Special Report : "ต้อนรับปี 2024" เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ตลาดหุ้นเสี่ยงผันผวน รับมืออย่างไรดี?


ตลอดปี 2023 นี้ เศรษฐกิจทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อ ที่ต้องแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ภาคธุรกิจต่างเข้าสู่สภาวะตึงเครียด ซึ่งทั้งต้องรับภาระในการชำระดอกเบี้ยที่มากขึ้น และมีกำไรลดลงจนถึงขาดทุน เนื่องจากผู้คนต่างเก็บเงินสดไว้กับตัวเพื่อใช้ในยามจำเป็น ลดการกู้ เพราะมีกำลังซื้อไม่มากเท่าแต่ก่อน จึงไม่แปลกที่เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยลง และประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้ด้วยหนี้ก็เกิดการชะลอตัวลง
 
การเกิดสภาวะตึงเครียดของตลาดโลกดังกล่าวทำให้ในที่สุดก็เกิดวิกฤตครั้งใหญ่อย่างการล้มละลายของบรรดาสถาบันการเงิน รวมทั้งสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และยังเกิดความขัดแย้งในตะวันออกซ้ำเข้ามาในช่วงปลายปีนี้อีก ทำให้เรียกได้ว่าปี 2023 ตลาดโลกเกิดความผันผวนตลอดปี และยังมีส่วนที่ลากยาวไปจนถึงปีหน้าด้วย ฉะนั้นการเตรียมรับมือปีใหม่ในเรื่องของการบริหารจัดการเงิน จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเงินในพอร์ตของเรา
 
โดยปี 2024 ที่จะถึงนี้ เศรษฐกิจทั่วโลกนั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลง หรือ Soft Landing แต่จะมีการชะลอตัวไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ เนื่องจากผลกระทบของดอกเบี้ยที่ยังคงค้างอยู่ในระดับสูง ซึ่งในฟากของทางธนาคารกลางสหรัฐ ทาง “เจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวว่า Fed มีความคืบหน้าในการปรับลดเงินเฟ้อ และเพิ่มความหวังว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอาจแตะระดับสูงสุดแล้ว สอดคล้องกับรายงานของ CME Fed Watch ที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายในปีนี้ (13 ธ.ค.) ว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนี้เอาไว้อยู่ที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นการสิ้นสุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ตรงกับข้อมูลของ SCB CIO ทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจและข้อมูลด้านการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ ว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าว ไปจนถึงช่วงไตรมาส 2 ของปี 2024 เพราะผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐในระดับปัจจุบันก็สูงเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวแล้ว อีกทั้งความคืบหน้าของเรื่องเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง มาตรการการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากที่สูงอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีกจึงไม่จำเป็น แต่เหตุที่ Fed ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนี้ไว้จนถึงกลางปีหน้า เป็นเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หรือสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนอาจลุกลามเป็นสงครามทางตรงระดับใหญ่ทั้งตะวันออกกลางได้ ความเสี่ยงนี้จึงเป็น 1 ปัจจัยกดดันให้ Fed ยังคงต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้
 
ด้วยเหตุนี้ การบริหารจัดการเงิน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางความผันผวนในปี 2024 คือการลงทุนในสกุลเงิน USD เพราะจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสกุลเงินบาท เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และถึงจะลดอัตราดอกเบี้ยลง ในช่วงครึ่งปีหลังหรือไตรมาส 3 ของปี 2024 แต่ทาง SCB CIO ประเมินว่า การลดดอกเบี้ยจะลดในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และช้ากว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งก่อนๆ (Slow and small rate cuts) ทำให้เป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนเนื่องจากเงินทุนไหลออก ฉะนั้น ทั้งการลงทุนด้วยสกุลเงิน USD ที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ก็จะส่งผลไม่มากนักเมื่อลงทุนระยะยาว การเปิดบัญชีฝากเงินตราต่างประเทศสกุลเงิน USD การลงทุนในตราสารหนี้ หรือลงทุนในพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ก็ตาม จะช่วยเพิ่มโอกาสของการลงทุนในปีหน้าได้
 
ตามมาด้วยเรื่องของหุ้น ที่ปีหน้าตลาดโลกก็ยังคงมีโอกาสที่จะเกิดการผันผวนอยู่ จากประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว มีความเสี่ยงกระทบต่อราคาอาหารและพลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ และความไม่แน่นอนทางนโยบายการเมือง จากการเลือกตั้งในหลายประเทศหลัก โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจจุดประเด็นความขัดแย้งกับทางจีนได้ ประกอบกับเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้และการขอยื่นล้มละลายในสหรัฐมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มประเทศ/ธุรกิจที่มีหนี้สูงใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก อาจเกิดปัญหาสภาพคล่องที่ส่งผลต่อกำไรในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวในปีหน้าได้
 
ด้วยเหตุนี้ทำให้ปีหน้าเกิดความเสี่ยงของสภาวะ Stagflation หรือ เศรษฐกิจเติบโตช้าแต่เงินเฟ้อสูง และตลาดการลงทุนมีความผันผวน สภาพคล่องทั่วโลกที่ลดลง ฉะนั้นควรคัดเลือกซื้อหุ้นอย่างระมัดระวัง ซึ่งแนะนำว่าควรลงทุนในหุ้นกลุ่มคุณภาพ อย่างบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแรง ทำธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีความสามารถในการบริหารต้นทุน (เช่น ต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ) มีสัดส่วนหนี้ต่ำ หรือมีความสามารถในการชำระหนี้สูง ผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างชัดเจน ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือเข้ากับ Theme การลงทุนในปีหน้า (เช่น บริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG) เป็นต้น
 
พร้อมกันนี้ ควรจัดสรรพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นกู้อนุพันธ์ รวมถึงอาจกระจายลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์อีก เพื่อเป็นการลดทอนความเสี่ยงอีกขั้นจากความไม่แน่นอนที่อะไรๆก็อาจจะเกิดขึ้นได้ และเพิ่มโอกาสให้เราได้รับผลตอบแทนที่เป็นบวกที่สุด ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกในปีใหม่นี้

LastUpdate 04/12/2566 10:08:04 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 3:52 pm