เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธสน. มองเศรษฐกิจไทย - โลก


 

ธสน. มองเศรษฐกิจไทย-โลก ปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ธสน. คาดเศรษฐกิจไทยปี 2556 ดีขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5 สืบเนื่องมาจากการเกื้อหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ โดยจะขยายตัวประมาณ 8 - 9% หลังจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
   
นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องประมาณร้อยละ 5 สืบเนื่องมาจากการเกื้อหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับสูง นอกจากนี้ในเรื่องของการส่งออก ก็จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากปี 2555 ที่ผ่านมา จะพบว่าเศรษฐกิจโลกพบวิกฤตอย่างหนัก ทั้งในสหรัฐและยุโรป จนทำให้การส่งออกซบเซาลง
         
ปัจจัยอุปสงค์ในประเทศที่เกื้อหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งปัจจัยสนับสนุนจะเป็นเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งจะมีส่วนทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รายได้ของเกษตรกรที่ดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมถึงเรื่องการจำนำข้าวของรัฐบาล ก็จะทำให้รายได้เกษตรดีขึ้น และนโยบายรถคันแรกที่ทยอยคืนภาษีในแต่ละปี
           
นอกจากนี้ที่ทำให้อุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นก็คือการลงทุนในภาคเอกชน เราจะพบว่าตัวเลขที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านไปที่ BOI ปี 2555 สูงถึง 1.46 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นปรากฏการณ์ และการลงทุนภาครัฐซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าเบิกจ่ายไม่น้อยกว่า 80% รวมถึงภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนต่อการขยายตัวต่อเศรษฐกิจในกว่า 60% โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัว 8-9% ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ดีขึ้น
           
ในเรื่องของปัจจัยที่จะส่งเสริมการส่งออกในปีนี้ ปัจจัยแรกเลย คือ เรื่องของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) คาดว่าจะโตอยู่ที่ 3.6% ขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 3.3% และ EU น่าจะกลับมาขยายตัวที่ 0.2% จากปีที่แล้วติดลบ 0.4% ส่วนตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง คือจีน คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจีนจะกลับมาขยายตัวเกิน 8% เหมือนเดิม หลังจากปีที่แล้วเศรษฐกิจจีนโตต่ำสุดในรอบ 13 ปี ส่วนตลาดใหม่อื่นๆ ทั้งอาเซียน ทั้งอินเดีย ก็คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
           
ปัจจัยต่อมาที่จะส่งเสริมการส่งออกให้ดีขึ้นอีกปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบในสิ้นปี 2558 นี้ จะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นเรื่องของการค้าการลงทุนในอาเซียนให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งความหวังไว้ที่อาเซียนค่อนข้างมาก โดยมองว่ามูลค่าการส่งออกในอาเซียนน่าจะโตได้ประมาณ 10% และตั้งเป้าประเทศเพื่อนบ้านโต 20%
         
และปัจจัย เรื่องภาคของการผลิตที่เข้าสู่ภาคปกติ หลังจากเจอเรื่องของอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นการส่งผลดีให้ตัวเลขของการส่งออกขยายตัว และปัจจัยเรื่องราคาสินค้าเกษตร อันนี้เกี่ยวเนื่องมาจากทิศทางเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับประเทศต่างๆ ที่เป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้นักลงทุนเริ่มเข้าไปเกร็งกำไรในเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ทำให้ส่งผลดีกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมไปถึงราคาสินค้าเกษตรที่เราส่งออกด้วย ซึ่งตรงนี้จะทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นและจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น
 
ส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทย ปัจจัยแรกคือเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากว่าประเทศหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อียู หรือญี่ปุ่น ก็จะมีการอัดฉีดเงินจำนวนที่มหาศาลเข้าระบบ เม็ดเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งก็ไหลเข่าสู่ตลาดเงินและตลาดทุนในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะเอเชียซึ่งเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอยู่ รวมไปถึงประเทศไทยด้วย ก็จะส่งผลให้มีความต้องการของเงินบาทมากขึ้น และเงินบาทก็จะแข็งค่ามากขึ้น เปรียบเทียบกับค่าเงินบาทในช่วงกลางปีที่ผ่านมาแล้วจะอ่อนอยู่ที่สามสิบเอ็ดปลายๆ ถัดจากนั้นก็จะมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักต่างๆ นำมาใช้โดยเฉพาะในสหรัฐ จากกลางเดือนมกราคม ปี 2556 เทียบกับ เดือนมกราคม ปี 2555 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมา 4.4% แข็งมากที่สุดในภูมิภาครองมาจากมาเลเซีย และคงจะต้องจับตาดูว่าค่าบาทจะเป้นอย่างไร และในปี 2556 บสน.คาดว่าปัจจัยแวดล้อมที่จะกระทบกับค่าเงินบาทคงจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เนื่องจากกระแสเงินทุนไหลเข้ามายังมีต่อเนื่อง จากมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ยังคงอีกสักระยะจะส่งผลให้ค่าบาทผันผวนในทิศทางที่แข็งขึ้น

และอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย น่าจะเป็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้คือการเก็งกำไรของนักลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงน้ำมัน ก็คงจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่มีมากขึ้น และในเรื่องของปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีมากขึ้นเป็นลำดับ ที่อาจจะส่งผลมาถึงเรื่องของการส่งออก ในกรณีพิพาทต่างๆ ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไป CLMV ในปี 2556 ค่อนข้างที่จะสดใส โดยสินค้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกล สินค้าอุปโภคพวกน้ำตาลทราย จะมีแนวโน้มที่ดี อีกตัวหนึ่งที่พบว่าขยายตัวดีมาก คือการส่งออกรถแทรกเตอร์ ซึ่งขยายตัวตามภาคเกษตรของประเทศต่างๆ ซึ่งการส่งออกรถแทรกเตอร์ใน CLMV มีสัดส่วนการพัฒนาถึง 70% ของค่าส่งออกในหมวดยานพาหนะ ซึ่งกำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ


 


LastUpdate 19/01/2556 14:03:03 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:45 am