เลือดข้นไทยประกันชีวิต


หนึ่งชีวิตในการทำงานของมืออาชีพรับจ้างเพื่อรับเงินเดือน มีจำนวนคนไม่มากนักที่จะหลงรักบริษัทที่ตัวเองทำ โดยไม่ได้โยกย้ายออกไปไหนทั้งชีวิต แต่กลับใช้พลังทางปัญญา แรงกาย และความเข้มแข็งของจิตใจในการได้ทุ่มเท และใช้เวลางานที่มีเพื่อรังสรรค์ และสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าองค์กรที่ตนทำงานอยู่ให้เพิ่มพูนมากขึ้น และผลลัพธ์สุดท้ายจากการลงทุน ได้รับดอกเบี้ยผลตอบแทนจากการยอมรับ ผลักดัน และสนับสนุนให้ไต่เต้าขึ้นถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กร
 
ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ดีๆ ที่ประกอบตามมาอีกด้วย ไม่ว่าเงินเดือน สวัสดิการ เพื่อนพ้อง ลูกน้อง และที่สำคัญ คือ ประสบการณ์ชีวิต
 
"คุณอังกูร ศรีกัลยาณบุตร" เป็นคนหนึ่งที่ไต่เต้าจากพนักงานธรรมดา และใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตใน บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Marketing Officer  รับผิดชอบภารกิจสำคัญขององค์กร โดยเฉพาะงานด้านการตลาดที่อุ้มรับมาโดยตลอด นับแต่ก้าวเท้าเข้าสู่องค์กร
 
“ความจริง ผมเริ่มทำงานครั้งแรก โดยไปสมัครงานกับกลุ่มบริษัทจัดหางานของบริษัทไทยสมุทร ซึ่งจะกระจายคนไปยังบริษัทต่างๆ ตอนนั้นไทยสมุทรฯ อยากสร้างบริษัทประกันขึ้นมาใหม่ จึงไปซื้อบริษัท China Union life Insurance มา และมีการรับเด็กที่เป็นกลุ่ม Young blood เข้าไปทำงาน ผมก็ไปสมัคร ทำอยู่ได้สักพักนึงก็เปลี่ยนชื่อเป็นสยามประกันชีวิต ทำอยู่ที่นี่ 2 ปี ก็โปรโมทผมเป็นผู้จัดการประกันกลุ่ม แทนคนที่ย้ายงานออกไป อยู่ในตำแหน่งนี้ประมาณ 3 ปี”
 
 
ครึ่งชีวิตกับผลงานในไทยประกันชีวิต
 
แล้วโอกาสที่เป็นจุดเริ่มของการเป็นพนักงาน บริษัท ไทยประกันชีวิตฯ ก็มาถึงในช่วงปลายปี 2534 เมื่อทางบริษัท ไทยประกันชีวิตฯ ต้องการรับพนักงานหนุ่มไฟแรงที่เรียนจบมาทางด้านการตลาดเข้าร่วมทำงานด้วย
 
“มีพี่คนหนึ่งมาถามว่าสนใจหรือเปล่า ก็บอกว่าเอาสิพี่ ผมก็เลยได้ไปสัมภาษณ์ ผมสัมภาษณ์กับคุณปรีดี ขวัญงาม แล้วผมก็ได้เริ่มงานที่ไทยประกันชีวิต ในส่วนของการส่งเสริมการตลาด แต่งานช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีอะไรทำเท่าไหร่ มีการทำจุลสารภายใน เพื่อบอกข่าวฝ่ายขาย การประกาศผลการแข่งขัน อาจมีกิจกรรมบ้างนิดหน่อย แต่งานน้อยมาก มีคนอยู่แค่ 8 คน ผมเข้าไปเป็นผู้จัดการแผนก ก็เริ่มไต่เต้าจากตรงนั้น”
 
จากเด็กต่างจังหวัด ลูกหลาน ”ย่าโม” เรียนอนุบาลจนถึงชั้นประถมปีที่ 7 ในจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นเข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่พลาด สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติดในสาขาสถาปัตยกรรมที่ตัวเองชอบและหลงใหล จึงไปเลือกเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะบินไปต่อระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา
 
“ผมเอ็นทรานซ์ไม่ติด ตอนนั้นผมอยากเป็นสถาปนิก ชอบวาดรูป ชอบสถาปัตย์ฯ พอไม่ได้ ก็ยังไม่รู้จะเรียนอะไร คิดว่าจะรอเอ็นทราซ์ใหม่ เลยไปเรียนรามคำแหง เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเขาเรียนอะไรกัน แค่รู้ว่าตัวเองไม่ชอบบัญชี พอไปเรียนที่รามฯ มันก็เรียนได้ เก็บหน่วยกิจมาได้เยอะเลย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ค่อยได้เรียน เลยมาคิดว่า จะเสียเวลาเรียนไปหนึ่งปีทำไม ก็เลยเรียนต่อไปจนจบ 4 ปี จากนั้นไปเรียน MBA ต่อที่อเมริกา ที่ University of Newhaven อยู่รัฐคอนเนตติกัต เรียนที่นั่นเกือบ 2 ปี จบแล้วก็กลับมาบ้านเรา”
 
ด้วยความรู้ทางด้าน MBA และดีกรีนักเรียนนอกในยุคสมัยนั้น เมื่อเข้ารับหน้าที่ใหม่กับบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) องค์ความรู้ที่ฝังแน่นมา ถูกนำมาต่อยอด ประยุกต์ใช้ และสร้างสรรค์งานให้กับองค์กรมาอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ
 
“การทำงาน ไม่ใช่แค่ทำงานของเราดี แต่เราต้องทำให้คุณค่า (value) ของงานใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาทำงานในหน้าที่ของเรา หรืองานที่เราได้รับมอบหมายมา เราต้องรู้จักนำเสนอให้งานของเรามีคุณค่ากับบริษัทเยอะขึ้น อย่างเช่น การแตกส่วนงานก็ต้องนำเสนอว่าแตกส่วนงานมาแล้วจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับบริษัท ด้วยหลักการทำงานแบบนี้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราค่อยๆ ขยับขึ้นๆ
 
“พอเราขึ้นมาดูแลมากขึ้น ก็มาคิดว่าเราจะขยายส่วนงานนี้อย่างไร เพราะงานการตลาดก็เริ่มโตขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทำให้เราขยายงานจากแค่การส่งเสริมการตลาดก็ขยายออกมาค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการทำพวกลูกค้าสัมพันธ์ งานด้าน data base marketing ตอนหลังพวกอิเลคทรอนิกส์มา data base มา งานก็ขยายมากขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็ไหลขึ้นไปเรื่อยๆ เฉลี่ย 3 ปี ก็ขยับตำแหน่งครั้งหนึ่ง ยิ่งตำแหน่งสูงๆ บางทีไม่ถึง 3 ปี ก็ได้ขยับ จนถึงตรงนี้ได้”
 
เกือบ 30 ปี จากตำแหน่งพนักงาน ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และมาถึง "รองกรรมการผู้จัดการ" ที่นั่งในเก้าอี้นี้มาได้ระยะหนึ่ง ดูเหมือนว่าเส้นทางชีวิตของหน้าที่การงานในองค์กรจะดูราบเรียบ การขยับก้าวขึ้นในแต่ละขั้นตอนอย่างลื่นไหล แต่หากคุ้ยลงในรายละเอียด บางช่วงจังหวะของชีวิตงานก็ไม่ได้สดใส ชื่นมื่นมากเท่าใดนัก
 
“ถามว่ายากไหม ก็ต้องบอกว่ายาก เพราะองค์กรใหญ่ มีขั้นมีตอนพอควร ของไทยประกันชีวิตบอกว่าการที่เราจะเลื่อนขั้นได้ต้องมีประสบการณ์ในตำแหน่ง 3 ปี ถึงจะขยับได้เป็นสเต็ปๆ และถ้าถามว่าชีวิต smooth มากหรือไม่ ต้องบอกว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่า ความกดดันในชีวิตการทำงานก็ต้องมีบ้างอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งการตกเป็นเป้าบ้าง แต่พวกนี้ถือเป็นรสชาติการทำงาน บางจังหวะก็ต้องอดทน ซึ่งคนสมัยนี้อาจจะมีน้อยกว่าเรา ถ้าเราไม่อดทน เราจะไม่ได้มาถึงตรงนี้ก็ได้”
 
 
ไม้เด็ด เน้น "คุณค่าคน" ในการบริหารทีม
 
ขณะเดียวกัน หลักการบริหารที่เป็นหัวใจ และรอง MD ให้ความสำคัญ ใช้ยึดโยงเป็นแนวปฏิบัติเสมอมาแต่แรกของการทำงาน คือ การให้คุณค่าของ “คน” และการทำงานเป็นทีม
 
ผมไม่ได้เรียนเก่ง อยู่แถว 2 กว่าๆ ไม่เคยตก แต่คนเก่งมากๆ จะมีอีโก้สูง อาจจะต้องไปทำงานลักษณะวิชาการ แต่ถ้าต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค การที่เราฟังความคิดเห็นทีมงาน การที่เราคุยก็ดี สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และลูกทีมที่แน่นแฟ้นได้เป็นอย่างดี อย่างการประชุม เราจะรู้ว่าบางทีถ้าคนนี้เข้ามา ทุกคนจะรู้สึกอึดอัด บรรยากาศจะขึ้นมาทันที เราจะไม่เป็นคนไปสร้างบรรยากาศแบบนั้น แต่จะทำให้บรรยากาศผ่อนคลายขึ้น
 
“ผมเป็นคนที่ค่อนข้าง respect คน respect ทีมงาน สมัยก่อนบางทีลูกน้องทำอะไร หรือเด็กจบใหม่ ทำโปสเตอร์มา เราก็บอกว่าทำอย่างนี้เดี๋ยวสีมันจม น้องก็บอกว่าไม่จมหรอกพี่ ผมก็ให้เขาลองทำ มันก็จมจริงๆ อะไรที่ให้เขาได้ลองทำ ถ้าไม่มีความเสียหายมาก ก็ให้ลองดูได้ ผมจะไม่ค่อยไปกำกับ จะดู outcome มากกว่า หากมีปัญหาก็เข้ามาปรึกษา ซึ่งลูกน้องส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ ผมจะประชุม คุย แล้วปล่อยเขาทำ มีปัญหาก็มาคุย เราก็พยายามช่วยแก้ปัญหาให้ดีที่สุด”
 
อีกหลักคิดหนึ่งในการบริหารงาน คือ การเป็นคนมองโลกในแง่บวก เพื่อสร้างคุณค่าในงานและตนเอง
 
ผมเป็นคนที่ไม่ได้คาดหวังอะไรล่วงหน้ามาก แค่คิดว่าถ้าทำแล้วมันจะได้ ทุกอย่างมันคอนโทรลไม่ได้ เพียงแต่ถ้าเราทำวันนี้ให้ดีที่สุด พรุ่งนี้ก็จะมีผลดี แต่จะมาเมื่อไหร่ก็เรื่องของมัน เดี๋ยวมันก็มาเอง ผมไม่เหมือนผู้บริหารคนอื่นที่อาจจะมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ต้องเป็น CEO เมื่ออายุ 40  ผมอาจจะไม่มีความมุ่งมั่นอะไรขนาดนั้น แต่หน้าที่เรา เราจะทำอย่างไรให้เราทำให้ดีที่สุด งานเราต้องเกิดคุณค่าให้มากที่สุด ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
 
“สมัยก่อนผมรับงานมา ก็ให้ลูกน้องทำ ลูกน้องยังบอกว่า พี่ไปรับงานมาทำไมเยอะแยะ ก็บอกว่าทำไปเหอะ มันก็เป็นการเรียนรู้ ทุกอย่างเราทำงานมากก็เรียนรู้มาก เป็นประโยชน์กับเราเอง หรือหากเป็นงานใหม่ เราไม่ทำ มันก็ไม่ได้มีความรับผิดชอบของใครที่จะทำ มันอยู่ที่ว่าใครอยากจะรับผิดชอบงานนั้นแล้วเอามาทำ เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวอันนี้ผมทำเอง เดี๋ยวทีมผมทำเอง”
 
 
 
การรื้อทิ้ง เพื่อสร้างสิ่งใหม่
 
การทำงานไม่ได้ราบเรียบ และราบรื่นเสมอไป และหากจะให้งานไหลลื่น แต่ไม่คิดจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ นั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณอังกูรชื่นชอบ หากคิดว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ก็พร้อมจะรื้อทิ้ง เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นในองค์กร
 
“ทำให้มันง่ายหรือทำไปอย่างนั้นก็ได้ แต่ผมไม่ใช่ ผมเป็นประเภท ถ้าไม่ใช่ ผมจะรื้อ อย่างตอนที่ผมทำงานระดับผู้จัดการส่วน ผมได้รับผิดชอบส่วนสถิติและเป้าหมาย อยู่ๆ ก็มีลูกน้องเพิ่มมาเกือบ 20 คน พอผมเข้าไปดู ก็ เอ๊ะ ทำอะไรกัน เขามีตู้เหล็กอยู่ประมาณ 50 ตู้ เพราะสมัยก่อนการเก็บข้อมูล การประมวลผลยังไม่ดี แม้จะมีคอมพิวเตอร์แล้ว ลักษณะงานสมัยนั้น จะมีรายงานมาจากสาขา มาเป็นกระดาษ ต้องมานั่งคีย์ ถึงเวลาก็เก็บเข้าแฟ้ม เวลาบริษัทฯ ตั้งเป้าหมาย ก็จะพิจารณาจากผลงานในอดีต เขาก็ต้องเก็บเอาผลงานในอดีตไว้ เก็บไว้ถึง 5 ปี ผมก็ไปถามว่าเก็บไว้ทำไม เวลาที่คิดย้อนหลังก็คิดย้อนหลังแค่ 2 ปี ทำไมต้องเก็บไว้ถึง 5 ปี เขาก็บอกว่า พี่เขาสั่งไว้อย่างนี้ ผมก็บอกว่า มันไม่เป็นประโยชน์ ก็รื้อทิ้ง ตู้หายไปเกินครึ่งเลย พอตอนหลังมีเทคโนโลยี ส่วนงานนี้ปัจจุบันก็หายไปแล้ว”
 
 คุณอังกูรให้แง่คิดกับทุกระดับบริหารที่มีลูกน้องภายใต้การดูแลด้วยว่า งานบางอย่างต้องมีการ reprocess ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้จัดการทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริหารระดับสูง คนที่อยู่หน้างาน ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องคิดว่าจะปรับปรุงกระบวนการ ปรับปรุงการทำงานอย่างไรให้ดีขึ้น ให้สั้นลง ประหยัดเวลามากขึ้น สะดวกมากขึ้น อย่างเช่น ด้านไอที ซึ่งในอนาคต มีระบบ AI หรือมี Machine learning งานบางอย่าง หรืองานที่เป็น routine จะหายไป ไม่จำเป็นต้องมีคน จึงจำเป็นต้องลดคน ซึ่งเป็นต้นทุนใหญ่ที่สุด และพัฒนาคนที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
สรุปรวบยอดหลักคิดง่ายๆ ที่คุณอังกูรใช้บอกกับตัวเอง
 
 “จริงๆ เรื่องการบริหารทีมงาน ก็เหมือนเราต้องใช้พรหมวิหาร 4 คือ ทำอย่างไรเราจะช่วยแก้ไขปัญหาให้เขาได้ ช่วยเหลือเขาได้ ถ้ามีปัญหาทุกข์ใจ ถ้าอยากเข้ามาคุยก็เข้ามาคุย พยายามสนับสนุนให้ลูกน้องได้ดี เพื่อนได้ดี เราก็ไม่ขัดขวางใคร คิดแบบนี้เราก็สบายใจ”
 
 เมื่อความสามารถมีให้เห็นเป็นที่ชัดเจน ความสัมพันธ์กับเพื่อนพนักงานแน่นแฟ้น มีผลงานเป็นบทพิสูจน์ การที่จะมีแมวมองมาด้อมๆ หา เพื่อจีบให้ย้ายไปทำงานองค์กรใหม่ ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา คุณอังกูรมักจะมี Head Hunter นัดแนะพูดคุย เพื่อยื่นข้อเสนองามๆ ให้อย่างสม่ำเสมอ
 
“มีบริษัทประกันชีวิตอื่นๆ จะมารีครูท (recruit) หรือมี head hunter มาหา มาคุยกับเรา มาเสนอรายได้ให้เราดีมากพอควร บางรายเสนอให้เป็นระดับ regional ผมก็ไม่ได้ปิดโอกาส ไปคุยกับเขาเหมือนกัน ยิ่งช่วงจังหวะอายุ 40 กว่า ถือว่าเป็นช่วงจังหวะที่เราต้องการรายได้สร้างครอบครัว อะไรที่ดีกว่าเราก็ไม่ได้ทิ้งโอกาส แต่เราต้องคิดยาวนิดนึง เช่น ถ้าเราจะไปทำงานกับต่างชาติ นายคนนี้เขาจะเอ็นจอยกับเรามั้ย หรือบริษัทต่างประเทศ มีเทอมในตำแหน่ง 3 ปี หรือ 5 ปี เปลี่ยนกันใหม่ เกิดเปลี่ยนแล้วเรายังเป็นคนโปรดของเขาอยู่หรือเปล่า เขาอาจจะมีคนของเขามา เราก็ต้องกระเด็นออกไป เราก็ไม่อยากมีเหตุการณ์อะไรแบบนั้น เลยทำให้เราภักดีกับไทยประกันชีวิต”
 
 เป็นความภักดีที่ยืนยงอย่างเหนียวแน่น “เท่ากับว่า ผมอยู่กับไทยประกันชีวิตมาโดยตลอด อยู่มา 27-28 ปี โดยไม่ต้องเปลี่ยนนาย”
 
 
โควิดขวิดไม่แรง
 
ช่วงสถานการณ์โรค Covid-19 ระบาด บริษัท ไทยประกันชีวิต ก็ถูกขวิดไม่ต่างจากองค์กรธุรกิจอื่นๆ เหมือนกัน แต่แรงขวิดที่ในธุรกิจการประกันอาจไม่บาดเจ็บรุนแรงมากนัก
 
“เรื่องประกันชีวิต หากเข้าใจตัวสินค้าจะรู้ว่าไม่เหมือนกับสินค้าอย่างอื่น ที่เศรษฐกิจดี บูมมากๆ แล้วคนจะวิ่งมาซื้อประกันชีวิตมากขึ้น ต่อให้ธุรกิจประกันชีวิตเติบโตยังไง มันก็จะโตได้ในระดับหนึ่ง คนที่ซื้อ ก็ซื้ออยู่บนความจำเป็น แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี ถามว่าประกันชีวิตกระทบมั้ย ก็กระทบ แต่ก็ไม่ได้กระทบมากเหมือนธุรกิจอย่างอื่น หากเราหาคนที่ถูก เขาก็ยังซื้ออยู่”
 
คุณอังกูรย้อนอดีตเมื่อครั้งประเทศไทยประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจทั้งประเทศ เมื่อปี 2540 มาเทียบเคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ในยุคนั้นที่ธุรกิจประกันชีวิตต้องประสบปัญหา เป็นการกระทบในลักษณะลูกค้ากลุ่มบนที่มีฐานะ ซึ่งเป็นนักลงทุนหรือทำธุรกิจส่วนตัว ที่ส่วนมากใช้เงินกู้จากต่างประเทศมาลงทุน ขณะที่ลูกค้ากลุ่มล่างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่มากเท่า
 
“คนชั้นบนที่เป็น Investor หรือทำธุรกิจส่วนตัว ล้วน collapse แต่ข้างล่างยังโอเค กลุ่มเกษตรกรก็ยังทำมาค้าขายปกติ แต่สถานการณ์ครั้งนี้ บริบทต่างกัน ถามว่าข้างบนกระทบมั้ย ก็กระทบ แต่ไม่มากถึงขนาดปี 2540 สำหรับข้างล่าง ตอนนี้ถือว่าหนัก ปี 2540 ธุรกิจตกประมาณปีครึ่ง เราก็กลับขึ้นมาได้ แต่ครั้งนี้ ผมว่าจะนานกว่า เพราะกระทบฐานล่าง”
 
 
นักการตลาดที่อยู่กับธุรกิจประกันชีวิตมาเกือบทั้งชีวิต คาดการณ์การฟื้นตัวหลังสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ไว้ว่า
 
“ถึงตอนนี้ก็ยังเดาไม่ออก การเซ็ทอัพ ธุรกิจต้องเซ็ทอัพตัวขึ้นมาก่อน และกว่าธุรกิจจะเซ็ทอัพได้ แต่ส่วนตัวคิดว่าอย่างน้อย 18 เดือน หรือกลางปีหน้า ธุรกิจจึงจะกลับมาเป็นปกติได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะยังไม่เหมือนเดิมด้วยซ้ำ ขณะที่กว่าคนจะเซ็ทอัพกลับมาได้ก็ต้อง 2 หรือ 3 ปี กลุ่มคนที่มีเงินเดือน 3-4 หมื่นบาท หรือคนที่มีงานทำ งานก็จะหายไป อย่างไกด์ทัวร์ รายได้ดีมาก แต่ตอนนี้ไม่มีเลย”
 
 
Refocus คืนกลับธรรมชาติธุรกิจประกันชีวิต
 
“ถึงจุดนี้ เราต้องมา refocus ใหม่ว่า กลุ่มที่เราจะไป จะ focus ที่กลุ่มไหน ซึ่งตอนนี้ยากกว่าตอนนั้น จากดอกเบี้ยธนาคารที่เคยสูงมาก 12-15% แถมยังต่อรองดอกเบี้ยเพิ่มได้อีก บริษัทประกันขายสินค้าพวก hi-saving ไม่ได้ ไม่มีทางสู้แบงก์ได้ แต่พอปี 40 เป็นช่วงดอกเบี้ยขึ้น แต่ขึ้นแล้วไม่เวิร์ค ก็ค่อยๆ ลดลงต่ำ บริษัทประกันชีวิตที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า ก็เกิดความได้เปรียบ จนถึงช่วงนี้ก็ยังโต แต่เป็นการโตด้วยการย้ายเงินฝาก ไม่ได้โตด้วยธรรมชาติของธุรกิจประกัน แต่ที่บอกว่าช่วงนี้จะยาก เพราะแบบนี้ไม่มีแล้ว
 
 “ดอกเบี้ยลดลงทั่วโลก ของเราเหลือ 0.5% อาจจะมีถึง 0.25% โอกาสกลับไปถึง 2-3% นั้นไม่มี ยิ่งนโยบายประเทศใหญ่ที่ทำ QE ก็ปั๊มเงินไปซื้อตราสารหนี้ รัฐบาลก็ต้องแบกรับดอกเบี้ย ดังนั้นดอกเบี้ยจะถูกกดให้ต่ำ สินค้าพวก hi-saving หรือ การันตีโปรดักส์ จึงหายแน่ๆ จาก investment product ทุกบริษัทจึงหันมาเน้น protection product ประกันชีวิตก็จะกลับไปสู่ธรรมชาติของธุรกิจประกันชีวิต แต่ด้วยวอลุ่ม คงจะไม่สามารถเทียบกับพวก hi-saving ได้ จะกลับไปถึงตรงนั้น คงต้องอีกหลายปี”
 
ไม่เพียงมองภาพทางตลาดที่จะเกิดขึ้น รวมถึงข้อจำกัดทางตัวสินค้ากลุ่ม hi-saving ซึ่งกรมธรรม์ฉบับหนึ่ง หากลงทุนในราคา 1 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ลูกค้าบางรายอาจซื้อด้วยเม็ดเงินนับสิบล้านบาท ขณะที่กลุ่มสินค้า protection ลูกค้าจะซื้อได้อย่างมาก 3-5 แสนบาท หรือมากสุดได้แค่เพียง 8 แสนบาทเท่านั้น
 
“Product ต้องมีการเปลี่ยนแปลง (transform) ซึ่งทุกบริษัทประสบเช่นกัน ตอนนี้ทุกบริษัทเท่ากันละ ซึ่งเดิมทุกบริษัท เบี้ยก็ไม่ต่างกันมาก เบี้ยแพงกว่าก็คุ้มครองมากกว่า ทุกคนอยู่บนพื้นฐานสูตร (formula) ในการคำนวณเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ขณะที่สินค้าประกันชีวิตจะไปสร้างความโดดเด่นบนตัวสินค้าก็ไม่ได้ ใครทำอะไรวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็ลอกกันได้ ไม่ได้มีการจดลิขสิทธิ์สูตรลับอะไร เป็น commodity product คุณผลิตได้ ผมก็ผลิตได้ เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้บริษัทเติบโตหรือไม่ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไทยประกันชีวิตทำมานาน”
 
 “เราต้องทำให้ฝ่ายขายรู้ล่วงหน้าว่า ถ้าสินค้าพวกนี้ไม่มีในตลาด คุณจะทำอย่าไร ซึ่งจะทำให้เกิด sense of emergency ขึ้น ซึ่งทำให้เขาต้องคิดว่า เมื่อมันไม่มี จะต้องทำยังไง ไปทำเวิร์คชอบกันมา ซึ่งจะทำให้ฝ่ายขายรู้ว่าต้องเอาสินค้าอะไรไปขาย เรารู้ว่า Unit link นั้นขายยาก และเป็นข้อจำกัดของคนขายค่อนข้างเยอะ ก็ต้องผลักดันให้มีการขายสินค้าพวก protection หรือ ไรเดอร์ต่างๆ มากขึ้น เพราะช่วงโควิดมีงานวิจัยพบว่า คนกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรือการประกันสุขภาพมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการขาย”
 
 
ศาสตร์ญี่ปุ่น เสริมจิตวิญญาณการบริการ
 
พื้นฐานที่คุณอังกรูกล่าวถึง ซึ่งไม่เพียงการเน้นหนักให้การบริหารจัดการของบริษัทให้มีธรรมาภิบาลที่ดี (Good governance) มีแบรนด์ที่ดี มีความโปร่งใส ไม่มีเรื่องของการโกงลูกค้า ด้วยการปรับโมเดลการดำเนินธุรกิจ หรือ Reinvent Business Model เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต หรือ Life Solutions พนักงานจึงถือเป็นด่านหน้าสำคัญในการพบปะลูกค้า ต้องผ่านการฝึกฝนเป็นอย่างดี ต้องเป็นเหมือน Ambassador ของบริษัท มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ หรือ Mindset โดยเฉพาะบุคลากรฝ่ายขาย ที่ต้องเป็นเพื่อนคู่คิด เคียงข้างผู้เอาประกันในทุกช่วงของชีวิต หรือ Life Partner
 
“ตัวแทนขายต้องอยู่บนพื้นฐานที่มีจรรยาบรรณ เป็นตัวแทนที่ได้รับการฝึกฝนมาดี ไทยประกันชีวิตทุกคนต้องได้รับการอบรม ที่เรียกว่า โอโมเตนาชิ (Omotenashi) ซึ่งหมายถึงการดูแลคนโดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นศาสตร์ของญี่ปุ่นที่เราสอนตัวแทนเรามานานพอสมควร ให้มีจิตวิญญาณในการดูแลและให้บริการ ต้องไม่หวังว่าจะขายประกันได้เพิ่ม แต่เป็นการให้คุณค่าในงาน หากคิดได้แบบนี้ การขายก็จะเกิดขึ้นเอง ถ้าไปพูดกับตัวแทนไทยประกันชีวิต คำพูดพวกนี้ เขารู้หมดเลย เพราะเป็นพื้นฐานที่เราค่อยๆ วางให้กับตัวแทนของเราในการต่อสู้กับยุคใหม่ที่เราจะต้องเจอ การ reskill การ upskill เราต้องสอนเขา ซึ่งของพวกนี้ ต้องใช้เวลาในการสร้าง ใช้เวลาสะสมกันนาน”
 
ขณะเดียวกัน การปรับตัวด้านอื่นๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางธุรกิจ มีการขับเคลื่อนในทุกแง่มุม ทั้งด้านการตลาด การควบคุมต้นทุน การบริหารจัดการ ระบบเทคโนโลยี พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ หรือการคาดการณ์และมองแนวโน้มทางธุรกิจ เพื่อรักษาฐานกำไรให้คงเดิมอย่างมั่นคงและยั่งยืน
 
“เราต้องมอนิเตอร์ตลอดเวลา มีการคุยกันทุกเดือน สรุปตัวเลขดูกันตลอด เพื่อให้บริษัทมีกำไรอยู่ได้ ทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน เราไม่ได้ต้องการให้บริษัทเติบโตแบบพรวดๆ แล้วตกลงมา เราไม่ได้ต้องการให้บริษัทเป็นแบบนั้น ดังนั้นถ้าอยากให้บริษัทเติบโต ต้องมีแบรนด์ที่ดี สมมติว่าการขายทางโทรศัพท์ ถ้ามาจากไทยประกันชีวิต ไม่ต้องอธิบายว่าเป็นใคร แต่ถ้ามาจากบริษัท ABC ก็ต้องอธิบายว่า ABC คืออะไร ทำให้เปิดการขายง่ายกว่า ส่วนการขยายช่องทางขาย ต้องดูว่า ช่องทางขายที่จะเกิดขึ้นใหม่เป็นอย่างไร ช่องทางที่ต้องรักษาไว้คืออะไร พาร์ทเนอร์ที่มีจะต้องพูดคุย เพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้ คุยกันบนพื้นฐานพาร์ทเนอร์ที่ดี ต้องทำให้ วิน-วิน (win-win) ทั้งคู่ ไม่ใช่เขากำไร เราขาดทุน”
 
 การพัฒนาช่องทางการขาย โดยเฉพาะ แพลตฟอร์ม ดิจิตัล เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณอังกูรให้ความสำคัญ รวมถึงการพัฒนาตัวแทนการขายให้มีคุณภาพเชิงบริการสูงสุด
 
 “เรารู้ว่าไม่ง่ายหรอกที่จะซื้อประกันชีวิตบนดิจิตัลแพลทฟอร์ม ไม่เหมือนกับ non-life หรือการซื้อประกันการเดินทาง ประกันรถ บน e-commerce เราดูว่าซื้อสินค้าเหมือนกัน ร้านไหนถูกสุดเราก็ซื้อร้านนั้น เพราะเรารู้คุณภาพสินค้าอยู่แล้ว แต่การขายประกันชีวิต ขนาดตัวแทนอธิบาย บางทีเรายังงงเลย เปรียบเทียบสินค้าก็ยาก รวมถึงบริการหลังการขายก็อาจจะต่างกันได้ ซึ่งพวกนี้เราก็ต้องทำรอไว้ ขณะเดียวกันเราต้องมองเทรนด์ของคนในอนาคต ในเรื่องของการที่เขาจะทำอะไรด้วยตัวเอง มันคงจะง่ายขึ้น ไม่ต้องให้ตัวแทนไปบริการทั้งหมด
 
“สิ่งที่สำคัญ คือ ตัวแทนประกันชีวิต ต้องดูแล และให้บริการหลังการขายดีๆ สมัยก่อนตัวแทนไทยประกันชีวิตบอกว่า ต้องเก่งตัวสินค้า ต้องเสนอสินค้าเปรียบเทียบให้ลูกค้าเห็น แต่ผมเห็นว่าต่อไป เครื่องทำได้หมด มีโปรแกรมช่วยเปรียบเทียบ ไม่ต้องไปนั่งจำสินค้าเพื่อนำเสนอ ขณะที่ลูกค้าจะดูว่าคุณดูแลผมได้ดีแค่ไหนมากกว่า ซึ่งตรงนี้เครื่องทำไม่ได้ ตัวแทนที่ดูแลลูกค้าดีๆ ไปรับส่งลูกให้ บางคนแม่ป่วยอยู่ ลูกค้าติดธุระ ก็ยังไปดูแลให้ เขาดูแลลูกค้าเป็นเหมือนคนในครอบครัวจริงๆ ของอย่างนี้ไม่มีใครมาแทนได้ ซึ่งอนาคตจะเหลือตัวแทนที่มีคุณภาพจริงๆ”
 
 
Work life balance
 
ภารกิจในหน้าที่กับชีวิตครอบครัวและส่วนตัว เป็นมุมที่คุณอังกูรใส่ใจ และรักษาสมดุลชีวิตได้เป็นอย่างดี
 
“ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะ balance ชีวิต เรามีวินัย มีความรับผิดชอบ พอเริ่มทำงาน เราต้องมีความรับผิดชอบต่องาน แต่ก็ต้อง balance เพราะงานไม่ใช่อย่างเดียวในชีวิต ครอบครัวก็ต้องรับผิดชอบ ทำอย่างไรให้ครอบครัวดีที่สุด ต้อง balance เวลาให้กับครอบครัว การทำงาน และส่วนตัว ซึ่งเราต้องทำให้ชีวิตส่วนตัวผ่อนคลาย ผมเป็นคนชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก เล่นมาทุกชนิด เตะบอลผมก็เตะ เล่นวอลเลย์ ผมก็เล่น บาสผมก็เล่น เทนนิสผมก็ตี ตีแบบเป็นเรื่องเป็นราวด้วย กอล์ฟก็ต้องมีพื้นฐาน ผมเป็นคนเชื่อเรื่องพื้นฐาน เวลาเล่นกีฬาผมจะเรียน เทนนิสพ่อแม่ผมก็ให้เรียน กอล์ฟผมก็ต้องหาโปรช่วยจับ เราเล่นหมด ว่ายน้ำก็เล่น ซึ่งเป็นไปตามอายุ”
 
 ส่วนหนึ่งของสถานการณ์ของโรคระบาดปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างสมดุลในชีวิต โดยทุกเช้าคุณอังกูรจะลุกออกมาเดินหรือวิ่งในวันที่ฝนไม่ตก ทำต่อเนื่อง 3-4 เดือนจนติดเป็นนิสัย ในหนึ่งวัน แค่สตาร์ทเริ่มต้นช่วงเช้าจะสามารถนับก้าวเดินได้แล้ว 5-6 พันก้าว สลับด้วยการกระโดดเชือก
 
“เป็นช่วงอายุที่ต้องกลับมาดูแลร่างกาย ซึ่งมันสอนกันยาก สมัยก่อน มีคนถามว่าออกกำลังอย่างไร ทำไมไม่มีพุงเลย ผมไม่ได้ออกกำลังมากมาย แต่พยายามเคลื่อนไหว พยายามคุมอาหาร และถ้ามีโอกาสก็พยายามเล่นกีฬาบ้าง เมื่อก่อนไม่กล้าพูดเต็มปากว่าออกกำลัง หากเทียบกับช่วง 3-4 เดือนนี้ ผมได้เดิน ได้วิ่งจริงๆ 40-50 นาที
 
 “กอล์ฟเป็นอีกกีฬาที่เล่น เพราะเป็นกีฬาที่เล่นได้ตลอดชีวิต แต่กีฬาอื่นๆ น้อยลง ฟุตบอลไม่กล้าลงเล่น เพราะเราต้องเข้าใจลิมิตของเรา อายุขนาดนี้ เล่นกีฬาปะทะมันไม่ค่อยดี หันหลังผิดจังหวะทีก็เคล็ด อย่างกีฬาแบดก็ไม่ต้องเล่น เพราะมันต้องกระโดด มีปัญหากับเรื่องข้อเท้า พอกระโดดเข่าก็ไปหมด ความจริงการออกกำลังที่ดีที่สุด คือการเดิน”
 
วินัยในการออกกำลังกาย มีควบคู่กับวินัยในการตรวจร่างกาย และเสริมวิตามิน เพื่อการดูแลสุขภาพ
 
 “ที่ไทยประกันชีวิตทุกคนทานวิตามินกัน เมื่อ 10 กว่าปีก่อน อายุยังน้อย ผมก็ทานวิตามิน ซี เสริม core Q 10 อย่างมากก็เสริมน้ำมันปลา ซึ่งผมก็กินจนถึงบัดนี้ แต่ว่าหลังๆ ผมจะไปตรวจเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งเรื่องฮอร์โมน preventive care ซึ่งเขาจะบอกละเอียดเลยว่าวิตามินที่เราขาดเป็นตัวไหน ฮอร์โมนที่เราขาดคืออะไร หมอก็จะปรุงยามาให้ อย่างผมไปตรวจ หมอยังตกใจเลย เพราะ core Q 10 ผมทะลุเลย ซึ่งบางอย่างมากไปก็ไม่ดี ผมเชื่อเรื่องความเป็นสายกลาง อย่ามากไป อย่าน้อยไป”
 
 
ขอเกษียณ 60 เลือกท่องเที่ยวใช้ชีวิตตามฝัน
 
เป้าหมายสำคัญส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพนี้ เพราะเป็นความใฝ่ฝันถึงรูปแบบการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุการทำงาน ซึ่งเหลือเวลาอายุงานอีกเพียง 2 ปี
 
“อายุ 60 ผมพร้อมเกษียณนะ ไม่คิดว่าจะต่อหรือไม่ต่อ เพราะคิดว่ามาถึงตรงนี้ เราก็ควรจะเลิก น่าจะถึงเวลาให้คนใหม่ได้มาทำ ถ้าเรายังไปค้ำอยู่ในตำแหน่ง เขาอาจจะเกรงใจเรา ถึงตั้งใจว่าอยากจะเกษียณ เพราะผมอยากใช้ชีวิตอย่างที่เราอยากใช้ จากที่เราใช้ชีวิตอยู่บนความรับผิดชอบหลายๆ อย่าง เมื่อเราปลดปล่อยแทบจะทุกอย่าง ลูกๆ ก็โตกันเกือบหมด ดูแลตัวเองได้แล้ว ภาระก็ไม่มีเท่าไหร่ ผมซึ่งเป็นคนชอบเที่ยว ผมอาจจะไปอยู่เมืองนอก 2-3 เดือน อยู่อย่างนั้นเลย คือไปทำอะไรที่เราอยากทำ หรือหากว่าผมไปอยู่ต่างจังหวัด จะไปสร้างบ้านเล็กๆ ก็ไปทำอะไรกับชุมชนกับวัดแถวนั้น ก็แฮปปี้ดี ไปหามิติอื่นของชีวิตบ้าง
 
“ผมไม่เชื่อเรื่องเราต้องทำงานตลอดชีวิต ทำงานถึง 60 แล้วเหลือชีวิตอีกเท่าไหร่ ถ้าอยู่ได้ถึง 80 ก็อยู่ได้อีก 20 ปี เป็นช่วงเวลาที่จะหาความสุขให้ตัวเองกับเงินที่หามาทั้งชีวิต ถ้าถึงตอนนั้น หากคิดจะไปเที่ยวเมืองนอก ถ่ายรูปก็ไม่สวย มันเหี่ยวหมดแล้ว (หัวเราะ) เดินก็ยังไม่ไหว พอ 70 ก็อาจจะเที่ยวในประเทศ ผมติดนิสัยเที่ยวเหมือนที่บ้าน ตั้งแต่เด็กที่บ้านก็จะพาไปเที่ยวทุกปี เราชอบ ไปแล้วสนุก ยิ่งเดี๋ยวนี้ยิ่งสนุก เพราะถ้าจะไปก็นั่งค้นหาเองว่าจะไปที่ไหนดี ไปกับทัวร์ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ แค่เตรียมตัวว่าวันนี้จะใส่ชุดอะไร แต่อันนี้ต้องมานั่งวางแผนเอง จองรถเอง มันจะสนุก ตื่นเต้น ไปเจออะไรก็ไม่รู้ ไปถึงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้”
 
 
 
วางแผนการเงิน เพื่อรับความสุขของชีวิต
 
“ผมวางแผนเรื่องการเก็บเงินมานาน ผมสร้างอพาร์เม้นท์เองตั้งแต่อายุ 30 ต่อให้เกษียณผมก็ยังมีรายได้เข้ามาทุกเดือน พอเราวางแผนทางการเงินที่ดี เราก็จะมีโอกาสเกษียณได้อย่างสบายใจ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าต้องมีเงินก้อนหนึ่งที่ใหญ่พอสมควร และต้องมีรายได้ส่วนหนึ่งต้องเข้ามา ถามว่าคนอายุ 60 จะไปซื้อบ้านใหม่หรือ ก็คงไม่ใช่ หรือต้องไปซื้อรถเบนซ์เพื่ออวดใครหรือเปล่า ก็คงไม่ใช่ ผมซื้อรถญี่ปุ่นขับก็ไปไหนได้เหมือนกัน”
 
นอกเหนือจาก Passive income จากอพาร์ทเม้นท์แล้ว เครื่องมือทางการเงินอีกหลายตัวที่คุณอังกูรได้วางแผนมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม แน่นอนว่าประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ย่อมมีเป็นทุนเพื่อการเกษียณอายุแล้ว การลงทุนในกองทุนปิดและเปิดเป็นอีกทางเลือก แต่จะไม่ขอข้องแวะกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนทองคำ หรือกองทุนน้ำมัน เพราะไม่ชอบ และไม่มีความรู้
 
 “ตอนนี้ฝากแบงก์ไม่ได้อะไร แต่ถามว่าเงินในแบงก์ต้องมีอยู่หรือไม่ ก็ต้องมี เพราะมีเงินฝากบางประเภทที่ดีในระดับหนึ่ง เช่น เงินฝากไม่เสียภาษีก็ยังมีอยู่ สำหรับกองทุน เราอาจถูกบังคับด้วยเรื่องของภาษี อย่าง RMF LTF หรือ SFF จำเป็นต้องซื้อก็ซื้อ เมื่อซื้อแล้วก็อย่าไปคิดอะไรกับมันมาก ตอนนี้ก็อย่าไปดูมัน ของลงได้ก็ขึ้นได้ สำหรับหุ้น เคยตั้งใจว่าชีวิตนี้จะไม่เล่นหุ้นอีกแล้ว เพราะเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ผมเคยเสียเกือบแสน ถือว่าเยอะมาก แต่หลังๆ เราก็รู้เรื่องเยอะขึ้น ก็ดูว่าเราพอเสี่ยงอะไรได้บางอย่าง แต่ไม่เยอะ”
 
 
และนี่คือ "คุณอังกูร ศรีกัลยาณบุตร" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Marketing Officer
 

บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ต้นแบบของ Work life balance อีกคนหนึ่งที่สามารถรังสรรค์ชีวิตตนเองให้สัมฤทธิ์ผลได้ตามเป้าหมาย 


บันทึกโดย : sakidloวันที่ : 27 ก.ค. 2563 เวลา : 19:16:13
กลับหน้าข่าวเด่น
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:49 am