สุขภาพ
กรมอนามัยแนะรับมืออากาศเปลี่ยน คุมเข้มสุขภาพเด็กอ่อน เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนทุกกลุ่มวัยดูแลสุขภาพตนเองช่วงอากาศเปลี่ยน โดยเฉพาะเด็กอ่อน   เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ควรได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งการออกกำลังกาย โภชนาการ และสร้างพฤติกรรมอนามัยที่เหมาะสมด้วยการ  กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมอนามัย  เปิดเผยว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากร้อนเป็นเย็นสลับไปมาได้ภายในสัปดาห์เดียวกัน ประชาชนจึงควรหันมาดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้มากขึ้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอ่อน เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ต้องใส่ใจเป็นพิเศษเพราะหากไม่มีการดูแลสุขภาพที่ดีอาจทำให้ป่วยด้วยโรคไข้หวัด หรือโรคระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งจากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข      ปี 2555 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมต่อแสนประชากร กว่า 168,490 ราย เสียชีวิต 1,074 ราย โดยกลุ่มที่พบมากที่สุด คือ อายุ 65 ปี 40,460 ราย รองลงมา อายุ 1 ปี 20,677 ราย และอายุ 2 ปี 9,473 ราย และช่วงอายุ 55-64 ปี 6,376 ราย สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนของประชากร สูงสุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน 553.24 ฉะเชิงเทรา 542.17 ตาก 536.70 อ่างทอง 529.13 เชียงราย 485.97 หากแบ่งตามภาคพบว่าภาคเหนือ มีผู้ป่วยสูงที่สุด 332.56 ราย รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 281.12 ราย ภาคใต้ 248.73 ราย และภาคกลาง 219.12 ราย

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเด็กอ่อนควรได้กินนมแม่เป็นประจำ เนื่องจากนมแม่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี เป็นอาหารเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่เหมาะสมสำหรับทารกแรกเกิด-6 เดือน หลังจากนั้นสามารถให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนลูกอายุครบ 2 ปี ส่วนเด็กเล็กพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเน้นอาหารที่ประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อสร้างพลังงานและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย สำหรับผู้สูงอายุควรมีการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวออกแรง อาทิ เดินเร็ว ๆ รำมวยจีน ควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม และควรมีผักสดหรือผักลวก รวมทั้งผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง ในทุกมื้ออาหารก็จะช่วยป้องกันไข้หวัดและส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย

 “ทั้งนี้ เนื่องจากอากาศแปรปรวนที่ร้อนบ้าง หนาวบ้าง การปรุงประกอบอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรปรุงให้สุกร้อนก่อนบริโภค เพราะอากาศร้อนทำให้อาหารบูดเสียง่าย ซึ่งการบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ในภาชนะที่สะอาดและไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหาร ก่อนนำมารับประทานควรมีการอุ่นร้อนเสียก่อน ส่วนน้ำดื่มก็ต้องให้ความใส่ใจเช่นเดียวกัน ต้องเลือกที่สะอาด บรรจุผลิตภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด หรือต้มสุกก่อนดื่ม ที่สำคัญ ควรล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้งก่อนและหลังที่ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ก่อนปรุงประกอบอาหาร ก่อนและหลังรับประทานอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำหรือห้องส้วม เป็นต้น นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ควรระมัดระวังเรื่องอุณหภูมิอากาศ ไม่ให้ร้อนอบอ้าว และควรดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ที่สำคัญควรยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะช่วยลดพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และป้องกันโรคต่างๆ ได้ อันจะส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 มี.ค. 2556 เวลา : 17:49:50
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 10:26 pm