เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บทความ TMB Analytics : "ธุรกิจชายแดนอินโดจีนสุดคึก ส่ง SMEs ค้าส่งพุ่ง"


 

 
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ชี้ SMEs ค้าส่งจังหวัดชายแดนอินโดจีนติดลมบน มูลค่าการค้าขยายตัวต่อเนื่อง คาดปีนี้แตะ 5 แสนล้านบาท แนะธุรกิจปรับตัวรับปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นก่อนเปิด AEC
 
ภาพรวมการค้าชายแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน คือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และจีน หรือ CLMV+C ปี 2555 มีมูลค่า 4.4 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยล่าสุดมูลค่าการค้าไตรมาส 1 ปีนี้ มีมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 22 ทำให้คาดว่าการค้าชายแดนปีนี้อาจมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท และหากดูมูลค่าการค้าย้อนหลัง 5 ปี เพิ่มขึ้นกว่า 2.2 แสนล้านบาท  การค้าชายแดนยังทวีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคมากขึ้นจากการค้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม CLMV+C เติบโตดีต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดว่า เศรษฐกิจปี 2556 ของประเทศกลุ่มนี้จะขยายตัวสูงระหว่างร้อยละ 5.2 ถึงร้อยละ 8.0 อีกทั้งการเข้าสู่ AEC ในปี 2558 ที่มีการลดอุปสรรคทางการค้ามากขึ้น ยิ่งกระตุ้นให้การค้าระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก
 
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย คือ สินค้าทุน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรก่อสร้าง เหล็ก ผ้าและเส้นด้าย สินค้ากลุ่มนี้ยังมีความต้องการสูงจากประเทศกลุ่ม CLMV+C เนื่องจาก จำเป็นต้องใช้เป็นปัจจัยการผลิตภายในประเทศและไทยส่งออก สินค้ากลุ่มนี้สูงสุด ส่วนกลุ่มถัดมาคือสินค้าอุปโภค ได้แก่ เครื่องดื่ม น้ำตาล เครื่องสำอางและสบู่ น้ำมันปาล์ม ก็ยังมีแนวโน้มสดใส เพราะผู้บริโภคในประเทศกลุ่ม CLMV+C มีความคุ้นเคยและยอมรับในคุณภาพสินค้าของไทย ด้านสินค้านำเข้า ได้แก่ ผักผลไม้ ไม้แปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่ผลิตได้ในไทย
หรือต้นทุนการผลิตในไทยสูงกว่า
 
ประตูการค้ากับประเทศกลุ่ม CLMV+C ที่มีมูลค่าสูงสุด 5 จังหวัด คือ หนองคาย สระแก้ว มุกดาหาร ตาก และเชียงราย การค้าชายแดนมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในจังหวัดเหล่านี้อย่างรวดเร็ว และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยSMEs ค้าส่งในพื้นที่ มีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าให้ขยายตัวสูงขึ้น จากการศึกษาเราพบว่า ธุรกิจ SMEs ค้าส่ง มีจำนวน 1,239 กิจการ กระจายอยู่ใน 5 จังหวัดที่เป็นประตูการค้าสำคัญ ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานในภาคการผลิต การค้า และการขนส่งในพื้นที่ SMEs ค้าส่งเหล่านี้ยังมีแนวโน้มรายได้ที่ดีจากการขยายตัวของมูลค่าการค้าชายแดนตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม CLMV+C อย่างไรก็ตาม โอกาสมาพร้อมกับความท้าทาย สินค้าไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นที่ราคาต่ำกว่า การผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากไทย ผู้ผลิตไทยเข้าไปลงทุนผลิตโดยตรงใน CLMV+C มากขึ้นหรือหันมาส่งออกเองโดยไม่ผ่าน SMEs ค้าส่งในพื้นที่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ SMEs ค้าส่งในพื้นที่ต้องปรับตัวมากขึ้นเช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน จึงอาจจะเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น การศึกษาตลาดเพื่อหาช่องทางส่งออกเพิ่ม หาพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่นในต่างประเทศเพิ่ม ศึกษาสินค้าคู่แข่ง ร่วมลงทุนกับธุรกิจในท้องถิ่นนั้นเพิ่มขึ้น เพื่อชิงปรับตัวเพื่อความได้เปรียบในสนามการค้าชายแดนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

LastUpdate 13/05/2556 14:21:23 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:18 pm