เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เสียงสะท้อนหลัง กนง."ลดดอกเบี้ย" แค่ 0.25%


 

 
 
 
 หลังคณะกรรมการรนโยบายการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%  มาอยู่ที่ 2.50%  เสียงสะท้อนจากแวดวงต่างๆ เป็นทั้งสนับสนุนและตัดพ้อ  
 
 
  
 
 
นำโดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ที่ได้เปิดแถลงข่าวจากรัฐสภาทันที  โดยระบุว่า  การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%  ถือว่าเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่น้อยและช้าเกินไป แต่ถึงแม้ว่า กนง.จะปรับลดช้าไป ยังดีกว่าไม่มีการปรับลด
 
 
 
ด้านภาคเอกชนที่ได้เคยออกมาเรียกร้องให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงถึง 1% เพื่อสกัดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ และลดการแข็งค่าของเงินบาท นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ได้แสดงความเห็นว่า  พอใจกับมติของ กนง. ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แม้จะปรับลดลงแค่เพียง 0.25% ต่ำกว่าที่ ส.อ.ท. เคยยื่นเสนอให้ปรับลดลง 0.5 - 1% แต่ก็ไม่ผิดหวัง   เพราะว่าอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการ กนง. ตระหนักแล้วว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ และเชื่อว่า กนง.จะจัดประชุมวาระพิเศษขึ้น ก่อนครบกำหนดวาระการประชุมในอีก 6 เดือนข้างหน้า หากเศรษฐกิจยังไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้
 
และในช่วงนี้เงินบาทก็เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างแล้ว แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ถือว่าเงินบาทยังแข็งค่ากว่าค่าเงินของประเทศ คู่แข่งอยู่ 2-3% แม้ว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% แต่เชื่อว่าเงินบาทคงยังไม่อ่อนค่าลงในทันที โดยยอมรับว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งสัญญาณของการเข้ามาดูแลเศรษฐกิจมากขึ้น
 
 
 
 
ส่วนมุมมองของนายธนาคาร  นายโฆสิต  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ   เชื่อว่า การที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น  เป็นเรื่องของการตอบสนองตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้น หลังจากในไตรมาส 1 ที่ขยายตัวติดลบ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยว่าอยู่ในช่วงขาลง
 
ส่วนในระยะยาว เชื่อว่า การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ จะเกิดความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาว และมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาฟองสบู่ได้  และโดยส่วนตัวเห็นว่าหลายประเทศมีการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำจนเหลือ 0% ก็ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะมีผลต่อการออมของประเทศลดลง เนื่องจากผลตอบแทนไม่สร้างแรงจูงใจในการออม ส่วนการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลของ กนง.หรือไม่ ต้องปรึกษาพิจารณากันอีกครั้ง
 
 
 
 
ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ออกบทวิเคราะห์  โดยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงอยู่ที่ระดับ 2.50% จนถึงสิ้นปี เนื่องจากหนี้ครัวเรือนและความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมมีไม่มากนัก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีราว 5% แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดในไตรมาสแรกก็ตาม โดยการส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวและการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวไปตามคาด จะเป็นแรงส่งเพิ่มเติมให้แก่เศรษฐกิจไทยในปีนี้
         
EIC ยังแนะให้จับตาดูมาตรการกำกับดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ธปท.อาจมีการใช้มาตรการ Macroprudential เพิ่มเติม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดอัตราส่วนวงเงินกู้ต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value: LTV) ลงสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป เพื่อชะลอความร้อนแรงในการเก็งกำไรที่อยู่อาศัยและลดความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่
 
 

LastUpdate 30/05/2556 10:18:08 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 12:41 pm