แบงก์-นอนแบงก์
ปูทางธุรกิจสู่แดนมังกร..ยุทธศาสตร์ที่ "แบงก์ไทย" ต้องไป














คำกล่าวว่า "แค่ผลิตสินค้าขายให้คนจีนซื้อใช้คนละ 1 ชิ้น เราก็รวยมหาศาลแล้ว" นี่เป็นคำอธิบายได้อย่างดีถึงขนาดตลาดของ "จีน" ที่ยิ่งใหญ่มหาศาลเพียงใด ยิ่งในยามจีนเปิดประเทศสู่โลกการค้ากับนานาชาติเช่นนี้ ใครไม่ค้าขายกับจีนก็คงแปลกประหลาดแล้ว แม้แต่ธุรกิจไทยที่กำลังตื่นตัวกันเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็ยังต้องมองข้ามช็อตไปถึงการค้าขายระหว่างอาเซียนกับจีนด้วยซ้ำ

นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าธุรกิจ "การเงิน" เอง โดยเฉพาะ "ธนาคาร" ก็ต้องวิ่งหาวิธีที่จะไปรองรับบรรดาธุรกิจไทยที่จะติดต่อค้าขายกับธุรกิจในจีนเช่นกัน แต่แน่่นอนว่าคงไม่ใช่ธนาคารทุกแห่งที่จะพร้อมเช่นนี้

"ธนาคารกรุงเทพ" นับเป็นธนาคารแรกที่ถือว่ารุกตลาดต่างประเทศได้เร็วที่สุด โดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เข้าไปเปิดสาขาในจีนตั้งแต่กว่า 20 ปีก่อน ปัจจุบันจึงมีรากลึกแข็งแกร่งกว่าธนาคารไทยอื่นๆ ด้วยจำนวน 4 สาขาในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซี่ยเหมิน และเสิ่นเจิ้น เรียกว่าครอบคลุมพื้นที่เมืองใหญ่

นอกจากจำนวนสาขาที่เปิดไปแล้วถึง 4 แห่ง สิ่งที่บอกว่าธนาคารกรุงเทพไปไกลกว่าธนาคารอื่น ก็คือ ในปี 2552 ได้ยกระดับทั้ง 4 สาขาให้กลายเป็นธนาคารท้องถิ่นในชื่อ Bangkok Bank (China) Company Limited ได้เรียบร้อยแล้ว โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้น 100%

รองลงมาที่ขยับตัวรับกับโอกาสนี้ได้เร็วก็คือ "ธนาคารกสิกรไทย" ที่เริ่มเข้าไปตั้งสาขาแล้ว 1 แห่งในเสิ่นเจิ้น ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อรับตลาดการปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายย่อยหรือเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารเชี่ยวชาญมาก และถือว่าออกสตาร์ทได้ดี โดยล่าสุดเตรียมจะเปิดสาขาแห่งที่ 2 ในเฉินตู ภายในเดือนพฤษภาคม 2556

ด้าน "บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงมาก และธนาคารกสิกรไทยเองก็สนใจมากถึงกับกำหนดให้การรุกเข้าสู่ตลาดจีนเป็นหนึ่งใน "ยุทธศาสตร์" สำคัญที่ธนาคารจะเดินหน้าสู่อนาคตอีกด้วย ซึ่งในมุมมองของธนาคารนั้น หากไม่ได้เตรียมตัวมานานนับ 10 ปีแล้วก็เชื่อว่าจะเข้าไปยืนในตลาดนี้ได้ยาก

"เป้าหมายของธนาคารต้องการขยับไปสู่การเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีน ก็ควรมีอย่างน้อย 3 สาขา และหากธุรกิจเป็นไปได้ดีก็อาจเปิดสาขาเพิ่มเติมต่อเนื่อง ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้ได้ครบ 3 สาขาภายใน 3-5 ปีข้างหน้า และจะต้องเร่งพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมขอยื่นจัดตั้งเป็นธนาคารท้องถิ่นต่อไป"

สิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยมุ่งจะเข้าไปเปิดสาขานั้นจะดูจาก 1.) มีฐานธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่มากเพียงพอ 2.) ต้นทุนไม่สูงเกินไป และ 3.) ต้องสามารถหาบุคลากรมาทำงานในพื้นที่เหล่านั้นได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ากลยุทธ์ของธนาคารมุ่งไปทางใต้และตะวันตกของจีนก่อน ไม่ได้รุกเข้าไปเปิดสาขาในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้ เพราะการแข่งขันที่รุนแรงบวกกับต้นทุนสูง ทำให้แข่งขันได้ยาก

ขณะที่ "ธนาคารไทยพาณิชย์" เป็นอีกหนึ่งรายที่กำลังขยับเรื่องนี้เช่นกัน โดยอยู่ในระหว่างยื่นขออนุญาตจัดตั้งสำนักงานตัวแทน (Representative Office) ในปักกิ่ง ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุญาตและเปิดดำเนินการได้ภายในปีนี้ ก่อนจะค่อยๆ ขยับไปสู่การเปิดเป็นสาขาตามลำดับต่อไป

"วิชิต สุรพงษ์ชัย" ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า เป้าหมายของธนาคารคงไม่ได้ตั้งธงว่าจะไปเปิดเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีนแต่อย่างใด แต่มองในแง่การมีเครือข่ายเพื่อให้บริการลูกค้าได้ครบถ้วน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจไทยที่ต้องการไปลงทุนในจีนได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้สาขาในฮ่องกงเป็นเครือข่ายทีี่คอยให้บริการลูกค้าเป็นหลัก

"ยอมรับว่าเราเองก็ถือว่าเดินหน้าเรื่องนี้ช้ากว่าหลายธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ ก็ไปตั้งสาขาจนยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นหลายปีแล้ว แต่เราก็ต้องไป เพราะยุทธศาสตร์ตอนนี้ทุกธุรกิจมองภาพไปถึงเรื่องอาเซียนกันหมด และยังบวกจีนเข้าไปด้วย เวลานี้ไม่ใช่สหรัฐ ไม่ใช่ยุโรปที่กำลังซบเซาอยู่แน่นอน"

ในมุมของไทยพาณิชย์มองว่า ตลาดที่น่าสนใจในการขยายธุรกิจไปจีนครั้งนี้ มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 2 กลุ่มหลัก คือ ลูกค้าธุรกิจที่ต้องการไปลงทุนในจีน หรือมีความสัมพันธ์กับธุรกิจในจีน และกลุ่มธุรกิจจากจีนที่ต้องการย้ายถิ่นฐานการลงทุนเข้ามาในอาเซียนโดยเฉพาะเข้ามาในไทย เห็นได้ชัดว่าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวลานี้มีธุรกิจจากจีนเข้ามาจับจองพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ธนาคารให้ความสนใจมากกว่าการเข้าไปตั้งธนาคารเพื่อทำธุรกิจกับลูกค้าในพื้นที่ เพราะไม่ใช่จุดแข่งขันของธนาคาร

นี่จึงเป็นภาพการขยับเขยื้อนของกลุ่มธุรกิจธนาคารไทยที่ย่างก้าวเริ่มต้องไกลขึ้น และเผชิญกับการแข่งขันบนโจทย์ใหม่ๆ ที่ไม่ได้จบแค่การตอบโจทย์เพียงตลาดในประเทศอีกต่อไป แต่ยังต้องก้าวไปกับลูกค้าที่ "โกอินเตอร์" มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเวลานี้ ที่ "จีน" กำลังขึ้นมาท้าทายกับความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายต่อไป

 


LastUpdate 09/04/2556 02:29:25 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:46 pm