เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บทวิจัยเศรษฐกิจ ตอนที่ 11/2556 : มีความรัก มักจะก่อปีญหาหนี้สิน ท่านเชื่อหรือไม่


ผมเริ่มเขียนบทความในครั้งนี้ตั้งใจจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับท่านที่เป็นลูกค้าสถาบันการเงินแล้วเกิดปัญหาในการชำระหนี้ คือไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนดแล้วก็กลายเป็นลูกหนี้มีปัญหา ในขณะเดียวกันก็ได้อ่านบทความของคุณขวัญชนก วุฒิกุล ที่เขียนเกี่ยวกับกรณีศึกษาว่าหากมีปัญหาเรื่อง “เงิน” กับมีปัญหาเรื่อง “ความรัก” ก็น่าจะเลือกปัญหาประการหลังมากกว่าซึ่งเป็นอะไรที่โดนใจมากๆและจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านที่จะได้ไหวตัวทันในเรื่องที่มีลักษณะคล้ายๆกัน

กรณีที่เกิดขึ้นจริงที่ลูกค้ามาเล่าให้ผมฟัง เรื่องมีอยู่ว่า น้องผู้ชายวางแผนจะแต่งงานกับน้องผู้หญิง ทั้งคู่ต่างเป็นคนทำงานในโรงงานมีรายได้ประมาณหนึ่งที่ไม่ได้มากมายนัก พออยู่พอกินและมีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง ทั้งคู่คิดว่าสมควรแก่เวลาที่จะอยู่ด้วยกันแล้ว ฝ่ายชายจึงไปขอกับว่าที่แม่ยาย โดยมีสินสอดจำนวนหนึ่ง ว่าที่แม่ยายดูแล้วไม่ค่อยพอใจบอกกับฝ่ายชายว่า ไม่ได้คิดจะขายลูกสาวแต่สินสอดไม่เต็ม ขอให้หามาเพิ่มฝ่ายชายต่อรองขอจ่ายหลังงานแต่งแกก็ไม่ยอมลูกเดียว

ท้ายสุดว่าที่แม่ยายสุดเขี้ยวก็แนะนำอย่างไรท่านผู้อ่านทราบไหม แกแนะนำว่า "สินสอดไม่เต็มให้ไปใช้บริการ car for cash หรือ รถแลกเงิน" งานก็เข้าฝ่ายชายซึ่งก็ยอมทำตามที่แนะนำ ผลคือไปเป็นหนี้เพราะต้องการให้สมรัก ทั้งๆก็รู้ว่ามีโอกาสที่จะจ่ายไม่ได้ แล้วก็จ่ายไม่ได้จริงๆ ค้างชำระ สถาบันการเงินก็ส่งข้อมูลตามที่เกิดขึ้นจริงว่า "ค้างชำระ" เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ในประเทศเรา เป็นหนี้เพราะมีรัก เจ็บหนักเพราะรักเธอ

อ่านมาถึงตรงนี้เราจะโทษใครดีครับ มันน่าสงสารที่สุดครอบครัวควรจะเริ่มด้วยความมั่นคงไม่ใช่สั่นคลอนด้วยหนี้ แม่ยายจะมีความสุขได้หรือเปล่าหากทราบว่าเรื่องมาจากตนเองส่วนหนึ่ง สถาบันการเงินจะมีทางเลือกอย่างไรที่จะจัดการกับลูกหนี้ที่ค้างชำระ เครดิตบูโรรับเอาข้อมูลมาจะไปแก้ไขให้ต่างจากที่ส่งมาตามจริงก็ไม่ได้ ผมได้แต่ปลอบและแนะนำให้ฝ่ายชายเจรจากับสถาบันการเงิน ปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ ยืดหนี้ออกไป ประสานงานให้แต่จะเข้าไปก้าวก่ายกระบวนการบริหารหนี้ของเจ้าหนี้ไม่ได้ จนป่านนี้น้องชายคนนั้นยังไม่ได้แจ้งข่าวกลับมาว่าผลเป็นอย่างไร

เรื่องที่ผมชอบคุณขวัญชนกเขียนก็คือตอนที่เธอระบุว่า "เวลาที่มีปัญหาเรื่องความรัก ไม่ว่าจะโทรศัพท์ขอคำปรึกษา ปรับทุกข์ ระบายความในใจกับใคร ก็ดูเหมือนผู้คนรอบข้างพร้อมที่จะรับฟัง ช่วยเหลือและหาทางบรรเทาทุกข์ให้ แตกต่างกับเวลาที่มีปัญหาเรื่องเงิน ที่หันหน้าไปพึ่งพาใครก็แทบไม่ได้ ที่เคยเป็นเพื่อนรักกัน พอมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ที่เคยแนบแน่นก็คลายลงอย่างรวดเร็ว จากที่เคยโทรศัพท์หากันได้ ก็ถูกตัดสาย จากที่เคยเจอะเจอกันได้ ก็หายหน้าหายตากันไป.........บทสรุปในการสนทนากับคนมีปัญหาเรื่องเงิน มักจะจบลงที่ขอยืมเงิน”

ทุกวันนี้ผมมีความรู้สึกว่าการดำรงชีวิตและการขับเคลื่อนชีวิตนั้นต้องใช้เครื่องจักรหรือน้ำมันหล่อลื่นที่เรียกว่า "หนี้" เป็นเครื่องยนต์หลัก ทำไมเราใช้จ่ายกันแบบไม่คำนึงถึงเภทภัยที่จะมีกับตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง ตัวเลขที่สภาพัฒน์บอกออกมาน่าตกใจไม่น้อยว่าปัจจุบันคนไทยเรามียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภครวมประมาณ 2.9 ล้านล้านบาทเป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินเชื่อเพื่อบริโภคส่วนบุคคล 29% สวนทางกับการออมภาคครัวเรือนที่ลดลงต่ำเหลือเพียง 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมที่น่าตกใจคือครัวเรือนไทย 9ล้านครัวเรือนไม่มีความสามารถในการออมเงิน ภูมิคุ้มกันอ่อนมากๆและมีโอกาสติดเชื้อปัญหาทางเศรษฐกิจที่สูง...ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกันบ้าง

 

สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 มี.ค. 2556 เวลา : 04:31:45
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:33 pm