เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 17/2556 : สินสอดไม่พอก็...Car for Cash. อุทาหรณ์สอนใจเรื่องเป็นหนี้


เรื่องในวันนี้เกิดขึ้นจากการที่เครดิตบูโรได้เล็งเห็นว่า ในปัจจุบันคนมีภาระหนี้สินกันมากมาย บางคนเป็นหนี้หลักหมื่น บางคนเป็นหลักแสน บางรายปาเข้าไปเป็นล้าน เรียกว่ากู้กันสนั่นเมือง ตัวผมเองตอนมารับตำแหน่งใหม่ๆ ในปี 2553 ก็ไม่คิดว่าปัญหาคนที่เป็นหนี้และเกิดอาการค้างชำระแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร เป็นคนเคยค้างในอดีตแต่ต่อมาชำระแล้วปัจจุบันคิดจะไปก่อหนี้ใหม่อีกครั้งก็เกิดอาการกังวลใจว่า หากสถาบันการเงินใหม่ที่จะไปขอกู้เขามาเห็นประวัติที่เคยค้างเมื่อไม่นานมานี้ก็อาจทำให้การขอสินเชื่อในครั้งนี้ติดขัด ยิ่งในส่วนของรายได้ที่จะมาแสดงก็มีอยู่จำกัดหรือไม่แน่นอนก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ในปี2555 เครดิตบูโรจึงตั้งส่วนงานที่เรียกว่า Customer Care หรือส่วนงานให้บริการเจ้าของข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้คำปรึกษาแนะนำ ติดต่อประสานงานรับเรื่องร้องเรียน เรื่องที่เจ้าของข้อมูลใช้สิทธิตามกฎหมายในการขอให้มีการตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง เพราะหากมีประเด็นใดที่เจ้าของข้อมูลคิดว่า หรือมีเอกสารบ่งชี้ว่าข้อมูลเครดิตบูโรของตนเองนั้นอาจไม่ถูกต้องก็จะได้ยื่นคำขอแก้ไขให้สะเด็ดน้ำไปในจุดเดียว ทั้งนี้ภายในเวลาไม่เกิน 30 วันครับ เรื่องนี้สอบถามข้อมูลได้ที่ call center (02) 643-1250

กลับมาที่เรื่องที่อยากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ลองคิดว่า สังคมไทยเราเวลานี้มันไปกันขนาดนี้เลยหรือ...เรื่องมีอยู่ว่ามีชายหนุ่มคนหนึ่งมาที่ส่วนงาน Customer Care เพื่อมาติดต่อขอคำปรึกษา อายุอานามก็ประมาณวัยทำงานที่น่าจะมีอายุงานประมาณไม่เกิน 5 ปี เขามาเล่าว่าเขามีภรรยาคนหนึ่งที่รักกันมาก ในอดีตต่างก็สะสมเงินกันมาเพื่อจะได้เอาไปเป็นสินสอดในการขอฝ่ายหญิงแต่งงาน เมื่อได้เงินมาจำนวนหนึ่ง (เขาไม่ได้แจ้งตัวเลข) ก็ไปขอฝ่ายหญิงกับว่าที่แม่ยาย พบว่าท่านยังไม่พอใจเนื่องจากมองว่าสินสอดนั้นต่ำไป ภาษาชาวบ้านเรียกว่าสินสอดไม่เต็ม การเจรจาต่อรองจึงเกิดขึ้น ฝ่ายชายขอว่าส่วนของสินสอดที่ขาดไปนั้นจะขอผ่อนชำระ (น่าจะศูนย์เปอร์เซนต์ ไม่มีดอกเบี้ย-ผู้เขียนคิดเอง) ว่าที่แม่ยายไม่ยอมพร้อมบอกว่า ข้าวสารเป็นข้าวสุกแล้วเรียกเอากับใครไม่ได้ (ความไม่มั่นคงในสัญญาเกิดขึ้น-ผู้เขียนวิเคราะห์) ประเด็นสำคัญของเรื่องอยู่ตรงนี้ครับ ว่าที่แม่ยายให้คำชี้แนะทางการเงินเป็นทางออกว่า "สินสอดไม่พอก็...Car for Cash สิ ปัญหาก็หมดไป" ฝ่ายชายก็ไปหารถมาทำโครงการรถแลกเงินจริงๆ แต่ที่น่าเสียใจคือภาระการผ่อนมันคงมากเกินกำลังทำให้เกิดปัญหาการค้างชำระ จุดเริ่มของการมีครอบครัวมันผิดตั้งแต่ต้นเหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด มันก็ผิดตลอด การดำเนินชีวิตของครอบครัวใหม่ที่เป็นหน่วยเล็กที่สุดในสังคมไทยก็มีปัญหา ถามว่าในเรื่องราวทั้งหมดนี้ใครผิด

1. ฝ่ายชายผิดหรือที่คิดจะตั้งต้นครอบครัว และก็เริ่มด้วยการเก็บออมกับฝ่ายหญิง
2. ว่าที่แม่ยายผิดหรือที่เรียกสินสอดเท่านั้น เท่านี้ ก็วัฒนธรรมมันกำหนดแบบนั้น ความเชื่อเป็นแบบนั้น
3. คำแนะนำให้ไปกู้มันผิดหรือในเมื่อใครๆ เขาไม่มีเขาก็กู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง
4. มันไม่มีใครสอน ใครบอก ใครเตือนหรือว่า การเป็นหนี้นั้นต้องพร้อมนะ ต้องไม่เกินกำลัง และเป็นภาระนะที่ต้องจัดการ
5. สถาบันการเงินผิดหรือที่พยายามสร้างสินค้าบริการที่ตอบสนอง "ความต้องการแบบตรงใจ กู้ง่ายได้ไว เงื่อนไขน้อย" ก็สังคม พฤติกรรม การแข่งขันทางธุรกิจ และความต้องการมันลงตัวภายใต้ระบบทุนนิยม เศรษฐกิจเสรี ใครใคร่ค้าก็ค้ากันไปไม่ใช่หรือ
6. คำสอนเรื่องพอเพียง จะพ้าพ้นภัย มีวินัยคือใช้หนี้ให้ครบให้ตรง ในยุคสมัยของคนเวลานี้มันหายไปตอนไหนในกระบวนการติดอาวุธทางปัญญาของผู้คน

เรื่องที่เกิดขึ้นเราควรจะโทษใคร ควรแก้ที่ใคร จะแก้อย่างไร จะเริ่มที่ไหนก่อนดี สังคมเราเวลานี้มันไปได้ขนาดนี้แล้วหรือ...
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 พ.ค. 2556 เวลา : 14:06:56
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 6:50 pm