Gentleman & Survivor ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.



 

 

 

“ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

 

   "ผมจะมี Plan B ตลอด ถ้าแผนไม่เป็นไปตามที่วางไว้ ผมมีกุญแจไขทางออกได้เสมอ"

 


“ผมจะมี Plan B ตลอด ไม่มีแค่โซลูชั่นเดียว ถ้าแผนไม่ได้เป็นไปตามที่วางไว้ เรามีประตู มีกุญแจที่จะไขทางออกได้เสมอ ผมจะคิดเผื่อไว้ให้พวกเค้าเสมอ ถ้าเค้าทำโจทย์นี้ไม่ได้ ผมจะคิดทางเลือกและทางออกให้เสมอ ก็เพราะในช่วงชีวิตการทำงานของผมที่ผ่านมานายผม มักมีทางออกให้ผมเสมอ ถ้าผมไม่มีทางออกให้ลูกน้อง ผมก็เป็นนายเขาไม่ได้”นี่คือบทสนทนาในบางช่วงบางตอน ที่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พูดคุยกับ AC News ในวันที่ก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ขององค์กรรัฐวิสาหกิจ  มีบทบาทและภารกิจด้านการค้ำประกันสินเชื่อ สังกัดกระทรวงการคลัง 
 

ชีวิตดีมีดีไซน์ เรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดา ของดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ผู้หลงไหลงานศิลปะ เสพงานศิลป์ และชื่นชอบการสะสมงานช่างสิบหมู่ของคุณย่า  ผูกพันกับงานดนตรี ทั้งซอด้วง ซออู้ เปียโน กีตาร์ ขลุ่ย ทำบุญ รักการอ่านหนังสือ หนังสือประวัติศาสตร์ รวมถึงการชื่นชอบการเสพงานศิลป์ บุคคลิคภาพที่ดูอ่อนโยน ให้เกียรติผู้คนทุกระดับ ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่หากมาจากได้รับการบ่มเพาะตั้งแต่วัยเยาว์

 
“คุณพ่อเป็นนายทหาร  “พล.ท.เฉลิมศักดิ์ วรกิจโภคาทร”  ต้องไปประจำการต่างจังหวัด ส่วนคุณแม่ “ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงพุฑฒิพรรณี วรกิจโภคาทร” ท่านตามเสด็จฯ เป็นแพทย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ พระราชินีในรัชกาลที่ 9  ชีวิตในวัยเด็กจึงผูกพันกับคุณปู่คุณย่าผู้อยู่เคียงข้าง และอบรมเลี้ยงดูการเข้าวัด และทำบุญ จึงเป็นสิ่งที่ผมคุ้นเคย”   

 
“การได้อยู่กับผู้สูงวัย ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะดูแลคนอื่นผมถูกฝึกให้ดูแลคุณปู่ คุณย่า ดูแลบ้าน ดูแลน้องสาว ผมถูกฝึกให้ดูแลคนอื่นก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกับผมในการทำงานทุกที่ คือเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่นก่อน เข้าใจในบริบทของปัญหา และการแก้ปัญหาร่วมกัน

นอกจากชีวิตที่เรียบง่ายแล้ว ครอบครัวของผมยังเป็นครอบครัวนักวิชาการ คุณแม่เรียนเก่งมาก และคุณอาก็เรียนเก่งมากด้วยเช่นกัน ท่านทั้งสองได้สร้างวัฒนธรรมการใฝ่รู้ให้กับผมไปโดยปริยาย  ทำให้ช่วงสมัยมัธยมต้น ผมสามารถเข้าศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้ตามที่หวังไว้  และเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนจิตรลดา และระดับมหาวิทยาลัยที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
“ชีวิตก็มีช่วงพลิกผันบ้าง ช่วงที่ไปเรียนโทต่างประเทศ ปรากฏว่าที่เมืองไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทลอยตัว ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก จากพิษค่าเงินบาท แต่ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างได้เข้าใจคนอีกมุมหนึ่ง  ชีวิตคนรอบข้าง ต้องระหกระเหินมาเป็นโรบินฮู้ดในอังกฤษ ต้องสู้ชีวิต ต้องเอาตัวรอด ผมถูกฝึกให้เป็น survivor ตั้งแต่เด็ก

และสังคมที่นั่นทำให้ผมเห็นแนวคิดของคน นำไปสู่ประสบการณ์ในการเข้าใจคน ที่ถูกเรียกว่า “ฐานรากของประเทศ” ว่าแต่ละคน เขาเติบโตมาอย่างไร ต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างไร การที่เป็นหนี้ท่วมตัว แล้วในที่สุดต้องระหกระเหินออกมา มีความเจ็บปวดอย่างไร?”
 

“ผมถูกฝึกให้เป็น Survivor ตั้งแต่เล็กๆ ดังนั้นผมจึงไม่ใช่คุณชายที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ตอนอยู่มหาวิทยาลัยผมก็ออกค่ายพัฒนา ผมก็มีความรู้สึกว่า ทำไมผมถึงชอบทำบุญกับโรงเรียนชายขอบ ทำไมผมถึงชอบทำสนามเด็กเล่นให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ภาพพวกนี้มันเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของผม”



ผมมาทำงานวันแรกที่ บสย. ผมตั้งโต๊ะบริจาคทำบุญทันที โดยร่วมบริจาคให้กับสถานโรงพยาบาล ซึ่งเป็นของโรงพยาบาลรามาธิบดี แต่เป็นส่วนที่แยกออกไปอยู่ที่บางใหญ่ โดยเป็นโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ที่เป็นทั้งโรงพยาบาล และโรงเรียนแพทย์ ภาพพวกนี้ก็เลยทำให้เป็น CSR “in process และ after process”  ดังนั้นไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน ผมพยายามสร้างระบบ Ecosystem ในองค์กร ซึ่งจะทำให้ลูกน้องผมเรียนรู้และรู้จักการให้ 



“ผมเชื่อว่า ถ้าหากลูกน้องผม เขารู้จักให้คนอื่นเป็น เขาจะมีจิตสาธารณะที่อยากทำอะไรให้บ้านนี้เมืองนี้อีกเยอะมาก ผมเห็นว่า การมาทำงาน บสย. มากินเงินเดือนอย่างเดียว ผมรู้สึกไม่สนุก ผมต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมต้องการให้เกิดขึ้น ถ้าเราเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้ ทำให้พี่น้องเอสเอ็มอีลืมตาอ้าปากได้ ทำให้สินค้าของประเทศไทย ซึ่งเรามีสินค้าที่มีคุณภาพจำนวนมากจำหน่ายได้ดี”



กับ บทบาทของผม ในฐานะเบอร์ 1 บสย. ผมอยากให้ บสย. มีบทบาทมากกว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมต้องการให้เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน เพราะเราเป็นสถาบันการเงินเฉพาะ (Specialized Financial Institutions: SFIs) ที่ทำมากกว่าการให้เงิน เราเป็น SFIs ที่ให้โอกาสด้วย เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก (Disruption) เรารู้อยู่แล้วบริษัทห้างร้านที่ปรับตัวไม่ทัน ต้องปิดตัวลง เรารู้อยู่แล้วเพื่อนพี่น้องผู้สื่อข่าวหลายคนต้องเดินออกมาจากองค์กรที่ตัวเองเป็นคนสร้างขึ้นมา แล้วเราเตรียมอาชีพไว้รองรับพวกเขาไว้แล้วหรือยัง”



ดังนั้นการที่จะทำให้คนที่มีอาชีพอิสระ (freelance) โดยถ้าผมสามารถเติมทุน ทำให้แต่ละคนที่เป็น freelance แต่เป็น freelance ที่มีวงเงินกู้ เมื่อเขารับงาน ผมก็โอนสิทธิการรับงานมาไว้ที่แบงก์ หลังจากนั้นเขาเอาเงินล่วงหน้าจากแบงก์ไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้พวกเขาต้องมานั่งรอเดือนครึ่ง สองเดือน สามเดือน จนเขาส่งต้นฉบับ หรือส่งมอบงานแล้วค่อยรับเงิน เมื่อเราช่วยทำให้คนอาชีพอิสระมีความมั่นคง

“มีคนถามผมว่า ทำไมผมต้องมาทำงานพวกนี้ ตรวจงานเอง เหตุผลเพราะผมมีความเป็นครู และหากผมอายุ 50 ปีกว่าๆ ผมจะขอไปเป็นครู เพราะผมมีความตั้งใจ (aim) ว่า จะอยู่ใช้ชีวิตการทำงานแบบนี้อีกไม่เกิน 10 ปี แล้วหลังจากนั้น ผมก็จะกลับไปเป็นครู”      



เมื่อผมมีความตั้งใจแบบนี้แล้ว ทำให้ผมชอบหนังสือ ชอบสะสมหนังสือ ผมสะสมนิยายทุกชนิด ผมมีนิยายทมยันตี แก้วเกล้า โกวเล้ง ผมชอบหนังสือประวัติศาสตร์ในทุกๆ มุม ในทุกๆ มิติ ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ 


 
“การชอบอ่าน เป็นสิ่งที่เปิดโลกทัศน์ตัวเอง เวลาคุยกับคนอื่น เราสามารถคุยได้ลึก เพราะเรารู้ที่มาที่ไป เราฝึกวิธีการอ่านคน เพราะฉะนั้นถ้าผมรู้จักคน ผมจะรู้ภูมิหลังของเขา รู้จักรากเหง้าของเขา”   
 
และนี่คือผู้ชาย Plan B ที่มีทั้งความนุ่มนวลและความเป็นนักสู้ในตัว “ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร”กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม


ขอขอบคุณสถานที่ :
Moon Seeker Gallery   ทองหล่อ 20
Mobile : 081 344 3110

 


LastUpdate 25/03/2562 16:12:42 โดย : sakidlo
กลับหน้าข่าวเด่น
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 11:34 pm