เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บทวิจัยเศรษฐกิจ ตอนที่ 2/2556 : "หลุดพ้นจากกับดักการเป็นหนี้" โดย สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร


ปัญญาบวกการยอมรับความพลาดหลงที่เคยเกิดขึ้นเท่านั้น จึงจะทำให้คนในสังคมนั้นหลุดพ้นจากกับดักการเป็นหนี้
ในปี 2556 นี้ นอกเหนือจากความท้าทายด้านที่มาจากต่างประเทศที่กำลังรุมเร้าเข้ามาสู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฟื้นตัวของอเมริกา การแก้ปัญหาที่ไม่จบไม่สิ้นของประเทศในกลุ่มยูโร การเติบโต ทางเศรษฐกิจของจีนที่มีอัตราการเติบโตลดลง ความขัดแย้งในเรื่องดินแดนระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ความขัดแย้งในเรื่องดินแดนระหว่างประเทศในอาเซียนกับจีน หรือแม้แต่ในอาเซียนด้วยกันเอง

ผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลให้การส่งออกของเราทำได้ยากมากขึ้น ในปีที่ผ่านมาเราเคยตั้งเป้าไว้ 15% แล้วลดลงมาเหลือ 7% แต่เราทำได้จริงๆ ไม่เกิน 5% ขณะที่ภาครัฐตั้งเป้าปีใหม่นี้ 12% โดยมีการกำหนดทางถอยไว้ที่ 9% ผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนเพราะอเมริกาพิมพ์เงินใส่ระบบแบบสุดๆ การไหลบ่าของเงินมาหาผลตอบแทนในย่านการเติบโตสูงนี้ ทำให้ค่าเงินเราอาจแข็งขึ้น การส่งออกจะกระทบได้แต่หากเข้าไปแทรกแซงมากก็จะทำให้ธนาคารกลางมีผลขาดทุนมากขึ้น ในด้านค่าแรงที่ปรับเพิ่มทั้งประเทศที่ 300 บาทต่อวัน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบบ้างแล้วในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เช่น พวกอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น
 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงานจะทำให้ราคาพลังงาน เช่น แก๊สแพงขึ้น ค่าไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้น ท้ายของท้ายที่สุดก็จะมีประเด็นที่สำคัญใหญ่ๆ จากภาพใหญ่ข้างต้นไหลลงมาถึงระดับตัวบุคคล ดังนี้
 

1. คนทำงานในบางอุตสาหกรรมจะยังมีความมั่นคงหรือไม่ โอกาสที่จะมีงานทำมีกี่มากน้อย หากมีสัญญาณจากนายจ้างต่างชาติ เรื่องการจ่ายค่าจ้างช้าลง ไม่มีงานที่ต้อง OT มีการเอาสินค้าคงเหลือออกมาขายถูก ลดราคาสุดๆ ขายแบบเก็บมาเป็นเงินสดอย่างเป็นล่ำเปฺ็นสัน บางแห่งมีการให้ค่าคอมสำหรับพนักงานที่เอาไปช่วยขายข้างนอก ขายได้มากมีค่าคอมมาก ท้ายสุดส่วนมากจะปิดโรงงานแบบไม่ทันตั้งตัว จากนั้นก็จะมีข้อพิพาท มีการประท้วง มีการเจรจาต่อรองแล้วเรื่องก็หายไป

2. คนทำงานจะมีเงิน มีรายได้แบบไหน รายได้-รายจ่ายยังเหลือหรือไม่ในแต่ละเดือน ชักหน้าถึงหลังหรือไม่ หากรายจ่ายในการดำรงชีวิตเพิ่มสูงจากราคาพลังงานแล้ว รายรับในปัจจุบันจะพอหรือไม่เพราะข้าวของนับวันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ

3. หนี้สินที่มีอยู่เดิมในเวลานี้ ตัวเรามีภาระกี่มากน้อย มีหนี้อะไรบ้าง ต้องจ่ายเดือนละเท่าใด ไฟเหลืองหรือไฟแดงแล้วหากคนทำงานมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนเกินกว่า 40% ของรายได้แล้วถือว่าเข้าเขตอันตรายแล้ว หากไปถึง 60-70% แล้วอาการท้ายสุดไม่ฝังก็เผาแน่นอน

4. ความคิดที่จะก่อหนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่าหรือกู้มาเพื่อกินใช้แบบเดิมๆ เอามาซื้อของที่ไม่จำเป็นอีกไหม ถ้ายังมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่อาการน่าจะหนัก เพราะเป็นอาการของคนเสพติดหนี้ คิดว่าการเป็นหนี้จะเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหา

5. มีความคิดที่จะยอมรับความผิดพลาด ความพลาดหลงในการดำรงชีวิตแบบเอาหนี้มาเป็นตัวตั้งหรือเปล่า ถ้ายังไม่ยอมรับ ยังคิดว่าที่ผ่านมาตนเองทำถูกแล้ว เหมาะแล้ว ชอบแล้ว และไม่คิดจะลด ละ เลิก ในเรื่องการใช้จ่ายแบบที่ผ่านมาแล้ว คงยากที่จะหลุดพ้นจากความเป็นหนี้ที่กดทับตนเองอยู่

6. มีความคิดว่าการถูกหวย การมีโชคลาภ จากการลงทุนแบบ 100 บาท จะได้เป็นล้านหรือไม่ ถ้ามีผมบอกได้ค่อนข้างชัดว่าน่าจะอาการหนัก ไปไม่รอดแน่ๆ ในโลกปัจจุบันนี้เหงื่อออกจึงจะได้เงิน การทำงานที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น ใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานให้เร็วขึ้นเท่านั้นจึงจะไปรอด การฝากอนาคตไว้กับโชคลาภคงไม่ใช่ยาวิเศษในยุคนี้

7. การอดทน อดออม อดกลั้นต่อความต้องการที่ไม่จำเป็น ไม่ใช้วันนี้เพื่อเก็บเงินเอาไว้ไปใช้ในวันหน้า วันที่มีความจำเป็น คือ ทางออกในวันที่มีเหตุ มีเรื่องที่ไม่คาดคิดไม่คาดฝัน สูตรของการดำเนินชีวิตในปีใหม่นี้คือ "รายได้ลบเงินออมเท่ากับรายจ่าย" เพราะรายจ่ายที่เหลือหลังการออมคือตัวกำหนดความร่ำรวยของเรา เรารวยเท่าใด เราก็ใช้เท่านั้น หากเป็นอย่างนี้ได้เราก็รอด และรอดอย่างยั่งยืนแน่นอน

 

สุรพล โอภาสเสถียร
 
ผู้จัดการใหญ่
 
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ม.ค. 2556 เวลา : 11:55:20
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 7:32 pm