เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"เศรษฐกิจไทย" ส่งสัญญาณชะลอตัว










การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ของ 2 หน่วยงานหลัก ได้แก่  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้สะท้อนถึงการเติบโตที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง  

 

 

นายสมชัย  สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2556  เริ่มเห็นสัญญาณการแผ่วตัวลง แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายตัวได้ 6.9% ชะลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 18%

ปัจจัยลบมาจากภาวะเศรษฐกิจของโลก และความไม่มั่นใจในการแก้ปัญหาในยุโรป ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทย และกระทบต่อมายังการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ซึ่ง สศค.ยังคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตตามเป้าหมายที่ 5.3%

 

 

สำหรับ การส่งออกในไตรมาส 1 ขยายตัว 4.3% เมื่อเทียบเทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว 0.5% ซึ่งหากต้องการให้ส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ 9% จะต้องเร่งการส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสหลังให้โตไตรมาสละ 10% 

ด้านภาคการผลิต พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.9% หดตัวลง 2.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับภาคเกษตรขยายตัว 1.9% หดตัวลง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคายางปรับตัวลดลง 27.4%

ส่วน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยในไตรมาส 1 ปี 2556 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.1% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2% ส่วนอัตราการว่างงาน 0.6% หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน เท่ากับ 2.5 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 0.8%

 

 

มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับการรายงานของ ธปท. โดย นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน มี.ค.ปีนี้ ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ขยายตัวติดลบ 1.1% จากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 0.6% สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์

ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนก็ขยายตัวติดลบ โดยติดลบ 0.7% จากเดือนก่อนหน้าติดลบ 2.7% รวมกับรายได้ภาคการเกษตรที่เติบโตไม่ดี และการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ก็ชะลอลง จากความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเดือนนี้ชะลอลง แต่ยังต้องติดตามดูว่าภาวะการชะลอเช่นนี้ จะยืดเยื้อยาวนานหรือไม่ หรือเป็นการชะลอลงเพียงชั่วคราว

 

 

ทั้งนี้ ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจรวมไตรมาส 1 ปีนี้ ยังทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน ยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประกอบกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี  ขณะที่การส่งออกสินค้าค่อยๆ ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพขึ้น โดยภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากไตรมาสก่อน

 

 

ส่วน ค่าเงินบาทปรับแข็งขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยไตรมาส 1 ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29.29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากไตรมาส 4 ปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 30.61 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากดุลการชำระเงินที่เกินดุล ตามการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการไหลเข้ามาลงทุนโดยตรงและลงทุนในตลาดพันธบัตรของนักลงทุนต่างประเทศ

 


LastUpdate 01/05/2556 14:53:29 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:40 am