แบงก์-นอนแบงก์
คปภ.ชู "ไมโครอินชัวรันซ์" เจาะตลาดภูธร ดึงคนไทยทำประกันดันเบี้ยต่อจีดีพี พุ่งแตะ 6%



หลังจากผ่านมรสุมอันเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในธุรกิจประกันภัยอย่าง "วิกฤตมหาอุทกภัย" เมื่อปลายปี 2554 วันนี้เรียกว่า ธุรกิจประกันภัยไทย ทยอยฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะที่ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากขึ้น แม้จะเผชิญกับความเสียหายมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท แต่ก็กลายเป็นปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เบี้ยประกันพุ่งทะยานขึ้นในปี 2555

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า 10 เดือนแรกของปี 2555 ธุรกิจประกันภัย (ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย) กวาดเบี้ยรับรวมไปแล้วทั้งสิ้น 4.56 แสนล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 20.39% เรียกว่าสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้อัตราส่วนของเบี้ยประกันภัยทั้งระบบต่อจีดีพีขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณเกือบ 5% แล้ว

"ประเวช องอาจสิทธิกุล" เลขาธิการ คปภ. ยืนยันว่า เป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาธุรกิจประกันภัยฉบับที่ 2 ซึ่งจะไปสิ้นสุดในปี 2557 นั้น จะต้องผลักดันเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีให้วิ่งไปถึง 6% ตามเป้าหมายให้ได้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่อ้างอิงจากประเทศสิงคโปร์ ที่ถือว่าธุรกิจประกันภัยพัฒนาไปมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน แม้จะยังมีเวลาอีก 2 ปีภายใต้เป้าหมายดังกล่าว แต่เขาบอกว่า ความท้าทายของธุรกิจประกันภัยก็ยังมีไม่ใช่น้อย เพราะในจังหวะที่ธุรกิจเติบโตไปนั้น จีดีพีก็ขยายตัวขึ้นเช่นกัน ทุกวันนี้ก็เกือบ 11 ล้านล้านบาทแล้ว 

"ถ้าจะตั้งคำถามว่า อัตราเบี้ยต่อจีดีพีประมาณเกือบ 5% ในเวลานี้เราพอใจแค่ไหน ถ้าเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน เราถือว่าใกล้เคียงกับมาเลเซีย แต่ต่ำกว่าสิงคโปร์ มุมนี้ก็คงน่าพอใจ แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งไทยก็ถือเป็นประเทศใหญ่กว่า ตัวเลขนี้ก็ถือว่ายังต่ำ ทั้งที่เรายังมีศักยภาพจะเติบโตได้อีกมากมาย ประชากรเกือบ 70 ล้านคน มีคนถือกรมธรรม์เฉลี่ยประมาณ 30% ของประชากร ฉะนั้นเราก็ต้องเดินหน้าต่ออีกเยอะเหมือนกัน"

หากลองย่อยจากโจทย์ที่ประเวชได้มองภาพไว้ ลงมาเป็นแนวทางการผลักดันธุรกิจประกันภัยในปี 2556 เขาบอกว่า โจทย์ใหญ่คงอยู่ที่ความพยายามรักษา "แรงผลักดันการเติบโต" ให้ยังวิ่งอยู่อย่างต่อเนื่องให้ได้ น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งครึ่งปีแรกคงมีแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีรถคันแรกที่ยังร้อนแรงพอสมควร รวมถึงประกันภัยพิบัติที่น่าจะยังมีความต้องการอยู่ในปี 2556 แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามผลักดันปัจจัยใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาสนับสนุนตลาดในครึ่งปีหลังด้วย

"โดยภาพรวมของปี 2556 คปภ.ยังมองการขยายตัวของธุรกิจประกันภัยไว้ที่เกินกว่า 10% และค่อนข้างไปทางปลายด้วยซ้ำ เพราะปัจจัยแวดล้อมและการแข่งขันน่าจะยังไปได้ แต่ก็ยอมรับว่าในปี 2555 เติบโตสูงจนทำให้การจะรักษาระดับการเติบโตแบบนี้ไว้ต่อไปเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเหมือนกัน"

สิ่งที่เขาอยากผลักดันให้มากขึ้นก็คือ การกระจายตัวของแรงซื้อประกันภัย เพราะวันนี้แรงซื้อส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดยังเข้าไม่ค่อยถึงระบบประกันภัย ฉะนั้นการสนับสนุนให้ประกันภัยไปถึงคนทั่วประเทศได้ก็จะเป็นแรงส่งที่ดีให้มูลค่าเบี้ยขยายตัวตามไปเอง ซึ่ง "ไมโครอินชัวรันซ์" หรือการประกันภัยที่เบี้ยต่ำ เพียงหลักร้อยบาท คุ้มครอง 50,000-100,000 บาท น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายดังกล่าว

ฉะนั้น แรงส่งจากปัจจัยบวกต่างๆ การแข่งขัน และการลงแรงรุกตลาดผ่านไมโครอินชัวรันซ์จะแข็งแกร่งมากพอให้สามารถไปถึงเป้าหมายอัตรา 6% ของจีดีพีได้อย่างไร ต้องติดตามชม 


LastUpdate 05/01/2556 12:52:47 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:16 am