เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
อุปสรรคส่งออกกุ้งแช่แข็งไทยปี 56


 

 

อุตสาหกรรมกุ้งแช่แข็งของไทยในปี 2556 ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่จะกระทบต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะจากประเทศสหรัฐฯที่เป็นตลาดส่งออกสินค้ากุ้งแช่แข็งอันดับ 1 ปีละมากกว่า 45,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของปริมาณการส่งออกรวม


 
ล่าสุด นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเปิดการไต่สวนการอุดหนุน (Countervailing Duty: ซีวีดี) สินค้ากุ้งแช่แข็งจากไทย โดยทางการสหรัฐฯได้กล่าวหาประเทศไทยรวมกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และเอกวาดอร์ ได้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการไต่สวนการอุดหนุนอุตสาหกรรมกุ้งของไทยว่า มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯหรือไม่ 

โดยขั้นตอนปกติ สหรัฐฯจะใช้เวลาประมาณ 45 - 85 วัน ในการไต่สวนเพื่อประกาศผลขั้นต้นด้านความเสียหาย และใช้เวลา 85 วัน ในการไต่สวนว่ามีการอุดหนุนหรือไม่

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับกุ้งไทยมาตั้งแต่ปี 2548  แต่ตลอดระยะเวลาการใช้มาตรการดังกล่าว ภาครัฐและผู้ส่งออกไทยได้ร่วมต่อสู้กัน ทำให้อัตราอากร AD กุ้งไทยลดลง จนอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้

 
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งและแปรรูปของไทยในปี 2556 น่าจะขยายตัวร้อยละ 3-7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากที่คาดว่าการส่งออกกุ้งในปี 2555 หดตัวลงถึงร้อยละ 14 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกกุ้งหลักของไทยมีทิศทางที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้กำลังซื้อของตลาดหลักกลับคืนมา

แต่อุตสาหกรรมกุ้งไทย ก็ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรม ได้แก่ การยกเลิกให้สิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูป โดยไทยจะต้องกลับไปใช้ภาษีในอัตราปกติในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (ปรับเพิ่มขึ้นจากอัตรา GSP ร้อยละ 7 เป็นอัตราปกติร้อยละ 20) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึง 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในอนาคต

การใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนของสหรัฐฯ CVD ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนของการไต่ส่วน ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมกุ้งภายในของสหรัฐฯและไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งปีแรก ซึ่งหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีต่อต้านการอุดหนุน เพิ่มเติมจากเดิมที่ปัจจุบันถูกเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti dumping) ในอัตราร้อยละ 1.38 ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มทิศทางแข็งค่าขึ้น อาจมีผลกระทบต่อราคาส่งออกกุ้งของไทยให้มีราคาสูงขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการบางรายจะได้รับยอดคำสั่งซื้อทั้งปี และทยอยส่งมอบตามช่วงเวลาที่ลูกค้ากำหนด ทำให้อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบต่อการส่งออกในระยะสั้น แต่หากค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบต่อ ยอดคำสั่งซื้อในอนาคต

 
ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งและสินค้าเกษตรแปรรูป ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ แนวทางในการปรับตัวที่สำคัญของผู้ประกอบการ ควรเร่งบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน การให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรู ปเพื่อสร้างความหลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละตลาด ตลอดจนควรเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยการพัฒนาวัตถุดิบกุ้งให้สามารถส่งออกในรูปของอาหารสำเร็จพร้อมทานมากขึ้น นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนา/ปรับปรุงมาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้า
 
 
 

LastUpdate 22/01/2556 22:33:16 โดย : Admin
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 1:51 pm