ไอที
แอพฯ ช่วยชาวนาปลูกข้าว


 

ปัจจุบันการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาอื่น ๆ กำลังบูม เนื่องจากเป็นเครื่องใช้คู่กายของคนส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ โดยเหล่านักพัฒนาสนับสนุนให้พัฒนาแอพฯ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งด้านความบันเทิง การแพทย์ และด้านการเกษตร ทำให้มือถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์
 
ในด้านการเกษตรนั้น เวลานี้มีแอพฯที่เป็นผลงานของคนไทยออกมาเช่นกัน มีชื่อว่า "ใบข้าวเอ็นเค (BaiKhaoNK )"  ซึ่งเป็นเครื่องประมาณความต้องการธาตุไนโตรเจน-โพแทสเซียม ของต้นข้าวในนาด้วยสมาร์ทโฟน โดยเวลานี้การทำงานประเมินธาตุไนโตรเจนทำได้แล้ว ส่วนการประเมินธาตุอาหารโปแตสเซียมยังอยู่ระหว่างการทดสอบ นับว่าแอพฯนี้ เสมือนคู่มือที่จะมาช่วยแก้ปัญหาการใส่ปุ๋ยให้แก่ชาวนา ทำให้สามารถใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสมให้แก่ต้นข้าวในนา ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่สูงขึ้นและเพิ่มรายได้ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา

ทั้งนี้ “ข้าว” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย หลายภาคส่วนจึงมีเป้าหมายที่จะนำองค์ความรู้ ความชำนาญมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ทำนา อาทิ ปัญหาการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุ้มค่ากับราคา และไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย ซึ่งปัจจุบันการใช้ปุ๋ยเคมีของชาวนา ยังคงจำเป็นและสำคัญในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น มีการใช้ปุ๋ยในนาข้าวกันอย่างกว้างขวาง แต่ปริมาณการใช้ต่อพื้นที่ยังไม่เหมาะสมและส่วนใหญ่ยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วย ทำให้ผลการใช้ปุ๋ยยังไม่สามารถเพิ่มผลผลิตในข้าวได้มากนักหรือทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงเกินไป

ปุ๋ยเคมีที่เกษตรนิยมใช้ คือ ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูงเหมาะสำหรับช่วงการใส่ปุ๋ยให้กับพืชที่มีสภาวะน้ำน้อย สามารถสลายตัวในน้ำได้เร็ว พืชสามารถดูดซับธาตุอาหารไปใช้ได้ง่าย ช่วยบำรุงส่วนใบ ก้านใบของพืช ช่วยให้พืชใบเขียวเร็ว แต่ถ้าให้ปุ๋ยยูเรียเป็นปริมาณมากหรือใช้ปุ๋ยยูเรียร่วมกับปุ๋ยสูตรอื่นที่มีเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนสูงอยู่แล้ว จะทำให้พืชน็อคปุ๋ยได้

เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้รู้ว่าข้าวในระยะต่างๆ ต้องการธาตุไนโตรเจนมากน้อยอย่างไร ทางกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้นำ แผ่นเทียบสี (Leaf Color Chart เรียกย่อๆ ว่า LCC) ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ฟิลิปปินส์มาช่วยแก้ไขและลดปัญหาการใช้ปุ๋ยที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยการใช้แผ่นเทียบสีกับใบของต้นข้าวว่า ต้องการธาตุไนโตรเจนเท่าใดจึงจะเหมาะสม

เวลานี้เพื่อให้ชาวนานำเทคนิคดังกล่าวมาใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ต่อยยอดแนวคิดของ "แผ่นเทียบสี" มาเป็นแอพฯใบข้าวขึ้น ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ใช้อ่านสีของใบข้าวเพื่อการประเมินความต้องการธาตุอาหารไนโตรเจนของต้นข้าวในนา โดยไม่ต้องใช้สารเคมี และ ไม่ต้องทำลายใบข้าว

การใช้งานไม่ยุ่งยาก เพียงเกษตรกรนำใบข้าวในนามาวางบนกระดาษสีขาวแล้วใช้แอพฯใบข้าวถ่ายภาพ หลังจาก
นั้นโปรแกรมจะตรวจสอบระดับสีและคำนวนเปรียบเทียบกับแผ่นเทียบสีใบข้าวตามมาตรฐานของกรมการข้าว พร้อมบอกปริมาณปุ๋ยที่ชาวนาจำเป็นต้องใช้อัตโนมัติ

เพียงเท่านี้ชาวนาก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตและใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้องได้แล้ว ถือเป็นหนึ่งผลงานดี ๆ ของนักพัฒนาไทย

   


LastUpdate 10/03/2556 21:02:34 โดย : Admin
31-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 31, 2024, 12:44 pm