Special Report : เงินเฟ้อไทย ต่ำสุดอันดับ 6 ของโลก ราคาพลังงาน-อาหาร ปรับลดลง


สถานการณ์เงินเฟ้อนับว่ายังคงเป็นปัญหาหลักที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งทุกภาคส่วนต่างคอยเดินหน้าแก้ไขปัญหาเชิงรุก และประคับประคองตัวเลขเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งสูงมากขึ้นกว่าเก่า นับตั้งแต่การออกนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ส่งผลกระทบกับตลาดลงทุนไปทั่วโลก และธนาคารกลางประเทศอื่นๆที่คอยออกมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าวให้เศรษฐกิจประเทศตนทรงตัวอยู่ได้

 
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (CPI) จาก investing.com

แต่หากลองมาดูสถานการณ์เงินเฟ้อในฝั่งประเทศไทยบ้านเรากลับมีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะหากดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรือ CPI ที่เอาไว้วัดระดับเงินเฟ้อนั้นจะเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 107.58 หรือ 0.23% ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 22 เดือน อีกทั้งยังมีทิศทางที่ชะลอตัวลงของเงินเฟ้อติดต่อกัน 6 เดือนอีกด้วย

ทางด้านของกระทรวงพาณิชย์มีการปรับเป้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 2 และแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ก็คาดว่าจะปรับลดลงอีก เนื่องจากราคาพลังงานอย่างน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในกรอบขาลง สินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์และวัตถุดิบประกอบอาหารมีราคาปรับลดลง (และคาดการณ์ว่าจะยิ่งมีราคาลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น) ประกอบกับฐานราคาในเดือน มิ.ย. ของปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง จึงทำให้เศรษฐกิจของไทยเริ่มกลับมาสดใสมากยิ่งขึ้น

เพราะเมื่อเงินเฟ้อลดลง ตามดัชนี CPI ที่แสดงออกมา ก็หมายถึงว่าจากสินค้าที่มีราคาแพงก็จะมีราคาถูกลง อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยในมือของผู้บริโภคในประเทศก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนในฝั่งผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการก็มีต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้มีความสามารถในการขายและการทำกำไรได้มากเพิ่มขึ้น ไม่ต้องรับภาระการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นสูงเหมือนแต่ก่อน ทำให้การลดต้นทุนด้วยวิธีการลดการจ้างงานก็ลดลง ภาพรวมทั้งภาคการบริโภค ภาคแรงงาน ไปจนถึงภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจจึงดีขึ้น ไม่ฝืดเคืองเหมือนช่วงปีที่แล้ว

และถ้าหากเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยในตอนนี้กับประเทศอื่นๆ จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานว่า จากทั้งหมด 134 ประเทศ ไทยของเรามีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 6 โดยมีจีนอยู่ที่อันดับ 3 ที่ 0.2% และมาเก๊าอยู่อันดับ 9 ที่ 0.90% และหากเทียบประเทศไทยเข้ากับประเทศในกลุ่มอาเซียน อัตราเงินเฟ้อของเราถือว่าอยู่ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 1 อีกด้วย


แล้วเศรษฐกิจไทยยังต้องรับความเสี่ยงด้านอื่นอีกหรือไม่?


 
CME Group

ข้อมูลจาก CME Group เปิดเผยถึงการคาดการณ์ของนักลงทุนกว่า 99.8% ว่าในการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในสัปดาห์หน้า หรือคืนวันที่ 26 ก.ค.ที่จะถึงนี้ เฟดอาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมสัปดาห์หน้าที่ระดับ 0.25% เพราะถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐนั้นจะอยู่ที่ 3.0% ลดลงมาจากรอบเดือน พ.ค.ที่ 4.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่ต้นปี 2021 แต่ตัวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 4.8% ซึ่งถึงจะลดลงมาแล้วแต่ยังอยู่ในระดับสูง ยังไม่ใช่จุดที่เพียงพอที่จะทำให้ทางเฟดหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงมีโอกาสที่อาจจะเกิดความผันผวนของตลาดลงทุนได้อีกเล็กน้อย อีกทั้งทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีการแข็งค่าขึ้นหลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอ
สวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด และมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีกรับข่าวจากการประกาศจากทางเฟดหากมีการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทนั้นมีการอ่อนค่าลงอีกจากกรอบปัจจุบันที่ทะลุระดับ 34.05 – 34.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ ขณะนี้ 


 

LastUpdate 24/07/2566 10:08:08 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 6:46 pm