เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
น่าห่วงหนี้ครัวเรือน-การผิดนัดชำระหนี้พุ่ง


การออมที่ลดลง  ซึ่งสวนทางกับการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงของสังคมไทยในปัจจุบัน  โดยเฉพาะโครงการรถคันแรก  

 

โดย นางสุวรรณี คำมั่น  รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2555 ว่า ครัวเรือนของไทยมีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้ซ้ำซ้อน และมีหนี้มากกว่าการออม  หลังมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 พบว่า ครัวเรือนมียอดคงค้างสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคมากถึง 2.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.6% ส่วนหนึ่งได้เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินมาซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถึง 33.9% โดยเฉพาะในโครงการรถยนต์คันแรกที่มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น

 
ขณะเดียวกันหากเทียบหนี้สินกับการออมเงิน ยังพบว่า นอกจากครัวเรือนจะมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นแล้ว ระดับการออมยังอยู่ในระดับต่ำ  เพราะจากข้อมูลรายได้ประชาชาติปี 54 การออมของครัวเรือนมีสัดส่วนเพียง 5.29 ต่อจีดีพี เท่านั้น

นอกจากนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 54 ยังระบุว่า มีครัวเรือนถึง 9.09 ล้านครอบครัว หรือคิดเป็น 45% ของครัวเรือนทั่วประเทศ ไม่มีความสามารถในการออม เพราะมีค่าใช้จ่ายและหนี้สินสูงกว่ารายได้ ซึ่งครอบครัวในกลุ่มนี้ยังถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ซ้ำซ้อน และก่อหนี้นอกระบบ เนื่องจากครัวเรือนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่รับจ้างประกอบอาชีพอิสระ ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการของรัฐที่จัดให้ได้ เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี และยังรับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 
 
 
ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยพบว่า  มูลค่าสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป  เพิ่มขึ้น 28.1% นอกจาก นี้ ยังมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 20.5% มูลค่า 56,583 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23.3% ของเอ็นพีแอลรวม แม้ว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อในสาขานี้จะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.9% แต่แนวโน้มสินเชื่อและเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมากตลอดปี 5555 จึงเป็นสิ่งต้องเฝ้าระวังและติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้น้อย

 
 

 
ทั้งนี้ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ   ยังได้ส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการโดยรวมเพิ่มขึ้น 6.4% โดยสถานประกอบการขนาดใหญ่  มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 0.6% ส่วนที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 8.9% ขณะที่ผลกระทบต่อแรงงานต่อการเลิกจ้างนั้น จากข้อมูลนิติบุคคลจดทะเบียนเลิกกิจการในปี 55 มีถึง 16,936 ราย เพิ่มขึ้น 20.3%  โดยในไตรมาสที่ 4 มีการยกเลิกกิจการถึง 7,221 ราย นับว่าเป็นจำนวนที่สูง

 
 
 
 
โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาก ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย คงอัตราดอกเบี้นนโยบายที่ระดับ  2.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา  นายไพบูลย์  กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า  การประชุมร่วมระหว่าง กนง.กับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)  ได้พิจารณาถึงการขยายตัวของสินเชื่อบางประเภทเติบโตค่อนข้างเร็ว ขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนเริ่มสูงขึ้น  

 
 
 
 
ต้องยอมรับว่า การออมของประชาชน  เป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ   และยังเป็นสิ่งที่รองรับวิกฤติการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี  จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ที่จะต้องช่วยกันกระตุ้นการออมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

LastUpdate 26/02/2556 22:44:56 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:06 pm