เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เอกชนหนุน ธปท.ออกมาตรการสกัดเงินร้อน


เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและผู้ส่งออก เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเร็วมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และมีการเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการบางอย่าง เพื่อสกัดเงินทุนที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง    
 

 

นายวัลลภ วิตนากร  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)   กล่าวว่า ส.อ.ท.จะหารือกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในวันที่ 25 ม.ค.2556 เกี่ยวกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า เพื่อสรุปความเห็นของผู้ประกอบการเสนอ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.ในสัปดาห์หน้า โดยขณะนี้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากและการห้ามเงินต่างประเทศไหลเข้ามาก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นภาครัฐควรลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อลดแรงจูงใจที่เข้ามาเก็งกำไรในประเทศ
 
นอกจากนี้  ธปท. ก็ควรนำ "มาตรการ แคปปิตอล คอนโทรล" มาใช้ทันที  และควรเก็บภาษีรายได้จากผลต่างดอกเบี้ยของเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามา   
 
ทั้งนี้ในปี 2555 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่  30.94 บาท ถือว่าเป็นระดับที่ผู้ส่งออกพอใจ  ดังนั้น ธปท.ควรดูแลค่าเงินบาท ให้มีระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปีที่แล้ว แต่นับตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 2556 ถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 29.97 บาท หรือแข็งค่าขึ้น 3.95 % เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทเฉลี่ยปีที่แล้ว  
 
 

นายประสาร  ไตรรัตน์วรกุล  ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าลงทุนในประเทศไทยช่วงนี้นั้น ธปท.ยืนยันว่าไม่ได้เป็นลักษณะการเข้ามาโจมตีค่าเงินบาท แต่เป็นเพียงการเข้ามาซื้อ เพราะเห็นว่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีระดับการแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเท่านั้น ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็มีทิศทางที่ค่อนข้างดี  และในเร็วๆนี้ ธปท.จะหารือร่วมกั บทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกี่ยวกับการปรับตัวแข็งค่าของเงินบาท
 
 

ด้าน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะหารือกับผู้ส่งออก เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า โดยเบื้องต้นได้รับทราบมาจากทางผู้ส่งออกว่า ต้องการให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติในกรณีที่ผู้ส่งออกมีรายได้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ และมีระเบียบให้แลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทภายในระยะเวลาอันสั้น ส่วนนี้ต้องการให้ยืดระยะเวลาออกไป จะเป็นมาตรการที่ช่วยผ่อนคลายผลกระทบได้ และหากมีระเบียบอะไรที่เร่งให้ซื้อเงินบาท ส่วนนี้หน่วยงานผู้ปฏิบัติที่รับผิดชอบก็ต้องไปผ่อนเกณฑ์ลง
 
ส่วนมาตรการในการรับมือกับเงินทุนที่ไหลเข้า  นายกิตติรัตน์ มองว่า ธปท.น่าจะมีมาตรการในการรับมือ  โดยไม่ใช้การลดดอกเบี้ย หรือแก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยวิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราสวนทิศทางกับประเทศอื่น เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงและไม่มีประโยชน์

การออกมาตรการเพื่อสกัดกั้นเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามา นับเป็นเรื่องที่ธปท.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ  และจะต้องไม่สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน  เหมือนกับที่เคยประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30%  เมื่อ ธ.ค. 2549



บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ม.ค. 2556 เวลา : 21:16:04
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 7:55 am