ยานยนต์
: ไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ "NGV ดีหรือด้อยอย่างไร...น่าดึงดูดแค่ไหนสำหรับผู้ใช้รถ?" :.


การใช้ NGV นับว่ามีข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงต่อระยะทางที่ประหยัดกว่าการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนสถานีบริการ NGV ในปัจจุบันที่ยังมีน้อย จัดเป็นอุปสรรคสำคัญส่งผลให้การหันมาใช้ NGV ไม่น่าดึงดูดใจเท่าที่ควร อีกทั้งนวัตกรรมทางยานยนต์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคำถามว่าผู้ใช้รถควรจะเปลี่ยนมาใช้ NGV ดีหรือไม่ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ควรปรับตัวอย่างไร

การใช้ NGV ทั่วโลกนับว่าได้รับความนิยมมากขึ้น โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจัดเป็นผู้นำในตลาดนี้ซึ่งมีปริมาณรถที่ใช้ NGV สูงเกินกว่า 50% ของจำนวนรถที่ใช้ NGV ทั้งหมดทั่วโลก อีกทั้งการขยายตัวของปริมาณรถที่ใช้ NGV[1] ในช่วงปี 2002-2011 ของภูมิภาคนี้ก็ขยายตัวสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 40% ต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกมีการขยายตัวเฉลี่ยที่ประมาณ 20% ต่อปี สำหรับประเทศไทยของเราก็ติด Top 10 เช่นกัน คือมีจำนวนรถที่ใช้ NGV คิดเป็น 2% ของทั้งโลกและมีการใช้ NGV ในปี 2011 เพิ่มขึ้นถึง 27% จากปีก่อนหน้า คิดเป็น 8% ของพลังงานที่ใช้ในภาคขนส่งทั้งหมดของไทย (รูปที่ 1)

แล้วปัจจัยใดผลักดันให้ NGV เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของพลังงานเชื้อเพลิงที่น่าสนใจสำหรับผู้ขับขี่ยานยนต์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงอย่าง LPG

ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นต่อระยะทางการวิ่งของรถที่ใช้ NGV ต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น แม้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ NGV จะสูงกว่าของ LPG โดย NGV 1 กิโลกรัมทำให้รถสามารถวิ่งได้ประมาณ 15 กิโลเมตร ในขณะที่ LPG ปริมาณเท่ากันทำให้รถวิ่งได้ถึงเกือบ 21 กิโลเมตรแต่ด้วย ณ ราคาปัจจุบัน ของ NGV  และ LPG[2] ที่ 10.50 และ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นต่อการวิ่ง 1 กิโลเมตรของรถที่ใช้ NGV อยู่ที่ราว 0.7 บาท ในขณะที่ของ LPG อยู่ที่ประมาณ 1 บาท หรืออาจกล่าวได้ว่าการใช้ NGV ประหยัดกว่า LPG 34% และประหยัดกว่าการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น[3] เช่น แก๊สโซฮอล์และเบนซิน ราว 80-85%

NGV จัดเป็นเชื้อเพลิงที่ปลอดภัย เนื่องจากเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจะกระจายตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนอย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการสะสมตัวตามพื้นล่างเหมือน LPG อีกทั้งขีดจำกัดการติดไฟและอุณหภูมิติดไฟด้วยตัวเองของ NGV ก็สูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น (รูปที่ 2)

ขณะเดียวกัน การใช้ NGV จะช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ ด้วยคุณสมบัติพิเศษของ NGV ที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ทราบกันดีว่า ไอเสียของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล มีปริมาณฝุ่นละออง และก๊าซพิษต่างๆที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและต่อโลกของเราปะปนเป็นปริมาณมาก การเปลี่ยนมาใช้ NGV ซึ่งมีคุณสมบัติเผาไหม้สมบูรณ์กว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองและก๊าซพิษต่างๆ ที่ปล่อยออกมาค่อนข้างต่ำ ช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยผลทดสอบมลพิษในเครื่องยนต์จาก TNO Road-Vehicles Research Institute (Holland)พบว่า เมื่อใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิง จะสามารถลดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ได้ถึง 60% และลดปริมาณออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) ได้ 13% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเบนซิน อีกทั้งคุณภาพไอเสียของรถที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงก็ถือว่าดีกว่าการใช้ LPG เช่นกัน

แต่เมื่อพิจารณาด้านความสะดวกในการเข้าถึงสถานีบริการ การเปลี่ยนมาใช้ NGV อาจยังไม่สามารถตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้รถได้มากนัก ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 21,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในขณะที่มีสถานีบริการ NGV เพียง 474 สถานี (รูปที่ 3) อย่างในเขตกรุงเทพมหานครเราจะสามารถพบสถานีบริการน้ำมัน และสถานีบริการ LPG ได้เฉลี่ยทุกๆ 2 ตารางกิโลเมตร และ 6 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ แต่ของ NGV จะใช้ระยะทางไกลถึงกว่า 12 ตารางกิโลเมตร ส่งผลให้รถที่ใช้ NGV ยังคงเผชิญความยากลำบากในการหาสถานีบริการ อีกทั้งตามกฎกระทรวงพลังงานก็ระบุไม่ให้มีการเปิดสถานีบริการ NGV ในเขตชุมชน เช่น โรงพยาบาล, โรงเรียน, ศูนย์การค้าฯลฯ และสถานีฯ จะต้องมีระยะห่างจากสถานที่ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 60 เมตรรวมทั้งต้องมีพื้นที่จำนวนมากเพื่อก่อสร้างอาคารคอมเพรสเซอร์และให้รถขนส่งก๊าซ NGV สามารถเข้า-ออกและกลับรถภายในสถานีฯ ได้ ประกอบกับต้นทุนในการลงทุนสร้างสถานีบริการ NGV สูงกว่าสถานีบริการ LPG ราว 1-2 เท่า ก็ยิ่งทำให้การขยายการเปิดสถานีฯ เผชิญอุปสรรคมากขึ้นจากข้อจำกัดเหล่านี้

นอกจากนี้ ค่าติดตั้งอุปกรณ์ NGV สำหรับเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลสำหรับรถยนต์ทั่วไป (Light Duty Vehicle) ที่นับว่าค่อนข้างสูงอยู่ที่ 38,000-65,000 บาท เมื่อเทียบกับค่าติดตั้งอุปกรณ์ LPG ที่ประมาณ 15,000-43,000 บาท ประกอบกับความจุของตัวถัง NGV ที่บรรจุเชื้อเพลิงได้น้อยกว่า LPG ส่งผลให้ผู้ใช้ NGV ต้องเข้าสถานีฯ เพื่อเติมเชื้อเพลิงถี่กว่าทั้งๆ ที่มีสถานีฯ รองรับน้อยกว่า ขณะเดียวกัน พบว่าการเข้าใช้บริการในสถานีฯ แต่ละครั้งจะต้องรอคิวค่อนข้างนานถึงกว่าครึ่งชั่วโมง[4] จึงไม่น่าแปลกใจที่การเปลี่ยนมาใช้ NGV อาจไม่น่าดึงดูดสำหรับใครหลายๆ คน

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของภาคขนส่งเชิงพาณิชย์ การปรับเปลี่ยนมาใช้ NGV ยังนับว่าคุ้มค่า เนื่องด้วยการเดินรถโดยสารมีเส้นทางที่แน่นอน หรือมีแผนการขนส่งสินค้าไปยังจุดต่างๆ อย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการด้านขนส่งเชิงพาณิชย์สามารถวางแผนหรือกำหนดพื้นที่ที่จะเข้าใช้บริการสถานีบริการ NGV ได้อย่างชัดเจน จึงไม่ได้รับผลกระทบในการเข้าถึงสถานีบริการที่มีจำนวนค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน อีกทั้ง ณ ค่าพลังงานที่เท่ากัน ระดับราคา NGV ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ก็ยิ่งมีส่วนจูงใจให้รถขนส่งเชิงพาณิชย์หันมาใช้ NGV

นอกจากนี้ นวัตกรรมทางยานยนต์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วท่ามกลางกระแสอนุรักษ์พลังงานโลก ทำให้รถ Hybrid และ Electric น่าจะก้าวเข้ามาเป็นรถแห่งอนาคตที่ได้รับความนิยมมากกว่ารถที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่าง NGV สังเกตได้ว่าการออกแบบเทคโนโลยียานยนต์ในระยะหลังมุ่งเน้นด้านการประหยัดพลังงานโลกอย่างมาก โดยจากการศึกษาของ International Energy Association (IEA) ได้ข้อสรุปว่า ตั้งแต่ปี 2020 ยอดขาย Electric vehicles และ Hybrid vehicles จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (รูปที่ 4) ในขณะที่ปริมาณการขาย Fossil fuel vehicles เช่น รถที่ใช้ดีเซล เบนซิน LPG และ NGV กลับเดินสวนทิศทาง โดยคาดการณ์ว่ายอดขายรถดังกล่าวจะทยอยปรับลดลงอย่างช้าๆ

Implication

 ธุรกิจสถานีบริการ NGV ยังคงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนต่อไป โดยเฉพาะบริเวณตามแนวท่อส่งก๊าซใหม่ ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีแผนขยายเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อพัฒนาการใช้ก๊าซธรรมชาติในทุกภูมิภาค อีกทั้งยังวางแผนเพิ่มจำนวนสถานีบริการ NGV ในพื้นที่ดังกล่าว จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่สนใจเปิดสถานีฯ ซึ่งควรเริ่มจากการเปิดสถานีฯ ในพื้นที่ที่มีแนวท่อพาดผ่าน ที่อาจเป็น logistic hub ย่อยๆ ในระยะต่อไป แล้วค่อยกระจายการลงทุนไปสู่พื้นที่โดยรอบ โดยคาดว่าพื้นที่ที่มีแนวท่อพาดผ่านเป็นจุดที่น่าลงทุน เช่น บริเวณตั้งแต่ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ไปจนถึงนครนายก จากโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 ระยอง-แก่งคอย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2014 พื้นที่เชื่อมต่อตั้งแต่อยุธยา ผ่านอ่างทอง ชัยนาท ถึงนครสวรรค์ ของโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก นครสวรรค์ ที่มีแผนจะก่อสร้างภายในปี 2014 และพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างสระบุรีและนครราชสีมา ของโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก นครราชสีมา ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ และจะสร้างเสร็จในปี 2015

ขณะเดียวกัน หากมีการเปิดสถานีบริการ NGV เพิ่มขึ้น น่าจะมีส่วนเป็นแรงผลักดันหลักให้ผู้ใช้รถหันมาใช้ NGV มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้คาดได้ว่า ในระยะสั้นการเปลี่ยนมาใช้ NGV ก็ดูน่าสนใจไม่น้อย อีกทั้งธุรกิจสถานีบริการ NGV น่าจะมีอนาคตที่สดใส ทั้งจากจำนวนลูกค้าที่ขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับความได้เปรียบจากจำนวนสถานีบริการฯ ในปัจจุบันที่ยังมีค่อนข้างน้อย ทำให้มีช่องทางขยายสถานีบริการต่อไปได้อีกมาก

แม้การใช้ NGV จะสามารถตอบสนองผู้ใช้รถได้ค่อนข้างดีในปัจจุบัน ในระยะยาวธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์จะต้องวางกลยุทธ์การผลิตที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้ขับขี่ในอนาคตได้อย่างสูงสุด ตัวอย่างเช่น บริษัท Energy Reform ซึ่งเป็นบริษัทติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซในรถยนต์ ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่สำหรับรถในอนาคตที่เรียกว่า “Energy 4.0” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีระบบก๊าซ NGV และ LPG ติดตั้งในรถยนต์ Hybrid เป็นครั้งแรกในโลก ทำให้สามารถใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้ 4 ชนิดในรถคันเดียว คือ น้ำมัน ไฟฟ้า LPG และ NGV โดยไม่ทำให้สมรรถนะของรถลดลง แต่กลับทำให้ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

LastUpdate 21/02/2556 02:33:27 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 11:37 am