เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 10/2556 : ต้องบอกความจริง ไม่บอกไม่มีใครรู้ ไม่รู้เขาก็ไม่ให้เงินกู้


วันที่ผมเขียนบทความนี้ตรงกับวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2556 รักใครชอบใครเชื่อใครเห็นว่าใครดี ใครเหมาะก็เลือกไป วันที่บทความนี้เผยแพร่ทุกท่านคงจะได้ทราบแล้วว่าใครได้รับคะแนนสูงสุด คนกรุงเทพจะพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ใช่เอาแต่บ่น เก่งแต่พูด ดีแต่ตีโวหารว่าต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ หากเพียงเพราะฝนตกรถติดก็ไม่ออกมาใช้สิทธิ เมื่อเรียกร้องโน่นนั่นนี่แล้วก็ต้องมีหน้าที่ออกไปใช้สิทธิครับ ดังคำพระที่ว่า กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา มารไม่มา บารมีไม่เกิด เจออุปสรรคแค่ฝนจะมาอ้างว่าไม่ไปเลือกตั้งแล้ว ผู้เขียนคิดว่าขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองต้องการไปนะครับ


กลับมาที่เรื่องเครดิตเงิน เครดิตบูโรกันครับ ผมไปออกรายการแล้วก็มีกรณีคำถามที่ถามมาในรายการทางโทรศัพท์ดังนี้ครับ

คำถาม : ดิฉันทำสัญญากู้เงินกับธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งมีโฉนดบ้านพร้อมที่ดินค้ำประกันเงินกู้ โดยมีญาติเป็นผู้กู้หลัก ดิฉันป็นผู้กู้ร่วมต่อมาญาติท่านนั้นมีปัญหาในการผ่อนชำระ ธนาคารฟ้องร้องและต้องขึ้นศาล ต่อมาคดีจบโดยญาติท่านนั้นตกลงผ่อนชำระตามที่ธนาคารเสนอ และขณะนี้ผ่อนชำระเป็นปกติมาประมาณ 1 ปี หรือ 12 งวดแล้ว ตัวของดิฉันมีเงินเดือนประจำ 40,000 บาท มีบัตรเครดิต และสินเชื่ออื่นๆ ที่เป็นของตัวเองไม่เกี่ยวกับญาตินั้นมีการชำระตรงเวลาตลอด ปัญหาคือดิฉันยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ เจ้าหน้าที่บอกว่าเนื่องจากดิฉันมีปัญหาถูกฟ้องร้องเรื่องบ้านและอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายอยากถามเครดิตบูโรว่าเมื่อถูกสถาบันการเงินปฏิเสธแบบนี้ ดิฉันควรจะทำอะไร และจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

คำตอบ :  เครดิตบูโร ชี้แจงว่า

1. กรณีที่ผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมผิดนัดชำระ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องได้จากผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม ทั้งสองฝ่ายคนใดคนหนึ่ง หรือร่วมกันให้ชดใช้ ถึงแม้ว่าหลังโฉนดที่ดินที่นำไปค้ำประกันเงินกู้จะไม่มีชื่อของคนที่กู้ร่วม แต่เมื่อไปทำสัญญากู้โดยเป็นผู้กู้ร่วมแล้วก็ต้องถือว่าเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินด้วย ต้องร่วมทุกข์ ร่วมรับผิด ร่วมกันจ่ายหากผู้กู้หลักนั้นผิดนัดชำระหนี้ เพราะตอนไปกู้ร่วมนั้นสมัครใจ ไม่มีใครบังครับเมื่อมีการผิดนัดชำระจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว สถาบันการเงินเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องลูกหนี้ทุกคนที่ทำสัญญาไว้กับเขา อันนี้เป็นข้อเท็จจริง

 

2.ในส่วนของข้อมูลเครดิตหรือรายงานเครดิตบูโรของลูกหนี้ที่กู้ร่วมนั้นในหัวข้อบัญชีกู้บ้านดังกล่าวตรงที่มุมขวาบนของรายงานจะแสดงข้อความว่าบัญชีนี้กู้ร่วม และในช่วงระยะเวลาที่ว่ากันในศาลรายงานจะแสดงสถานะบัญชีว่า "อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย" หลังจากเจรจาและมีคำพิพากษาออกมาประกอบกับผู้กู้หลักมีการผ่อนชำระค่างวดปกติในช่วง 12 เดือน ข้อมูลเครดิตในบัญชีนี้ จะแสดงสถานะว่า "บัญชีปกติ" เพราะไม่มีการค้างชำระทำได้ตามที่ตกลงกัน มีการผ่อนครบผ่อนตรงมาตลอด อันนี้เป็นข้อเท็จจริงเช่นกัน

 

3. เครดิตบูโรแนะว่าให้ไปตรวจข้อมูลเครดิตบูโรก่อนที่จะไปขอกู้ที่ใหม่โดยให้ไปที่สาขาธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารธนชาต สาขาใดก็ได้ไปที่เคาเตอร์บอกว่ามาขอตรวจเครดิตบูโร เมื่อเขียนคำขอกับชำระค่าธรรมเนียมแล้วภายในไม่เกิน 7 วันจะได้รับรายงานเครดิตบูโร จากนั้นให้ตรวจสอบความถูกต้องทุกบัญชี ซึ่งพอไปดูบัญชีสินเชื่อบ้านนั้นก็จะเห็นข้อมูลตามข้อ 2. แต่บัญชีอื่นๆ ไม่มีประวัติในอดีตระบุว่ามีการค้างชำระหนี้ อันนี้เป็นข้อแนะนำที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้

 

4. ต่อไปคือการเตรียมตัว เตรียมคำตอบและเตรียมใจให้พร้อมก่อนไปขอกู้กับธนาคารแห่งไหนๆ ที่ไม่ใช่ที่เดิมที่กู้ร่วมสินเชื่อบ้าน ต้องสำรวจตัวเองว่า มีรายได้เท่าไหร่ ภาระทางหนี้ต้องไม่เกิน 40% ของรายได้กรณีนี้มีรายได้ 40,000 บาท ก็ควรมีภาระหนี้เดิมที่ชำระอยู่ไม่เกิน 16,000 บาท และควรแสดงเงินออม เงินฝากที่ตนเองมีอยู่ เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องและอธิบายให้ธนาคารที่ขอกู้ทราบเรื่อง ปัญหาการค้างชำระและเรื่องที่ถูกฟ้องในอดีตว่าเกิดขึ้นเพราะคนอื่น เกิดขึ้นเพราะอะไร ญาตินั้นคือใคร เพื่อให้ธนาคารเชื่อว่าตัวเราไม่มีปัญหา ดูได้จากรายงานเครดิตบูโรที่เราไปตรวจสอบมาไปแสดงประกอบ ตรงนี้สำคัญมากต้องทำอย่างยิ่งอย่าให้ธนาคารเข้าใจผิดๆ การอธิบายให้ธนาคารทราบเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างยิ่ง เพราะธนาคารจะไม่รู้เลยว่าตัวผู้กู้ร่วมที่มาขอกู้กับเขานั้นเป็นคนก่อปัญหาหรือไม่ ใครเป็นคนก่อปัญหา

 

5. สุดท้ายครับการจบปัญหาของผู้กู้หลักและจ่ายชำระได้มาเป็นปีเป็นเรื่องดี เพราะจบกันได้สวย ไม่ลุกลาม แต่ส่วนของคนที่กู้ร่วมต้องอธิบายกับธนาคาร ต้องไม่อาย ต้องไม่กลัวที่จะบอกความจริง เพราะเหตุว่าธนาคารไม่ทราบที่มาที่ไปของปัญหา เขาดูตามเอกสารอย่าให้เขาเข้าใจผิดๆ ไปเอง เราเป็นอย่างไรต้องให้ถูกต้อง ได้เงินกู้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์กับความจริง การอธิบายให้ธนาคารรู้จักตัวตนของเราเป็นเรื่องที่ควรทำที่สุดและต้องทำครับ

เครดิตบูโรเอาใจช่วยครับ

 
สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 มี.ค. 2556 เวลา : 18:26:54
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:00 pm