แบงก์-นอนแบงก์
"แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด" สยายปีก รับ AEC ชูเครือข่าย 10 ประเทศอาเซียน


"แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด" ประกาศความพร้อมให้บริการลูกค้าธุรกิจที่ต้องการหาโอกาสขยายธุรกิจและออกไปลงทุนในอาเซียน ตบเท้ารุกสยายปีกรับ AEC ชูเครือข่าย 10 ประเทศอาเซียน ล่าสุดเปิดสำนักงานตัวแทนในเมียนมาร์ พร้อมต่อ ยอดลูกค้าธุรกิจลงทุนใน-นอกอาเซียน มั่นใจระบบเทรดไฟแนนซ์แน่นปึ้ก ไม่หวั่นคู่แข่งแบงก์ภูมิภาค

 
 
 
นางลิน ค็อก กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารค่อนข้างมีความพร้อมสำหรับบริการลูกค้าธุรกิจที่ต้องการหาโอกาสขยายธุรกิจและออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนที่จะเร่ิมเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีสาขาและสำนักงานตัวแทนอยู่ครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว หลังจากล่าสุดที่ได้เปิดสำนักงานตัวแทนในเมียนมาร์เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

"เราเป็นแบงก์เพียงแห่งเดียวในเวลานี้ที่มีสาขาและสำนักงานตัวแทนไว้บริการลูกค้าครบทั้ง 10 ประเทศ และยิ่งกว่านั้น ในการต่อยอดเรื่อง AEC Plus ที่กลุ่มอาเซียนได้ลงนามร่วมกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วยกันนั้น เราก็มีเครือข่ายสาขารองรับอยู่แล้วกว่า 50 แห่งในจีน และเพิ่งไปซื้อกิจการธนาคารอันดับ 1 ในเกาหลีใต้ ส่วนในอินเดียเราก็ให้บริการมานานแล้ว ฉะนั้น เราคงไม่ได้จำกัดแค่ในอาเซียน แต่เครือข่ายสาขาของเราแข็งแกร่งและพร้อมที่จะเชื่อมไปไกลกว่าอาเซียนด้วย ฉะนั้น เราจะไปได้ไกลกว่าแบงก์ระดับภูมิภาค"

 
 
 
นางลินยังกล่าวอีกว่า ภายใต้การเปิดสู่ AEC นั้น จะยิ่งลดข้อจำกัดด้านการค้า บริการ เงินทุน ตลอดจนแรงงาน และเกิดธุรกิจที่ข้ามพรมแดนมากขึ้น ทำให้บริการทางการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ หรือ เทรดไฟแนนซ์ จะยิ่งมีความสำคัญต่อการสนับสนุนของธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจุดนี้จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดซึ่งเติบโตมาจากการบริการด้านเทรดไฟแนนซ์ จึงมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านนี้มากกว่า 100 ปี

 
 
 
สำหรับความคืบหน้าของธนาคารที่ได้เข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนในเมียนมาร์นั้น เธอให้ความเห็นว่า ภาพของเมียนมาร์ในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก หลังจากที่เริ่มเปิดประเทศและหลายๆ ประเทศได้ทยอยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร โดยเฉพาะสหรัฐที่ยอมรับมากขึ้นเช่นกัน แม้ความเสี่ยงด้านการเมืองจะยังมีอยู่บ้าง แต่ถือว่าลดน้อยลงไปพอสมควร

สถานการณ์ดังกล่าวจึงประเมินว่าเป็นจังหวะที่ดีสำหรับภาคธุรกิจที่จะเริ่มเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ โดยพบว่ามีหลายกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสสูงลำดับต้นๆ สำหรับเปิดประตูธุรกิจเข้าไปสู่เมียนมาร์ได้ เช่น ธุรกิจด้านพลังงาน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการเกษตรและอาหาร ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและวัสดุก่อสร้าง เพราะสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังสนับสนุน และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในช่วงนี้

"การรุกเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนในเมียนมาร์ ทำให้เรามีข้อมูลเชิงลึกสำหรับกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเราพบว่าเมียนมาร์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และธุรกิจจากไทยเองก็เป็นกลุ่มต้นๆ ที่เข้าไปลงทุนในพม่า ซึ่งข้อมูลย้อนหลัง 20 ปีล่าสุด พบว่าสัดส่วนการลงทุนจากไทยมีถึง 23% เป็นอันดับ 2 รองจาากจีน และไทยก็ยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเมียนมาร์ ขณะเดียวกันเมียนมาร์ก็นำเข้าสินค้าจากไทยมากเป็นอันดับ 2"

 
 
แม้ภาพการเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์จะดูมีโอกาสมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะแรงงานที่มีความรู้ความสามารถยังมีจำกัดและถูกแย่งตัวกันมาก รวมถึงประชากรเพียงส่วนน้อยราว 10% เท่านัั้นที่มีบัญชีธนาคารทำให้การจ่ายเงินค่าจ้างจึงยังทำได้ลำบาก 

ในฝั่งการกู้ยืมก็ยังจำเป็นต้องใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ก็ติดเงื่อนไขกฎหมายห้ามต่างชาติถือครองที่ดิน ฉะนั้นธุรกิจจึงต้องอาศัยการกู้จากตลาดนอกประเทศแล้วเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ ขณะเดียวกันเรื่องเสถียรภาพของค่าเงินก็ยังต้องระมัดระวังและควรป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเอาไว้เสมอ แม้ปัจจุบันจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในอดีตพอสมควร แต่ก็ยังไม่ได้เป็นระดับที่มีเสถียรภาพมากนัก
 
 
 
 

LastUpdate 06/03/2556 10:13:11 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:46 am