แบงก์-นอนแบงก์
เปิดตัว "สภาสถาบันการเงินของรัฐ"






ในที่สุดกระทรวงการคลังก็ได้ฤกษ์เปิดตัว  “สภาสถาบันการเงินของรัฐ”  ซึ่งประกอบด้วย  สถาบันการเงินของรัฐ 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บสท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

บทบาทของสภาสถาบันการเงินของรัฐ  นายวรวิทย์  ชัยลิมปมนตรี  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน  เปิดเผยว่า การจัดตั้งสภาสถาบันนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินของรัฐ ได้ดำเนินงานไปทิศทางเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยลดต้นทุน รวมทั้งเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมสภาสถาบันการเงินของรัฐในครั้งแรก ได้หารือถึงแนวทางการใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกัน ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ  เช่น การใช้เอทีเอ็ม พูล และหลังจากนี้คงจะมาดูถึงแนวทางอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ อาจให้มีการคิดค่าธรรมเนียมกับลูกค้าที่ถูกลง รวมถึงอาจจัดตั้งศูนย์เงินสด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขนส่งเงินสดระหว่างธนาคารร่วมกัน

พร้อมยืนยันว่า สภาสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ได้มีบทบาทเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรองการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย หรือแข่งขันกับสมาคมธนาคารแต่อย่างใด แต่เป็นการตั้งขึ้นมาอย่างสร้างสรรค์   เพราะสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐจะเน้นดูแลประชาชนรายย่อยให้มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยหลังจากนี้สถาบันการเงินของรัฐจะมีการประชุมทุก ๆ วันจันทร์แรกของทุกเดือน

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะเลขาธิการร่วมสภาสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ขอบเขตความร่วมมือของสภาสถาบันการเงินของรัฐในครั้งนี้ ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสถาบันการเงินของรัฐให้เติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพ สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรม เกษตรกรรรมและการเงินหรือธุรกิจอื่นใด เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

พร้อมทั้งมุ่งเน้นในการสร้างความพร้อมและความร่วมมือระหว่างสมาชิกด้วยกันทางด้านการเงินการธนาคาร แสดงความคิดเห็น สนับสนุนและดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และพันธกิจของสมาชิก เสนอความคิดเห็นในด้านการเงิน การธนาคาร การคลัง และเศรษฐกิจต่อหน่วยราชการและสถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อความสามัคคีระหว่างสมาชิกสถาบันการเงินของรัฐ ส่งเสริมให้มีการอบรมให้ความรู้และพัฒนาบุคคลากร แลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิก ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการทำกิจการอื่นๆ ที่เห็นว่าจำเป็น

ส่วนธนาคารพาณิชย์เอกชนเองก็ได้มีการรวมตัวจัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนกันยาน 2501 ภายใต้ ชื่อ "สมาคมธนาคารไทย"  (THE THAI BANKERS ASSOCIATION) เพื่อเป็นองค์กรส่วนรวมของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยทำหน้าที่ประสานนโยบายกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด สมาชิกประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย รวม 16 ธนาคาร ได้แก่
 

1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน

4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

5. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

6. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

7. ธนาคารสแตนดาร์ดชาเตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)

8. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)

9. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)

10. ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)

11. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

12. ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)

13. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)

14. ธนาคารไอซีบีซี จำกัด (มหาชน)

15. ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

16. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)

บริหารงานโดย คณะกรรมการบริหาร ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิก ให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี   คณะกรรมการบริหาร รวมกันไม่เกิน 5 คน ประกอบด้วย  ประธานกรรมการ 1 คน  และกรรมการอื่น อีก 4 คน

คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่ กำหนดนโยบายและบริหารกิจการของสมาคมฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของสมาคมฯ ที่กำหนดไว้

หลักการบริหารงานสมาคมธนาคารไทย

- มุ่งเน้นในการสร้างความพร้อม และความร่วมมือระหว่างธนาคารสมาชิกด้วยกัน ทางด้านการเงินการธนาคาร

- ให้ความร่วมมือและประสานงานกับภาครัฐบาล และองค์กรเศรษฐกิจหลักของภาคเอกชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ให้เจริญและก้าวหน้ายิ่งขึ้น

- สนับสนุนนโยบายของรัฐ ที่มุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทย พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

การจัดตั้งสภาฯของสถาบันการเงินรัฐในครั้งนี้  ทำให้สถาบันการเงินของไทยมีการพัฒนามากขึ้นอีกขั้น  และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเงินไทย  ที่จะต้องรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 

 

 


LastUpdate 10/06/2556 23:24:47 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 5:56 am