แฟชั่น-เดินทาง-กินดื่ม-เที่ยว
สสวท.บ่มเพาะต้นกล้า นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อพัฒนาประเทศ


สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดงาน “การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน (วทท. เพื่อเยาวชน) ครั้งที่ 8”   ระหว่างวันที่ 22-23 มีนาคม 2556   เพื่อบ่มเพาะให้เยาวชนสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ นำประเทศก้าวไปสู่ประเทศแห่งการพัฒนา ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และการสร้างสรรค์”  ชมนิทรรศการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ พร้อมฟังบรรยายจากวิทยากรที่จะปลูกฝังทางความคิด ให้กลายเป็นจริงได้ด้วยวิทยาศาสตร์

นิทรรศการภายในงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่  Science Gallery จัดแสดง ผลงานวิจัยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา, Art  Science  Museum วิทยาศาสตร์กับศิลปะ วิทยาศาสตร์กับธรรมชาติ อาทิ สัดส่วนของทองคำ  ฟิโบนักชี  โมบิอุส  สามเหลี่ยมพิทากอรัส  โอริกามิ  พับแผนที่   สร้างเทสล่า คอยล์  ภาพวาดวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  เสียงของดวงดาว  และโซนScience Street  การจัดแสดงผลงานของหน่วยงานร่วมจัด และเวทีกลาง  ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเยี่ยมชมนิทรรศการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

ซึ่งนอกจากนิทรรศการที่ให้ความรู้แล้ว ยังมีกิจกรรมบนเวทีที่ได้รับความสนใจจากน้องๆ เยาวชน คณาจารย์ และผู้ปกครอง ในการบรรยายจากวิทยากรชื่อดัง ได้แก่ นายฐาวรา สิริพิพัฒน์ เจ้าของนามปากกา ดร.ป๊อบ ผลงานวรรณกรรมเยาวชนชุด “The White road” ที่มาเผยถึงวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรา และเราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเด็ก วิทยาศาสตร์แฝงตัวอยู่ในนิทานที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น สโนไวท์กินแอบเปิ้ลอาบยาพิษจากแม่มด ที่ต้องมีการปรุงยาพิษขึ้นมา หรือแม้แต่การ์ตูนชื่อดัง อย่างโดเรมอนที่มีอุปกรณ์และสิ่งประดิษฐ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต ซึ่งในการบรรยายนายฐาวรา หรือ ดร.ป็อบ ได้เผยเคล็ดลับที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งของให้ประสบความสำเร็จ คือ 3I  ได้แก่ Inspiration แรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์หรือสิ่งของ ที่เราสามารถสัมผัล และมองเห็นได้ Imagination การจินตนาการ และ Identity เอกลักษณ์ค้นหาตัวตนที่แท้จริง เราอย่าเป็นแบบใคร แต่ต้องให้คนอื่นคิดว่าอยากจะเป็นแบบเรา ก่อนตบท้ายด้วยการเตรียมตัวเข้าสู่AEC ที่ภาษาอังกฤษจะเข้ามาเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร โดยดร.ป๊อบ แนะนำวิธีแก่งภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ดังนี้ 1.ซื้อภาพยนตร์มาชมและปิดคำบรรยายภาษาไทยพร้อมพูดตาม 10 รอบ 2.พกสมุดคำศัพท์ 3.อ่านหนังสือภาษาอังกฤษทุกวัน การ์ตูน นิยาย วันละ 1 หน้า 4.พูดภาษาอังกฤษทุกวัน และ 5.ต้องกระแดะ คือ ต้องกล้าพูดและกล้าแสดงออก ซึ่งข้อสุดท้ายได้รับเสียงหัวเราะดังสนั่นไปทั่วห้องประชุม

 ส่วนการเสวนาหัวข้อที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน คือหัวข้อ การบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์น้อย โดย ดร.เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว นักวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. เผยถึงการส่งเสริมให้เด็กเล็กมีความสนใจในวิทยาศาสตร์ โดยต้องมีรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะกับเด็กอนุบาล เริ่มจากการทดลองแบบง่ายๆ กิจกรรมเรียนรู้สิ่งมีชีวิตรอบตัวเรา ให้เด็กได้ตั้งคำถาม และคาดคะเน ทดลองและบันทึกสิ่งต่างๆ และลงความคิดเห็นร่วมกับเพื่อน รวมถึงตอบคำถามและนำเสนอเรื่องราวผ่านภาพภาพวาด หรือการปั้นดินน้ำมัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้สอดแทรกกระบวนการวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น การบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง ต้องตระหนักว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่ไกลตัว แต่อยู่ในชีวิตประจำวัน สามารถนำมาให้เด็กเรียนรู้ได้ เปิดโอกาสให้เด็กได้ตั้งคำถาม หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถตอบคำถามของเด็กได้ ให้เปลี่ยนวิธีมาร่วมกันเป็นนักวิทยาศาสตร์ สืบค้นหาคำตอบด้วย เพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์เรียนรู้สิ่งต่างๆ นอกจากการเรียนรู้ภายในห้องเรียน

การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากเยาวชน คณาจารย์ และผู้ปกครอง เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง รวมถึงมีตัวแทนจากต่างประเทศเข้าร่วมส่งโครงงานวิทยาศาสตร์และนำเสนอผลงาน ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยนางสาว Misaki Nagano จากโรงเรียน Chiba PerfecturalChosei High School ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ รวมถึงได้ส่งผลงานมาร่วมบรรยายด้วย ซึ่งนอกจากการที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้รู้จักเพื่อนใหม่อีกด้วย” และนางสาว Lee Hoang Van จากโรงเรียน Dao DuyTu High School, Hanoi จากประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่านอกจากความรู้ที่ได้รับจากการได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆที่เรียนวิทยาศาสตร์เหมือนกันแล้ว สิ่งที่ได้รับในวันนี้คือความมั่นใจ การเข้าสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากๆเช่นกัน ตอนนี้มีเพื่อนเป็นคนไทยเพิ่มขึ้นและสามารถพูดไทยได้นิดหน่อยแล้ว และก่อนจากกัน Van ยังกล่าวลาด้วยคำว่า “สวัสดีค่ะ” พร้อมรอยยิ้มพิมพ์ใจ ให้เราคิดถึงเธอเพื่อที่จะได้มีโอกาสพบกันใหม่อีกครั้งในการจัดงานครั้งที่ 9 ในปีหน้า

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 เม.ย. 2556 เวลา : 01:49:55
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:35 am