แบงก์-นอนแบงก์
ไทยพาณิชย์ต่อยอดกลยุทธ์ "ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง" พาเหรดบริการใหม่เจาะลูกค้าทุกเซ็กเมนต์


 


หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับมาชูกลยุทธ์ "Customer Centric" มาใช้กับตลาดรายย่อย โดยเน้นที่การแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก และนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาผสมผสานและตอบโจทย์ลูกค้า เห็นจากการเปิดตัว "SCB FIRST Privilege" ที่เป็นบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าในกลุ่ม Affluent ซึ่งเป็นระดับกลาง

 
 
ล่าสุด นาย ญนน์ โภคทรัพย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงบริการทางการเงินใหม่ "SCB PRIVATE Banking Club" ที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากหรือการลงทุนที่ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 7,000 ราย แต่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ที่ผ่านธนาคารราว 5-6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของสินทรัพย์ใต้การบริหารของแบงก์ที่มีประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท

สิ่งที่พิเศษสำหรับฐานสมาชิกกว่า 7,000 รายดังกล่าวที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในบริการพิเศษนี้ ธนาคารจะมีศูนย์ข้อมูลด้านการลงทุน (Investment Intelligence Center) ที่ช่วยบริหารและปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ลูกค้าต้องการ โดยใช้ธุรกิจในเครือไทยพาณิชย์เข้ามาตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหลักทรัพย์ กองทุน และประกันชีวิต เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะมีทีมดูแลลูกค้าอีก 55 คนที่คอยประสานงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีทีมคอลเซ็นเตอร์ขึ้นมารองรับลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งในเฟสต่อไปจะขยายบริการให้กว้างขึ้นในลักษณะบริการเลขาส่วนตัวที่ช่วยจัดการเรื่องอื่นๆ เช่น จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก หรือจัดหาข้อมูลด้านอื่นๆ ให้แก่ลูกค้าด้วย

ด้านสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากบริการนี้ เร่ิมตั้งแต่การออกบัตรสมาชิกใบใหม่ที่เป็นบัตรเครดิตในตัวด้วย ร่วมกับ "VISA Infinite" ซึ่งเป็นบัตรระดับสูงสุดของวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล และการบินไทย ที่จะช่วยให้สมาชิกสะสมไมล์ได้เร็วที่สุดทั้งยังสามารถอัพเกรดตั๋วเครื่องบินได้ถึงชั้นเฟิร์สคลาส รวมถึงร่วมกับ "คิง พาวเวอร์" ที่ให้ส่วนลดในการช้อปปิ้งสูงสุดถึง 20% ตลอดจนสิทธิประโยชน์ด้านไลฟ์สไตล์อื่นๆ เช่น ออกกำลังกาย ทานอาหาร 

"ลูกค้ากลุ่มนี้มีปริมาณการลงทุนกับธนาคารค่อนข้างสูง ซึ่งแต่ละปีก็จะมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการลงทุนและความเสี่ยงของลูกค้า และมั่นใจว่าด้วยโมเดลบริการทางการเงินในลักษณะนี้จะช่วยขยายสินทรัพย์ที่มาลงทุนกับธนาคารให้เพิ่มขึ้นในปีนี้ได้ 10-15% แน่นอน"

สิ่งที่เห็นชัดเจนในวิธีการบริหารด้วยกลยุทธ์นี้ก็คือ แบ่งที่กลุ่มลูกค้าเป็นหลัก และวิเคราะห์พฤติกรรมรวมถึงความต้องการทางการเงินของลูกค้าแต่ละกลุ่ม จากนั้นใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่ธนาคารมีอยู่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ ดังนั้น กลยุทธ์นี้จึงไม่ได้เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์เพียงตัวใดตัวหนึ่ง แต่จะนำหลากหลายผลิตภัณฑ์เข้ามาผสมเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้ามากกว่า 

โจทย์ที่ท้าทายต่อไปก็คือ หลังจากเปิดบริการใหม่สำหรับลูกค้ากลุ่ม Affluent และ Private ไปแล้ว ต่อไปบริการสำหรับลูกค้ากลุ่ม Mass จะออกมาเช่นไรต่อไป เพราะเป็นการเล่นกับกลุ่มลูกค้าที่มีจำนวนกว้างและหลากหลายมากที่สุด ทั้งในแง่สถานะตั้งแต่วัยเรียน เริ่มทำงาน เริ่มสร้างครอบครัว ไปจนถึงเตรียมเกษียณ และแง่ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันมาก ซึ่งมีมากกว่า 10 ล้านราย 

คาดว่าจะได้เห็นบริการดังกล่าวภายในไตรมาส 2 ปีนี้ และจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เขย่าวงการตลาดการเงินรายย่อยที่น่าจับตาอีกเช่นกัน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ม.ค. 2556 เวลา : 01:41:16
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:29 pm