหญิงก็น่าจะดูเท่ดีนะ ซึ่งตอนที่ออกมา คุณพ่อก็ดุใหญ่ ว่าเราเป็นคนที่คิดสวนทางกับคนอื่นๆ ตลอด (หัวเราะ) ส่วนอีกเหตุผลคือ คุณแม่ป่วยเป็นเจ้าหญิงนิทรามาสิบกว่าปี อยากมีเวลาไปดูแลคุณแม่ เป็นอีกเหตุผลที่ช่วยประกอบการตัดสินใจของเรา” พี่อ้ออธิบาย “พอเราตัดสินใจไปแล้ว ทางผู้บริหารก็เรียกขึ้นไปคุย ว่าไม่อยากให้ออก แต่เราก็ยืนยันชัดเจนในแนวทางตนเอง อีกทั้งเราเองก็มีประสบการณ์การเปิดร้านมินิมาร์ทเป็นอาชีพเสริมด้วยในช่วงที่ทำงานอยู่ที่ประชาชาติธุรกิจ คือเสร็จงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็วิ่งไปเติมของและเฝ้าร้านที่เปิดแบบแอบๆ ไว้ ไม่บอกที่บ้าน ซึ่งเรามองว่า แม้มันจะไม่ได้กำไรอะไรมากมาย แต่มันก็เป็นการเริ่มต้นในการทำธุรกิจ ให้เราได้เรียนรู้ ศึกษา เพื่อที่จะต่อยอดไปสู่ระดับที่สูงขึ้นต่อไป”
 
 
เป็นอีกครั้งสำหรับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพี่อ้อ กับเส้นทางใหม่ที่ไม่สู้จะคุ้นเคย แต่กระนั้น ของจริง ตัวจริง ย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนในแวดวง ที่พร้อมจะอ้าแขนรับ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม
 
“ทำธุรกิจอยู่ได้ไม่นาน ทางไทยโพสต์ก็ติดต่อมา ว่าขาดคน ขอให้ไปช่วยงานให้หน่อยได้มั้ย ทีนี้ มี ป๋าโรจน์ งามแม้น หรือเปลว สีเงิน เป็นเจ้าของ ซึ่งก็มาจากไทยรัฐด้วยกัน และมีพี่ๆ อีกหลายคนที่มาจากไทยรัฐ ก็เลยคิดว่าคนเก่าแก่คุ้นเคยกันอยู่ที่นั่น  ไปช่วยสักหกเดือนแล้วค่อยออกมาก็ได้ แต่ทำไปทำมาก็เข้าปีที่สี่ ก็ถูกเลื่อนขึ้นไปเป็นหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง และถูกหมายมั่นให้เป็นบรรณาธิการข่าวหน้าหนึ่ง แต่เรื่องมันมาประจวบเหมาะตรงที่ ทางประชาชาติธุรกิจ หัวหน้าเก่าได้เลื่อนขึ้นเป็นบรรณาธิการข่าว ทำให้ขาดหัวหน้าข่าวสายการเงิน ก็เลยเรียกเรากลับไป เราก็แบบว่า “เฮ้ย!  ไม่ดีมั่ง เราเกษียณตัวเองรับเงินมาตั้งเยอะ กลับไปมันน่าเกลียด แต่ทางนั้นก็ยืนยันว่าจะให้กลับมา เราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องไปบอกทางไทยโพสต์ว่า ขอกลับไปประชาชาติธุรกิจ เพราะทางนั้นขาดคน ต้องการคนไปช่วยงาน มันก็เลยอีนุงตุงนังกันแบบนี้ สุดท้ายเราก็กลับไปประชาชาติธุรกิจ รั้งตำแหน่งหัวหน้าโต๊ะข่าวสายการเงิน จนพวกเพื่อนๆ ในแวดวงนักข่าวพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เรานี่สองเด้งสามเด้งนะ คือออกไปแล้วแถมได้เงินและยังได้กลับเข้ามาเป็นหัวหน้าข่าวอีก” พี่อ้อกล่าวติดตลกให้กับความหลังอันวุ่นวายในช่วงเวลาดังกล่าว
แต่จังหวะใดควรไปต่อ หรือจังหวะใดควรหยุด การตัดสินใจย่อมเป็นของคนๆ นั้น แม้จะมีแรงผลักดันจากรอบข้าง ซึ่งพี่อ้อเอง ก็มาถึงจุดที่ชัดเจนกับตัวเองแล้วว่า นี่คือ…ปลายทาง
“กลับมาเป็นหัวหน้าข่าวสายการเงินที่ประชาชาติธุรกิจ งานกับความรับผิดชอบก็หนักขึ้นมาเป็นเท่าตัวเช่นกัน เพราะต้องปิดหน้าทั้งหน้าการเงิน และปิดข่าวหน้าหนึ่งอีกวันละหลายข่าว  พอทำไปได้สักพัก เราก็เริ่มอิ่มตัว มันมาถึงจุดที่เรารู้สึกว่ามันมาถึงปลายทางแล้ว”
การแขวนกระบี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ในโลกยุทธจักรฉันใดการที่นักข่าวที่คร่ำหวอดมาอย่างยาวนานจะวางปากกาไปทำสิ่งใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกฉันนั้น
แต่โลกมักจะหมุนเราให้กลับไปสู่สิ่งที่เหมาะสมไม่ว่าจะช้าหรือเร็วโดยพิจารณาจากแก่นหลักชีวิตและตัวตนเป็นสำคัญ แม้เราไม่อาจจะรู้ตัวก็ตาม….
 
  @กลับสู่ความฝันสายข่าว กับ AC News
ได้เคยมีคนกล่าวเอาไว้ว่า ความฝันคือสิ่งที่ตายตัว มันเติบโต ต่อยอด วิวัฒน์ตามระยะเวลากับประสบการณ์ที่สั่งสม และสำหรับพี่อ้อ ที่เคยใฝ่ฝันว่าจะเป็นนักธุรกิจหญิง อยากเปิดธุรกิจเป็นของตนเอง ก็ยังคงแนวทางดังกล่าว แต่เพิ่มเติมสิ่งใหม่ที่ว่า ธุรกิจนั้นคือ … “ธุรกิจสื่อ”
“จากจุดที่เราอิ่มตัว ก็ทำให้เรามีความฝันและเป้าหมายใหม่ คือการที่เราจะต้องเป็นเจ้าของสื่อเองให้ได้สักวัน รวมถึงการที่เรากลับไปที่ประชาชาติอีกเป็นเวลาประมาณ 7 ปี ประกอบกับความเหนื่อยล้าที่สะสมมาในรอบหลายปี คือเรามองตัวอย่างจากไทยรัฐ ที่เจ้าของเองก็ไม่ได้เรียนจบสูง แต่สามารถเป็นเจ้าของสื่อใหญ่ขนาดนี้ได้ เราเองก็น่าจะทำได้ อีกทั้งหุ้นส่วนในปัจจุบันคือ "คุณปุ๋ย" ดิศราพร อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่เปิดบริษัทประชาสัมพันธ์ของตนเองอยู่แล้ว ก็พูดคุยกันจึงเห็นว่า เรายังมี connection ในแวดวงข่าวอยู่ จะปล่อยทิ้งไปก็น่าเสียดาย ลองเปิดเพจ Facebook ดูก่อนมั้ย”
ในช่วงเวลาดังกล่าว สื่อสมัยใหม่อย่าง Social Media นั้น ยังไม่ได้เป็นดั่งลมหายใจของสังคมและสื่อสารมวลชนมากนัก ยังเป็นเพียงสมุดบันทึกเล็กๆ ที่เกิดจากมันสมองของชายสติเฟื่องที่กลายเป็นมหาเศรษฐีอย่าง Mark Zuckerberg แต่พี่อ้อก็เห็นว่า นี่เป็นแนวทางที่น่าสนใจ ภายใต้โมงยามที่ยังคงว่างเว้นและค้นหาว่าจะไปในเส้นทางใดต่อ
 
 

“ในส่วนของ AC News นั้น เราทำในหน้า Facebook ก่อนเพจประมาณหนึ่งปี คือมีข่าวอะไรที่ PR ส่งเข้ามา ก็อัพเดทขึ้นไป มีเนื้อหาอะไรน่าสนใจก็ใส่เข้าไป เรียกว่าเป็นช่วงใหม่ๆ ของยุค Facebook เลยก็ว่าได้ ลงไปประมาณหนึ่งปี เพื่อนก็เริ่มถามว่าทำแล้วได้อะไร เราก็ตอบไปว่าว่าเราสร้างแบรนด์ไง คือคนที่เข้ามาอ่านข่าวเราค่าใช้จ่ายก็ไม่ต้องเเสีย มีข่าวดีๆทันเหตุการณ์มาเสนอให้คุณตั้งแต่เช้าจนดีก เขาก็ชอบ พอนานวันไปคนก็เริ่มจดจำ AC NEWS ได้  พี่อ้อกล่าวถึงมุมมองในช่วงเวลานั้น “ทีนี้ พอมีกลุ่มคนดูเริ่มเข้ามา สปอนเซอร์ก็เล็งเห็นว่าเราเอาจริง ทีนี้ "คุณปุ๋ย" ก็บอกกับเราว่า ความฝันที่อยากจะทำหนังสือ ลองบิดมันอีกนิด มาทำเป็นเว็บไซต์ดีกว่ามั้ย รวมถึงการที่เราอยู่กับสื่อสิ่งพิมพ์มานาน ก็ได้ยินมาตลอดว่าต้นทุนค่ากระดาษแพงขึ้น คนอ่านน้อยลงเราก็เห็นว่า คนอ่านจะย้ายมาที่แพลทฟอร์มดิจิตอลมากขึ้น จำนวนคนใน Facebook ของ AC News คือหลักฐานที่ชัดเจน ก็ตัดสินใจว่า ทำเว็บไซต์กันดีกว่า” จึงร่วมทุนกันเปิด บริษัท แบรนดาเบิล จำกัด และเป็นเจ้าของ สำนักข่าว AC NEWS โดย พี่อ้อ เป็นกรรมการผู้จัดการ และ  บรรณาธิการบริหาร ส่วน คุณปุ๋ย เป็นกรรมการบริหาร และ ดูแล ทีวีออนไลน์ 

 
อีกครั้งที่ธรรมชาติที่ยืดหยุ่นสำหรับการปรับตัวของพี่อ้อเริ่มทำหน้าที่ผลักดันชีวิตให้เคลื่อนไปในทางบวก การคิดในฐานของความเป็นเจ้าของ และใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์ ช่วยก่อร่างสร้างความเป็น AC News ให้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งพี่อ้อก็มองว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ มันเป็นเพียงแค่การย้ายแหล่งที่ตั้งของข่าว แต่หาได้กระเทือนถึงแก่นหลักของสื่อสารมวลชนใดไม่
 
“การปรับตัวจากสื่อเก่าไปสื่อใหม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้ยากอะไร เพราะเราเองก็ทำมันอยู่ทุกวันๆ รวมถึงมีคนที่คอยชี้แนะด้วย แต่ทีนี้  mindset ของคนอ่านออนไลน์ แตกต่างจากสื่อเก่าพอสมควร คนอ่านออนไลน์เพราะ “อยากรู้” ว่าเกิดอะไรขึ้น มีเรื่องอะไรในขณะนี้ แต่ไม่ได้มีเวลามากพอที่จะอ่านในเนื้อหาได้ทั้งหมด จึงต้องการอะไรที่บรีฟภายใต้เวลาอันจำกัด นั่นเป็นสิ่งที่สื่อออนไลน์สามารถให้ได้ แต่กระนั้น หน้าที่ของ AC News ที่ตั้งใจไว้ คือสร้างเนื้อหาเพื่อตอบสนองกับกลุ่มคนที่มีความต้องการที่หลากหลาย แต่ไม่ขาดซึ่งคุณภาพ อันเป็นจุดสำคัญสำหรับบทความและการข่าว”
 
@ยืนหยัดอย่างท้าทาย และก้าวต่อไปในปีที่หกของ AC News
มาในวันนี้ ห้าปีที่ AC News ยืนหยัดและนำเสนอเนื้อหาที่คมเข้ม บทความที่น่าสนใจ และประเด็นทางการเงิน เศรษฐกิจ และการเมืองที่ขยายขอบเขตออกไป กลายเป็นอีกชื่อหนึ่งในแวดวงที่ใครๆ ก็ต่างคุ้นเคย
แต่กับโลกแห่งสื่อสารมวลชนดิจิตอล ที่กลายเป็นลมหายใจในทุกปริมณฑลในโมงยามนี้ ปีที่หกของ AC News จะก้าวไปในทิศทางใด…
“ในปัจจุบัน เอเจนซีโฆษณาจะให้ความสำคัญกับการข่าวและสื่อแบบออนไลน์มากขึ้น เวลาไปงานแถลงข่าวอื่นๆ ก็จะมีนักข่าวสายออนไลน์ให้เห็นอยู่บ่อยๆ รวมถึงมีการมอนิเตอร์ตรวจสอบการเข้าถึงของผู้ชมกับเนื้อหาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการที่สื่อออนไลน์นั้นมันง่ายในแง่กระบวนการ ใครๆ ก็สามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้ ทำให้มีคนที่กระโดดลงมาเล่นในสนามนี้ค่อนข้างมาก แต่คำถามที่สำคัญกว่าจริงๆ คือ ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดได้ต่างหาก ซึ่งนั่นถือได้ว่ายากกว่ากันมาก”
 
 
ความอยู่รอด…อีกหนึ่งสัญชาตญาณพื้นฐานของการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกับแวดวงสื่อสารมวลชน ที่เราเห็นความพยายามในการปรับตัว และการแตกดับของสื่อเก่าที่จำต้องร้างลาจากหน้าแผง แต่สำหรับพี่อ้อและ AC News นั้น กลับมองว่านั่นเป็นสิ่งที่ปกติ เป็นพลวัตที่ควรจะไป และเป็น “โอกาส”  ใหม่สำหรับโลกสื่อสารมวลชน ภายใต้กรอบแนวคิดและแก่นหลักดังเดิม
 
“อย่างหนึ่งที่เป็นข้อดีของสื่อออนไลน์คือ เนื้อที่ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดเท่าสื่อสิ่งพิมพ์ คือถ้าเป็นสมัยก่อน ส่งมาร้อยข่าวร้อยรูป เราอาจจะลงได้แค่บางส่วน บางส่วนต้องตัดทิ้งไป แต่พอเป็นออนไลน์ ส่งร้อยก็ลงร้อยได้นะถ้าใจถึง รวมถึงลงแล้วคนดูสามารถรับรู้ได้ในทันที ไม่ต้องมารอคอยพรุ่งนี้ รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน สามารถวัดผลได้ ณ เวลาที่ลงได้ทันที” พี่อ้อกล่าวเพิ่มเติม “ซึ่งการอยู่รอดของ AC News ในยุคดิจิตอลนั้น ความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอของการทำข่าว คือปัจจัยที่จะให้ผู้สนับสนุนไว้วางใจ และอยู่รอดต่อไปได้”
 
ทั้งนี้ พี่อ้อยังได้เสริมอีกด้วยว่า นักข่าวหรือนักสื่อสารมวลชนในปัจจุบัน ไม่ควรจะจำกัดตัวเองไว้ที่ทักษะด้านการทำข่าวแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องเข้าใจในกลไกการทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้ และแก่นหลักของการตลาดมาเกี่ยวข้องด้วย
“สิ่งสำคัญสำหรับคนทำสื่อออนไลน์ในยุคสมัยปัจจุบัน เรามองว่าความสามารถในการทำข่าวเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ คุณต้องเข้าใจในระบบที่ใช้ เข้าใจในกลไกของการตลาด เพราะคุณไม่ได้ทำแค่ข่าวแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ยิ่งถ้าใครที่คิดจะออกมาทำเพจหรือเว็บไซต์ของตนเอง คุณต้องหารายได้ ต้องบริหารเงิน”
เหล่านี้ คือทัศนะ และทิศทางของพี่อ้อ บรรณาธิการบริหาร และผู้ก่อตั้ง AC News ที่กำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่หกอย่างมั่นคง และมั่นใจ ซึ่งแม้ความเปลี่ยนแปลงจะเยี่ยมเยียนทักทาย ก็หาได้สั่นสะเทือนในแก่นกลางและหัวใจของความเป็นสื่อสารมวลชนที่ได้ยึดมั่นเอาไว้ในฐานะ ‘อ้อ เฮฟวี่เวท’ แห่งแวดวงการข่าวมาเกือบสามทศวรรษ 

สุดท้ายนี้ เราได้ถามถึงมุมมองที่พี่อ้อมีต่อโลกการข่าวในปัจจุบัน เว็บไซต์และหน้าเพจ Social Media ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องจริยธรรมอย่างกว้างขวาง ซึ่งพี่อ้อก็ได้ฝากข้อคิดเตือนใจไปยังนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่เอาไว้ว่า…

“เรื่องที่น่ากังวลใจอีกอย่างของสื่่อออนไลน์ในปัจจุบันคือ คนบางคนที่กระโดดเข้ามาในแวดวง แต่ไม่ได้มีจรรยาบรรณที่มากพอ คือเห็นอะไรน่าสนใจก็จับเอามาลง ไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ตรวจสอบแหล่งข่าว เน้นความเป็น Emotional นำหน้า แต่ทีนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทุกอย่างจืดชืดขาดสีสันไปเสียหมด คุณสามารถใส่สีสันได้เพื่อให้การนำเสนอน่าสนใจ แต่ข้อมูลหลักต้องถูกต้อง ไม่บิดเบือน และให้อะไรกับผู้อ่าน นั่นคือหัวใจสำคัญ” 

ความเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นสัจธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง แต่ “ความจริง” ของการนำเสนอที่มีมาตรฐาน ก็คือส่วนประกอบภายใต้แก่นสารที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนั้น ต่อยอดไปสู่สิ่งที่มีคุณค่าต่อไป เฉกเช่นเดียวกัน… 

และแนวคิดดังกล่าวก็คงเป็นการยืนยันตัวตนของคนข่าวคนนี้ไม่ว่าจะก้าวผ่านไปกี่ปีแต่คนข่าวอย่าง พี่ใหญ่ของ AC NEWS "อัชณา จิณณวาโส" ก็ไม่เคยลืมก้าวแรกและเส้นทางที่เลือกเดิน..... 

ขอขอบคุณสถานที่ :  ร้าน Chez Chic

ซ.เทศบาลรังสรรใต้ เขต จตุจักร กรุงเทพมหานคร 

เปิดทำการ · 11:00–22:00

โทรศัพท์: 02 580 4855


บันทึกโดย : วันที่ : 12 ก.ค. 2560 เวลา : 00:35:33
กลับหน้าข่าวเด่น
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:47 am