หุ้นทอง
แนวโน้มราคาทอง 11-15 ก.พ.จาก YLG


 สรุปการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Bisnews และ DailyFX.com

สรุปการเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการแกว่งตัวตามกรอบสำคัญระหว่าง 1,660-1,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นสำคัญ โดยมีประเด็นสำคัญอย่างการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลาง (ECB) ที่ผลจากการประชุมยังคงไม่แตกต่างจากการประชุมครั้งก่อน ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ย Minimum Bid Rate ที่ระดับ 0.75% และไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อราคาทองคำก็คือ ถ้อยแถลงของประธานอีซีบีที่เกิดขึ้นหลังจากการประชุมได้เสร็จสิ้นลง โดยทางประธานได้แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงมีปัจจัยลบคอยกดดันการฟื้นตัวอยู่ รวมทั้งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินยูโรว่าอาจจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางด้านราคา ซึ่งทำให้ตลาดได้มีการคาดการณ์ว่าอาจมีมาตรการอื่นๆหรืออาจลดอัตราดอกเบี้ย Minimum Bid Rate ลงในอนาคตเพื่อแก้ปัญหานี้ได้ ครั้นแล้วราคาทองคำก็ได้มีการปรับลงพร้อมกับค่าเงินยูโรทันทีมาบริเวณ 1,660 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะมีแรงดีดกลับขึ้นมาได้ โดยรวมนั้นราคาทองคำได้มีการปรับลดลงเล็กน้อยเพียง 0.06 ดอลลาร์ต่อออนซ์เท่านั้น

ประเมินสถานการณ์และทิศทางราคาทองคำในสัปดาห์นี้

ราคาทองคำ : แนวรับ     1,650(23,300)   1,630(23,000)   1,610(22,700)

                    แนวต้าน   1,690(23,800)  1,720(24,200)   1,750(24,600)

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่าปัจจัยทางยูโรโซนไม่ได้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำมากนัก แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปัจจัยนี้ได้กลับเข้ามาเป็นกระแสในตลาดทองคำอีกครั้ง โดยเป็นผลมาจากการที่ค่าเงินยูโรได้มีการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ทำให้ประเทศต่างๆในยูโรโซนต่างกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียความสามารถในการค้ามากขึ้น และจะเป็นตัวแปรให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำได้ โดยทางประเทศฝรั่งเศสนั้นได้มีการเสนอให้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินยูโรขึ้น แต่ทางประเทศเยอรมนีกลับเห็นต่างว่าควรเป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่า ซึ่งในสัปดาห์นี้ก็จะมีการประชุม Eurogroup และ ECOFIN ขึ้น หากในการประชุมมีการหยิบยกปัญหานี้เข้าหารือ ก็อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโร และราคาทองคำก็อาจแกว่งตัวตามได้ นอกจากนี้ในการประชุมครั้งก่อน ประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ESM ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงของธนาคารพาณิชย์ ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ด้วย ดังนั้นแล้วหากมีประเด็นออกมา ก็ย่อมส่งผลต่อราคาทองคำได้เช่นกัน

ขณะที่ทางสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ ก็จะมีการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย อาทิ ตัวเลขยอดขาดดุลงบประมาณ Federal Balance Budget ที่บ่งบอกถึงการใช้จ่ายและรายได้ของรัฐบาลสหรัฐฯว่าเป็นเช่นไร ซึ่งหากตัวเลขออกมา แสดงถึงการขาดดุลที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีตัวเลขดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม Empire State Manufacturing Index, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานประจำสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นต้น

ตัวเลขสำคัญอื่นๆนอกจากทางสหรัฐฯที่ควรติดตามก็คือ ตัวเลข GDP จากยูโรโซน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี ขณะที่ทางญี่ปุ่นก็จะมีการประกาศตัวเลขอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และตัวเลข GDP ด้วย 

กลยุทธ์การลงทุน ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะออกไปด้านข้าง (Sideway) อยู่ในกรอบราคาระหว่าง 1,650 - 1,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงแนะนำให้เน้นการเก็งกำไรระยะสั้นระหว่างกรอบราคานี้ไปจนกว่าราคาจะสามารถผ่านไปด้านใดด้านหนึ่งของกรอบราคาดังกล่าวได้ จึงจะเปลี่ยนกลยุทธ์มาเล่นตามทิศทางของราคาทองคำแทน ส่วนกรอบแนวรับ-แนวต้าน ได้แก่แนวรับที่ 1,650 - 1,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ประมาณ 23,300-22,700 บาทต่อบาททองคำ) และแนวต้านที่ 1,690 - 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ประมาณ 23,800-24,600 บาทต่อบาททองคำ)

การประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า

* ที่มา Bisnews และ foexfactory.com ข้อมูลวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.พ. 2556 เวลา : 12:58:18
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:38 pm