อสังหาริมทรัพย์
REIC ฟันธงคอนโดฯ โอเวอร์ซัพพลาย


 

REIC เผยตัวเลข 4 เดือนแรก ยอดเปิดโครงการใหม่ ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล รวม 68 โครงการ ทะลุ 13,371 หน่วย ส่งผลให้มียอดรอขายสะสมพุ่งสูงถึง 733 โครงการ เหลือขาย 67,300 หน่วย คิดเป็นมูลค่ากว่า 263,500  ล้านบาท ส่วนเมืองท่องเที่ยวอย่างชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ ตลาดคอนโดมิเนียมส่ออาการโอเวอร์ ซัพพลาย เหตุผู้ประกอบการแห่ลงทุนโครงการใหม่เพียบ

 
               
 
 
 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรงขึ้นทุกวัน จนทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาครัฐจับตามองว่าอาจจะเกิดปัญหาโอเวอร์ ซัพพลายหรือภาวะฟองสบู่ขึ้นมาเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และพยายามที่จะออกมาตรการมาควบคุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดความร้อนแรง แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาควบคุม เพราะผู้ประกอบการพยายามแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้  โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาโอเวอร์ ซัพพลายอย่างที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดปัญหาขึ้น
 
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับในยุคต้มยำกุ้งนั้น สถานการณ์ ต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งด้านการเงิน มีหนี้สินต่อทุนค่อนข้างต่ำ สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยเงินกู้ และกำลังซื้อส่วนใหญ่เป็นกำลังซื้อจริง แต่ก็ยอมรับว่ามีการเก็งกำไรบ้าง ในบางสินค้า และบางทำเล อีกทั้งสัดส่วนการเก็งกำไรคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรวม และภาวะเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
   
           
 
 
อย่างไรก็ตาม นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือ REIC หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลับมีความกังวลต่อสถานการณ์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยยอมรับว่า ศูนย์ข้อมูลฯเป็นห่วงต่อสถานการณ์ตลาดคอนโดมีเนียมในต่างจังหวัดที่ผู้ประกอบการจากส่วนกลางขยายการลงทุนไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่จำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า จะมีการประกาศผังเมืองใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการเร่งเปิดโครงการ จึงทำให้มองว่าเริ่มจะเกิดภาวะโอเวอร์ซัปพลายในบางทำเล 
 
               
 
 
ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาโอเวอร์ซัปพลายคือ จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีโครงการคอนโดมิเนียมสูงถึง 50,000 หน่วย มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองลงมาคือจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่ในต่างจังหวัดนั้น มีความจำเป็นต้องพักอาศัยในคอนโดมิเนียมน้อยกว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากไม่มีรถไฟฟ้ารองรับ
 
               
 
 
 แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การส่งมอบโครงการให้ลูกค้าอาจจะล่าช้ากว่ากำหนด เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไปด้วย ดังนั้น เมื่อถึงเวลาโอนกรรมสิทธิ์ ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนใจ และหันไปซื้อโครงการที่เปิดใหม่ และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯและ ปริมณฑลฯ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ยังไม่น่าห่วงว่าจะเกิดภาวะโอเวอร์ ซัพพลาย หรือภาวะฟองสบู่แต่อย่างใด เพราะแม้จะมีจำนวนหน่วยที่เปิดขายสะสมกว่า 300,000 หน่วยก็ตาม เพราะระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่หรือรถไฟฟ้าที่ครอบคลุม และแผนการเปิดตัวเส้นทางใหม่ ๆ ในอนาคต จะช่วยทำให้เกิดสมดุลในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น

โดยตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีโครงการบ้านจัดสรรเปิดใหม่ 68 แห่ง จำนวนรวม 13,371 หน่วย และพบว่าจำนวนที่อยู่อาศัยสะสมรอขาย มีมากถึง 733 โครงการ จำนวนกว่า 158,400 หน่วย และเป็นหน่วยเหลือขายถึง 67,300 หน่วย คิดเป็นมูลค่าเหลือขาย 263,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี

               
 
 
สำหรับคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีทั้งหมด 142,100 หน่วย ในจำนวนดังกล่าวมีจำนวนหน่วยเหลือขายประมาณ 40,700 หน่วย ส่วนใหญ่เป็นแบบ 1 ห้องนอน ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จจำนวน 99,500 หน่วย คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ จำนวนมากกว่า 113,400 หน่วย โดยเฉพาะในเขตที่มีคอนโดมิเนียมที่ยังเหลือขาย ได้แก่ ห้วยขวาง บางนา วัฒนา และอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
               
 
 
 
โดยโครงการเปิดขายใหม่มากที่สุดอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีในย่านรังสิต ตามด้วยฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะเขตตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าคอนโดมิเนียมที่ยังขายไม่หมด จะขายหมดภายใน 4-5 ไตรมาส หากไม่มีโครงการใหม่เปิดเพิ่มเติม

LastUpdate 11/05/2556 09:50:13 โดย : Admin
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 10:35 pm