Special Report : ปีหน้ายังไม่พ้น "เศรษฐกิจโลก" เสี่ยงถดถอยอย่างเป็นทางการ ควรเอาตัวรอดอย่างไรดี


 
เข้าสู่ช่วงเทศกาลสิ้นปี บ่งบอกถึงสัญญาณการเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ที่จะเกิดในปี 2023 ซึ่งเรื่องที่ใครหลายๆคนต่างระแวดระวัง คงหนีไม่พ้นสภาพทางเศรษฐกิจว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางไหนต่อ หลังจากมรสุมของทั้งสภาวะเงินเฟ้อ และสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าคลี่คลายลง

 
ในตอนนี้สิ่งที่กำลังเป็นประเด็นที่สุด คือเรื่องของ Recession หรือสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่กำลังโดนทุกสายตาเพ่งเล็งตั้งแต่ GDP ของสหรัฐในไตรมาสที่ 1 และ 2 มีการหดตัวติดต่อกัน ซึ่งสามารถนิยามได้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะ Recession หรือสภาวะถดถอยในเชิงเทคนิคแล้ว และจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของปีหน้า หรือปี 2023 เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงต่อการเกิด Recession หรือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น โดยมีเปอร์เซ็นต์การเกิดสภาวะดังกล่าวอยู่ที่ 47% ซึ่งถือว่ามีโอกาสเสี่ยงสูง และหากดูแนวโน้มของค่า GDP ในปีหน้าตามรูปด้านบน จะเห็นว่าในปีหน้าทั่วโลกจะมี GDP ลดต่ำลง และอยู่ในขาลงมาตลอด โดยประเทศหลักๆ ที่จะประสบปัญหากับค่า GDP ที่ต่ำลงจนเสี่ยงต่อการเกิด Recession ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีเปอร์เซ็นต์การเกิดอยู่ที่ 63% สหภาพยุโรป 80% และสหราชอาณาจักรสูงถึง 90%
 
เท่ากับว่าในแง่เศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องระวังในปีหน้าเป็นพิเศษ คือเรื่องของ Recession โดยเฉพาะทางฝั่งประเทศตะวันตกจากข้อมูลดังกล่าว ยิ่งสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง และคงยิงยาวไปถึงปีหน้า ซึ่งหมายถึงการคงอยู่ของปัญหาด้านพลังงานธรรมชาติที่มีประเด็นกับสหภาพยุโรป ทำให้ปีหน้าหากลงทุนในฝั่งของประเทศดังกล่าวอาจจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกที และทางด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวนเช่นกันในช่วงครึ่งปีแรก จากผลกระทบของทางฝั่งยุโรป ก่อนมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีหลัง
 
 
ส่วนเรื่องของสภาวะเงินเฟ้อ อีเว้นท์หลักของปีนี้ ในปีหน้านั้นความสนใจที่เคยมุ่งไปทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดจะลดลง เพราะค่าของ CPI ได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา และแนวโน้มในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทางเฟด จะมีการขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง จากเดิมที่คงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% มาแล้ว 4 ครั้ง ในเดือนธ.ค. ที่จะถึงนี้ไปจนถึงปีหน้า เฟดอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงที่ครั้งละร้อยละ 0.25-0.50 เนื่องจากค่า CPI มีแนวโน้มที่ลดลงจากรูปภาพด้านบน
 
 
ฉะนั้นหากมองโอกาสในการทำธุรกิจหรือลงทุนจากข้อมูลข้างต้น ในปีหน้าทางฝั่งประเทศโซนเอเชียจะมีโอกาสเติบโตมากกว่า โดยเฉพาะทางฝั่งของประเทศไทย ที่มีจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยว การเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาหลังโควิดลดความร้อนแรงลง จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่า ประเทศเรามียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 5.7 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ และมีการคาดการณ์ว่าปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังไทยอยู่ที่ 20 ล้านคน ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ สัดส่วนการบริโภคจากคนต่างชาติต่อ GDP จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาคการบริการก็จะได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจในด้านนี้เป็นที่น่าสนใจอย่างมากในปีหน้า
 
แต่เนื่องจากการที่ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโต เงินต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาถือหุ้นและพันธบัตรไทย ทำให้ค่าเงินบาทในปีหน้าก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยในเดือน มี.ค. จะค่อยๆขยับฐานขึ้นมา ในกรอบ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็จะมีผลกระทบในด้านของภาคการส่งออก ที่ธปท.อาจต้องเข้ามาดูแลในวาระถัดไป
 
ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 
 
 
 
 

LastUpdate 28/11/2565 10:07:13 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 1:44 pm