เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผลขึ้นค่าแรง 300 บาทไตรมาสแรก












นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ  ตั้งแต่ต้นปี  2556  ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  ต้องนับว่า ผ่านพ้นมาครบ 1 ไตรมาสแรกแล้ว  ซึ่ง "นายธนิต  โสรัตน์" เลขาธิการและรักษาการประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 56 ว่า  ขณะนี้มีธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวน 80% ประสบปัญหาการขาดทุน รองลงมา  ขาดสภาพคล่อง 23.33% และ อยู่ระหว่างการพิจารณาการปิดกิจการ 10.42%  ดังนั้นหากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นรูปธรรม ขั้นต่อไปธุรกิจจำนวนมากคงต้องพิจารณาลดปริมาณการผลิต ลดจำนวนพนักงาน และเลิกจ้าง เพื่อประคองกิจการต่อไป

ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม  ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าจ้าง 300 บาท ตอบแบบสอบถามกลับมาว่า 42.02% จะลดจำนวนคนงาน, ลดกำลังการผลิต 20.28% และ เลิกจ้างงาน 15.94% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่บอกว่าอาจต้องเลิกกิจการหรือย้ายฐานการผลิต 13.04%

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบค่าจ้าง 58% ยังสามารถประคองธุรกิจได้ เนื่องจากแต่ละรายมีมาตรการในการปรับตัวของภาคเอกชน เช่น การลดจำนวนพนักงาน, ลดการทำงานล่วงเวลาและลดสวัสดิการ ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงการลดขั้นตอนการผลิตและการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน เป็นต้น

ด้าน นายวัลลภ  วิตนากร  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ยอมรับว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท  ภาระค่าแรงดังกล่าวได้ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้น  ทำให้ประมาณไตรมาส 2 ของปีนี้โอกาสที่จะเห็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทุกประเภทขึ้น โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 10-15% ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับการใช้แรงงาน อาจจะปรับขึ้นได้ถึง 15% ที่การปรับเป็นไปใน 3 รูปแบบ คือ 1. ขึ้นราคาในปริมาณสินค้าเท่าเดิม 2. ทั้งขึ้นราคาและลดปริมาณ  และ 3. ลดปริมาณลงและขายในราคาเท่าเดิม

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องการปรับขึ้นราคาสินค้าว่า คาดว่าราคาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะเป็นช่วงปิดเทอม ความต้องการใช้สินค้าไม่สูงมาก โดยกรมฯยืนยันว่าจะดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ด้าน นายจีรศักดิ์   สุคนธชาติ  เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงจำนวนผู้ประกันตนที่มาขอขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานว่า  ตั้งแต่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม   มีผู้มาขึ้นทะเบียน จำนวน 97,859 คน ทั้งที่ลาออกเองและถูกเลิกจ้าง  แบ่งเป็นผู้ที่ลาออกเองจำนวน 73,405 คน และสิ้นสุดสัญญาจำนวน 2,138 คน และแบ่งเป็นในเดือนมกราคมมีการเลิกจ้างจำนวน 7,774 คน กุมภาพันธ์ 1,625 คน และมีนาคม 8,797 คน ซึ่งระดับตัวเลขนี้ถือว่าอยู่ในระดับปกติ มีการเข้าออกงานอย่างต่อเนื่อง เพราะค่าจ้างอยู่ในอัตราที่เท่ากัน

เดือน                         จำนวนที่เลิกจ้าง

มกราคม                        7,774 คน

กุมภาพันธ์                     1,625 คน

มีนาคม                          8,797 คน

นายชาลี  ลอยสูง   ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หลังจากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ พบว่า มีลูกจ้างร้องเรียนปัญหาดังกล่าวกว่า 20 ราย   ส่วนมากเป็นลูกจ้างของรัฐที่ร้องเรียนเข้ามาว่าไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท  ซึ่งตอนนี้ได้ส่งเรื่องเข้าไปทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไปแล้ว  แต่ขณะนี้ที่มีปัญหาก็คือ ลูกจ้างของโรงงานขนาดเล็กที่ไม่มีองค์กรสหภาพแรงงาน บางแห่งถูกนายจ้างขู่ว่า หากไปร้องเรียนเรื่องค่าแรง 300 บาท ก็จะเลิกจ้าง ซึ่งลูกจ้างก็ต้องยินยอม จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าช่วยเหลือ

 


LastUpdate 14/04/2556 23:14:12 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:50 am