อสังหาริมทรัพย์
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ประเมินแนวโน้มอสังหาปี 56 เศรษฐกิจมีสัญญาณที่ดีขึ้น


พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เผยบทวิจัยภาพรวมเศรษฐกิจปี 2555 และแนวโน้มปี 2556 ส่งสัญญาณเชิงบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากแรงขับเคลื่อนต่างๆ อาทิ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยเริ่มผ่อนคลายลง ส่วนปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามคือวิกฤตแรงงาน ต้นทุนบริหารจัดการ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคท โดยประเมินว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2556 จะอยู่ที่ร้อยละ 5.0

นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากบทวิจัยภาพรวมเศรษฐกิจปี 2555 และแนวโน้มปี 2556 ของกลุ่มบริษัทแสนสิริ วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2555 ว่าสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดี อีกทั้งประเทศไทยยังคงรักษาการเป็น 20 อันดับแรกของประเทศที่น่าลงทุน ซึ่งอ้างอิงจากผลการวิจัยประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจประจำปี 2555 ของธนาคารโลก ซึ่งมาจากการปฏิรูปที่สำคัญ 2 ด้าน คือ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่ทำได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนในการดำเนินงานที่น้อยลงจากการลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23% ในปี 2555 และจะลงมาอยู่ที่ร้อยละ 20% ในปีนี้นั้น  จะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในปี 2556 ด้วยปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยมีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ตาม หากมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นทางเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลสิ้นสุด อาจจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 โดยจะมีการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งจะเป็นช่วงกลางปี  
 
“จากภาพรวมทางเศรษฐกิจดังกล่าว มองว่าภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2556 ยังคงมีทิศทางเชิงบวก โดยจะกลับมาดีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 จากปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยเริ่มผ่อนคลายลงเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี ซึ่งจะสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องได้”

นอกจากนี้ หากพิจารณาปัจจัยการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญๆ อาทิ อัตราการว่างงานในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 ที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 0.72 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากและคาดว่าจะทรงตั้วอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องจนถึงปี 2556 ตามการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการก่อสร้า

ด้านอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ลดลงร้อยละ 0.8 จากปี 2554 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณสินค้าในตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังเกิดการขาดแคลนในช่วงวิกฤตอุทกภัย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร้อยละ 0.5-3.0

ส่วนด้านราคาวัสดุก่อสร้างในปี 2555 นั้น มีการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1-2 เมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณวัสดุก่อสร้างในปี 2555 ไม่ได้อยู่ในภาวะขาดแคลนดังเช่นวิกฤตมหาอุทกภัยปลายปี 2554 ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์มีโครงการเปิดใหม่ไม่มากเท่ากับปี 2553-2554 จึงทำให้มีการปรับราคาวัสดุเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ พบว่าดัชนีความเชื่อในการซื้อบ้านหลังใหม่ในปี 2555 โดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลว่าจะเกิดอุทกภัยซ้ำในช่วงเดือนกันยายน ทำให้รอดูสถานการณ์และชะลอการตัดสิดใจซื้อออกไป แต่ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ดัชนีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ จึงประเมินได้ว่าธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยใน 6 เดือนแรกของปี 2556 นี้ จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเด็นที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมที่คาดว่าจะส่งผลต่อการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ไทยในอนาคตคือวิกฤตทางด้านแรงงานขาดแคลน และต้นทุนการบริหารจัดการที่อาจจะเพิ่มขึ้น  รวมถึงยังต้องระมัดระวังความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะผันแปรตามปัจจัยภายนอกต่างๆ อีกด้วย ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเรื่องฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยภาพรวมยังไม่พบปัจจัยที่จะก่อให้เกิดภาวะดังกล่าว รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ มีมาตรการเข้มงวดและรัดกุมในการให้สินเชื่อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองได้ยืนยันว่าไม่พบสัญญาณที่น่าเป็นห่วง ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ส่วนธุรกิจบริหารจัดการด้านอสังหาริมทรัพย์จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พร้อมทั้งมีมาตรฐานและการพัฒนาต่างๆ เทียบเท่าระดับสากล”  



LastUpdate 23/01/2556 15:56:54 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:53 am