แบงก์-นอนแบงก์
เปิดตัว 2 เอ็มดีคนใหม่ "กสิกรไทย" ชูยุทธศาสตร์ แท็คทีมกันรุก"


 

 
 
 
 เปิดตัวแม่ทัพคนใหม่อย่างเป็นทางการในที่สุด สำหรับตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการ" ธนาคารกสิกรไทย หลังจากที่ "บัณฑูร ล่ำซำ" ซีอีโอ ธนาคารกสิกรไทย ยืนโครงสร้างการบริหารด้วยการแบ่งงานออกเป็น 4 ภูมิมาเกือบ 3 ปี 

 
 
 
กระทั่งครั้งนี้ บัณฑูร ถือโอกาสปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่แบบพลิกวงการธนาคาร ด้วยการตั้งกรรมการผู้จัดการแบบ "แพ็คคู่" คือ "ปรีดี ดาวฉาย" และ "ธีรนันท์ ศรีหงส์" ที่ทั้งคู่ต่างก็นั่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส 2 จาก 4 ภูมิ

สิ่งที่บัณฑูรอธิบายถึงการจัดโครงสร้างบริหารเช่นนี้ คือ ทุกวันนี้มีทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาเยอะมาก เยอะในระดับที่เอ็มดีคนเดียวรวบงานทุกอย่างเข้ามาไว้ทั้งหมดแล้วอาจจะจัดการไม่ทัน แต่กระนั้นทั้งสองคนก็ต้องทำงานในลักษณะคู่กันไป ต้องรู้เหมือนกันทุกด้าน บวกกับซีอีโออีกหนึ่งคนที่จะช่วยกันบริหารจัดการงานธนาคารร่วมกัน ฉะนั้น ทุกคนก็จะมี KPI ชุดเดียวกัน

ยิ่งกว่านั้น การมีเอ็มดี 2 คน มองอีกมุมหนึ่งก็เป็นการคานอำนาจกันอย่างเป็นระบบ และตรวจสอบกันและกันอย่างไปในตัว และที่สำคัญการมีเอ็มดี 2 คนก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิด หรือขัดต่อกฎเกณฑ์อะไร 

 
 
ขณะที่อีก 2 ภูมิ คือ "กฤษฎา ล่ำซำ" ขยับขึ้นมานั่งเป็นรองประธานกรรมการ ธนาคาร และ "สมเกียรติ ศิริชาติไชย" มาเป็น กรรมการ ธนาคาร ขณะเดียวกันทั้ง 2 คนก็ยังเข้ามานั่งเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการ ใน บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต เพิ่มเข้าไปอีกด้วย เรียกว่าบริหารแบบเชื่อมโยงกันทั้งสองบริษัทให้ไปในทิศทางเดียวกัน

"ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์การเงินหลากหลายมาก ก้าวข้ามการแบ่งแยกว่าสินค้าแบงก์ สินค้าประกัน เพราะวันนี้ประกันชีวิตก็ก้าวเข้าไปสู่ความเป็นสินค้าการเงินและลงทุนมากขึ้นทุกที ฉะนั้น คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีที่สุดในเวลาที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง เมื่อทั้งสององค์กรอยู่ในยุทธศาสตร์เดียวกัน ปรัชญาทางธุรกิจเดียวกัน ฉะนั้น การเชื่อมต่อที่เป็นภาพเดียวกันจึงจำเป็น"

 
 
 
 
 บัณฑูรบอกอีกว่า การเชื่อมต่อครั้งนี้จะทำให้ธนาคารกสิกรไทยและกลุ่มเมืองไทยประกัน เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่แข็งแกร่งในทุกด้าน มีใบอนุญาตทุกธุรกิจการเงินครบถ้วน ฉะนั้น พร้อมให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุมชีวิตมนุษย์ในทุกตลาดที่ต้องการจะโฟกัส ซึ่งก็คือ ตลาดประเทศไทย และ AEC Plus (10 ประเทศอาเซียน + จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) 

เงื่อนไขดังกล่าวนำมาสู่โจทย์ที่สำคัญของวันนี้คือ "ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์การเงิน" ที่แตกแยกย่อยไปตามความต้องการของลูกค้า บวกกับ "ความหลากทางภูมิศาสตร์ กติกา และวัฒนธรรม" ที่ภาพของธุรกิจการเงินไม่ได้จำกัดอยู่ในกรอบเดิมๆ อีกต่อไป หากแต่ก้าวข้าวไปสู่ยุคไร้พรมแดนมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะกับตลาด AEC Plus จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ตลาดที่กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ เป็นการขยายความหลากของมิติต่างๆ ในตลาดให้กว้างขึ้นตามไปเช่นกัน จึงเป็นข้อสรุปที่บัณฑูรชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างแบบเดิมๆ อาจจะไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ได้อีกต่อไป

"สิ่งสำคัญในการวางโครงสร้างองค์กรต้องดูตามโจทย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดูทรัพยากรที่เรามีในปัจจุบัน ดูกำลังคนที่มีอยู่ แล้วจัดเป็นโครงสร้างออกมาให้เหมาะกับสิ่งที่เรามีอยู่ ธุรกิจที่ดีจึงต้องอ่านโจทย์ล่วงหน้าให้ออกและปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องตามไป ยิ่งกว่านั้น ธุรกิจต้องคล่องตัวมากพอที่จะปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต เมื่อวันเวลาผ่านไป โจทย์ก็เปลี่ยนแปลงตามไปเสมอ" บัณฑูร กล่าว
 

LastUpdate 06/03/2556 10:55:25 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:37 am