แฟชั่น-เดินทาง-กินดื่ม-เที่ยว
"แมลง" เมนูโอชะ อาหารคุณค่าสูงแห่งอนาคต


 
 
 
จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังมีคนอีกส่วนที่ขาดแคลน ได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก บวกกับความวิตกกังวลปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่ทำให้เกิดภัยพิบัติหลายอย่างและผลผลิตพืชผลลดลงและมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงานเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของความวิตกกังวลเรื่อง “อาหาร” ที่จะมาเลี้ยงชาวโลกในอนาคต เหล่านักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญจึงพยายามคิดหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อผลิตอาหารให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งมีการเสนอแนวคิดหลากหลาย อาทิ การคิดค้นพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การนำเทคนิคโคลนนิ่งมาใช้โคลนสัตว์เพื่อช่วยให้ผลิตเนื้อสัตว์ได้เร็วขึ้น หรือการผลิตเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง หรือแม้แต่ให้หันไปพึ่งพา "แมลง" หลากชนิดเป็นอาหาร เพราะอุดมด้วยโปรตีนและสารอาหารมีค่ามากมาย

สำนักสำมะโนสหรัฐอเมริกา (USCB) ประมาณว่า ประชากรโลกมีอยู่เกิน 7,000 ล้านคน ณ วันที่ 12 มีนาคม 2012  ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ประชาชน 1 ใน 8 ทั่วโลก ยังคงหิวโหยในช่วงปี 2010-2012 หรือประมาณ 870 ล้านคน ในขณะที่ยังมีปัญหาอีกมากมายที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอาหารโลก จึงมีการเสนอแนวคิดเพื่อสร้างอาหารให้โลกหลากวิธีด้วยกัน
 
แนวทางหนึ่งที่นำเสนอกัน ได้แก่ การพัฒนาสายพันธุ์พืชอาหารและสัตว์ใหม่ ๆ เช่น พืชที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วมและต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชได้ รวมถึงพันธุ์ที่ให้ผลผลิตได้เพิ่มขึ้น ที่เพิ่งมีรายงานเมื่อเร็ว ๆนี้ เป็นผลงาน “ข้าวสาลีพันธุ์ใหม่ผลผลิตเพิ่ม 30%” ของทีมนักวิจัยสถาบันพฤกษศาสตร์เกษตรแห่งชาติของอังกฤษ ในเมืองเคมบริดจ์ ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์พืชบรรพบุรุษเก่าแก่ของข้าวสาลีกับพันธุ์ข้าวสาลีสมัยใหม่ โดยข้าวสาลีมีวิวัฒนาการขึ้นเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อนจากต้นหญ้าแพะ (goat grass) และข้าวสายพันธุ์แรกเริ่มต่าง ๆ นักวิจัยได้พัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่โดยใช้วิธีผสมเกสรข้ามสายพันธุ์และเทคโนโลยีถ่ายโอนต้นอ่อน ไม่ได้ใช้การดัดแปลงยีนต้นพืช(GMO) จนได้ผลลัพธ์เป็นต้นข้าวขนาดใหญ่ขึ้นและแข็งแรงมากกว่าพันธุ์ข้าวสาลีที่มีอยู่ทั่วไป คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายแก่เกษตรไปปลูกได้ในอีกอย่างน้อย 5 ปีข้างหน้า   
 
 
 
 
การนำเทคนิคโคลนนิ่ง (cloning) มาใช้ เพื่อหวังการสร้างสัตว์ตัวใหม่ขึ้นมาที่มี รูปร่าง,หน้าตา,ลักษณะต่างๆ, พันธุกรรม รวมถึงเพศ เหมือนกับสัตว์ตัวที่เป็นต้นแบบและเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ให้การยอมรับแล้วว่า เนื้อและนมจากสัตว์ที่ถือกำเนิดด้วยวิธีโคลนนิ่งปลอดภัยเหมือนเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคปกติประจำวันเช่นเดียวกับสำนักงานมาตรฐานอาหารของอังกฤษ (FSA) โดยอังกฤษอนุญาตให้วางขายได้แบบไม่ต้องติดป้ายบอกเหมือนอาหารทั่วไป
 
การผลิตอาหารเพื่อชาวโลกอีกอย่าง อาจเป็นการผลิตในห้องทดลอง ซึ่งได้แก่ การ “เพาะเนื้อสัตว์” ในห้องทดลอง โดยเชื่อว่า จะช่วยให้มีเนื้อสัตว์หรือโปรตีนเพียงพอรองรับประชากรโลกในอนาคตได้ ขณะเดียวกันยังลดการทารุณกรรมต่อสัตว์ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรปรายงานว่า การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มหรือภาคปศุสัตว์มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประมาณร้อยละ18 ซึ่งสูงกว่าภาคขนส่งเสียอีก โดยก๊าซที่ปล่อยออกมาได้แก่ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ร้อยละ 65 และก๊าซมีเทน(CH4) ร้อยละ 37 สำคัญ  นอกจากนี้ยังช่วยลดใช้น้ำและพลังงาน อีกทั้งยังสามารถทำให้ได้สัดส่วนตามที่ต้องการเช่น มีไขมันต่ำและมีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นต้น  ซึ่งการผลิตเนื้อสัตว์จากห้องทดลองมีความก้าวหน้าให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ดังที่มีรายงานเมื่อเร็ว ๆนี้ เป็นผลงานของนักวิจัยมหาวิทยาลัยมาสทริชต์ ในเนเธอร์แลนด์ ที่ทำให้ความหวังผลิตเนื้อสัตว์ขายใกล้เป็นจริงไปอีกขั้น โดยนักวิจัยเพาะเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อจนได้เป็นชิ้นเนื้อสำหรับทำแฮมเบอร์เกอร์  ซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อเส้นยาว ๆ ประมาณ 20,000 ชิ้น 
 
 
 
 
แหล่งอาหารที่จะมาเลี้ยงประชากรโลกอีกอย่าง ได้แก่ สาหร่าย ที่สามารถบริโภคได้ทั้งของมนุษย์และสัตว์ โดยทั่วโลกมีสาหร่ายอยู่มากถึง 10,000 ชนิดและยังสามารถเพาะเลี้ยงได้ในมหาสมุทร ช่วยแก้ปัญหาในภาวะที่พื้นที่เพาะปลูกและน้ำจืดขาดแคลนเพิ่มขึ้น ซึ่งสาหร่ายเป็นอาหารหลักชนิดหนึ่งในเอเชียและหลายประเทศมานาน เช่น ญี่ปุ่น มีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเป็นฟาร์มขนาดใหญ่  
 
สำหรับสิ่งที่กำลังเป็นความหวังว่าเหมาะใช้เป็นอาหารของชาวโลกอีกอย่าง ได้แก่ พวก “แมลง” นั่นเอง ดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สนับสนุนให้ประชาชนหันมาบริโภคแมลงกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูงและบริโภคได้หมด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์เลี้ยง และสัตว์ในฟาร์ม ซึ่งแมลงที่สามารถกินได้มีอยู่มากกว่า 1,900 ชนิดบนโลกและปัจจุบันมีผู้คนประมาณ 2,000 ล้านคนบริโภคแมลงอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่ในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ส่วนแมลงที่ได้รับความนิยมมากสุด ได้แก่ แมลงปีกแข็ง และ พวกตัวหนอน  
 
 
\
 
 
เหตุผลที่ต้องการให้บริโภคแมลง คือ แมลงให้สารอาหารที่มีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งโปรตีน ไขมันต่ำ ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุสังกะสี และซีลีเนียม ขณะเดียวกันแมลงยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าพวกสัตว์ในฟาร์ม และสามารถสร้างอาหารประเภทเนื้อได้สูงจากอาหารที่กินเข้าไป โดยแปลงอาหารที่กิน 2 กิโลกรัมให้เป็นเนื้อบริโภคได้ 1 กิโลกรัม ส่วนสัตว์ในฟาร์มอย่างวัวต้องกินอาหารมากถึง 8 กิโลกรัมต่อการผลิตเนื้อ1 กิโลกรัม  
 
FAO เชื่อว่า หากสามารถเพาะเลี้ยงแมลงระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ จะเป็นส่วนเสริมการผลิตอาหารที่มีประโยชน์ให้ทั้งคนและสัตว์บริโภคอย่างยั่งยืนได้
 
"แมลง" จึงเป็น "เมนูอาหารแห่งอนาคต" ที่สำคัญอีกอย่าง ใครที่ยังไม่เคยลองเมนูนี้ ลองชิมดู อาจจะติดใจก็เป็นได้

LastUpdate 02/06/2556 19:18:17 โดย : Admin
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 8:34 am