Special Report : "ภาวะสินค้าจีนทะลักเข้าไทย" ตอกย้ำ จีนเดินเกมการส่งออก หวังดึง GDP โตตามเป้า 5%


เราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนในโลก ก็ต่างคุ้นเคยกับสินค้าที่แปะป้าย “Made in China” กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เนื่องจาก ”จีน“ ได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก และเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้า อันมีที่มาจากการที่ประเทศมีประชากรจำนวนมาก จนเกิดอุปทานของแรงงานในประเทศมากกว่าอุปสงค์ ต้นทุนแรงงานจึงต่ำ อีกทั้งยังมีกำลังผลิตที่เข้มแข็ง ก่อให้เกิดสินค้าสัญชาติจีนกระจายตัว ส่งสินค้าไปขายยังทั่วโลก และหลากหลายแบรนด์ดังก็ยังมีการจ้างผลิตสินค้าจากโรงงานจีน (OEM) จำนวนมาก ทั้ง สกินแคร์ Counter Brand สินค้าแบรนด์เนม และแบรนด์ชื่อดังระดับโลกอื่นๆ ก็ต่างมีโรงงานผลิตจากทางจีนแทบทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความได้เปรียบทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลดีในระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิต จึงไม่แปลกที่ซัพพลายเออร์ของจีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และได้นำสินค้าส่งออกไปยังนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทย ด้วยข้อได้เปรียบหลักทางด้านราคาของสินค้า

โดยสถานการณ์ปัจจุบันนี้ สินค้าจีนที่นำเข้ามายังประเทศไทย เรียกได้ว่ากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เพราะไทยกำลังขาดดุลทางการค้ากับทางจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากระดับที่ 2 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันขาดดุลสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท และมีทิศทางที่จะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์มากขึ้นอีกด้วย โดยสาเหตุของสินค้าจีนทะลักเข้ายังประเทศไทยอย่างไม่หยุดไม่หย่อนนั้น มีที่มาจากการที่กรมศุลกากรได้มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าที่นำเข้าผ่านออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาทตั้งแต่ปี 2561 ทำให้เกิดสภาวะสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำอยู่แล้วทุ่มเข้ามาขายยังไทยดังกล่าว อีกทั้งยังมีการใช้ช่องโหว่ในเรื่องนี้ทำการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีอีกด้วย โดยเห็นได้จากสถิติ 3 ปีย้อนหลัง (2564-2566) ของกรมศุลกากรรายงานว่า มีสินค้านำเข้าจากจีนที่มีราคาไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ทะลักเข้ามาไทย 153 ล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 42,214 ล้านบาท สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่เสียเปรียบตั้งแต่ต้นทุนการผลิตในประเทศที่แพงกว่า ไม่มีมาตรการจากรัฐบาลที่เกื้อหนุนเหมือนกับทางสินค้าจีน อีกทั้งสินค้าไทยยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม Vat 7% ตั้งแต่บาทแรกอีกด้วย ทำให้ SME ในประเทศ ที่แพ้ตั้งแต่ราคาสินค้าที่แพงกว่า ต่างล้มหายตายจากไป ส่วนร้านค้าที่เคยอาศัยนำสินค้าจากจีน เป็นคนกลางเข้ามาขายในไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

โดยบทบาทของพ่อค้าคนกลาง ที่รับสินค้าจากจีนมากระจายเข้าไทย ในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างอาชีพให้กับคนไทย จากสาย Supply ที่เกิดอาชีพต่างๆ จากการนำเข้าสินค้ามากมาย เพราะในอดีตการนำเข้าสินค้าเข้าไทยจากจีน จำเป็นต้องมีพ่อค้าคนกลาง คอยประสานงาน และตรวจสอบคุณภาพสินค้า ก่อนกระจายสินค้าไปยังผู้ค้าปลีกชาวไทย ที่จะมีกลยุทธ์การเพิ่มราคาสินค้าเพื่อขายทำกำไร จนในช่วงก่อนหน้านี้ สำหรับใครที่อยู่ในสายของการนำสินค้าจีนมาขาย ก็ต่างสร้างเนื้อสร้างตัวได้ในหลายวงการ เช่น การรับสินค้าประเภทวิก ชุดคอสเพลย์จาก Taobao ของจีน มาป้อนให้กับตลาดคอสเพลย์ในไทยที่เป็นที่นิยมกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดแฟชั่นเสื้อผ้า ที่ทั้งบริการ Shipping รับหิ้ว และการติดแบรนด์ตัวเองมาขายอีกที เฉกเช่นเดียวกับสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม (Topper, ผ้าปูที่นอน) เครื่องประดับ และของใช้ในบ้าน รวมถึงอื่นๆ อีกมากมาย เพราะระบบนี้ช่วยให้เกิดรายได้หมุนเวียน ทั้งจากการขายสินค้า การจ้างงาน และการเสียภาษี

แต่ปัจจุบัน บทบาทของพ่อค้าคนกลาง กำลังจางหายไป เพราะสินค้าจากโรงงานจีน สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยได้โดยตรง ผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์สัญชาติจีนได้โดยตรง ทั้ง Shopee Lazada นอกจากนี้ หากผู้ผลิตสินค้า และผู้ขายชาวจีน อยากจะนำสินค้าของตัวเองมาขายที่ไทย ก็ได้เปรียบทั้งค่าขนส่งสินค้า ที่การส่งสินค้าจากจีนถึงมือผู้บริโภคในไทย มีราคาที่ถูกกว่าการส่งจากโกดังในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลงเมื่อ 50 ปีก่อน ของสมาชิกสหภาพไปรษณีย์สากล (UPU) ที่ตกลงว่า ประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยในช่วง 50 ปี ณ ขณะนั้น จีนยังถือว่าเป็นประเทศยากจน ไทยจึงต้องเสียค่าจัดส่งมากกว่าจีน และยังไม่ถูกปรับเปลี่ยนจนถึงปัจจุบัน

จากข้อตกลงทั้งหมดดังกล่าว จะยังคงเป็นแต้มต่อให้กับผู้ผลิตและพ่อค้าแม่ค้าชาวจีน ที่จะส่งสินค้าของตนเข้ามาขายในประเทศไทยต่อไป ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 นี้ จำนวนสินค้าจีนมีแนวโน้มที่พุ่งสูงมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจจีน ยังมีปัญหาด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ที่ทำให้เงินในกระเป๋าของคนจีนลดลง จนเกิดการเทขายอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ ที่นักลงทุนจีนเคยซื้อเอาไว้ (รวมถึงย่านห้วยขวางของไทย) เพื่อรักษาความมั่งคั่งของตัวเองเอาไว้ และทางรัฐบาลจีนไม่ได้มีการออกมาตรการอย่างจริงจังที่จะดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ทางศูนย์กสิกรไทยวิเคราะห์ว่า ทางการจีนมีแนวโน้มที่จะใช้กลยุทธ์อื่นเข้ามาพยุงปัญหาอสังหาริมทรัพย์ อย่างภาคการส่งออก เพื่อให้ GDP ประเทศ เติบโตตามเป้า 5% ที่วางไว้ในสิ้นปี 2567 นี้

แต่ก็เป็นข่าวดีที่ว่า ช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลไทยได้มีการประกาศว่า จะเริ่มต้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% จากสินค้าที่ส่งจากต่างประเทศที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อกล่องพัสดุแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ขายในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการช่วยเหลือ SME ให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ภายหลังการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว จะเกิดกลยุทธ์การแข่งขันทางด้านราคา ที่สินค้าจีนอาจมีการกดราคาให้ต่ำลงไปอีกหรือเปล่า เพื่อประโยชน์ด้านการครองตลาดสินค้าราคาถูกในไทย เพราะความได้เปรียบทางด้านต้นทุนราคาถูก เป็นแต้มต่อสำคัญที่ทำให้การค้าจีน ได้เปรียบจนไทยเสียดุลการค้าในหลายปีมานี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 เม.ย. 2567 เวลา : 19:06:52
กลับหน้าข่าวเด่น
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 3:21 pm