เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยคาดมูลค่าส่งออกปี 56 ขยายตัว 8-13%



บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ เปิดศักราชส่งออกปีงูเล็ก: ฟื้นตัวจากปี 2555คาดทั้งปี 2556 เติบโตในกรอบร้อยละ 8.0-13.0


ประเด็นสำคัญ
•    การส่งออกไทยเดือนม.ค. 2556 มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.09 (YoY) อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่ขยับขึ้นจากเดือนก่อนเพียงเล็กน้อย สะท้อนว่าการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ การส่งออกไปจีน ขยายตัวสูง ขณะที่ ตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขยายตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับการส่งออกไปยังอาเซียน
•    การนำเข้าเดือนม.ค. 2556 เร่งตัวขึ้นอย่างมากร้อยละ 40.87 (YoY) ในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ทองคำ และสินค้าทุน
•    สินค้าส่งออกบางรายการอาจเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกหลัก อาทิ  ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 

การส่งออกของไทยในเดือนม.ค. 2556 ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนภาพการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้ถึงร้อยละ 16.09 (YoY) ด้วยมูลค่า 18,268.96 ล้านดอลลาร์ฯ สูงกว่าที่ขยายตัวร้อยละ 13.45 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555 โดยแม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลของฐาน แต่มูลค่าการส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์ฯ ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.93 (MoM) จากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นภาพที่สะท้อนว่า จังหวะการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยทยอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านการนำเข้าในเดือนม.ค. 2556 เร่งตัวขึ้นมาที่ระดับ 23,755.80 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 40.87 (YoY) และร้อยละ 16.06 (MoM) นำโดย การนำเข้าทองคำ สินค้าทุน/เครื่องจักร และวัตถุดิบขั้นกลาง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และจังหวะการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปี 2556 
      
สำหรับในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก และการเติบโตของตลาดศักยภาพใหม่ในอาเซียน อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของสินค้าส่งออกที่สำคัญหลายประเภท อาจเกิดขึ้นล่าช้ากว่าที่คาดจากการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา และทิศทางค่าเงิน

?    การส่งออกในเดือนม.ค. 2556  ขยายตัวร้อยละ 16.09 (YoY) เทียบกับที่เติบโตร้อยละ 13.45 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555 โดยเมื่อพิจารณาตามโครงสร้างตลาดส่งออก พบว่า คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกจากไทยปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะจีน ซึ่งเศรษฐกิจมีทิศทางการฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยการส่งออกไทยไปจีนขยายตัวร้อยละ 19.39 (YoY) ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.07 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555 โดยแม้ว่าระดับของมูลค่าการส่งออกไปจีน จะยังคงต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าอยู่ราวร้อยละ 2.41 (MoM) แต่ก็เป็นการหดตัวที่น้อยกว่าร้อยละ 6.24 (MoM) ในเดือนธ.ค. 2555

นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดอาเซียน (ซึ่งมีจีนเป็นคู่ค้าหลัก) ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยขยายตัวร้อยละ 18.06 (YoY) ในเดือนม.ค. 2556 หลังจากที่เติบโตร้อยละ 13.15 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555 ขณะที่ การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยขยายตัวร้อยละ 16.69 (YoY) และร้อยละ 7.31 (YoY) ตามลำดับ
?    สำหรับการนำเข้าในเดือนม.ค. 2556 นั้น เร่งตัวขึ้นถึงร้อยละ 40.87 (YoY) มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของผลสำรวจนักวิเคราะห์โดยรอยเตอร์กว่า 2 เท่า และสูงขึ้นกว่าร้อยละ 4.67 (YoY)  ในเดือนธ.ค. 2555 โดยเป็นผลเนื่องมาจากการเร่งนำเข้าสินค้าในเกือบทุกหมวด นำโดย วัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ ทองคำ และสินค้าทุน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 35 ร้อยละ 31 และร้อยละ 13.3  ของมูลค่าการนำเข้ารวมที่เร่งตัวขึ้นในเดือนม.ค. ตามลำดับ
?    ไทยบันทึกดุลการค้าขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5,486 ล้านดอลลาร์ฯ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยอดการขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์นี้ ยังไม่บ่งชี้สัญญาณที่น่ากังวลนัก เพราะหากไม่นับรวมทองคำแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ผู้ประกอบการบางส่วนได้ใช้จังหวะที่เงินบาทแข็งค่าในการสะสมสต็อกวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าในอนาคต 

แม้ว่าภาพเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณบวกมากขึ้น น่าจะทำให้อุปสงค์สินค้าส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ก็อาจส่งผลทำให้สินค้าส่งออกบางรายการของไทย ต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นจากคู่แข่ง (ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน) ที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าส่งออกในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน 
      
จากการประเมินสถานะสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย 20 อันดับแรกใน 3 ตลาดหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น (สัดส่วนประมาณร้อยละ 32 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า นอกจากสินค้ากลุ่มที่ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอยู่ก่อนแล้ว ยังมีสินค้าส่งออกที่สำคัญบางรายการ อาจต้องเผชิญบททดสอบที่ท้าทายในการประคับประคองการเติบโตในตลาดดังกล่าว ท่ามกลางการแข่งขันที่น่าจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะจากคู่แข่งในภูมิภาค ซึ่งได้เปรียบไทยในด้านการเคลื่อนไหวของสกุลเงิน อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ซึ่งอาจต้องแข่งขันมากขึ้นกับสินค้าจากมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่มีการส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เช่นกัน ขณะที่ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ก็คงต้องระวังการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในตลาดจีน และญี่ปุ่น ให้แก่สินค้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ด้าน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปนั้น ก็คงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพราะเวียดนามก็กำลังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

โดยสรุป แม้การส่งออกของไทยในเดือนม.ค. 2556 จะมีภาพการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่ มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ก็ยังคงเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ทิศทางการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นนี้ ยังคงมีลักษณะทยอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามตลาดส่งออกหลักและตลาดศักยภาพของไทย สำหรับในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า ทิศทางของการส่งออกในปี 2556 จะอยู่บนเส้นทางที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา เนื่องมาจากหลายปัจจัยสนับสนุน ทั้งสภาพเศรษฐกิจโลก ทิศทางของประเทศคู่ค้าหลัก และตลาดศักยภาพใหม่ในอาเซียน

โดยคาดว่า การส่งออกของไทย อาจขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 8.0-13.0 โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 10.5 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2555 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ซึ่งไม่เพียงทำให้บางสินค้าที่ประสบภาวะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาอยู่ก่อนแล้วตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญบางประเภท ที่แม้ในด้านหนึ่งอาจได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางถูกลง แต่ก็มีโอกาสไม่น้อยที่จะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดเพราะผลของความเสียเปรียบด้านราคาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งด้วยเช่นกัน
 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.พ. 2556 เวลา : 19:09:25
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 10:44 am