แบงก์-นอนแบงก์
เปิดโผกำไร 9 แบงก์ โกยกำไรแล้ว 4.4 หมื่นล้านบาท ย้ำภาพความสามารถทำกำไร "สูง"






 


จังหวะนี้เป็นช่วงเวลาที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยได้ทยอยประกาศผลประกอบการของไตรมาส 1/56 ออกมากันเกือบครบทั้งระบบ ในบรรดา 10 แบงก์พาณิชย์ในไทยก็ประกาศออกมาแล้วถึง 9 แห่ง เหลือเพียง "ธนาคารกรุงไทย" อีก 1 รายเท่านั้น ที่น่าจะแจ้งผลประกอบการในวันจันทร์ที่ 22 มิ.ย. ทำให้ "เอซีนิวส์" จึงถือโอกาสนี้สรุปจุดที่เป็นไฮไลท์ของแต่ละแบงก์มาฝาก

 
 
 
เริ่มกันที่ "ไทยพาณิชย์" ที่ยังคงเป็นเบอร์ 1 ในแง่ความสามารถทำกำไร เพราะโกยกำไรนำโด่งไปถึง 13,100 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 26.8% และนับเป็นการทำกำไรรายไตรมาสที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปีแล้ว ปัจจัยสนับสนุนที่เด่นชัดมาจากการขยายตัวได้ดีของสินเชื่อรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็น 2 ยุทธศาสตร์ของไทยพาณิชย์ บวกกับอีกกลุ่มหนึ่งที่ขยายตัวได้สูงมากคือ สินเชื่อเอสเอ็มอี และแรงเสริมที่โดดเด่นมาตลาดของค่ายใบโพธิ์มาเสมอก็คือ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็ยังขยายตัวได้ดีถึง 21.7% อีกด้วย

 
 
ต่อมาที่ "กสิกรไทย" ที่ขยับตามมาห่างๆ ทำกำไรแตะหมื่นล้านเช่นกัน โดยทำได้ถึง 10,106 ล้านบาท เติบโต 12.44% เช่นเดียวกันสำหรับค่ายนี้ที่มีรายได้ขยายตัวได้ดี โดยที่ดอกเบี้ยเป็นตัวหนุนด้วยอัตราเติบโต 15.33% และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็ยังขยายตัว 16.72% ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตลาดรายย่อยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งธุรกิจด้านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเอทีเอ็ม ค่านายหน้าที่เติบโตตามการขายหน่วยลงทุนและหลักทรัพย์ รวมถึงจากธุรกิจประกันภัยที่ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน

 
 
 
ต่อกันที่แบงก์ใหญ่อันดับ 1 อย่าง "กรุงเทพ" ที่กวาดกำไรไป 9,014 ล้านบาท ขยายตัวเบาๆ จาก ไตรมาส 1/55 ขึ้นมา 7.8% แม้สัญญาณการขยายตัวด้านรายได้ทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจะไม่ได้เติบโตมากนัก แต่จุดที่น่าสนใจอยู่ที่การลดต้นทุน โดยที่อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จากการดำเนินงาน (Cost to Income Ratio) ลดลงมาอยู่ที่ 42.2% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วอยู่ที่ 47.5% การลดลงมาได้ถึง 5% สำหรับธนาคารใหญ่เช่นนี้ก็ถือว่าทำได้ดีมาก

 
 
 
ค่าย "กรุงศรีอยุธยา" ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเจ้าตลาดสินเชื่อรายย่อยก็ยังคงจุดแข็งด้านความสามารถทำกำไรได้ดีแบบคงเส้นคงวา โดยสามารถรักษาระดับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin-NIM) ไว้ได้ถึง 4.28% สูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังอานิสงส์ให้ทำกำไรในไตรมาส 1/56 ไปถึงเกือบ 4,100 ล้านบาท เติบโตได้ถึง 8.4% แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวสุทธิได้เพียง 0.9% ก็ตาม

 
 
 
 
 
ขณะที่ "ธนชาต" ก็ถือว่าทำกำไรได้ดีมาก ขยายตัวขึ้นถึง 56.7% ด้วยมูลค่ากำไรสุทธิถึง 3,478 ล้านบาท อันเป็นผลจากกลยุทธ์ Synergy ของแต่ละธุรกิจภายในกลุ่ม ทำให้ความสามารถหารายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยายตัวถึง 41.12% ขณะเดียวกันจุดเด่นอีกด้านหนึ่งก็คือ การลดต้นทุนลง โดยอััตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จากการดำเนินงาน (Cost to Income Ratio) ที่ลงมาอยู่ที่ 48.18% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วยังสูงถึง 62.43% ก็เป็นคำตอบไปแล้วในตัว
 
 
 
 
ธนาคารที่น่าจับตามองที่สุดในไตรมาสนี้อย่าง "ทหารไทย" ถือว่าพลิกภาพมาได้ดี เพราะทำกำไรได้ถึง 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 124.7% ถือว่าฟื้นตัวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง หลังจากปีที่แล้วตัดสินใจตั้งสำรองก้อนโตกว่า 5 พันล้านบาทเพื่อเคลียร์ภาระกับหนี้เก่าเก็บไปให้สบายตัว ผลประกอบการไตรมาสนี้จึงสะท้อนผลบวกอย่างเต็มที่จากรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตถึง 20.7% และรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่เติบโต 43.5%

 
 
 
 
 
มาถึง "ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป" ที่ทำกำไรได้ 1,154 ล้านบาท ถือว่าเติบโตสูงถึง 37.9% จังหวะนี้เรียกว่าเป็น "นาทีทอง" ของการเติบโตในกลุุ่มทิสโก้จริงๆ เพราะสินเชื่อขยายตัวได้ถึง 7.4% จากสินเชื่อคงค้างเมื่อสิ้นปี 2555 ที่ผ่านมา จากฐานสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เติบโตด้วยอานิงส์โครงการรถคันแรก ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยนั้นก็พบว่า ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจต่างๆ ทั้งธนาคารพาณิชย์ ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุน ก็ขยายตัวในอัตราที่เรียกว่า "สูงมาก" ทั้งสิ้น

 
 
 
 
ส่วนกรณี "เกียรตินาคิน" ที่เพิ่งขยับโครงสร้างกันใหม่ได้ยังไม่นานนัก โดยรวมธุรกิจด้านหลักทรัพย์และจัดการกองทุนของ "ทุนภัทร" เข้ามาเมื่อเดือน กันยายน 2555 นั้น ไตรมาส 1/56 เกียรตินาคินก็โกยกำไรพุ่งพรวดถึง 1,162 ล้านบาท เติบโต 101.3% แต่ในจำนวนนี้ก็จะมีกำไรของทุนภัทรอยู่ 478 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/55 แล้วอาจจะทำให้เทียบกันยาก 
 
 
 
 
 
ปิดท้ายที่ "ซีไอเอ็มบี ไทย " ทำกำไรไป 313 ล้านบาท เติบโต 11.4% แรงสนับสนุนการเติบโตส่วนใหญ่อยู่ที่รายได้ค่าธรรมเนียมพุ่งขึ้นสูงถึง 43.3% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยก็ยังทำได้ดีเพราะเติบโต 20.1% แต่ขณะเดียวกัน จังหวะที่ทำำกำไรดีเช่นนี้ ธนาคารก็ถือโอกาสตั้งสำรองเพิ่มไว้่รองรับความผันผวนในอนาคตด้วยเลย
 
 
 
 
 
 
รวมแล้ว 9 ธนาคารนี้ กวาดกำไรในไตรมาส 1/56 ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 44,232 ล้านบาท ยังคงเหลือผลประกอบการของอีกหนึ่งแบงก์ใหญ่อย่าง "กรุงไทย" ให้รอลุ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีโบรกเกอร์ประเมินว่าน่าจะมีกำไรอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะตอกย้ำความสามารถทำกำไรกลุ่มแบงก์ที่ "เติบโต" สูงมากต่อไป
 

LastUpdate 20/04/2556 12:52:01 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:45 pm