เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 5/2556 : เรื่องที่ยังมีคนเข้าใจผิดในภารกิจของเครดิตบูโร?.แย่ไปกว่านั้นคือหาประโยชน์จากความเข้าใจผิดของผู้คน


เหตุที่ผมเริ่มบทความวันนี้เพราะว่าในหลายครั้งหลายโอกาสที่ได้รับทราบข่าวสารที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวกฎหมายการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต กับความเข้าใจผิดในการทำหน้าที่ของเครดิตบูโรนั้น จะพบเหตุการณ์ว่าท่านที่เข้าใจผิดและสื่อสารออกมานั้นมักจะอธิบายได้ไม่หมดถ้อยกระทงความ โดยเฉพาะหลายครั้งท่านที่พูดนั้นท่านมีประโยชน์แอบแฝง เช่น ตนเองเป็นหนี้ ไปก่อหนี้ไว้มากมาย เอาเงินจากการเป็นหนี้ไปทำธุรกิจแล้วผิดพลาด หรือเอาเงินจากการเป็นหนี้นั้นไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ต่อมาผลที่ได้ทำลงไปไม่กลับมาอย่างที่ตั้งใจเอาไว้คือไม่เป็นไปตามแผน ท่านก็เลยเอาเงินมาคืนไม่ได้ “ไม่กลัว ไม่มี ไม่หนี ไม่ให้ อยากได้ไปฟ้องเอา” พอสถาบันการเงินไปฟ้องจริงๆ เข้าเลยรู้สึกว่าเดือดร้อนแล้ว ใกล้ตัวแล้ว ทางออกมีไม่มากแล้ว เลยคิดการใหญ่จะไปเอาหนี้ใหม่จากที่ใหม่ไปใช้หนี้เก่า (เอาไปจ่ายแบบไม่เต็มร้อย แบบว่าไปขอส่วนลดด้วยบางครั้ง) พอที่ใหม่ที่จะไปกู้เขาตรวจประวัติว่าเคยไปทำอะไร ที่ไหน ในอดีตว่ามีหนี้มาก มีหลายบัญชี แต่ละบัญชีมีการค้างชำระ หรือค้างมานานต่อเนื่อง วันดีคืนดีก็เอาเงินมาปิดบัญชี รุ่งขึ้นไม่พ้นเดือนกลับมาขอกู้ใหม่ มากกว่าเดิมด้วย แล้วที่ใหม่นั้นปฏิเสธไม่ให้กู้ (เพราะความจริง คือความจริง ความจริงยังปรากฏ) ก็เลยไปต่อไม่ได้ ความไม่พอใจก็บังเกิดขึ้นบนความเป็นจริงที่ตนเองนั้นก่อเอาไว้

ผมมีข้อคิดอย่างนี้นะครับและไม่คิดตอบโต้กับท่านไหนทั้งสิ้น อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล ทุกสิ่งนั้น กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา เราเป็นคนพุทธ เราปลูก เราก่อสิ่งใดไว้ เราย่อมได้รับผลเช่นนั้น หากเราตั้งสติค้นหาเหตุแห่งทุกข์ รู้ว่ามาจากความไม่มีวินัยทางการเงิน เราเปลี่ยนได้ไหม ปรับปรุงได้ไหม ทำให้เห็นเป็นประจักษ์ พิสูจน์ออกมาด้วยการไม่ก่อหนี้ มีสัมมาอาชีพ มุ่งหารายได้มาชำระภาระหนี้สินที่ตนเองก่อ สร้างเงินออมมาแสดง ไม่คบคนไม่ดีที่นำพาเราไปในที่อโคจร ไม่อยู่สโมสรกับคนแบบนั้น หากเปลี่ยนได้สังคมไทยให้โอกาสเสมอครับ นี่คือความเชื่อของใครหลายคนในสังคมไทยเมืองพุทธ สำหรับเรื่องที่สื่อสารแบบต้องการให้เข้าใจผิด เช่น


 

สิ่งที่เครดิตบูโรทำเคยมีคำพิพากษาศาลฎีการะบุครับว่าที่มีการมาร้องนั้น เครดิตบูโร ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว

“สิ่งใดที่ถูกแม้ไม่กล่าวอ้างว่าถูก มันก็ถูกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สิ่งใดที่ผิดแม้ไม่ได้กระทำลงไปหากเพียงแต่คิดจะทำ มันก็ถือว่าผิดทุกเมื่อเชื่อวัน” ท่านผู้อ่านอย่าลืมเหตุการณ์หลังปี 2540 ที่ระบบการเงินประเทศไทยล่มสลาย มีหนี้เสีย หนี้เน่า 47% วันนี้เราควบคุมได้ที่ไม่เกิน 5% ในวันนั้นคนฝากเงินต้องเอาบัญชีเงินฝากแลกเป็นตั๋วมาถือแทน ถอนก็ไม่ได้ หากจะเอาเงินสดต้องเสียส่วนลดได้เงินฝากไม่เต็ม และวันนี้เรายังมีหนี้ก้อนนั้นที่ต้องรับภาระอีกอย่างน้อย 20-25 ปี จึงจะหมดไป

ทำไมวันนี้เราควบคุมหนี้เสียได้ ก็เพราะคนให้กู้เขารู้จักตัวตนของคนที่มาขอกู้อย่างเพียงพอเหมาะสมบนความเป็นมาตรฐานสากลที่แม้แต่ประเทศเอธิโอเปียยังทำเลย...ทำไมยังมีคนไทยหาประโยชน์จากความไม่รู้ของคนไทยด้วยกันด้วยวิธีการสื่อสารสิ่งที่รู้ว่าผิดๆ ออกไปในสังคม....ทำไมครับ

 

สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

 

 

 


LastUpdate 29/01/2556 20:15:18 โดย : Admin
17-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 17, 2024, 4:54 am