Scoop : เคลียร์ให้ชัด "เก็บภาษีขายหุ้น" เอื้อต่อนักลงทุนรายใหญ่จริงหรือไม่ "ใครจำเป็นต้องเสียบ้าง"


 
นับว่าเป็นที่โอดครวญในบรรดาเหล่านักลงทุนรายย่อยของไทย กับการที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสากร นำเสนอเรื่องภาษีขายหุ้นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้มีมติเห็นชอบหลักการ “การเก็บภาษีขายหุ้น” เมื่อวันอังคารที่ 29 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา แต่จะยกเว้นการเก็บภาษีกับนักลงทุนรายใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้สร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้น และถือเป็นการออมเพื่อเสริมความมั่นคงให้กับคนส่วนใหญ่ ซึ่งข้อยกเว้นนี้กำลังเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ว่า กระทรวงการคลังกำลังเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนรายใหญ่ และเบนเข็มมาเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้ลงทุนรายเล็กๆ แทนหรือไม่?
 
ในวันที่ 2 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นภาษีขายหุ้นดังกล่าวว่า ตามที่ ครม. มีมติอนุมัติการยกเลิก “ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะกับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์” (หรือก็คือการเปลี่ยนมาเก็บภาษีการขายหุ้น) นั้นก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ
 
 
 
 
โดยกระทรวงการคลังย้ำที่จะเดินหน้าในการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น จากเหตุผลสนับสนุนข้างต้น แต่จะยกเว้นการเก็บภาษีให้แก่ 8 กองทุนและองค์กร ได้แก่ 1.ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น 2.สำนักงานประกันสังคม 3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 5.กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 6.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 7.กองทุนการออมแห่งชาติ และ 8.กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น
 
ซึ่ง Market Maker ในข้อแรกนั้น นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า ไม่ใช่เป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ตามที่ข่าวออกไปอย่างคลาดเคลื่อนก่อนหน้านี้ แต่ Market Maker คือผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือก็คือบริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด
 
เท่ากับว่า ที่ ครม.เห็นชอบในการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนี้ จะไม่กระทบกับกลุ่มของ Market Maker และกองทุนบำนาจเพื่อส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียนอายุ แต่ผู้ที่ต้องรับภาระการเสียภาษีครั้งนี้คือนักลงทุนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ โดยจะมีการจัดเก็บภาษี 2 ช่วงด้วยกัน ซึ่งช่วงที่ 1 จะจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.05 (ร้อยละ 0.055 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 และช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 (ร้อยละ 0.11 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
 
อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ ทุกๆ การขายหุ้นก่อนหักค่าคอมมิชชั่น จะเสียภาษี 0.055% ในปี 2566 และขยับเพิ่มมา 0.11% เมื่อถึงปี 2567 สมมติหากขายหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาท เราก็จะต้องเสียภาษี 550 บาท และ 1,100 บาทตามลำดับ ฉะนั้นหากใครเป็นนักเก็งกำไรที่มีการซื้อมาขายไป หรือ Transaction หลายๆ ครั้งเพื่อทำกำไร ก็จะต้องรับมือเสียภาษีในทุกๆ ครั้งที่มีการขายหุ้นออกไป
 
จึงกลายมาเป็นข้อกังวลถัดมาอีกเรื่องหนึ่งว่า การกลับมาเก็บภาษีการขายหุ้นครั้งนี้ (หลังจากที่ยกเว้นมา 31 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น) จะทำให้ Volume ในตลาดนั้นลดต่ำลง จากส่วนของการเทรดระยะสั้น เนื่องจากต้นทุนสำหรับการจ่ายภาษีเพิ่มสูงขึ้น และทุกๆ การขายหุ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการขายเพื่อทำกำไรไปเสียทุกครั้ง แต่ยังมีการขายเพื่อตัดการขาดทุน หรือที่เรียกว่า Cut Loss อยู่ด้วย ซึ่งเมื่อ Transaction หายออกไปจากตลาด อาจส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นไทย และทำเงินทุนไหลออกไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศหรือสินทรัพย์อื่นได้
 
ทั้งนี้มติเห็นชอบดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ช่วงที่ 1 0.055% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 หลังจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศ หรือเก็บภาษีจริง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 ปีหน้าที่จะถึงนี้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นไทย หรือจะคุ้มเสีย เนื่องจากเป็นการเก็บภาษีมาเพื่อพัฒนาประเทศ ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูในสถานการณ์จริงกันต่อไป

LastUpdate 04/12/2565 19:39:53 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 12:40 pm