สุขภาพ
เตือนโรคบางโรค..ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ


การใช้ยาไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะ “ยาปฏิชีวนะ” เป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญเนื่องจากสามารถส่งเสียทำให้เกิดปัญหาเชื้อโรคดื้อยา นำไปสู่การรักษาไม่หายและเกิดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

"ยาปฏิชีวนะ"เป็นยาต้านแบคทีเรีย ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มยาต้านจุลินทรีย์ ซึ่งยังมียาชนิดอื่น ๆอีก เช่น ยาต้านไวรัส ยาต้านเชื้อราและยาต้านปรสิต ซึ่งจำเป็นต้องนำมาใช้อย่างเหมาะสม ตรงกับสาเหตุของโรคและไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งบุคคลากรทางการแพทย์ต้องให้ความรู้แก่ประชาชน การเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้ริเริ่ม “โครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล Antibiotics Smart Use (ASU)” มานับแต่ปี 2549 สำหรับปี 2556 นี้ยังคงรณรงค์ต่อเนื่องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เมื่อเร็ว ๆนี้ได้จัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง "ยาปฏิชีวนะ กับสุขภาพของคนไทย" โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในสายงานสาธารณะสุขเข้าร่วม

จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ในปี 2554 ประเทศไทยมีการนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าถึง 20% ของยาทั้งหมด หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและมีแนวโน้มว่าจะนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภญ.เสาวภา ก้าวสมบูรณ์ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ยากลุ่มนี้ถูกนำไปใช้เป็นกิจวัตรจนเกือบเป็นยาสามัญประจำบ้าน จึงต้องทำความเข้าใจกันว่า บางโรคสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นอะไรนิดหน่อยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเสมอไป หรือหลายคนอาจกินก่อนเพื่อป้องกัน เช่น อากาศเปลี่ยนแปลง ฝนตั้งเค้า อาจกินยาแก้แพ้กันไว้ก่อน เพื่อลดน้ำมูกไหล เป็นต้น ดังนั้นเภสัชกรหรือบุคลากรทางการแพทย์จำต้องช่วยกันเปลี่ยนค่านิยมและให้ความรู้แก่ประชาชนให้มีความรู้ในการใช้ยาพื้นฐานและการดูแลตัวเอง เช่น หันไปใช้สมุนไพรช่วยรักษาได้ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

ทั้งนี้ภญ.เสาวภาชี้ว่า โครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ได้เน้นที่ 3 โรคที่เป็นกันบ่อยและสามารถหายได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ มุ่งหวังให้ภาคประชาชนลดการใช้ยาพวกนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของตน ดังนี้คือ

เป็นหวัด-เจ็บคอ

สาเหตุอาการเจ็บป่วยนี้มากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้มีอาการหลายอย่าง เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม เสียงแหบ เจ็บคอและมีไข้ โดยรวมเป็นนาน 7-10 วัน โดยวันที่ 3-4 จะมีอาการมากที่สุด จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง รักษาโดยการดื่มน้ำอุ่น กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ พักผ่อนให้มาก แต่ถ้ามีอาการ ใน 4 ข้อคือ 1. เจ็บคอมาก และไม่ไอ 2. มีไข้ 3. มีหนองที่ต่อมทอนซิล 4.ต่อมน้ำเหลืองที่ขากรรไกรโตและกดเจ็บ ต้องรีบไปพบแพทย์

ท้องเสีย

ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 99 เกิดจากเชื้อไวรัสหรือาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย รักษาโดยดื่มน้ำเกลือแร่ ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่ถ้ามีไข้และถ่ายเป็นมูกเลือด ต้องรีบไปพบแพทย์

แผลเลือดออก

หากเป็นบาดแผลเล็กน้อยจากอุบัติเหตุ เช่น มีดบาด แผลถลอก ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ รักษาโดยล้างทำความสะอาดอย่างถูกต้อง แต่ถ้าเป็นแผลที่เท้า ตะปูตำ สัตว์กัด แผลถูกสิ่งสกปรก เช่น มูลสัตว์ น้ำครำ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ต้องรีบไปพบแพทย์

ด้านภญ.ดร.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ เภสัชกรชำนาญการ สำนักยาของอย.เปิดเผยว่าสถิติการใช้ยาปฏิชีวนะในไทยเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลพ่วงไปยังปริมาณการดื้อยาในคนไข้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน เดิมการดื้อยาเป็นเรื่องของแพทย์ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นเรื่องของทุกคนแล้ว จึงต้องสร้างบรรทัดฐานทางสังคมร่วมกันระหว่างบุคคลากรทางการแพทย์กับประชาชน

สอดพ้องกับความเห็นของผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่กล่าวว่า “บุคลากรสาธารณะสุขต้องเป็นหลัก ต้องช่วยกัน ให้เกิดความถูกต้อง ระลึกเสมอว่าเราเรียนมามีวิชาความรูมากกว่าและต้องให้ความรู้คำอธิบายที่มีเหตุมีผลที่ถูกต้อ เราต้องเป็นหลักให้สังคม”

โครงการนี้นับว่า ยังสอดพ้องกับหัวหอกใหญ่ด้านสาธารณสุขโลกอย่างองค์การอนามัยโลก(WHO) เช่นกัน ที่เมื่อเร็ว ๆนี้ดร.แมนจูลา ลัลตี-นาราซิมฮาน นักวิทยาศาสตร์แผนกโรคติด ต่อทางเพศสัมพันธ์ของ WHO ได้ออกมาเตือนภัยเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รอบใหม่ โดยระบุว่า อนาคตอันใกล้เชื้อแบคทีเรียโรคหนองในแท้ (gonorrhea) อาจไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งเป็นผลจากการดื้อยาปฏิชีวนะ ที่ถูกนำมาใช้มากเกินไป บวกกับแบคทีเรียสามารถปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้แม้มีความพยายามใช้ยาปฏิชีวนะกำจัด โดยเร่งรัดให้รัฐบาลต่างๆ รวมถึงแพทย์ เตรียม มาตรการป้องกันและรับมือ

“แบคทีเรียเชื้อหนองในมีพัฒนา การดื้อต่อยาทุกชนิดที่ใช้รักษา รวม ถึงกลุ่มยาที่ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายในปัจจุบัน และเชื่อว่าภายใน 2ปี เชื้อร้ายนี้จะดื้อต่อยาทุกขนานที่ใช้”

คำเตือนดังกล่าวเป็นเพียง 1 อีกหลายโรคเท่านั้นที่มีการดื้อยา..อนาคตเราจะอยู่อย่างไรกันหากไม่เริ่มใช้ยาอย่างถูกวิธีเสียตั้งแต่บัดนี้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 มี.ค. 2556 เวลา : 15:07:25
15-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 15, 2024, 7:53 pm