แบงก์-นอนแบงก์
ลุ้นประกันชีวิต กวาดเบี้ยทะลุ 4 แสนล้าน อานิสงส์สินค้า


ปี 2555 ก็ยังเป็นอีกปีหนึ่งที่ประกันชีวิตยังวิ่งไม่ด้อยไปกว่าปีที่ผ่านๆ มา แม้จะยังไม่มีข้อมูลสรุปอย่างเป็นทางการ แต่ตัวเลข 10 เดือนแรกของปี 2555 ก็กวาดเบี้ยไปแล้วกว่า 3.1 แสนล้านบาท เติบโต 18% และประเมินว่าเมื่อครบ 12 เดือน เบี้ยประกันชีวิตน่าจะพุ่งแตะ 3.5 แสนล้านบาทได้ไม่ยาก

"สาระ ล่ำซำ" นายกสมาคมประกันชีวิตไทย บอกว่า ปกติแล้วประกันชีวิตจะเติบโตในอัตราประมาณ 2-3 เท่าของอัตราเติบโตของจีดีพีอยู่แล้ว ซึ่งมองว่าปี 2556 ก็น่าจะยังคงเดินไปในทิศทางนี้เช่นกัน  หากนำมาประกอบกับคาดการณ์ของสภาพัฒน์ที่ประเมินว่า จีดีพีปี 2556 น่าจะขยายตัวราว 4.5-5.5% หรือเฉลี่ยที่ประมาณ 5% ฉะนั้นภายใต้สมมติฐานนี้ ประกันชีวิตก็น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 10-15% โดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้มาก ซึ่งก็จะประเมินได้ว่ามีเบี้ยรับรวมในปี 2556 เฉียด 4 แสนล้านบาท

สิ่งที่สำคัญกว่ามูลค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ขยายตัวนั้น สาระมองว่า สินค้าในกลุ่ม "ความคุ้มครอง" จะเป็นสินค้าหลักที่ผลักดันตลาดให้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบคุ้มครองภาระสินเชื่อที่จะขยายไปตามทิศทางสินเชื่อของภาคธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ อุบัติเหตุ และโรคร้ายแรงต่างๆ ก็เป็นแนวโน้มเติบโตไปในกลุ่มนี้ด้วย

สัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดของเขา ก็คือ ตลาดประกันชีวิตสำหรับผู้สูงวัย ที่ล้อกับเทรนด์สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งเป็นสิ่งบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งเข้ามาทำมากขึ้น และปรับตัวตามการแข่งขัน เช่น การขยายอายุรับประกันให้ยาวขึ้น และเพิ่มทางเลือกในการซื้อสัญญาเพิ่มเติมอื่นๆ เข้าไปได้ด้วย เป็นต้น

"ความคุ้มครองก็คือ พื้นฐานของประกันชีวิต คือการบริหารความเสี่ยงในชีวิต ปัจจัยส่วนหนึ่งคงอยู่ที่ภาคธุรกิจที่พยายามปรับตัวและทำให้เข้าถึงลูกค้ามากที่สุด แต่ปัจจัยหลักยังคงอยู่ที่ ความเข้าใจ ของคนไทยมากกว่า ที่ต้องยอมรับว่า วันนี้คนเข้าใจประโยชน์ของประกันชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความพร้อม มีเงินส่วนเกินในระดับหนึ่งก็สามารถมาซื้อประกันชีวิตได้แล้ว ตลาดนี้ก็เติบโต"

แม้สินค้าในกลุ่มคุ้มครองชีวิตจะเป็นแรงส่งที่สำคัญในการเติบโตดังที่สาระให้ความเห็นนั้น แต่เขาก็ยังเชื่อว่าประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ก็จะมิได้ลดความสำคัญลงไป สินค้ายังคงเป็นการออมเงินเพื่อตอบโจทย์การวางแผนทางการเงินระยะกลาง-ยาวเป็นหลัก ประมาณ 10-15 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกันก็อาจจะมีสินค้าออมทรัพย์ระยะสั้นออกมาเป็นระยะ เน้นจับตลาดเฉพาะกลุ่ม

บนวิสัยทัศน์ที่มองว่าธุรกิจประกันชีวิตยังเติบโตได้นั้น เขามองว่าการเติบโตเริ่มทรงตัวในระดับหนึ่ง แม้ตลาดจะมีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันแบบประกันจำนวนไม่น้อยก็เริ่มอยู่ในภาวะ paid-up หมายถึง ครบระยะเวลาจ่ายเบี้ยไปแล้ว แต่ความคุ้มครองชีวิตยังเดินต่อไปจนกว่าจะครบอายุกรมธรรม์ ฉะนั้นกรมธรรม์เหล่านี้จะไม่มีเบี้ยต่ออายุเข้ามาเสริมแล้ว 

นอกจากนี้ ยังมีประกันชีวิตอีกไม่น้อย ที่เริ่มครบสัญญาและจ่ายคืนผลประโยชน์ผู้เอาประกัน ทำให้การเติบโตของกรมธรรม์รายใหม่ก็ต้องมาชดเชยกับส่วนเหล่านี้ด้วย ถือเป็นความท้าทายสำหรับตลาดประกันชีวิตไม่น้อยเช่นกัน

ส่วนประเด็นยอดฮิตอย่างเรื่องการเปิดสูู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น สาระบอกว่า จุดแข็งที่สุดของประกันชีวิตไทยก็คือ สินค้าพื้นฐาน ไม่ว่าจะคุ้มครองหรือออมเงินก็ตาม ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดไปสู่การเปิดตลาดใหม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละบริษัทที่จะฉวยโอกาสจากจังหวะในเวลานี้อย่างไรต่อไป เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีอนาคตสดใส และการแข่งขันก็ยังคงร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความสามารถในการครอบครองช่องทางขายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้าถึงลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่า ปี 2556 ก็ยังคงเห็นตลาดประกันชีวิตเติบโตท่ามกลางการขับเคี่ยวอย่างสนุกสนานไม่แพ้ที่ผ่านๆ มา


LastUpdate 05/01/2556 12:48:21 โดย : Admin
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 7:31 pm