เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บทวิจัยเศรษฐกิจ ตอนที่ 9/2556 : กู้ร่วม ร่วมกันกู้ ก็ต้องร่วมกันจ่าย


 บทความในครั้งนี้ผมเขียนในวันพระใหญ่หรือวันมาฆบูชาที่เวียนมาบรรจบครบอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 เรื่องมีอยู่ว่าผมไปออกรายการเกี่ยวกับเครดิตเงิน...เครดิตบูโร และเปิดโอกาสให้ คนที่สนใจ คนที่ต้องการข้อมูลเพิ่ม คนที่มีปัญหาอยากได้แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยเฉพาะความไม่เข้าใจในเรื่องการขอสินเชื่อ การจัดการกับประวัติการชำระหนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งก็ต้องยอมรับ ว่ามีอยู่มากมายเหลือเกิน กรณีที่ว่าน่าสนใจมีดังนี้ครับ


1. ท่านผู้ชมรายการท่านหนึ่งโทรเข้ามาสอบถามวิธีการแก้ไข เนื่องจากท่านไปกู้ร่วมในหนี้ที่เป็นสินเชื่อบ้านกับธนาคาร 

2. คนที่ท่านผู้ชมรายการไปกู้ร่วมนั้นไม่ไปชำระหนี้และท่านผู้ชมรายการท่านนั้นที่สอบถามเข้ามาก็ไม่ยอม ตอบว่าเหตุใดคนที่ท่านไปกู้ร่วมจึงค้างชำระ 

3. เรื่องการค้างชำระลุกลามไปจนถึงโรงถึงศาล สอบถามได้ความว่ามีการไปตกลงกันที่ศาลผู้เขียนเข้า ใจว่ามีการพิพากษาตามยอมออกมาว่าคนที่ท่านผู้ชมรายการไปกู้ร่วมนั้นยอมผ่อนชำระใหม่กับธนาคาร (ตกลงตารางการชำระหนี้ใหม่แทนของเดิมที่ไม่ชำระจนเป็นหนี้ค้าง) และมีการชำระหนี้ตามที่ตกลงกัน อย่างนั้นจริงต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาปีเศษ ภาษาชาวบ้านง่ายๆ คืิอย้อนหลังลงไปจากปัจจุบัน 12 เดือนนั้นมีการชำระอย่างต่อเนื่องโดยคนที่ท่านผู้ชมรายการไปกู้ร่วมอย่างนี้เรียกว่า ปฏิบัติได้ตามสัญญา เงินกู้ใหม่ที่ได้ไปตกลงภายใต้คำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง 

4. ท่านผู้ชมรายการท่านนี้ท่านมีรายได้ประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน มีบัญชีสินเชื่อของตนเองไม่ว่าจะ เป็นบัตรเครดิตหรือสินเชื่ออื่นๆ ท่านระบุว่าไม่มีปัญหาการชำระใดๆ ทั้งสิ้น พูดภาษาชาวบ้านคือบัญชีเงินกู้ที่ ตนเองก่อหรือเรียกว่า "กู้เดี่ยว" นั้นไม่ค้างชำระใดๆ ทั้งสิ้น จ่ายครบจ่ายตรงตามกำหนดตลอด 

5. บัญชีที่ท่านผู้ชมรายการท่านนี้ไปกู้ร่วมจะปรากฏสถานะบัญชีหรือ account status ว่า "อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย" เพราะเหตุว่ามีข้อตกลงการชำระหนี้ภายใต้คำพิพากษาและการชำระหนี้ดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น บัญชีเงินกู้ที่มีการกู้ร่วมกันนี้จึงปรากฏอยู่ในประวัติของท่านผู้ชมรายการที่ โทรเข้ามาสอบถามกับอยู่ในประวัติของคนที่ท่านผู้ชมรายการไปกู้ร่วม 

6. เพราะการกู้ร่วมหมายความว่าลูกหนี้ทั้งสองรายนี้รับผิดชอบในหนี้ก้อนดังกล่าวร่วมกัน ทางเจ้าหนี้จะเรียกเอาจากท่านใดท่านหนึ่งหรือทั้งสองท่านรวมกันก็ได้ เมื่อไปเซ็นสัญญาไว้แล้วก็ต้องถือว่าผูกพัน เพราะตอนไปเซ็นก็โตๆ กันแล้ว รู้ความกันแล้วและไม่ได้มีใครบังคับให้เซ็นดังนั้น "สัญญาจึงต้องเป็นสัญญา" เมื่อไม่ทำตามสัญญาก็ต้องโดนฟ้องอย่างแน่นอน 

7. เมื่อท่านผู้ชมรายการไปยื่นคำขอเงินกู้ที่ไหนและได้ให้คำยินยอมการเปิดเผยข้อมูลไว้แล้ว สถาบันการเงินที่ไปยื่นคำขอไว้ก็เข้ามาดูข้อมูลประวัติของท่านผู้ชมรายการก็จะพบว่ามีอยู่หนึ่งบัญชีที่มีการกู้ร่วมและมีสถานะไม่ค่อยดีคือ "อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย" ท่านผู้อ่านลองนึกถึงใจเขาใจเราว่าเมื่อมีข้อมูล มาถึงจุดนี้หากเป็นเงินครอบครัวเรา เราคิดว่าจะให้เงินกู้ไหม 

8. ท่านผู้ชมรายการท่านนั้นในที่สุดท่านก็บอกว่าคนที่ท่านไปกู้ร่วมคือคุณแม่ของท่านนั่นเอง 

9. คำแนะนำของผมคือ ไปบอกสถาบันการเงินที่เรายื่นขอกู้ว่ากู้ร่วมกับใคร เพราะอะไรจึงค้างชำระ แต่ก็มีการชำระตามคำพิพากษามาโดยตลอด เอารายได้เดือนละ 40,000 บาท ไปแสดง เอาเงินฝากเงิน ออมที่มีอยู่ไปแสดงให้เห็นว่าเรามีการเก็บออม ท้ายสุดคือต้องทำให้เขาเข้าใจว่าหากเป็นอะไรที่เรากู้ เอง รับผิดชอบเองนั้น "จ่ายครบ จ่ายตรง" สถาบันการเงินเขาจะเชื่อมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเอกสารหลัก ฐานของเราที่แสดงออกไปครับ ท้ายสุดคือใช้เงินออมที่ตนเองมีแทนการขอสินเชื่อใหม่ครับ

สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่ 
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
 

LastUpdate 26/02/2556 14:02:10 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 9:11 am